พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 50
ข้อความบางตอนจาก
เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว
ได้ยินว่า พระเถระนั้นฉัน (ภัต) อยู่ในสกุลของนายมณีการผู้หนึ่ง
สิ้น ๑๒ ปี. ภรรยาและสามีในสกุลนั้นตั้งอยู่ในฐานะเพียงมารดาและบิดา
ปฏิบัติพระเถระแล้ว.
อยู่มาวันหนึ่ง นายมณีการกำลังนั่งหั่นเนื้อข้างหน้าพระเถระ. ใน
ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงส่งแก้วมณีดวงหนึ่งไป ด้วยรับสั่งว่า
" นายช่างจงจัดและเจียระไนแก้วมณีนี้แล้วส่งมา. " นายมณีการรับแก้วนั้น
ด้วยมือทั้งเปื้อนโลหิต วางไว้บนเขียงแล้ว ก็เข้าไปข้างในเพื่อล้างมือ.
แก้วมณีหายนายช่างสืบหาคนเอาไป
ก็ในเรือนนั้น นกกะเรียนที่เขาเลี้ยงไว้มีอยู่. นกนั้นกลืนกินแก้ว
มณีนั้น ด้วยสำคัญว่าเนื้อ เพราะกลิ่นโลหิต เมื่อพระเถระกำลังเห็นอยู่
เทียว. นายมณีการมาแล้ว เมื่อไม่เห็นแก้วมณีจึงถามภริยา ธิดาและบุตร
โดยลำดับว่า " พวกเจ้าเอาแก้วมณีไปหรือ? " เมื่อชนเหล่านั้นกล่าวว่า
" มิได้เอาไป " จึงคิดว่า " (ชะรอย) พระเถระจักเอาไป จึงปรึกษากับ
ภริยาว่า " แก้วมณี (ชะรอย) พระเถระจักเอาไป " ภริยาบอกว่า " แน่ะ
นาย นายอย่ากล่าวอย่างนั้น. ดิฉันไม่เคยเห็นโทษอะไรๆ ของพระเถระ
เลยตลอดกาลประมาณเท่านี้. ท่านย่อมไม่ถือเอาแก้วมณี (แน่นอน) ."
นายมณีการถามพระเถระว่า " ท่านขอรับ ท่านเอาแก้วมณีในที่นี้ไปหรือ? "
พระเถระ. เราไม่ได้ถือเอาดอก อุบาสก.
นายมณีการ. ท่านขอรับ ในที่นี้ไม่มีคนอื่น. ท่านต้องเอาไปเป็น
แน่, ขอท่านจงให้แก้วมณีแก่ผมเถิด.
เมื่อพระเถระนั้นไม่รับ, เขาจึงพูดกะภริยาว่า " พระเถระเอาแก้วมณี
ไปแน่, เราจักบีบคั้นถามท่าน. "
ภริยาตอบว่า " แน่ะนาย นายอย่าให้พวกเราฉิบหายเลย, พวกเรา
เข้าถึงความเป็นทาสเสียยังประเสริฐกว่า, ก็การกล่าวหาพระเถระผู้เห็น
ปานนี้ไม่ประเสริฐเลย. "
ช่างแก้วทำโทษพระติสสเถระเพราะเข้าใจผิด
นายช่างแก้วนั้นกล่าวว่า " พวกเราทั้งหมดด้วยกัน เข้าถึงความเป็น
ทาส ยังไม่เท่าค่าแก้วมณี " ดังนี้แล้ว จึงถือเอาเชือกพันศีรษะพระเถระ
ขันด้วยท่อนไม้. โลหิตไหลออกจากศีรษะหูและจมูกของพระเถระ. หน่วย
ตาทั้งสองได้ถึงอาการทะเล้นออก, ท่านเจ็บปวดมาก ก็ล้มลง ณ ภาคพื้น.
นกกะเรียนมาด้วยกลิ่นโลหิต ดื่มกินโลหิต.
ช่างแก้วเตะนกกะเรียนตายแล้วจึงทราบความจริง
ขณะนั้น นายมณีการจึงเตะมันด้วยเท้าแล้วเขี่ยไปพลางกล่าวว่า
" มึงจะทำอะไรหรือ? " ด้วยกำลังความโกรธที่เกิดขึ้นในพระเถระ. นก
กะเรียนนั้นล้มกลิ้งตายด้วยการเตะทีเดียวเท่านั้น. พระเถระเห็นนกนั้น จึง
กล่าวว่า " อุบาสก ท่านจงผ่อนเชือกพันศีรษะของเราให้หย่อนก่อนแล้ว
จงพิจารณาดูนกกะเรียนนี้ (ว่า) มันตายแล้วหรือยัง?" ลำดับนั้น นาย
ช่างแก้วจึงกล่าวกะท่านว่า "แม้ท่านก็จักตายเช่นนกนั่น."
พระเถระตอบว่า "อุบาสก แก้วมณีนั้น อันนกนี้กลืนกินแล้ว.
หากนกนี้จักไม่ตายไซร้, ข้าพเจ้าแม้จะตาย ก็จักไม่บอกแก้วมณีแก่ท่าน."
ช่างแก้วได้แก้วมณีคืนแล้วขอขมาพระติสสเถระ
เขาแหวะท้องนกนั้นพบแก้วมณีแล้ว งกงันอยู่ มีใจสลด หมอบลง
ใกล้เท้าของพระเถระ กล่าวว่า " ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอดโทษแก่ผม, ผม
ไม่รู้อยู่ ทำไปแล้ว."
พระเถระ. อุบาสก โทษของท่านไม่มี. ของเราก็ไม่มี มีแต่โทษ
ของวัฏฏะเท่านั้น. เราอดโทษแก่ท่าน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 390
ตาสามเณรแตกเพราะอาจารย์
พระเถระกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น จงอยู่ในที่อยู่ของฉันเถิด, การ
อยู่ในที่อาคันตุกะลำบาก" พาสามเณรนั้นแลเข้าไปสู่เสนาสนะแล้ว. ก็
พระเถระเป็นปุถุชน พอนอนเท่านั้น ก็หยั่งลงสู่ความหลับ. สามเณร
คิดว่า "วันนี้เป็นวันที่ ๓ ของเรา ผู้อยู่ในเสนาสนะเดียวกันกับพระ-
อุปัชฌาย์; ถ้าเราจักนอนหลับ, พระเถระพึงต้องสหไสยาบัติ, เราจะ
นั่งอย่างเดียว ยังกาลให้น้อมล่วงไป." สามเณรนั่งคู้บัลลังก์ใกล้เตียงของ
พระอุปัชฌาย์เทียว ยังราตรีให้น้อมล่วงไปแล้ว. พระเถระลุกขึ้นในเวลา
ใกล้รุ่ง คิดว่า "ควรให้สามเณรออก" จึงจับพัดที่วางอยู่ข้างเตียง เอา
ปลายใบพัดตีเสื่อลำแพนของสามเณรแล้ว ยกพัดขึ้นเบื้องบนกล่าวว่า
"สามเณรจงออกไปข้างนอก" ใบพัดกระทบตา. ตาแตกแล้ว ทันใด
นั้นนั่นเอง สามเณรนั้น กล่าวว่า " อะไร? ขอรับ" เมื่อพระเถระ
กล่าวว่า "เจ้าจงลุกขึ้น ออกไปข้างนอก." ก็ไม่กล่าวว่า " ตาของผม
แตกแล้ว ขอรับ" ปิด (ตา) ด้วยมือข้างหนึ่งออกไปแล้ว. ก็แลใน
เวลาทำวัตร สามเณรไม่นั่งนิ่งด้วยคิดว่า "ตา ของเราแตกแล้ว."
กุมตาด้วยมือข้างหนึ่ง ถือกำไม้กวาดด้วยมือข้างหนึ่ง กวาดเวจกุฎีและที่ล้าง
หน้าและตั้งน้ำล้างหน้าไว้แล้วกวาดบริเวณ. สามเณรนั้นเมื่อถวายไม้ชำระ
ฟันแก่พระอุปัชฌาย์ ได้ถวายด้วยมือเดียว.
อาจารย์ขอโทษศิษย์
ครั้งนั้น พระอุปัชฌาย์กล่าวกะสามเณรนั้นว่า "สามเณรนี้ไม่ได้
สำเหนียกหนอ, จึงได้เพื่อถวายไม้ชำระฟันแก่อาจารย์และอุปัชฌาย์ด้วย
มือเดียว."
สามเณร. ผมทราบ ขอรับ ว่า 'นั่นไม่เป็นวัตร,' แต่มือข้าง
หนึ่งของผม ไม่ว่าง
พระเถระ. อะไร ? สามเณร.
สามเณรนั้นบอกความเป็นไปนั้นแล้วจำเดิมแต่ต้น. พระเถระพอ
ฟังแล้วมีใจสลด กล่าวว่า " โอ กรรมหนักอันเราทำแล้ว" กล่าวว่า
"จงอดโทษแก่ฉัน สัตบุรุษ, ฉันไม่รู้ข้อนั้น, ขอจงเป็นที่พึ่ง" ดังนี้
แล้ว ประคองอัญชลี นั่งกระโหย่งใกล้เท้าของเด็กอายุ ๗ ขวบ. ลำดับ
นั้นสามเณรบอกกะพระเถระนั้นว่า "กระผมมิได้พูดเพื่อต้องการเหตุนั้น
ขอรับ, กระผมเมื่อตามรักษาจิตของท่าน จึงได้พูดแล้วอย่างนี้, ในข้อนี้
โทษของท่านไม่มี, โทษของผมก็ไม่มี, นั่นเป็นโทษของวัฏฏะเท่านั้น,
ขอท่านอย่าคิดแล้ว, อันผมรักษาความเดือดร้อนของท่านอยู่นั่นเทียว
จึงไม่บอกแล้ว" พระเถระแม้อันสามเณรให้เบาใจอยู่ ไม่เบาใจแล้ว มี
ความสลดใจเกิดขึ้นแล้ว ถือภัณฑะของสามเณรไปสู่สำนักของพระศาสดา
แล้ว. แม้พระศาสดาประทับนั่งทอดพระเนตรการมาของพระเถระนั้น
เหมือนกัน. พระเถระนั้นไปถวายบังคมพระศาสดา ทำความบันเทิงกับ
พระศาสดาแล้ว อันพระศาสดาตรัสถามว่า " พออดพอทนหรือ? ภิกษุ,
ความไม่ผาสุกที่รุนแรงอะไรๆ ไม่มีหรือ?" จึงกราบทูลว่า "พออด
พอทน พระเจ้าข้า. ความไม่ผาสุกที่รุนแรงอะไรๆ ของข้าพระองค์
ไม่มี. ก็อีกอย่างหนึ่งแล คนอื่นผู้มีคุณอย่างล้นเหลือเหมือนสามเณร
เด็กนี้ อันข้าพระองค์ไม่เคยเห็น" พระศาสดาตรัสถามว่า "กรรมอะไร?
อันสามเณรนี้ทำแล้ว ภิกษุ." พระเถระนั้นกราบทูลความเป็นไปนั้นทั้งหมด
ตั้งแต่ต้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า " พระเจ้าข้า สามเณรนี้
อันข้าพระองค์ให้อดโทษอยู่อย่างนั้น กล่าวกะข้าพระองค์อย่างนั้นว่า 'ในข้อนี้
โทษของท่านไม่มีเลย, โทษของผมก็ไม่มี, นั่นเป็นโทษของวัฏฏะเท่านั้น,
โทษของวัฏฏะนั้นเห็นได้ยาก หากยังไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นโทษของการเกิดว่าเป็นเหตุเกิดของทุกข์ทั้งมวล
---หากไม่เกิดก็ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย ไม่ต้องสุข ไม่ต้องทุกข์ ไม่เป็นเหตุแห่งกุศล และอกุศล ประการต่างๆ
การได้มีโอกาสอ่านและศึกษาพระธรรม เป็นแค่การสร้างความเข้าใจในสัจธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงประจักษ์แจ้ง แทงตลอดนั้นในสภาพธรรมต่างๆ
แม้เพียงนั้น ก็นับได้ว่าบุคคลได้สั่งสมเหตุให้เกิดความเพียรที่จะเจริญปัญญาต่อไป
ขออนุโมทนา ครับ
ขออนุโมทนาอย่างยิ่ง ทำอย่างไรหนอจึงจะนำเรื่องของวัฏฏะมาเตือนใจ ให้อภัยสองคนได้ ทีเราเคยดีกับเขามาก แต่ภายหลังมารู้ว่าเขาทำร้ายเราทรยศเรา ตบตาเราทั้งที่เราดีกับเขาได้