ฟังเทปเรื่องจิตปรมัตถ์ ของอาจารย์สุจินต์ อาจารย์พูดถึงมหาภูตรูปบ่อย เช่น อากาสรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป เรียนถาม ความหมายสั้นๆ ได้ใจความครับ
ขอบคุณครับ
จากหนังสือ ..ปรมัตถธรรมสังเขป
ปริจเฉทรูป คือ อากาสรูป ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลาปทุกๆ กลาป ทำให้รูปแต่ละกลาปไม่ติดกัน ไม่ว่ารูปจะปรากฏเล็กใหญ่ขนาดใดก็ตาม ให้ทราบว่ามีอากาสรูปคั่นอยู่ระหว่างทุกๆ กลาปอย่างละเอียดที่สุด ทำให้รูปแต่ละกลาปแยกออกจากกันได้ ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปคั่นแต่ละกลาป รูปทั้งหลายก็ติดกันหมดแตกแยกกระจัดกระจายออกไม่ได้เลย แต่แม้รูปที่ปรากฏว่าใหญ่โตก็สามารถแตกย่อยออกได้อย่างละเอียดที่สุดนั้น ก็เพราะมีอากาสธาตุ คือ ปริจเฉทรูปคั่นอยู่ทุกๆ กลาปนั่นเอง
รูปปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์เป็นสภาวธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นและดับไปเช่นเดียวกันกับจิตและเจตสิก รูปปรมัตถ์มี ๒๘ รูป หรือ ๒๘ ประเภท และมีความหมายไม่เหมือนที่เข้าใจกันว่า โต๊ะเป็นรูปหนึ่ง เก้าอี้เป็นรูปหนึ่ง หนังสือเป็นรูปหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น ในรูปปรมัตถ์ ๒๘ ประเภทนั้น มีรูปที่จิตรู้ได้ทางตา คือ มองเห็นได้เพียงรูปเดียว คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนอีก ๒๗ รูปนั้น จิตเห็นไม่ได้แต่รู้ได้ทางอื่นตามประเภทของรูปนั้นๆ เช่น เสียงที่รู้ได้ทางหู เป็นต้น
ถึงแม้ว่าจะเห็นจิตและเจตสิกด้วยตาไม่ได้ เช่นเดียวกับรูป ๒๗ รูป ที่มองไม่เห็น แต่จิตและเจตสิกก็ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ เพราะจิตและเจตสิกเป็นปรมัตถธรรมที่รู้อารมณ์ ส่วนรูปเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ รูปปรมัตถ์เป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น รูปๆ หนึ่งอาศัยรูปอื่นเกิดขึ้น ฉะนั้น จะมีรูปเกิดขึ้นเพียงรูปเดียวไม่ได้ ต้องมีรูปที่เกิดพร้อมกันและอาศัยกันเกิดขึ้นหลายรูปรวมกันเป็น ๑ กลุ่มเล็กๆ ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้เลยภาษาบาลีเรียกว่า ๑ กลาป
รูปเป็นสภาพธรรมที่เล็กละเอียดมาก เกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา รูปกลาปหนึ่งเกิดขึ้นจะดับไปเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะจิตที่เห็นและจิตที่ได้ยินขณะนี้ ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะจิตที่เห็นและจิตที่ได้ยินขณะนี้ ซึ่งปรากฏเสมือนว่าพร้อมกันนั้นก็เกิดดับห่างไกลกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต ฉะนั้น รูปที่เกิดพร้อมกับจิตที่เห็นก็ดับไปก่อนที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้น
รูปแต่ละรูปเล็กละเอียดมาก ซึ่งเมื่อแตกย่อยรูปที่เกิดดับรวมกันอยู่ออกจนละเอียดยิบ จนแยกต่อไปไม่ได้อีกแล้วนั้น ในกลุ่มของรูป (กลาปหนึ่ง) ที่เล็กที่สุดที่แยกอีกไม่ได้เลยนั้น ก็มีรูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูปเรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ คือ
มหาภูตรูป (รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน) ๔ ได้แก่
ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) เป็นรูปที่อ่อนหรือแข็ง ๑ รูป อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เป็นรูปที่เอิบอาบหรือเกาะกุม ๑ รูป เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) เป็นรูปที่ร้อนหรือเย็น ๑ รูป วาโยธาตุ (ธาตุลม) เป็นรูปที่ไหวหรือตึง ๑ รูป
มหาภูตรูป ๔ นี้ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น จึงแยกกันไม่ได้เลย และมหาภูตรูป๔ นี้ เป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยเกิดของรูปอีก ๔ รูป ที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน คือ
วัณโณ (แสงสี) เป็นรูปที่ปรากฏทางตา ๑ รูปคันโธ (กลิ่น) เป็นรูปที่ปรากฏทางจมูก ๑ รูปรโส (รส) เป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น ๑ รูปโอชา (อาหาร) เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ๑ รูป
รูป ๘ นี้แยกกันไม่ได้เลย เป็นกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดที่เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกันอย่างรวดเร็ว จะมีแต่มหาภูตรูป ๔
โดยไม่มี อุปาทายรูป (รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด) ๔ รูปนี้ไม่ได้เลย
มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูปที่เกิดร่วมกันในกลาปเดียวกัน แต่แม้ว่าอุปทายรูป จะเกิดพร้อมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน แต่อุปทายรูปก็ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด ฉะนั้นมหาภูตรูป ๔จึงเกิดพร้อมกับอุปาทายรูป โดยมหาภูตรูปเป็นปัจจัย คือเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูป และอุปาทายรูปเกิดพร้อมกับมหาภูตรูป โดยอาศัยมหาภูตรูปแต่ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด
รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป เป็นมหาภูตรูป ๔ เป็นอุปาทายรูป ๒๔ เมื่อมหาภูตรูป ๔ ไม่เกิด อุปาทายรูป ๒๔ ก็มีไม่ได้เลย
การกล่าวถึงรูป ๒๘ รูปนั้นกล่าวได้หลายนัย แต่จะขอกล่าวโดยนัยที่สัมพันธ์กัน เพื่อสะดวกแก่การเข้าใจและการจำดังนี้ คือ กลุ่มของรูปแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละกลาป นั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วยังไม่ดับไปทันที สภาวรูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
เมื่อรูปเกิดขึ้นขณะแรกนั้นเป็น อุปจยรูป ๑ขณะที่รูปเจริญขึ้นเป็น สันตติรูป ๑ขณะที่รูปเสื่อมลงเป็น ชรตารูป ๑
ขณะที่รูปดับเป็น อนิจจตารูป ๑รวมเป็น ลักขณรูป ๔
ลักขณรูป ๔ นี้เป็น อสภาวรูป คือ เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะต่างหากเฉพาะของตน แต่สภาวรูปทุกรูปนั้นย่อมมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๔ ลักษณะคือ ขณะที่รูปเกิดขึ้นไม่ใช่ขณะที่รูปเจริญขึ้น และขณะที่รูปเสื่อมก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังเจริญ และขณะที่ดับก็ไม่ใช่ขณะที่เสื่อม กล่าวได้ว่าอุปจยรูปและสันตติรูปคือ ขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับ ส่วนชรตารูปและอนิจจตารูปนั้นคือ ขณะที่ใกล้จะดับและขณะดับ
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ เป็น ๑๒ รูป
ปริจเฉทรูป คือ อากาสรูป ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลาปทุกๆ กลาป ทำให้รูปแต่ละกลาปไม่ติดกัน ไม่ว่ารูปจะปรากฏเล็กใหญ่ขนาดใดก็ตาม ให้ทราบว่ามีอากาสรูปคั่นอยู่ระหว่างทุกๆ กลาปอย่างละเอียดที่สุด ทำให้รูปแต่ละกลาปแยกออกจากกันได้ ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปคั่นแต่ละกลาป รูปทั้งหลายก็ติดกันหมดแตกแยกกระจัดกระจายออกไม่ได้เลย แต่แม้รูปที่ปรากฏว่าใหญ่โตก็สามารถแตกย่อยออกได้อย่างละเอียดที่สุดนั้น ก็เพราะมีอากาสธาตุ คือ ปริจเฉทรูปคั่นอยู่ทุกๆ กลาปนั่นเอง ฉะนั้นปริจเฉทรูปจึงเป็นอสภาวรูปอีกรูปหนึ่ง ซึ่งไม่มีลักษณะเฉพาะของตนที่เกิดขึ้นต่างหาก แต่เกิดคั่นอยู่ระหว่างกลาปต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันนั่นเอง รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ เป็น ๑๓ รูป
ไม่ว่ารูปจะเกิดที่ใด ภพภูมิใดก็ตาม จะเป็นรูปที่มีใจครองหรือไม่มีใจครองก็ตาม จะปราศจากรูป ๑๓ รูปนี้ไม่ได้เลย
ส่วนรูปที่มีใจครอง ซึ่งเป็นรูปของสัตว์ บุคคลต่างๆ ในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น มีปสาทรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน (ปัจจัย) ดังนี้ คือ
จักขุปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ๑ รูปโสตปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับเสียงได้ ๑ รูปฆานปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับกลิ่นได้ ๑ รูปชิวหาปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับรสได้ ๑ รูปกายปสาทรูป เป็นรูปที่กระทบกับเย็นได้ ร้อน (ธาตุไฟ) ๑ อ่อน แข็ง (ธาตุดิน) ๑ ตึงไหว (ธาตุลม) ๑
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ +ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ เป็น ๑๘ รูป
รูปที่มีใจครอง คือ มีจิตเกิดกับรูปนั้น จิตทุกขณะจะต้องเกิดที่รูปตามประเภทของจิตนั้นๆ คือ จักขุวิญญาณ ทำกิจเห็น เกิดที่จักขุปสาทรูปโสตวิญญาณ ทำกิจได้ยิน เกิดที่โสตปสาทรูป ฆานวิญญาณ ทำกิจลิ้รสเกิดที่ชิวหาปสาทรูป กายวิญญาณ ทำกิจรู้โผฏฐัพพะ (ธาตุดิน ไฟ ลม) เกิดที่กายปสาทรูป จิตอื่นๆ นอกจากนี้เกิดที่รูปๆ หนึ่ง เรียกว่า หทยรูป เพราะเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ +ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ เป็น ๑๙ รูป
รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานทุกๆ กลาป จะต้องมี ชีวิตินทริยรูป
เกิดร่วมด้วยทุกกลาป ชีวิตินทริยรูปรักษารูปที่เกิดร่วมกันในกลาปหนึ่งๆ ให้เป็นรูปที่ดำรงชีวิต ฉะนั้น รูปของสัตว์บุคคลที่ดำรงชีวิตจึงต่างกับรูปทั้งหลายที่ไม่มีใจครอง
รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ เป็น ๒๐ รูป
การที่สัตว์บุคคลทั้งหลายโดยทั่วไปต่างกันเป็นหญิงและชายนั้น เพราะภาวรูป ๒ คือ
อิตถีภาวรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย ทำให้ปรากฏเป็นทรวดทรง สัณฐาน อาการ กิริยา ท่าทางของเพศหญิง ปุริสภาวรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย ทำให้ปรากฏเป็นทรวดทรง สัณฐาน อาการ กิริยา ท่าทางของเพศชาย
ในแต่ละบุคคลจะมีภาวรูปหนึ่งภาวรูปใด คือ อิตถีภาวรูป หรือ ปุริสภาวรูปเท่านั้น และบางบุคคลก็ไม่มีภาวรูปเลย เช่น พรหมบุคคลในพรหมโลกและผู้ที่เป็นกระเทย รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ +ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ เป็น ๒๒ รูป
การที่รูปของสัตว์บุคคลทั้งหลายเคลื่อนไหวไปได้เพราะมีจิตนั้น ก็จะต้องมีรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานด้วย เพราะถ้ามีเพียงรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น จะเคลื่อนไหวไปมาทำกิจธุระใดๆ ไม่ได้เลย การที่รูปร่างกายจะเคลื่อนไหวทำกิจการงานต่างๆ ได้นั้น จะต้องมี วิการรูป ๓ รูป คือ
ลหุตารูป เป็นภาวะที่เบา ไม่หนักของรูป ดังเช่น อาการของ คนไม่มีโรคมุทุตารูป เป็นภาวะที่อ่อน ไม่กระด้างของรูป ดังเช่น หนังที่ ขยำไว้ ดีแล้วกัมมัญญตารูป เป็นภาวะที่ควรแก่การงานของรูป ดังเช่น ทองคำที่ หลอมไว้ดีแล้ว
วิการรูป ๓ รูปนี้เป็นอสภาวรูป เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะต่างหาก เฉพาะของตน เป็นอาการวิการของมหาภูตรูป คือ เบา อ่อน และควรแก่การงาน วิการรูป ๓ เป็นรูปที่เกิดภายในสัตว์บุคคลเท่านั้นรูปที่ไม่มีใจครองไม่มีวิการรูป ๓ เลย และวิการรูป ๓ นี้ไม่แยกกันเลย ในกลาปใดมีลหุตารูปกลาปนั้น ก็มีมุทุตารูปและกัมมัญญตารูปด้วย นอกจากนั้น เ มื่อจิตต้องการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ร่างกายส่วนนั้น จะต้องมีวิการรูปที่เกิดจากอุตุ (ความสม่ำเสมอของธาตุเย็นร้อน) เป็นสมุฏฐานและมีวิการรูปที่เกิดจากอาหาร (โอชารูป) เป็นสมุฏฐานด้วย มิฉะนั้นแล้ว แม้จิตต้องการจะเคลื่อนไหว รูปก็เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น ผู้ที่เป็นอัมพาตหรือเคล็ดขัดยอกกระปลกกระเปลี้ย เป็นต้น รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕+ หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ + วิการรูป ๓ เป็น ๒๕ รูป
รูปที่มีใจครองนั้น เมื่อจิตต้องการให้รูปแสดงความหมายทางกายตามที่จิตรู้ในอาการนั้นขณะใด ขณะนั้นจิตเป็นสมุฏฐานให้ กายวิญญัติรูปคือ อาการพิเศษที่มีความหมายของรูปเกิดขึ้นตามที่จิตรู้ในอาการนั้นทางตา หรือทางหน้าหรือท่าทาง เช่น ถลึงตา ยิ้มเยาะ เหยียดหยาม หรือห้ามปราม เป็นต้น เมื่อจิตไม่ต้องการให้รูปแสดงความหมายกายวิญญัติรูปก็ไม่เกิด ขณะใดที่จิตเป็นปัจจัยให้เกิดเสียงทางวาจา ซึ่งเป็นการพูด การเปล่งเสียงให้รู้ความหมายขณะนั้นจิตเป็นสมุฏฐานคือเป็นปัจจัยให้วจีวิญญัติรูปเกิดขึ้นกระทบฐานที่เกิดของเสียงต่างๆ เช่น ริมฝีปาก เป็นต้น ถ้าวจีวิญญัติรูปไม่เกิด การพูด หรือการเปล่งเสียงต่างๆ ก็มีไม่ได้ กายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูป เป็นอสภาวรูปที่เกิดและดับพร้อมจิต รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ + วิการรูป ๓ + วิญญัติรูป ๒ เป็น ๒๗ รูป
ในบางแห่งจะรวมวิการรูป ๓ และวัญญัติรูป ๒ เป็นวิการรูป ๕
เสียงหรือ สัททรูป ไม่ใช่วจีญญัติรูป เสียงเป็นรูปที่กระทบกับโสตปสาทรูป เป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณจิต เสียงบางเสียงก็เกิดจากจิต และบางเสียงก็ไม่ได้เกิดจากจิตเช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงลมพายุ เสียงเครื่องยนต์เสียงกลอง เสียงวิทยุ เสียงโทรทัศน์ เป็นต้น รวมอวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ +ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ + ภาวรูป ๒ + วิการรูป ๓ + วิญญัติ รูป ๒ + สัททรูป ๑ เป็น ๒๘ รูป
ขออนุโมทนาครับ
ผมเริ่มจะรู้แจ้งคำว่า ปุถุชนเบาปัญญา มากขึ้นทุกวันแล้วครับ ผมจะค่อยๆ สำรวมศึกษาเล่าเรียนไปอย่างระมัดระวัง (กลัวเดินทางพลาด)
ขอความกรุณาจากท่านผู้ใจบุญด้วยครับ
(ทุกวันนี้ผมก็ฟังจิตปรมัตถ์ของอาจารย์สุจินต์อยู่ครับ แต่บางทีก็รู้สึกเกิน ปัญญาตัวเอง)
ขอบคุณครับ
ฟังให้เข้าใจบ่อยๆ เนืองๆ ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ
ขอเป็นกำลังใจให้หมั่นอบรมเจริญปัญญา เพราะเป็นจิรกาลภาวนา
ขอความนอบน้อมจงมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาครับ