[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 75
ปฐมปัณณาสก์
มหาวรรคที่ ๓
๓. กายสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ละด้วยกายวาจาไม่ได้ แต่ละได้ด้วยปัญญา
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 75
๓. กายสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ละด้วยกายวาจาไม่ได้ แต่ละได้ด้วยปัญญา
[๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา มีอยู่ ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย มีอยู่ ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ มีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจาเป็นไฉน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 76
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยกาย เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเป็นผู้ต้องแล้วซึ่งส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยกาย เป็นการดีหนอ ที่ท่านผู้มีอายุจงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ภิกษุนั้นอันเป็นเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ว่ากล่าวอยู่ ย่อมละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ เรียกว่าอันบุคคลพึงละด้วยกาย ไม่ใช่ด้วยวาจา.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกายเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยวาจา เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเป็นผู้ต้องแล้วซึ่งส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยวาจา เป็นการดีหนอ ที่ท่านผู้มีอายุจงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ภิกษุนั้นอันเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ว่ากล่าวอยู่ ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ เรียกว่าอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ละด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลภะอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ โทสะ ฯลฯ โมหะ ฯลฯ โกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความริษยา
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 77
อันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความริษยาอันชั่วช้าเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีในโลกนี้ ย่อมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง ทาสหรือคนเข้าไปอาศัยของคฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีนี้ ไม่พึงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ ท่านผู้มีอายุนี้ ไม่พึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าความริษยาอันชั่วช้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความริษยาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละ ด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงจะได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความปรารถนาอันชั่วช้าเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่าคนทั้งหลายพึงรู้เราว่าเป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้ทุศีล ย่อมปรารถนาว่าคนทั้งหลายพึงรู้เราว่าเป็นผู้มีศีล เป็นผู้ได้สดับน้อย ย่อมปรารถนาว่าคนทั้งหลายพึงรู้เราว่าเป็นผู้ได้สดับมาก เป็นผู้มีความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ย่อมปรารถนาว่าคนทั้งหลายพึงรู้เราว่าเป็นชอบสงัด เป็นผู้เกียจคร้าน ย่อมปรารถนาว่าคนทั้งหลายพึงรู้เราว่าเป็นผู้
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 78
ปรารภความเพียร เป็นผู้มีสติหลงลืม ย่อมปรารถนาว่าคนทั้งหลายพึงรู้เราว่าเป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นผู้มีใจไม่ตั้งมั่น ย่อมปรารถนาว่าคนทั้งหลายพึงรู้เราว่าเป็นผู้มีใจตั้งมั่น เป็นผู้มีปัญญาทราม ย่อมปรารถนาว่าคนทั้งหลายพึงรู้เราว่าเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ยังไม่สิ้นอาสวะ ย่อมปรารถนาว่าคนทั้งหลายพึงรู้เราว่าเป็นผู้สิ้นอาสวะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าความปรารถนาอันชั่วช้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าโลภะครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป หากว่าโทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้นโลภะจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ โทสะ โมหะ ฯลฯ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้นโทสะ โมหะ ฯลฯ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าโลภะไม่ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป หากว่าโทสะ โมหะ ฯลฯ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัดฉันนั้น เพราะฉะนั้น โลภะจึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ โทสะ โมหะ ฯลฯ ความริษยาอันชั่วช้า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 79
ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ ฯลฯ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้.
จบกายสูตรที่ ๓
อรรถกถากายสูตรที่ ๓
กายสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อาปนฺโน โหติ กญฺจิกาย เทสํ ความว่า เป็นผู้ต้องส่วนแห่งอาบัติบางอย่าง. บทว่า อนุวิจฺจ ได้แก่ เข้าไปพิจารณา คือดูรอบคอบแล้ว. บทว่า กายทุจฺจริตํ ได้แก่ กายทุจริต ๓ อย่าง. บทว่า วจีทุจฺจริตํ ได้แก่ วจีทุจริต ๔ อย่าง. บทว่า ปาปิกา อิสฺสา ได้แก่ ความริษยาอันทราม. บทว่า ปญฺาย ทิสฺวา ทิสฺวา ได้แก่ มองเห็นแล้วพึงละเสียด้วยมรรคปัญญาพร้อมด้วยวิปัสสนา. บทว่า อิชฺฌติ แปลว่า สำเร็จพร้อม. บทว่า อุปวาสสฺส ได้แก่ ผู้เข้าไปอาศัยอยู่. บทว่า อภิภุยฺย ได้แก่ ครอบงำย่ำยี. บทว่า อิริยติ ได้แก่ เป็นไป. ในพระสูตรนี้ ตรัสมรรคพร้อมด้วยวิปัสสนา.
จบอรรถกถากายสูตรที่ ๓