๕. โรหนมิคชาดก ว่าด้วยความรักในสายเลือด
โดย บ้านธัมมะ  26 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35968

[เล่มที่ 61] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 86

๕. โรหนมิคชาดก

ว่าด้วยความรักในสายเลือด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 61]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 86

๕. โรหนมิคชาดก

ว่าด้วยความรักในสายเลือด

[๒๑๐๔] ดูก่อนน้องจิตตกะ ฝูงเนื้อเหล่านี้กลัวความตาย จึงพากันหนีกลับไป ถึงเธอก็จงไปเสียเถิด อย่าห่วงพี่เลย เนื้อทั้งหลายจักมีชีวิตอยู่ร่วมกับเธอ.

[๒๑๐๕] พี่โรหนะ ฉันไม่ไป ถึงใครจะมาคร่าเอาหัวใจของฉันไป ฉันก็จักไม่ทิ้งพี่ไป ฉันจักยอมสละชีวิตอยู่ในที่นี้.

ก็มารดาบิดาทั้งสองของเรานั้น ท่านตาบอด เมื่อไม่มีผู้ปรนนิบัตินำทาง จักต้องตายแน่ เธอจงไปเถิด อย่าห่วงใยพี่เลย เนื้อทั้งหลายจักมีชีวิตอยู่ร่วมกับเธอ.

พี่โรหนะฉันไม่ยอมไป ถึงใครจักมาคร่าเอาดวงใจของฉันไป ฉันก็จักไม่ทิ้งพี่ผู้ถูกมัดไป ฉันจักยอมสละชีวิตไว้ในที่นี้.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 87

[๒๑๐๖] เจ้าเป็นผู้ขลาดจงหนีไปเสียเถิด พี่ติดอยู่ในหลักเหล็ก เธอจงไปเสียเถิด อย่าห่วงใยพี่เลย เนื้อทั้งหลายจักมีชีวิตอยู่กับเธอ.

[๒๑๐๗] พี่โรหนะ ฉันจะไม่ไป ถึงใครจะมาฆ่าเอาหัวใจของฉันไป ฉันก็จะไม่ละทิ้งพี่ผู้ถูกมัด ฉันจะยอมทิ้งชีวิตไว้ในที่นี้.

ก็มารดาบิดาทั้งสองของเรานั้น ท่านตาบอด ขาดผู้นำทางจักต้องตายแน่ เธอจงไปเถิด อย่าห่วงใยพี่เลย เนื้อทั้งหลายจักมีชีวิตอยู่กับเธอ.

พี่โรหนะ ฉันจะไม่ไป ถึงใครจะมาคร่าเอาหัวใจ ของฉันไป ฉันจะไม่ละทิ้งพี่ผู้ถูกมัด ฉันจักยอมทิ้งชีวิตไว้ในที่นี้แหละ.

[๒๑๐๘] วันนี้นายพรานคนใด จักฆ่าเราด้วยลูกศรหรือหอก นายพรานคนนี้นั้นมีรูปร่างร้ายกาจ ถืออาวุธเดินมาแล้ว.

[๒๑๐๙] นางสุตตนามฤคี ถูกภัยบีบคั้น คุกคาม หนีไปครู่หนึ่ง แล้วย้อนกลับมา เผชิญหน้ามฤตยู ถึงจะมีขวัญอ่อน ก็ได้กระทำกรรมที่ทำได้แสนยาก.

[๒๑๑๐] เนื้อทั้งสองนี้เป็นอะไรกับท่านหนอ พ้นไปแล้วยังย้อนกลับมาหาเครื่องผูกอีก ไม่ปรารถนาจะละทิ้งท่านไป แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต.

[๒๑๑๑] ดูก่อนนายพราน เนื้อทั้งสองนี้เป็น น้องชายน้องสาวของข้าพเจ้า ร่วมท้องมารดาเดียวกัน ไม่ปรารถนาละข้าพเจ้าไป แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 88

[๒๑๑๒] ข้าแต่นายพราน มารดาบิดาทั้งสองของเราเหล่านั้น ท่านตาบอด หาผู้ปรนนิบัตินำทางมิได้ คงต้องตายแน่แท้ โปรดให้ชีวิตแก่พวกเราทั้ง ๕ เถิด โปรดปล่อยพี่ชายเสียเถิด.

[๒๑๑๓] ข้าพเจ้าจะปล่อยเนื้อผู้เลี้ยงมารดาบิดาแน่นอน มารดาบิดาได้เห็นพญาเนื้อ หลุดจากบ่วงแล้ว ก็จงยินดีเถิด.

[๒๑๑๔] ข้าแต่นายพราน ท่านจงยินดีเพลิดเพลินกับพวกญาติทั้งปวง เหมือนข้าพเจ้าเห็นพญาเนื้อที่หลุดจากบ่วงแล้ว ชื่นชมยินดีในวันนี้ ฉะนั้น.

[๒๑๑๕] ลูกรัก เมื่อชีวิตเจ้าย่างเข้าใกล้ความตายแล้ว เจ้าหลุดมาได้อย่างไร ไฉนนายพรานจึงปล่อยจากบ่วงเหล็กมาเล่า.

[๒๑๑๖] น้องจิตตกะ กล่าววาจาไพเราะหูเป็นที่จับใจ ดื่มด่ำในหฤทัย ช่วยให้ข้าพเจ้าหลุดมาได้ ด้วยวาจาสุภาษิต.

น้องสุตตนาได้กล่าววาจาไพเราะหู จับใจ ดื่มด่ำในหฤทัย ช่วยข้าพเจ้าให้หลุดมาได้ด้วยวาจาสุภาษิต.

นายพรานได้ฟังวาจาไพเราะหู เป็นที่จับใจ ดื่มด่ำในหฤทัย แล้วปล่อยข้าพเจ้า เพราะฟังวาจาสุภาษิต ของน้องทั้งสองนี้.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 89

[๒๑๑๗] ก็เราทั้งหลายเห็นลูกโรหนะมาแล้ว พากันชื่นชมยินดี ฉันใด ขอนายพรานพร้อมด้วยลูก เมีย จงชื่นชมยินดี ฉันนั้นเถิด.

[๒๑๑๘] แน่ะนายพราน เจ้าได้บอกไว้ว่า จะนำเนื้อหรือหนังมามิใช่หรือ เออก็เหตุไรเล่า เจ้าจึงไม่นำเอาเนื้อหรือหนังเนื้อมา.

[๒๑๑๙] เนื้อนั้นได้มาติดบ่วงเหล็ก ถึงมือแล้ว แต่มีเนื้อสองตัวไม่ได้ติดบ่วง มายืนอยู่ใกล้เนื้อตัวนั้น ข้าพระองค์ได้เกิดความสังเวชใจ ความอัศจรรย์ใจ ขนพองสยองเกล้าว่า ถ้าเราฆ่าเนื้อตัวนี้ เราจักต้องทิ้งชีวิตในสถานที่นี้แหละ ในวันนี้ทีเดียว.

[๒๑๒๐] ดูก่อนนายพราน เนื้อนั้นเป็นเช่นไร เป็นเนื้อมีธรรมอย่างไร มีสีอย่างไร มีศีลอย่างไร ท่านจึงได้สรรเสริญเนื้อเหล่านั้นนัก.

[๒๑๒๑] เนื้อเหล่านั้นมีเขาขาว ขนสะอาด หนัง เปรียบด้วยทองคำ เท้าแดง ตาสุกสะกาว เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ.

[๒๑๒๒] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เนื้อเหล่านั้นเป็นเช่นนี้ เป็นเนื้อมีธรรมเช่นนี้ เป็นเนื้อเลี้ยงมารดาบิดา ข้าพเจ้าจึงมิได้นำเนื้อเหล่านั้นมาถวายพระองค์ พระเจ้าข้า.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 90

[๒๑๒๓] ดูก่อนนายพราน เราให้ทองคำ ๑๐๐ แท่ง กุณฑลแก้วมณีอันมีค่ามาก เตียง ๔ เหลี่ยม มีสีคล้ายดอกสามหาว และภรรยาผู้ทัดเทียมกันสองคน กับโค ๑๐๐ ตัวแก่ท่าน เราจักปกครองราชสมบัติโดยธรรม ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก ดูก่อนนายพราน ท่านจงเลี้ยงดูบุตรและภรรยาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม การให้กู้หนี้และด้วยการประพฤติเลี้ยงชีพ โดยสัมมาอาชีวะเถิด อย่าได้กระทำบาปอีกเลย.

จบโรหนมิคชาดกที่ ๕

อรรถกถาโรหนมิคชาดก

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ การเสียสละชีวิตของท่านพระอานนท์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ฝูงเนื้อเหล่านี้... จึงพากันหนีกลับไป ( เอเต ยูเถ ปฏิยนฺติ) ดังนี้.

ก็การเสียสละชีวิตของท่านพระอานนท์นั้น จักปรากฏชัดเจนในเรื่อง ทรมานช้างชื่อว่าธนบาล ในจุลลหังสชาดก อสีตินิบาต. เมื่อท่านพระอานนท์ นั้นสละชีวิตเพื่อป้องกันพระศาสดาอย่างนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงสนทนากันใน โรงธรรมว่า "อาวุโสทั้งหลาย ท่านพระอานนท์เป็นเสกขบุคคล บรรลุปฏิสัมภิทา ยอมสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่พระทศพล". พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร" เมื่อ


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 91

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อน อานนท์ก็เคยสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่เราเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้

ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระองค์มีอัครมเหสีทรงพระนามว่า เขมา. ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในกำเนิดมฤคชาติ มีผิวพรรณเหมือนสีทอง อยู่ในหิมวันตประเทศ แม้เนื้อน้องชายของพระโพธิสัตว์ชื่อจิตตมิคะ ก็เป็นสัตว์ถึงความเป็นเยี่ยมด้วยความงาม มีผิวพรรณเสมอด้วยสีทองเหมือนกัน แม้เนื้อน้องสาวของพระโพธิสัตว์ ที่ชื่อว่า สุตตนานั้น ก็เป็นสัตว์มีผิวพรรณปานทองคำเหมือนกัน. ส่วนพระมหาสัตว์ได้เป็นพญาเนื้อ ชื่อโรหนมฤคราช พญาเนื้อนั้น มีเนื้อแปดหมื่นเป็นบริวาร สำเร็จนิวาสถานอยู่อาศัยสระชื่อโรหนะ ระหว่างชั้นที่ ๓ เลยเทือกเขาสองลูกไปในหิมวันตประเทศ. พญาเนื้อโรหนะ เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้ชรา ตาบอด.

ครั้งนั้น มีบุตรพรานคนหนึ่ง อยู่ในเนสาทคามไม่ห่างจากพระนครพาราณสีนัก เขาเข้าไปสู่หิมวันตประเทศพบมหาสัตว์เจ้า แล้วกลับมาบ้านของตน ต่อมาเมื่อจะทำกาลกิริยาจึงบอกแก่บุตรชายว่า "พ่อคุณ ในที่ชื่อโน้น ณ ภาคนี้สถานที่ทำกินของพวกเรา มีเนื้อสีทองอาศัยอยู่ ถ้าพระราชาตรัสถาม พึงกราบทูลให้ทรงทราบ".

อยู่มาวันหนึ่ง พระนางเขมา บรมราชเทวี ทรงพระสุบินในเวลาใกล้รุ่ง. พระสุบินนั้นปรากฏอย่างนี้ว่า มีพญาเนื้อสีเหมือนทอง ยืนอยู่บนแท่นทอง แสดงธรรมแด่พระเทวี ด้วยเสียงอันไพเราะ เหมือนบุคคลเคาะกระดิ่งทอง พระนางประทานสาธุการ แล้วสดับพระธรรมเทศนาอยู่. เมื่อธรรมกถายังไม่ทันจบ เนื้อทองนั้นก็ลุกเดิน


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 92

ไปเสีย. ส่วนพระนางเทวีก็มีพระเสาวนีย์ตรัสว่า "ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับเนื้อ ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับเนื้อ" ดังนี้ อยู่จนตื่นพระบรรทม. พวกนางสนมได้ยินเสียงพระนาง พากันขบขันว่า ประตูหน้าต่างห้องบรรทมก็ปิดหมดแล้ว แม้คนก็ไม่มีโอกาสจะเข้าไปได้ พระแม่เจ้ายังรับสั่งให้จับเนื้อในเวลานี้ได้ ขณะนั้นพระเทวีทรงรู้พระองค์ว่า นี้เป็นความฝัน จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราจักกราบทูลพระราชาว่า เราฝันเห็นดังนี้ พระองค์ก็จักไม่ทรงสนพระทัย แต่เมื่อเรากราบทูลว่า แพ้พระครรภ์ พระองค์ก็จักช่วยแสวงหามาให้ด้วยความสนพระทัยเราจักได้ฟังธรรมของพญามฤคตัวมีสีเหมือนทอง พระนางจึงทรงบรรทม ทำมายาว่า ประชวร.

พระราชาเสด็จมาตรัสถามว่า "ดูก่อนพระนางผู้มีพักตร์อันเจริญ เธอไม่สบาย เป็นอะไรไปหรือ" พระเทวีกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ โรคอย่างอื่นไม่มีดอกเพคะ แต่กระหม่อมฉันเกิด แพ้ท้อง". พระราชาตรัสถามว่า "เธออยากได้อะไร" พระนางจึงกราบทูลว่า "ขอเดชะ กระหม่อมฉันปรารถนาจักฟังธรรมของพญาเนื้อมีสีเหมือนทองพะยะค่ะ" พระราชาตรัสว่า "ดูก่อนพระนางผู้มีพักตร์อันเจริญ สิ่งใดไม่มี เจ้าก็เกิดแพ้ท้องต้องประสงค์สิ่งนั้นหรือ ขึ้นชื่อว่าเนื้อสีทองไม่มีดอก". พระนางกราบทูลว่า "ถ้าไม่ได้หม่อมฉันจักนอนตายในที่นี้แหละ" แล้วผินเบื้องพระปฤษฏางค์ให้พระราชา ทรงบรรทมเฉยเสีย พระราชาทรงปลอบโยนว่า "ถ้าหากมีอยู่เจ้าก็จักได้" แล้วประทับนั่งท่ามกลางบริษัท ตรัสถามพวกอำมาตย์และพวกพราหมณ์ ตามนัยที่กล่าวแล้วในโมรชาดกนั่นเอง ทรงสดับว่า เนื้อที่มีสีเหมือนทองมีอยู่ จึงมีพระบรมราชโองการให้พวกนายพรานประชุมกัน ตรัสถามว่า "เนื้อสีเหมือนทอง เห็นปานนี้ ใครเคยเห็น เคยได้ยินมาบ้าง" เมื่อบุตรนายเนสาทกราบทูล โดยทำนองที่ตนได้ยินมาจากสำนักบิดาแล้ว จึงตรัสว่า "ดูก่อนสหาย เมื่อเจ้านำเนื้อนั้นมาได้ เราจักทำสักการะใหญ่แก่เจ้า ไปเถิด จงไปนำเนื้อนั้นมา" พระ-


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 93

ราชทานเสบียงแล้ว ทรงส่งเขาไป. ฝ่ายบุตรนายเนสาทก็กราบทูลว่า "ขอเดชะ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ถ้าหากข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะนำเนื้อทองนั้นมาถวายได้ ข้าพระพุทธเจ้าจักนำหนังของมันมาถวาย เมื่อไม่อาจนำหนังมาถวายได้ ก็จักนำแม้ขนของมันมาถวาย ขอพระองค์อย่าทรงวิตกเลย" แล้วไปเรือนมอบเสบียงแก่ลูกและเมีย แล้วไปที่หิมวันตประเทศนั้น พบพญาเนื้อนั้นแล้ว ดำริว่า เราจะดักบ่วง ณ ที่ไหนหนอจึงจักสามารถจับเนื้อนี้ได้ เมื่อพิจารณาไปจึงเห็นช่องทางที่ท่าน้ำ เขาจึงฟั่นเชือกหนังทำเป็นบ่วงให้มั่นคง แล้วปักหลักดักบ่วงไว้ในสถานที่พระมหาสัตว์เจ้าลงดื่มน้ำ.

ในวันรุ่งขึ้น พระมหาสัตว์พร้อมด้วยเนื้อบริวารแปดหมื่น เที่ยวไป แสวงหาอาหาร คิดว่า "เราจักดื่มน้ำที่ท่าเดิมนั่นแหละ" จึงไปที่ท่านั้น พอก้าวลง ไปเท่านั้นก็ติดบ่วง พระมหาสัตว์ดำริว่า ถ้าหากเราจักร้องว่าติดบ่วงเสียในบัดนี้ทีเดียว หมู่ญาติของเราจักไม่ดื่มน้ำ จักพากันตกใจกลัวแตกหนีไป จึงแอบหลัก เบี่ยงไว้ข้างตัว ทำทีเหมือนดื่มน้ำอยู่ ครั้นเวลาที่เนื้อทั้งแปดหมื่น ดื่มน้ำขึ้นไปแล้ว คิดว่า เราจักตัดบ่วงให้ขาด จึงกระชากมา ๓ ครั้ง ในวาระ แรกหนังขาดไป วาระที่สองเนื้อหลุด วาระที่สามเอ็นขาด บ่วงบาดลึก จดแนบกระดูก. เมื่อพระมหาสัตว์ไม่สามารถจะตัดให้ขาดได้ จึงร้องขึ้นว่า เราติดบ่วง. หมู่เนื้อทั้งหลายตกใจกลัว พากันแยกหลบหนีไปเป็น ๓ ฝูง จิตตมฤคไม่เห็นพระมหาสัตว์ ในระหว่างฝูงเนื้อทั้ง ๓ แล้วจึงคิดว่า เมื่อภัยนี้เกิด คงจักเกิดแก่พี่ชายของเรา จึงมายังสำนักของพญาเนื้อนั้น เห็นพระมหาสัตว์ติดบ่วงอยู่.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เห็นจิตตมฤค จึงพูดว่า "พ่อน้องชาย เธออย่ามายืนอยู่ที่นี่ สถานที่นี้น่ารังเกียจ เมื่อจะส่งกลับไป จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ความว่า


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 94

ดูก่อนน้องจิตตกะ ฝูงเนื้อเหล่านี้กลัวความตาย จึงพากันหนีกลับไป ถึงเธอก็จงไปเสียเถิด อย่าห่วงพี่เลย เนื้อทั้งหลายจักมีชีวิตอยู่ร่วมกับเธอ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เหล่านี้ ( เอเต) พญาเนื้อกล่าว หมายถึงฝูงเนื้อที่หนีล่วงคลองจักษุของตนไปไกล.

บทว่า จงพากันหนีกลับไป ( ปฏิยนฺติ) ได้แก่ กลับไป อธิบายว่า แตกหนีไป. พระโพธิสัตว์เรียกเนื้อน้องชายว่า " จิตตกะ ".

บทว่า ร่วมกับเธอ ( ตยา สห) ความว่า พระโพธิสัตว์ กล่าวว่า จิตตกะ เธอจงเป็นราชาแห่งเนื้อเหล่านั้น ดำรงอยู่ในตำแหน่งแทนพี่ เนื้อเหล่านี้ จักอยู่ร่วมกับเจ้าต่อไป.

ต่อจากนั้น เป็นคาถาที่เนื้อทั้งสองสนทนาโต้ตอบกัน รวม ๓ คาถา เป็นลำดับกันดังต่อไปนี้

พี่โรหนะ ฉันไม่ไป ถึงใครจักมาคร่าเอาหัวใจของฉันไป ฉันก็จักไม่ทิ้งพี่ไป ฉันจักยอมสละชีวิตอยู่ในที่นี้.

ก็มารดาบิดาทั้งสองของเรานั้น ท่านตาบอด เมื่อไม่มีผู้นำทางจักต้องตายแน่ เธอจงไปเถิดอย่าห่วงใยพี่เลย เนื้อทั้งหลายจักมีชีวิตอยู่ร่วมกับเธอ.

พี่โรหนะ ฉันไม่ยอมไป ถึงใครจักมาคร่าเอาดวงใจของฉันไป ฉันจักไม่ทิ้งพี่ผู้ถูกมัดไป ฉันจักยอมสละชีวิตไว้ในที่นี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พี่โรหนะ ( โรหน) ความว่า จิตตมฤคเรียกพระมหาสัตว์โดยชื่อว่า โรหนะ.

บทว่า จักมาคร่า ( อวกสฺสติ) ความว่า ใครๆ จะมาฉุด คือคร่าเอาดวงใจไป หรือดวงใจถูกความโศกฉุดคร่าไป.

บทว่า ก็... นั้น... แน่ ( เต หิ นูน)


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 95

ความว่า มารดาบิดาของเราเหล่านั้น เมื่อเราทั้งสองต้องตายรวมกันอยู่ในที่นี้ จะขาดผู้ช่วยเหลือนำทาง เมื่อไม่มีใครปฏิบัติ ก็จักซูบผอมตายไป เพราะฉะนั้น น้องจิตตกะ เจ้าจงไปเสียเถิด เนื้อทั้งหลายเหล่านั้น จักได้มีชีวิตอยู่ร่วมกับเจ้า.

บทว่า ฉันจักยอมสละชีวิตไว้ในที่นี้ ( อิธ เหสฺสามิ) ความว่า ฉันจักทิ้งชีวิตไว้ในสถานที่นี้ทีเดียว.

ครั้นจิตตมฤคกล่าวดังนี้แล้ว ก็เดินไปยืนพิงแนบข้างเบื้องขวาของพระโพธิสัตว์ ปลอบโยนให้ดำรงกาย สบายใจ ฝ่ายนางสุตตนามฤคี หนีไปไม่เห็นพี่ชายทั้งสองในระหว่างฝูงเนื้อ คิดว่า ภัยนี้จักเกิดแก่พี่ชายทั้งสองของเรา จึงหวนกลับมายังสำนักของเนื้อทั้งสองนั้น พระมหาสัตว์เห็นนางสุตตนามฤคีกําลังเดินทางมา จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ความว่า

เจ้าเป็นผู้ขลาด จงหนีไปเสียเถิด พี่ติดอยู่ในหลักเหล็ก เธอจงไปเสียเถิด อย่าห่วงใยพี่เลย เนื้อทั้งหลายจักมีชีวิตอยู่กับเธอ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เจ้าเป็นผู้ขลาด ( ภีรุ) ความว่า ขึ้นชื่อว่ามาตุคามย่อมกลัว แม้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย ด้วยเหตุนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะน้องสาวอย่างนี้.

บทว่า หลัก ( กูเฏ) ได้แก่ บ่วงที่เขาปกปิดไว้.

บทว่า เหล็ก (อายเส) ความว่า ก็บ่วงนั้น เขาวางซี่เหล็กไว้ภายในน้ำ แล้วผูกหลักไม้แก่นดักแช่ไว้ในน้ำนั้น เพราะเหตุนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวอย่างนี้.

บทว่า อยู่กับเธอ ( ตยา สห) ความว่า เนื้อทั้ง ๘ หมื่น เหล่านั้น จักมีชีวิตอยู่ร่วมกับเจ้า.

เบื้องหน้าแต่นั้น มีคาถา ๓ คาถา ซึ่งเนื้อสองพี่น้องโต้ตอบกันโดย นัยก่อนนั่นแหละ ดังนี้.

พี่โรหนะ ฉันจะไม่ไป ถึงใครจะมาคร่าเอาหัวใจของฉันไป ฉันก็จักไม่ละทิ้งพี่ผู้ถูกมัด ฉันจักยอมทิ้ง ชีวิตไว้ในที่นี้.


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 96

ก็มารดาบิดาทั้งสองของเรานั้น ท่านตาบอด ขาดผู้ปรนนิบัตินำทาง จักต้องตายแน่ เธอจงไปเถิด อย่าห่วงใยพี่เลย เนื้อทั้งหลายจักมีชีวิตอยู่กับเธอ.

พี่โรหนะ ฉันจะไม่ไป ถึงใครจะมาคร่าเอาหัวใจของฉันไป ฉันจะไม่ละทิ้งพี่ผู้ถูกมัด ฉันจักยอมทิ้ง ชีวิตไว้ในที่นี้แหละ.

บรรดาบทเหล่านั้น แม้ในบทว่า ก็... นั้น... แน่ ( เต หิ นูน) นี้ พระโพธิสัตว์ กล่าวไว้หมายถึง มารดาบิดาเท่านั้น.

แม้นางสุตตนามฤคีนั้น ครั้นปฏิเสธอย่างนั้นแล้ว ไปยืนพิงข้างเบื้องซ้ายของพระมหาสัตว์ผู้พี่ชายปลอบใจอยู่ ฝ่ายนายพรานเห็นเนื้อเหล่านั้นหนีไป และได้ยินเสียงร้องแห่งเนื้อที่ติดบ่วง คิดว่าพญาเนื้อคงจักติดบ่วง แล้วนุ่งผ้าหยักรั้งมั่นคง ถือหอกสำหรับฆ่าเนื้อ วิ่งมาโดยเร็ว พระมหาสัตว์เห็นนายพราน กำลังวิ่งมาจึงกล่าวคาถาที่ ๙ ความว่า

วันนี้นายพรานคนใด จักฆ่าเราด้วยลูกศรหรือ หอก นายพรานคนนี้นั้น มีรูปร่างร้ายกาจ ถืออาวุธ เดินมาแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มีรูปร่างร้ายกาจ ( ลุทฺทรูโป) แปลว่า เหี้ยมโหดทารุณ.

บทว่า หรือหอก ( สตฺติยามปิ) ความว่า นายพรานคนใดจักประหัตประหารฆ่าเราด้วยลูกศรก็ดี ด้วยหอกก็ดี นายพรานนั้นมีรูปร่างเหี้ยมโหดทารุณ ถืออาวุธมา เพราะเหตุนั้น เจ้าทั้งสองจงพากันหนีไป ก่อนที่เขายังมาไม่ถึง.

จิตตมฤคแม้เห็นพรานนั้นแล้วก็มิได้หนีไป ส่วนนางสุตตนามฤคี ไม่อาจดำรงอยู่โดยภาวะของตนได้ มีความกลัวต่อมรณภัย หนีไปหน่อยหนึ่ง แล้วกลับคิดว่า เราจักทิ้งพี่ชายทั้งสองคนหนีไปไหน จึงยอมสละชีวิตของตน กล้ำกลืนความกลัวตาย ย้อนกลับมาใหม่ ยืนอยู่เคียงข้างซ้ายพี่ชายของตน.


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 97

เมื่อจะประกาศความนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ความว่า

นางสุตตนามฤคีนั้น ถูกภัยบีบคั้นคุกคามหนีไปครู่หนึ่ง แล้วย้อนกลับมาเผชิญหน้ามฤตยู ถึงจะมีขวัญอ่อน ก็ได้กระทำกรรมที่ทำได้แสนยาก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ย้อนกลับมาเผชิญหน้ามฤตยู (มรณายูปนิวตฺตถ) ได้แก่ ย้อนกลับมาเพื่อเผชิญหน้าความตาย.

ฝ่ายนายพรานเห็นสัตว์ทั้ง ๓ ยืนเผชิญหน้ากันอยู่ก็เกิดเมตตาจิต มีความสำคัญประหนึ่งว่า เป็นพี่น้องเกิดร่วมท้องเดียวกัน จึงคิดว่า พญาเนื้อติดบ่วงเราก่อน แต่เนื้อทั้งสองนี้ คิดอยู่ด้วยหิริโอตตัปปะ สัตว์ทั้งสองนี้เป็น อะไรกันกับพญาเนื้อนี้หนอ ครั้นคิดดังนี้แล้ว เมื่อจะถามเหตุนั้นจึงกล่าวคาถา ความว่า

เนื้อทั้งสองนี้เป็นอะไรกับท่านหนอ พ้นไปแล้ว ยังย้อนกลับมาหาเครื่องผูกอีก ไม่ปรารถนาจะละทิ้งท่านไป แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺนุ เตเม ตัดบทเป็น กิํ นุ เต อิเม แปลว่า เนื้อทั้งสองนี้เป็นอะไรกับท่านหนอ.

บทว่า ยังย้อนกลับมา ( อุปาสเร) ได้แก่ ยังเข้าไปใกล้.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงบอกแก่นายพรานว่า

ดูก่อนนายพราน เนื้อทั้งสองนี้ เป็นน้องชายน้องสาวของข้าพเจ้า ร่วมท้องมารดาเดียวกัน ไม่ปรารถนาละข้าพเจ้าไป แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต.

นายพรานได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้ว เป็นผู้มีจิตอ่อนลงไปเป็นอันมาก. จิตตมฤคราชรู้ว่านายพรานมีจิตอ่อนแล้ว จึงกล่าวว่า "ดูก่อนนายพราน


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 98

ผู้สหาย ท่านอย่าสำคัญพญาเนื้อนี้ว่า เป็นเพียงเนื้อสามัญเท่านั้น แท้จริงพญาเนื้อนี้ เป็นราชาแห่งเนื้อ ๘ หมื่น ถึงพร้อมด้วยศีลและมรรยาท มีจิตอ่อนโยนในสรรพสัตว์ มีปัญญามาก เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้ชราตาบอด ถ้าหากท่านฆ่าเนื้อผู้ตั้งอยู่ในธรรมเห็นปานนี้ให้ตายลง ชื่อว่าฆ่าพวกเราให้ตายถึง ๕ ชีวิต คือ มารดาบิดาของเรา ตัวเรา และน้องสาวของเราทีเดียว แต่เมื่อท่าน ให้ชีวิตแก่พี่ชายของเรา เป็นอันได้ชื่อว่าให้ชีวิตแก่พวกเราแม้ทั้ง ๕" แล้วกล่าวคาถาความว่า

ข้าแต่นายพราน มารดาบิดาของเราเหล่านั้น ตาบอด หาผู้ปรนนิบัตินำทางมิได้ คงจักต้องตายแน่แท้ โปรดให้ชีวิตแก่พวกเราทั้ง ๕ เถิด โปรดปล่อยพี่ชายเสียเถิด.

นายพรานได้ฟังธรรมกถาของจิตตมฤคแล้ว มีจิตเลื่อมใสแล้วกล่าวว่า ท่านอย่ากลัวเลย แล้วกล่าวคาถาเป็นลำดับไปว่า

ข้าพเจ้าจะปล่อยเนื้อผู้เลี้ยงมารดาบิดาแน่นอน มารดาบิดาได้เห็นพญาเนื้อหลุดจากบ่วงแล้ว จงยินดีเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โว เป็นเพียงนิบาต.

บทว่า เห็น ( ทิสฺวา) ความว่า เห็นพญาเนื้อหลุดแล้วจากบ่วง.

ก็แลนายพรานครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงคิดว่า ยศที่พระราชาพระราชทานแล้ว จักช่วยอะไรเราได้ ถ้าหากเราจักฆ่าพญาเนื้อนี้เสีย แผ่นดินนี้จักแยกออกให้ช่องแก่เรา หรือสายอสนีบาตจักฟาดลงบนกระหม่อมของเรา เราจักปล่อยพญาเนื้อนั้น. เขาจึงเข้าไปหาพระมหาสัตว์เจ้า แล้วกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจักโยกหลักบ่วงให้ล้มลง แล้วตัดเชือกหนังออก" ดังนี้ แล้วประคอง


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 99

พญาเนื้อให้นอนลงที่ชายน้ำ ค่อยๆ แก้บ่วงออกด้วยมุทิตาจิต ทำเส้นเอ็นให้ประสานกับเส้นเอ็น เนื้อให้ประสานกับเนื้อ หนังให้ประสานกับหนัง แล้วเอาน้ำล้างเลือด ลูบคลำไปมาด้วยมุทิตาจิต. ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาจิตของนายพราน และด้วยอานุภาพแห่งบารมีที่พระมหาสัตว์ได้บำเพ็ญมา เอ็น หนัง และเนื้อทั้งหมด ก็สมานติดสนิทดังเดิม. เท้าก็ได้มีหนังและขนปกปิดสนิทดี ในอวัยวะที่มีแผลเก่า ไม่ปรากฏว่ามีแผลติดอยู่เลย. พระมหาสัตว์ถึงความสบาย ปลอดภัยลุกขึ้นยืนแล้ว จิตตมฤคเห็นดังนั้นแล้ว เกิดความโสมนัส เมื่อจะทำอนุโมทนาต่อนายพราน จึงกล่าวคาถาความว่า

ข้าแต่นายพราน ท่านจงยินดีเพลิดเพลินกับ พวกญาติทั้งปวง เหมือนข้าพเจ้าเห็นพญาเนื้อที่หลุดจากบ่วงแล้ว ชื่นชมยินดีในวันนี้ ฉะนั้น.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าคิดว่า นายพรานนี้เมื่อจะจับเรา จับโดยงานอาชีพของตน หรือว่าจับโดยการบังคับของผู้อื่น จึงถามเหตุที่จับ. บุตรนายพรานตอบว่า "ดูก่อนพญาเนื้อ ข้าพเจ้าจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับท่านก็หามิได้ แต่พระอัครมเหสีของพระราชา ซึ่งมีพระนามว่า พระนางเขมาราชเทวี มีพระประสงค์จะฟังธรรมกถาของท่าน ท่านจึงถูกข้าพเจ้าจับโดยพระราชโองการ เพื่อประโยชน์แก่พระเทวีนั้น". พระมหาสัตว์กล่าวว่า "สหายเอ๋ย เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านปล่อยเราเสีย ชื่อว่าทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง มาเถิด จงนำเราไปแสดงแก่บรมกษัตริย์เถิด เราจักแสดงธรรมถวายพระนางเทวี. นายพรานกล่าวว่า ดูก่อนพญาเนื้อ ธรรมดาพระราชาทั้งหลายมีพระเดชานุภาพร้ายกาจ ใครจักรู้ว่า จักมีอะไรเกิดขึ้น ข้าพเจ้าไม่ยินดียศศักดิ์ที่ทรงพระราชทานดอก เชิญท่านไปตามสบายของท่านเถิด. พระมหาสัตว์คิดว่า พรานนี้เมื่อปล่อยเราไป


ความคิดเห็น 15    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 100

ชื่อว่าทำกิจที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง เราจักทำอุบายให้พรานนั้นได้รับยศศักดิ์ แล้วจึงกล่าวว่า "ดูก่อนสหาย ท่านจงเอามือลูบหลังเราก่อนเถิด". นายพรานจึงเอา มือลูบหลังพญาเนื้อ มือของเขาก็เต็มไปด้วยขนมีสีเหมือนทองคำ. เขาจึงถามว่า "ดูก่อนพญาเนื้อ ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรกับขนเหล่านี้" พญาเนื้อจึงบอกว่า "ดูก่อนสหาย ท่านจงเอาขนเหล่านั้นไปถวายแด่พระราชา และพระราชเทวี ทูลว่า นี้เป็นขนของสุวรรณมฤคนั้น ดังนี้ ตั้งอยู่ในฐานะตัวแทนของเรา แสดงธรรมถวายพระบรมราชเทวี ด้วยคาถาเหล่านี้ การแพ้พระครรภ์ของพระนาง ก็จักสงบ เพราะทรงสดับธรรมกถานั้นแล" ดังนี้แล้ว ให้นายพรานเรียนราชธรรมคาถา ๑๐ คาถา มีอาทิว่า ธมฺมญฺจร มหาราช แปลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระราชาพึงประพฤติธรรมดังนี้ แล้วให้เบญจศีล กล่าวสอนด้วย ความไม่ประมาทแล้วส่งไป.

บุตรของนายพราน ยกย่องพระมหาสัตว์ไว้ในตำแหน่งอาจารย์ กระทำประทักษิณ ๓ ครั้ง แล้วไหว้ในฐานะ ๔ เอาใบบัวห่อขนทองทั้งหลายแล้วลาหลีกไป. เนื้อทั้งสามตามไปส่งนายพรานหน่อยหนึ่ง แล้วเอาปากคาบอาหาร และน้ำ พากันกลับไปยังสำนักของมารดาบิดา. มารดาบิดาทั้งสองเมื่อจะถามว่า "โรหนะลูกรัก ได้ยินว่า เจ้าติดบ่วง แล้วพ้นมาได้อย่างไร" จึงกล่าวคาถา ความว่า

ลูกรัก เมื่อชีวิตเข้าไปใกล้ความตายแล้ว เจ้าหลุดมาได้อย่างไร ไฉนนายพรานจึงปล่อยจากบ่วงเหล็กมาเล่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เข้าไปใกล้ความตายแล้ว ( อุปนีตสฺมิ) ความว่า เมื่อชีวิตสถิตอยู่เฉพาะหน้ามฤตยู เจ้ารอดตายมาได้อย่างไร.


ความคิดเห็น 16    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 101

พระโพธิสัตว์ฟังคำนั้นแล้ว กล่าวคาถา ๓ คาถา ความว่า

น้องจิตตกะกล่าววาจาไพเราะหู เป็นที่จับใจดื่มด่ำในหฤทัย ช่วยให้ข้าพเจ้าหลุดมาได้ด้วยวาจาสุภาษิต น้องสุตตนาได้กล่าววาจาไพเราะหู จับใจ ดื่มด่ำในหฤทัย ช่วยข้าพเจ้าให้หลุดมาได้ด้วยวาจาสุภาษิต นายพรานได้ฟังวาจาไพเราะหู เป็นที่จับใจ ดื่มด่ำในหฤทัย แล้วปล่อยข้าพเจ้า เพราะฟังวาจาสุภาษิตของน้องทั้งสองนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กล่าว ( ภณํ) ได้แก่ กล่าวอยู่.

บทว่า ดื่มด่ำในหฤทัย ( หทยงฺคํ) ได้แก่ ดื่มด่ำในหัวใจ.

บทว่า ภณํ ในคาถาที่ ๒ เท่ากับ ภณมานา แปลว่า เมื่อน้องนางสุตตนากล่าวอยู่.

บทว่า ฟัง ( สุตฺวา) ความว่า นายพรานนั้นฟังวาจา ของเนื้อทั้งสองเหล่านั้นแล้ว.

ลำดับนั้น เมื่อมารดาบิดาพระโพธิสัตว์จะอนุโมทนา จึงกล่าวว่า

ก็เราทั้งหลายเห็นลูกโรหนะมาแล้ว พากันชื่นชมยินดี ฉันใด ขอนายพรานพร้อมด้วยลูกเมีย จงชื่นชมยินดี ฉันนั้นเถิด.

ฝ่ายนายพรานออกจากป่าแล้วไปสู่ราชตระกูล ถวายบังคมพระราชา แล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. พระราชาเห็นเขาแล้วตรัสพระคาถาว่า

แน่ะนายพราน เจ้าได้บอกไว้ว่า จะนำเนื้อหรือ หนังเนื้อมามิใช่หรือ เออก็เหตุอะไรเล่า เจ้าจึงไม่นำ เอาเนื้อหรือหนังเนื้อมา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนื้อหรือหนัง ( มิคจมฺมานิ) ได้แก่ เนื้อหรือหนัง.

บทว่า จะ... นำมา ( อาหริํ) ได้แก่ จักนำมา. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ดูก่อนพ่อพรานผู้เจริญ


ความคิดเห็น 17    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 102

เจ้าได้กล่าวไว้อย่างนี้มิใช่หรือว่า เมื่อไม่สามารถจะนำเนื้อมา ก็จะนำหนังมา หรือเมื่อไม่สามารถจะนำหนังมา ก็จักนำขนมา ด้วยเหตุไรเจ้าจึงมิได้นำเนื้อหรือหนังของมันมาเลย".

นายพรานได้ฟังพระดำรัสแล้วกล่าวคาถา ความว่า

เนื้อนั้นได้มาติดบ่วงเหล็กถึงมือแล้ว แต่มีเนื้อสองตัวไม่ได้ติดบ่วง มายืนอยู่ใกล้เนื้อตัวนั้น ข้าพระองค์ได้เกิดความสังเวชใจ ความอัศจรรย์ใจ ขนพองสยองเกล้าว่า ถ้าเราฆ่าเนื้อตัวนี้ เราจักต้องทิ้งชีวิตในสถานที่นี้แหละในวันนี้ทีเดียว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ได้มา ( อาคมํ) ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ก็เนื้อนั้นมาสู่เงื้อมมือ ทั้งมาสู่บ่วงที่ข้าพระพุทธเจ้าดักไว้ด้วย ได้ติดอยู่ในบ่วงนั้น.

บทว่า แต่มีเนื้อ ๒ ตัว ไม่ได้ติดบ่วง ( ตญฺจ มุตฺตา อุปาสเร) ความว่า แต่ว่าเนื้อ ๒ ตัวพ้นบ่วงไปแล้ว คือไม่ได้เข้ามาติดบ่วงเลย ได้เข้ามายืนพิงเนื้อนั้นปลอบใจอยู่.

บทว่า ความอัศจรรย์ใจ ( อพฺภูโต) ได้แก่ ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย.

บทว่า อิมญฺจาหํ ตัดบทเป็น อิมํ จ อหํ แปลว่า ก็ข้าพระองค์นั้น. อธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์ผู้มีความสังเวชสลดใจ ได้มีความปริวิตกนี้ว่า ถ้าเราจักฆ่าเนื้อนี้เสีย เราจักต้องละทิ้งชีวิตในสถานที่นี้แหละในวันนี้ทีเดียว.

พระราชาสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า

ดูก่อนนายพราน เนื้อนั้นเป็นเช่นไร เป็นเนื้อมีกรรมอย่างไร มีสีสรรอย่างไร มีศีลอย่างไร ท่านจึงได้สรรเสริญเนื้อเหล่านั้นนัก.

พระราชาตรัสถามเช่นนี้บ่อยๆ ด้วยสามารถทรงพิศวงพระทัย.


ความคิดเห็น 18    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 103

นายพรานได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว กล่าวคาถาความว่า

เนื้อเหล่านั้นมีเขาขาว ขนสะอาด หนังเปรียบด้วยทองคำ เท้าแดง ตาสุกสะกาว เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มีเขาขาว ( โอทาตสิงฺคา) ความว่า เนื้อเหล่านั้น มีเขาเช่นเดียวกับพวงเงิน.

บทว่า ขนสะอาด ( สุจิพาลา) ความว่า ประกอบด้วยขนอ่อน สะอาดเช่นกับขนจามรี.

บทว่า แดง ( โลหิตกา) ความว่า เช่นเดียวกับปลาโลมาและปลาวาฬแดง.

บทว่า เท้า ( ปาทา) ได้แก่ ปลายกีบเท้า.

บทว่า ตาสุกสะกาว ( อญฺชิตกฺขา) ความว่า ประกอบด้วยนัยน์ตามีประสาททั้ง ๕ หมดจด เหมือนไล้ทาไว้.

เมื่อนายพรานกราบทูลอยู่อย่างนี้แล ได้วางโลมชาติทั้งหลายมีสีเหมือนทองของพระโพธิสัตว์ ไว้ในพระหัตถ์ของพระราชา เมื่อจะประกาศสีกายแห่งเนื้อเหล่านั้น จึงกล่าวคาถา ความว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เนื้อเหล่านั้นเป็นเช่นนี้ เป็นเนื้อมีธรรมเช่นนี้ เป็นเนื้อเลี้ยงมารดาบิดา ข้าพระพุทธเจ้าจึงมิได้นำเนื้อเหล่านั้นมาถวายพระองค์ พระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เป็นเนื้อเลี้ยงมารดาบิดา ( มาตาเปติภรา) ความว่า เนื้อเหล่านั้นช่วยกันเลี้ยงมารดาบิดาแก่ชราตาบอด จึงชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรมเช่นนี้.

บทว่า จึงมิได้นำเนื้อเหล่านั้นมาถวายพระองค์ ( น เต โส อภิหารยุํ) ความว่า พญาเนื้อนั้น ใครๆ ไม่อาจจะนำมาเพื่อ เป็นเครื่องบรรณาการแก่พระองค์ได้. ปาฐะว่า อภิหารยิํ ดังนี้ก็มี. ความก็ว่า ข้าพระพุทธเจ้าหาได้นำพญาเนื้อนั้นมาถวาย เพื่อเป็นบรรณาการแก่พระองค์ไม่ คือมิได้นำมาเลย.

นายพรานกล่าวพรรณนาคุณความดี ของพระโพธิสัตว์จิตตมฤค และนางมฤคีโปติกาชื่อสุตตนา ด้วยประการฉะนี้แล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่


ความคิดเห็น 19    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 104

มหาราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าอันพญาเนื้อนั้นให้ขนของตนมาแล้ว ให้ศึกษาบทธรรมสั่งบังคับว่า ท่านพึงตั้งอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของเรา แสดงธรรมถวายพระราชเทวี ด้วยคาถาราชธรรมจรรยา ๑๐ ประการเถิด".

พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสสั่งให้นายพรานนั่งเหนือราชบัลลังก์ อันประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ พระองค์เองกับพระบรมราชเทวี ประทับนั่งบนพระราชอาสน์ที่ต่ำ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ทรงประคองอัญชลี เชื้อเชิญนายพราน.

เมื่อนายพรานนั้นจะแสดงธรรมถวาย จึงทูลว่า

ข้าแต่บรมขัตติยมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติให้เป็นธรรม ในพระราชมารดาบิดา ข้าแต่องค์ราชันย์ พระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักได้ไปสู่สวรรค์.

ข้าแต่บรมขัตติยมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติให้เป็นธรรม ในพระราชบุตร และพระราชชายาทั้งหลาย ข้าแต่องค์ราชันย์ พระองค์ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักได้ไปสู่สวรรค์.

ข้าแต่บรมขัตติยมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติให้เป็นธรรม ในมิตรและอำมาตย์ทั้งหลาย ข้าแต่องค์ราชันย์ พระองค์ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักได้ไปสู่สวรรค์.

ข้าแต่บรมขัตติยมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติให้เป็นธรรมในพาหนะ และพลทั้งหลาย


ความคิดเห็น 20    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 105

ข้าแต่องค์ราชันย์ พระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักได้ไปสู่สวรรค์.

ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติให้เป็นธรรมในบ้านและนิคมทั้งหลาย ข้าแต่องค์ราชันย์ พระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักได้ไปสู่สวรรค์.

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรม ในแว่นแคว้นและชนบททั้งหลาย ข้าแต่องค์ราชันย์ พระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักได้ไปสู่สวรรค์.

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติให้เป็นธรรม ในสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ข้าแต่องค์ราชันย์ พระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักได้ไปสู่สวรรค์.

ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติให้เป็นธรรม ในหมู่มฤคและปักษีทั้งหลาย ข้าแต่องค์ราชันย์ พระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักได้ไปสู่สวรรค์.

ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรม เพราะธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ข้าแต่องค์ราชันย์ พระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักได้ไปสู่สวรรค์.


ความคิดเห็น 21    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 106

ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรม พระอินทร์ เทพยเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระพรหม ได้เสวยทิพยสมบัติเพราะธรรมอันประพฤติดีแล้ว ข้าแต่องค์ราชันย์ ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทธรรม ธรรมเหล่านั้นเป็นวัตตบทในทศราชธรรมนั่นเอง ข้อนี้แล เป็นอนุสาสนีที่พร่ำสอนกันมา กัลยาณชนมาซ่องเสพผู้มีปัญญา พระองค์ทรงประพฤติ อย่างนี้แล้ว จะได้ไปสู่ไตรทิพยสถาน ด้วยประการฉะนี้.

บุตรนายพรานแสดงธรรมด้วยพุทธลีลา โดยนิยามอันพระมหาสัตว์ทรงแสดงแล้วนั่นเอง เหมือนเทวดาผู้วิเศษยังแม่น้ำในอากาศ ให้ตกลงมาฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้. มหาชนยังสาธุการให้เป็นไปนับเป็นพัน ความแพ้พระครรภ์ของพระบรมราชเทวีก็ระงับไป เพราะทรงสดับธรรมกถานั่นเอง. พระราชาทรงดีพระทัย เมื่อจะทรงปูนบำเหน็จชุบเลี้ยงบุตรนายพราน ด้วยยศใหญ่ ได้ตรัสพระคาถา ๓ คาถาความว่า

ดูก่อนนายพราน เราให้ทองคำ ๑๐๐ แท่ง กุณฑลแก้วมณีอันมีค่ามาก เตียงสี่เหลี่ยมมีสีคล้ายดอกสามหาว และภรรยาผู้ทัดเทียมกันสองคน กับ โค ๑๐๐ ตัวแก่ท่าน เราจักปกครองราชสมบัติโดยธรรม ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามา ดูก่อนนายพราน ท่าน จงเลี้ยงดูบุตรและภรรยาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม การให้กู้หนี้ และด้วยการประพฤติเลี้ยงชีพโดยสัมมา อาชีวะเถิด อย่าได้กระทำบาปอีกเลย.


ความคิดเห็น 22    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 107

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อันมีค่ามาก ( ถูลํ) ความว่า เราจักให้เครื่องประดับ คือมณีและแก้วกุณฑลมีค่ามาก แก่ท่าน.

บทว่า สี่เหลี่ยม ( จตุรสฺสํ) ได้แก่ บัลลังก์สูง สี่เหลี่ยม อธิบายว่า มีด้านศีรษะสูงสี่เหลี่ยม.

บทว่า มีสีคล้ายดอกสามหาว ( อุมฺมารปุปฺผ สิรินฺนิภํ) ได้แก่ บัลลังก์ที่สำเร็จด้วยไม้แก่นสีดำ ประกอบด้วยโอภาส มีรัศมีเช่นเดียวกับดอกสามหาว เพราะลาดด้วยเครื่องลาดสีเขียว.

บทว่า ผู้ทัดเทียมกัน ( สาทิสิโย) ความว่า ทัดเทียมกันด้วยรูปสมบัติ และโภคสมบัติ.

บทว่า โคอสุภะ ๑๐๐ ตัว ( อุสภญฺจ ควํ สตํ) ความว่า และเราจะให้โคฝูง ๑๐๐ ตัว มีโคผู้เป็นหัวหน้าแก่ท่าน.

บทว่า จักปกครอง ( กาเรสฺสํ) ความว่า เราจะไม่ยังทศพิธราชธรรมให้กำเริบ จักเสวยราชสมบัติโดยธรรมเท่านั้น.

บทว่า เป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก ( พหุกาโร เมสิ) ความว่า แม้ท่านก็ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนแห่งพญาเนื้อตัวมีสีเหมือนทอง แล้วแสดงธรรมแก่เรา เราเป็นผู้อันท่านให้ประดิษฐานอยู่ในเบญจศีล โดยนิยามดังพญาเนื้อกล่าวแล้วนั่นแล.

บทว่า กสิกรรมพานิชยกรรม ( กสิวณิชฺชา) ความว่า ดูก่อนนายพรานผู้สหาย เรามิได้เห็นพญาเนื้อ ฟังแต่ถ้อยคำของพญาเนื้อเท่านั้น ยังตั้งอยู่ในเบญจศีลได้ แม้ท่านก็จงเป็นคนมีศีลตั้งแต่บัดนี้ไป จงกระทำกสิกรรม และพาณิชยกรรม และ อิณทานกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง.

บทว่า ด้วยการประพฤติเลี้ยงชีพโดยสัมมาอาชีวะ ( อุญฺฉาจริยา) ความว่า อันเป็นหลักของการครองชีพ อธิบายว่า ท่านจงเลี้ยงดูบุตรภรรยาของท่าน ด้วยกสิกรรม และพาณิชยกรรมเป็นต้นนี้ อันเป็นสัมมาอาชีวะเถิด อย่าได้กระทำบาปอีกเลย.

นายพรานฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะอยู่ครอบครองเรือน ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตการบรรพชา แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด" ครั้นได้พระบรมราชานุญาตแล้ว ก็มอบ


ความคิดเห็น 23    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 108

ทรัพย์สมบัติที่พระราชาทรงพระราชทานแก่ตน แก่บุตรภรรยา แล้วเข้าไปสู่หิมวันตประเทศ บวชเป็นฤาษี ยังสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ฝ่ายพระราชาทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์เจ้า แล้วทรงบำเพ็ญทางแห่งสวรรค์ให้เต็มบริบูรณ์ โอวาทของพระมหาสัตว์นั้น ก็ดำเนินติดต่อมาเป็นเวลาพันปี.

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในชาติก่อน พระอานนท์ก็ได้สละชีวิต เพื่อประโยชน์แก่เรา ด้วยประการอย่างนี้เหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า นายพรานในครั้งนั้นได้มาเป็นพระฉันนะในบัดนี้ พระราชาได้มาเป็นพระสารีบุตร พระเทวี ได้มาเป็นเขมาภิกษุณี มารดาบิดาได้มาเป็นตระกูลมหาราช สุตตนามฤคีได้มาเป็นอุบลวรรณาเถรี จิตตมฤคได้มาเป็นพระอานนท์ เนื้อ ๘ หมื่นได้มาเป็นหมู่สากิยราช ส่วนพญาเนื้อได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถาโรหนมิคชาดก