การศึกษาธรรมในสมัยนี้ ต้องสอบทานโดยละเอียดทีเดียว
โดย สารธรรม  25 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44228

ถ. ผมพูดถึงอิริยาบถ ๔ อาจารย์ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อิริยาบถที่ท่านวางไว้ปิดบังทุกข์ ท่านว่าอย่างนั้น อิริยาบถ ๔ ปิดบังทุกข์นี้ง่ายหน่อย ลองท่านนั่ง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ท่านรู้สึกเมื่อยไหม นี่ละแสดงแล้ว แต่นี่เห็นง่าย ทีนี้ท่านก็ต้องมนสิการว่า ท่านต้องการแก้ทุกข์นะ ท่านก็เปลี่ยนเป็นเดิน อิริยาบถ ๔ นี้ ท่านถึงนิพพานเหมือนกัน

ถ๒. ท่านนั่งอยู่นานเท่าไร

ถ. ๗ ปี เห็นรูปนั่งนิดเดียว ญาณที่ ๑ ญาณที่ ๑๖ จึงจะถึงนิพพาน เราพึ่งได้ญาณที่ ๑ ได้เมื่อ ๒ - ๓ เดือนนี่เอง เห็นว่าเป็นรูป จิตเห็น เห็นเป็นรูปชัด คือ ในระหว่างที่ทำมา ๕ ปี ก็ถ่ายความรู้สึกไปทีละน้อย บางทีก็ไม่ถ่าย บางทีก็กลับมาเป็นเราใหม่ ความรู้สึกนี้เราต้องจำไว้ว่า ความรู้สึกที่ว่าเป็นรูปนั่ง หรือเรานั่งมันเป็นอย่างไร และเมื่อท่านทำไปสักชั่วโมงหนึ่ง ในวันหนึ่งความรู้สึกท่านเปลี่ยนอย่างไร และผลเป็นอย่างไร ความรู้สึกที่ว่าเป็นเรานั่งนี้เป็นความรู้สึกอย่างไร เวลานี้ท่านต้องเข้าใจ ท่านต้องสำเหนียกศึกษาอันนี้ สังเกตอันนี้ แล้วพอท่านทำไปวัน ๑ - ๗ วันความรู้สึกของท่านเปลี่ยนไปไหม ผลเกิดขึ้นอย่างไร ความรู้สึกเป็นรูป ผลเกิดเป็นอย่างไร ที่ผมว่า ๕ ปีนี้ ผลรุนแรงมาก

สุ. ดิฉันขอเพียงเรียนถามท่านว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้อะไรบ้างที่เจริญสติปัฏฐาน มีแต่รูปนั่ง แล้วที่กำลังอ่อน กำลังแข็ง เสียงที่กำลังปรากฏเป็นของจริง ได้ยินซึ่งเป็นของจริง ทุกๆ วันนี่ ไม่รู้อะไรเลยหรือ

ถ. เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต ถ้าเขียนแบบฝีกทางวิปัสสนามาอย่างนี้แล้ว สติปัฏฐาน ๔ มาเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม เราก็ต้องตามทางนี้ ที่ท่านทำก็ง่ายอยู่แล้ว เราเดินตามนี้เท่านั้น อย่านำของท่านมาสงเคราะห์กับของเราเลย ถ้านำของท่านมาสงเคราะห์กับของเรา ปัญญาของผมก็ไม่ค่อยไหว ถ้านำของเราไปสงเคราะห์กับของท่าน ผมว่าง่ายหน่อย

ถ๒. ที่ว่านั่ง เป็นบัญญัติ แต่สำหรับหลักวิปัสสนาบอกชัดว่า ให้เอาปรมัตถ์เป็นอารมณ์ นั่งจะรู้ได้เพราะเอารูปนั่งมาบัญญัติจำไว้ในใจ เพราะฉะนั้น ที่ท่านมาสอนว่า เอารูปนั่งมาเป็นอารมณ์นี้ ผมสงสัยว่าจะผิดหลัก

ถ. ผมอยากจะตัดปัญหาครับ ที่จริงนั่งนี่เป็นปรมัตถ์ นั่ง นอน ยืน เดินเป็นปรมัตถ์เหมือนกัน เพราะอะไร ไม่อย่างนั้นท่านไม่เอาไปใส่ไว้ในสติปัฏฐาน ใน กายาบรรพมีอิริยาบถ ๔ เพราะฉะนั้น คงไม่ผิดแน่ อาจจะชี้แจงให้ท่านได้ไม่เพียงพอ แต่เป็นปรมัตถ์แน่

สุ. เรื่องการปฏิบัติ การศึกษาธรรมสำหรับบุคคลในสมัยนี้ ต้องสอบทานโดยละเอียดทีเดียว และต้องสงเคราะห์ทั้งพระอภิธรรม พระสูตร พร้อมทั้งพระวินัยด้วย

ในขณะที่นั่งแล้วไปจดจ้อง สัญญาจำสิ่งที่ประชุมรวมกัน ไม่กระจัดกระจาย ออกเป็นลักษณะของนามของรูปแต่ละลักษณะ ถ้าไม่เจริญสติให้ปัญญารู้ชัดอย่างนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้สภาพปรมัตถธรรมตามที่ได้ทรงแสดงไว้เพื่อเกื้อกูลพุทธบริษัท ทั้งพระอภิธรรมปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎก เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงรูปนั่ง ก็ขอให้กล่าวถึงปรมัตถธรรมว่า ได้แก่รูปอะไร

ถ. มีในวิการรูป


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 119