เรียนท่านผู้เจริญทั้งหลาย
กระผมควรจะกำหนดจิตอย่างไร และที่ใด เพื่อให้การทำบุญแต่ละครั้งมีความสุข เพราะเท่าที่ผ่านมารู้สึกตัวว่าขณะทำบุญนั้น ไม่มีความสุขในใจเลย
ขอบพระคุณอย่างสูง
ควรทราบว่า การทำบุญทุกครั้งเป็นการกระทำเหตุของความสุข บุญย่อมเป็นที่พึ่ง ของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า ควรเป็นผู้ยินดีในบุญ ไม่ควรยินดีในบาป
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 162
บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ ให้ทานเถิด เพราะ บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ ทั้งหลายในโลกหน้า.
[๑๔๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสแล้ว ให้อาหารนั้นด้วยศรัทธา อาหารนั้น แลย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงนำความ ตระหนี่ออกไปเสีย พึงข่มความตระหนี่ซึ่งเป็นตัวมลทินแล้วให้ทาน เพราะ บุญทั้งหลาย เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 511
สัตว์ทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือผู้มีกรรมเป็นบาป จักไปสู่นรก ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญ จักไปสู่สุคติ. เพราะฉะนั้น เมื่อสั่งสมกรรมอันมีผลในภายหน้า พึงทำแต่กรรม งามนี้ บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก.
ท่านควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า บุญคืออะไร?
"บุญ" หมายถึง สภาพจิตที่ดีงาม ผ่องใส เป็นกุศลไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ (ที่เป็นไปในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐) บุญจึงเกิดได้ทุกขณะ แม้ในขณะนี้เอง ข้อสำคัญควรเข้าใจว่าการทำบุญมิใช่เพื่อผลของบุญ แต่เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะกิเลสนำมาซึ่งทุกข์อันยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ถ้าท่านปราถนาความสุข ก็พึงขัดเกลากิเลสเสียแต่วันนี้ นั่นแหละคือ "บุญ"
ขออนุโมทนา
การทำบุญแต่ละครั้ง บางทีจิตเป็นอุเบกขาคือรู้สึกเฉยๆ บางครั้งก็รู้สึกปิติดีใจได้ทำบุญ แล้วแต่ละบุคคลสะสมไม่เหมือนกัน การทำบุญแล้วมีความสุข อยู่ที่กำลังของการให้ ให้กับใครแล้วเกิดปิติก็ให้กับคนนั้น เช่น เราให้ผลไม้ผู้มีคุณธรรม แล้วท่านรับประทานของที่เราให้ เราก็เกิดโสมนัส ดีใจ
กระผมควรจะกำหนดจิตอย่างไร และที่ใด เพื่อให้การทำบุญแต่ละครั้งมีความสุข เพราะเท่าที่ผ่านมารู้สึกตัวว่าขณะทำบุญนั้น ไม่มีความสุขในใจเลย?
สภาพธัมมะทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้โสมนัสเวทนา ความรู้สึกเป็นสุข ก็เป็นอนัตตาเช่นกัน ไม่มีใครบังคับให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ แม้ความโกรธก็บังคับไม่ได้ที่จะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด กุศลก็บังคับไม่ได้ที่จะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ดังนั้น จุดประสงค์ของการเจริญกุศลก็เพราะเป็นกุศลจึงทำ มิใช่เพื่อความสุขโสมนัสหรือเพราะเห็นว่าโสมนัสเวทนาที่เกิดกับกุศลจะให้วิบากดี ก็ถูกโลภะพาไปอีก โลภะติดแม้กุศล แม้ผลของกุศล
ดังนั้น เราจะต้องรู้จุดประสงค์ของเรา หรือถามตัวเองว่า ทำไมถึงจะต้องให้เป็นโสมนัสครับ
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลระดับใด จะประกอบด้วยเวทนา (ความรู้สึก) ใดก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่ควรเจริญ และก็ไม่มีใครจะไปบังคับ กำหนดสภาพธัมมะ ให้เป็นไปตามใจชอบเพราะเป็นธัมมะไม่ใช่เราครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ภาค ๒ ตอน ๓หน้าที่ 30 ข้อความบางตอนจาก เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ
" บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า 'บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง' แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ ) ได้ฉันใด, ธีรชน (ชนผู้มีปัญญา) สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น."
ทำกุศลเพราะเป็นสิ่งที่ดีเท่านั้น
กรุณาอธิบายคำว่าบุญและอย่างไรที่เรียกว่า ทำบุญ ... เป็นไปได้ขอข้อความในพระไตรปิฎกด้วยนะคะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 150 ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุญญญเมว โส สิกฺเขยย ความว่า กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษา พึงดำรงมั่น พึงเสพธรรมเป็นกุศล ๓ อย่าง อันได้ชื่อว่า บุญ เพราะให้เกิดผลน่าบูชา ชื่อว่า บุญ เพราะชำระสันดานของตน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 387
อรรถกถาปุญญกิริยาวัตถุสูตร
บทว่า ปุญฺญกิริยาวตฺถูนิ ความว่า กุศลทั้งหลายที่ให้เกิดผลในภพ ที่ควรบูชา หรือชำระสันดานของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญ บุญเหล่านั้น ด้วย ชื่อว่า เป็นกิริยา เพราะต้องทำด้วยเหตุด้วยปัจจัยทั้งหลายด้วย เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า บุญกิริยา. และบุญกิริยานั่นเอง ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ เพราะ ความเป็นที่ตั้งแห่งอานิสงส์นั้นๆ .
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 151
เชิญคลิกอ่านที่ >>> อธิบายธรรมเป็นกุศลติกที่ ๑
การทำบุญ คือ การละความตระหนี่ของเรา ขอให้ทำบ่อยๆ ก็จะทำให้เราค่อยๆ รู้สึกดีขึ้นทุกครั้งที่เราทำ บางทีไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัดเสมอไปก็ได้ ทำเมื่ออยากทำ ไม่ต้องกำหนดว่าจะต้องทำวันนี้ วันนั้น หรือที่นี่เท่านั้น ลองดูนะคะ และอย่าหวังผลอะไรตอบแทน ทำน้อยๆ แต่ทำบ่อยๆ รับรองค่ะ เดี๋ยวก็จะรู้สึกสบายใจและมีความสุข
ขออนุโมทนาบุญด้วยนะคะ