ถวายเงินให้เป็นของสงฆ์ได้หรือไม่
โดย นาวาเอกทองย้อย  17 มิ.ย. 2554
หัวข้อหมายเลข 18572

สมมติว่า ผู้มีศรัทธาต้องการถวายเงิน (เงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายนะครับ) ให้เป็นของสงฆ์ จึงไปที่วัด นิมนต์พระภิกษุที่เป็นผู้แทนสงฆ์มาในที่พร้อมหน้ากับ ไวยาวัจกร แล้วบอกกล่าวว่า ข้าพเจ้ามีจิตศรัทธาขอถวายเงินเป็นจำนวนเท่านี้ๆ ให้เป็น ของสงฆ์ เสร็จแล้วก็มอบเงินนั้นให้ไวยาวัจกรเก็บรักษาไว้ต่อไป การปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น จะถือว่าถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือว่าผิดถูกประการใด ชาวพุทธในอดีตกาลเมื่อต้องการจะเกลี่ยทรัพย์ของตนไว้ในพระพุทธศาสนา ท่าน ทำกันอย่างไรครับจึงจะไม่ผิดวินัยสงฆ์ อนึ่ง การถวายเงินให้เป็นของสงฆ์ (ถ้าทำได้) จะนับว่าเป็นสังฆทานหรือเปล่าครับ

ขอบพระคุณที่จะกรุณาชี้แนะวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 19 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน นอ. ทองย้อย ที่นับถือ ครับ

วันนี้ ชั่วโมงการสนทนาพระวินัย เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๐.๑๕ น. ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้นำคำถามที่ท่านถาม ไปถามคณะวิทยากรของมูลนิธิฯ ๒ ท่าน คือ อ. ประเชิญ แสงสุข และ อ. ธีรพันธ์ ครองยุทธ ซึ่งเป็นวิทยากรบรรยายพระวินัย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น จากการสนทนา พอสรุปได้ดังนี้ ครับ

การถวายเงินแก่พระภิกษุโดยตรง โดยที่พระภิกษุเป็นผู้รับ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พระภิกษุผู้รับนั้น จะรับเพื่อตนเอง หรือให้ผู้อื่นรับเพื่อตน ก็เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ส่วนผู้ถวายก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ฉลาดในการให้ทาน เพราะเป็นการให้ที่ทำให้พระภิกษุต้องอาบัติ แต่ถ้ามอบเงินไว้ให้กับไวยาวัจกร (ผู้ขวนขวายในสิ่งที่เป็นประโยชน์) เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เหมาะสมกับเพศบรรพชิต หรือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซม ดูแลรักษาเจดีย์ ถาวรวัตถุภายในวัดนั้นๆ เป็นต้น ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นไปตามพระธรรมวินัย เพราะพระภิกษุไม่ได้เป็นผู้รับ ไม่ได้เกี่ยวข้อง

สำหรับประเด็นการเกลี่ยทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนา สำหรับผู้ที่มีศรัทธานั้นสามารถกระทำได้หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยครั้งพุทธกาล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้สร้างพระวิหารเชตวันถวายไว้ในพระพุทธศาสนา โดยเริ่มจากการซื้อพื้นที่สำหรับสร้างเป็นพระวิหาร เป็นต้น เป็นการใช้จ่ายทรัพย์อย่างเป็นประโยชน์ โดยที่ไม่ได้ถวายเงินแก่พระภิกษุเลย, ถ้าอย่างในสมัยปัจจุบัน อาจจะเป็นในลักษณะใช้จ่ายทรัพย์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่พระธรรม (ที่ถูกต้อง) ทางสถานีวิทยุ รวมไปถึงใช้จ่ายทรัพย์เพื่อเป็นค่าพิมพ์หนังสือธรรม เป็นต้น ก็เป็นการเกลี่ยทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ของตนเอง คือกุศลเจริญขึ้นแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อีกด้วย

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ว่า อนึ่ง การถวายเงินให้เป็นของสงฆ์ (ถ้าทำได้) จะนับว่าเป็นสังฆทานหรือเปล่า? ต้องพิจารณาจากคำตอบข้างต้นด้วยว่า พระภิกษุต้องไม่เป็นผู้รับเงินโดยตรง แต่มีการมอบไว้กับไวยาวัจกร ซึ่งความประสงค์ของผู้ถวายนั้น เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม คือ เพื่อสงฆ์ ซึ่งก็คือพระภิกษุทุกรูปภายในวัดนั้นๆ ได้ชื่อว่า เป็นสังฆทาน เพราะเป็นการถวายโดยไม่เจาะจงพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด และถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นนั้น สังฆทาน ก็ขึ้นอยู่ที่สภาพจิตด้วย เพราะผู้ถวายมีความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์ มีความเคารพนอบน้อมเสมือนถวายต่อพระอริยสงฆ์ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่าน นอ.ทองย้อย และ ทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 19 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นและทุกท่านครับ


ความคิดเห็น 3    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 19 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ

กระทู้นี้เมื่อถามไปแล้ว ยังไม่มีท่านผู้รู้ตอบมาจนข้ามวัน กระผมก็ชักจะไม่สบายใจ เพราะเท่าที่สังเกตจะไม่มีกระทู้ที่ค้างข้ามวันเลย ทีแรกกังวลว่า หรือเราถามเรื่องที่ไม่สมควรถาม หรือเป็นคำถามที่ผิดนโยบายของชาวบ้านธัมมะอะไรสักอย่างกระมัง แต่พอทราบว่ามีการนำคำถามไปสู่ที่ชุมนุมสนทนาพระวินัย ก็โล่งอก กลับ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างไรอยู่ด้วยซ้ำไป เพราะดูคล้ายกับเป็นคำถามที่ออกจะสำคัญมากๆ ถึงกับต้องเข้าที่ประชุม แล้วก็เลยได้ทราบกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบกระทู้ของชาวบ้านธัมมะว่าผ่านการกลั่นกรองกันอย่างรอบคอบเพียงไร ทำให้มั่นใจในหลักความรู้ และหลักปฏิบัติที่ได้จากญาติธรรมผ่านทางการสนทนาธรรมนี้ ขออนุโมทนากับทุกท่านทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยกุศลจิตครับ

ขออนุญาตเผยความนัยเบื้องหลังของกระทู้นี้ คือ กระผมเห็นวัดแทบทุกวัดที่มีกิจกรรมถวายสังฆทาน จะเอาชุดเครื่องไทยธรรมที่เรียกกันเพลินไปว่า ถังสังฆทาน ตั้งไว้บริการตรงที่ถวายสังฆทานนั่นเลย ใครจะถวายสังฆทานก็เอาเงินมา "เปลี่ยน" แล้วก็ หมุนเวียนถวายกันอยู่ตรงนั้น โดยอ้างว่าเป็นวิธีหาเงินเข้าวัด กระผมรู้สึกว่าเป็นการเล่นละครที่ไม่น่าดูเลย เพราะ

(๑) ถังสังฆทานหมุนเวียนอยู่ตรงนั้นเป็นเดือนเป็นปีโดยที่ สงฆ์ไม่ได้ใช้ ไม่ได้ฉัน

(๒) ในถังมีทั้งของกินของใช้ บ่ายแล้วเย็นแล้วก้ยังยกประเคนพระ เหมือนไม่รับรู้พระธรรมวินัย และ

(๓) เกิดการถกเถียงไม่รู้จบว่าเอาของที่ถวายเป็นของสงฆ์แล้วมาถวายอีก จะถูกต้องหรือ

กระผมก็เลยมาคิดดูว่า ไหนๆ ก็อ้างว่าหาเงินเข้าวัด ทำไมจะต้องมามัวเล่นละคร ผ่านถังเหลืองถังขาวให้เสียเวลาเสียความรู้สึกเล่า ก็ถวายเงินให้เป็นของสงฆ์เสียตรงๆ เลยจะไม่ดีกว่าหรือ ขอย้ำว่า ถวายเป็นของสงฆ์ ไม่ได้ถวายเป็นของส่วนตัวให้พระภิกษุ รูปใดรูปหนึ่ง และเวลาถวายก็ไม่ได้ส่งให้พระภิกษุที่มารับรู้ในฐานะเป็นผู้แทนสงฆ์ แต่ มอบให้ไวยาวัจกรครับ

จากคำตอบกระทู้ที่ได้รับ กระผมขออนุญาตเชิญชวนให้เลิกถวายสังฆทานหมุน เวียน เปลี่ยนมาเป็นถวายเงินให้เป็นของสงฆ์แทนเถอะครับ ไม่เสี่ยงต่อการผิดวินัย แต่ ตรงเป้าหมายดีกว่า การถวายเงินให้เป็นของสงฆ์นั้น ๑๐ บาท ๒๐ บาท ก็ถวายได้ แต่ สังฆทานหมุนเวียนต้องมีเป็น ๑๐๐ ขึ้นไปจึงจะไม่น่าเกลียด เลิกเถอะครับ ท่านผู้รู้จะมีข้อท้วงติงประการใด โปรดชี้แนะวิธีที่ถูกต้องด้วยครับ


ความคิดเห็น 4    โดย พรรณี  วันที่ 20 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

ตัวอย่างที่นาวาเอกทองย้อย ได้ยกมานี้ ก็เป็นความเห็นผิดของพุทธศาสนิกชน และผู้ที่จัดแจงหาเงินให้กับทางวัดเห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียว ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เกิดความเข้าใจแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะไปรู้ได้เลยว่าได้ทำไม่ถูกไปแล้ว ดิฉันไม่ใช่ผู้รู้นะคะ แต่คิดว่าไม่ถูกแน่ แก้ไขจากตัวเราก่อนก็ดีค่ะ และอย่างเช่นนำเงินใส่บาตรแทน เวลาพระบิณฑบาตก็เช่นกัน กว่าจะเห็นว่าไม่ถูก ก็เลยมาเสียเนิ่นนาน ต้องแก้ไขกับตัวเองและบอกกับคนใกล้ชิด ซึ่งทำได้แค่นั้น บางคนยังแย้งว่าพระท่านมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเหมือนกัน คำตอบก็ไม่ง่ายเลยที่จะให้เขาเข้าใจว่าไม่ถูก


ความคิดเห็น 5    โดย aurasa  วันที่ 20 มิ.ย. 2554
เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา และขอบพระคุณทุกท่านค่ะ ที่ถามและตอบอย่างละเอียดแล้วจะช่วยเผยแพร่ต่อไปให้ชาวพุทธได้รู้ในสิ่งที่ถูกต้องค่ะ

ความคิดเห็น 6    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 20 มิ.ย. 2554

คำที่ว่า พระท่านมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเหมือนกัน นี่แหละครับสำคัญนัก อ้างกันมากเหลือเกิน แล้วเลยเมินพระธรรมวินัย นักวิชาการเขาว่า สังคมไทยเป็นสังคม ที่ศรัทธานำหน้า แต่กระผมว่าไม่ใช่ คือถ้าใช้คำว่า "ศรัทธานำหน้า" ก็แปลว่าควรจะมี "ปัญญาตามหลัง" แต่นี่ไม่ใช่เลย มีแต่ศรัทธาโด่งไปอย่างเดียว แต่ไม่มีปัญญาคอยกำกับ อย่างกรณีเอาเงินใส่บาตรตอนพระบิณฑบาตนี่เป็นตัวอย่าง ก็เมื่อรู้ว่าพระก็จำเป็น ต้องใช้จ่ายเงิน ทำไมไม่ใช้ปัญญาหาทางทำให้เงินสนองความจำเป็นของพระได้โดย ไม่ผิดพระธรรมวินัยเล่า

กระผมขอเสนอวิธีที่ง่ายมาก ท่านที่มีศรัทธาจะถวายเงินกรุณาปฏิบัติดังนี้ครับ

๑. วันนี้เกิดศรัทธา กรุณาเอาเงินใส่ซอง เขียนที่หน้าซองว่า "เงินบำรุงพระศาสนา" แล้วเก็บเอาไว้ก่อน

๒. พรุ่งนี้เกิดศรัทธาอีก ก็เอาเงินใส่ซองเดิมนั่นแหละอีก แล้วเก็บเอาไว้ (ถ้ากำลังขับรถก็เก็บไว้ในรถ จะทำเป็นกระปุกก็เก๋ดีครับ เอาตั้งไว้ที่บ้านก็ได้ เผื่อคนในบ้านเห็น แล้วอาจจะเกิดศรัทธาด้วย)

๓. เอาเงินใส่ซองหรือใส่กระปุกแบบนี้ทุกครั้งที่เกิดศรัทธาอยากจะถวายเงินให้พระ เมื่อสะดวกเข้าวันไหนจึงค่อยไปที่วัด แล้วดำเนินการถวายเงินให้เป็นของสงฆ์ (ตามขั้นตอนและวิธีการที่ชี้แนะไว้ในกระทู้นี้แล้ว) จะระบุไปด้วยก็ได้ครับว่า เป็นค่าอะไรบ้างที่ท่านเห็นว่าพระท่านก็จำเป็นต้องใช้นั่นแหละครับ

ทำได้ดังนี้ เท่ากับท่านก็ได้ถวายเงินทำบุญแล้วทุกวัน ทั้งเป็นการถวายสังฆทาน ที่ถูกต้องแท้จริงด้วย

ใครเห็นด้วยก็ช่วยกันทำแบบนี้เถอะครับ บุญก็ได้ พระธรรมวินัยก็ไม่เสีย

ขออนุโมนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย SOAMUSA  วันที่ 21 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาบุญ ทั้งท่านผู้ถามและอาจารย์ผู้ตอบค่ะ

ถ้าพระท่านต้องเดินทางสม่ำเสมอ ท่านจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เราถวายเงินเป็นค่าเดินทางกับท่านโดยตรงได้มั้ยคะ


ความคิดเห็น 8    โดย วิริยะ  วันที่ 21 มิ.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 9    โดย paderm  วันที่ 21 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ไม่ควรถวายเงินกับพระโดยตรงไม่ว่ากรณีใดๆ ครับ ควรให้เงินกับไวยาวัจกร หรือผู้ดูแลพระภิกษุรูปนั้นที่เป็นคฤหัสถ์ แล้วให้คฤหัสถ์เป็นคนจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซื้อตั๋วให้ อย่างนี้เป็นต้นครับ ดังนั้น จึงไม่ควรถวายเงินกับท่านโดยตรงครับ และที่สำคัญ พระภิกษุไม่จำเป็นต้องเดินทางบ่อยๆ ครับ กิจของท่านที่สำคัญที่สุดคืออบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 21 มิ.ย. 2554

คำตอบของท่าน paderm นี่แหละครับ สั้น ตรง ชัด และยืนหยัดในหลักการ ขอให้ชาวบ้านธัมมะและสาธุชนทั้งหลายยึดถือเป็นหลักปฏิบัติให้มั่นคง แล้วช่วยกัน บอกต่อกันไปเรื่อยๆ

เมื่อญาติโยมใส่ใจวินัยของพระด้วยกุศลจิต กระผมเชื่อว่าพระคุณเจ้าท่านก็จะต้องมีสติระลึกได้ว่า ท่านเองก็จะต้องปฏิบัติตามพระธรรรมวินัยด้วยจิตที่เป็นมหากุศลยิ่งไปกว่าญาติโยมหลายเท่า พระศาสนาจะดำรงอยู่และดำเนินไปได้เพื่อประโยชน์แก่พหูชน ก็ด้วยอาศัยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของทั้งสองฝ่าย คือทั้งของพระคุณเจ้าเอง และของญาติโยมที่ต่างก็คอยดูแลซึ่งกันและกันด้วยจิตอันประกอบด้วยเมตตา

ขออนุโมทนาครับ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 11    โดย พรรณี  วันที่ 22 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

การที่จะเข้ามาศึกษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่สำหรับชาวพุทธโดยแท้จริง ไม่เพียงแต่ผู้ที่เป็นพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น ขอบคุณบ้านธัมมะค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย วินิจ  วันที่ 10 ก.ค. 2554

ผมไปวนอยู่ในการเมืองเสียเป็นเดือน, เพราะเวลาเข้าเว็บ ”บ้านธรรมะ” แต่ละที ๒-๓ วัน, แทบไม่ได้หลับได้นอน, ง่วงก็งีบคาจอนั่นแหละ, เพราะเวลาอ่านแล้วมันติดพัน, ออกไม่ได้สักที, จนบางครั้งฝนตก, ไฟดับ, สายหลุดไปเองนั่นแหละ ...

คห.4, 11 (คุณพรรณี) ขออนุโมทนาด้วยครับ ที่ช่วยกันดูแลศาสนา, เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ คห.3, 6, 10 และทั้งกระทู้ที่ตั้งของ นอ.ทองย้อย ล้วนเป็นความ”มุ่งมั่น” ที่จะจรรโลงศาสนาร่วมกันตามกำลังสติปัญญา, ขออนุโมทนาด้วยครับ ... อ.เผดิม (คห.9) อ.คำปั่น (คห.1) ขออนุโมทนาครับ ชัดเจนครับ ... และขอให้ ”ญาติธรรม” ทุกท่านสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาวครับ ...


ความคิดเห็น 13    โดย วินิจ  วันที่ 10 ก.ค. 2554

คห.7, ปกติถ้าพระจะไปธุระเกี่ยวกับงานของวัด, ผู้ดูแล ”การเงิน” ของวัด (ไวยาวัจกร) ก็จะดูแลการเดินทางให้ {เช่น ซื้อตั๋วไปกลับให้ หรือไม่ก็อาจฝากเงินค่าตั๋วไปกับผู้ติดตามที่เป็นฆราวาส (คนวัด) ก็ได้} พระไม่จำเป็นต้องถือเงิน {วัตถุ ”อนามาส” -ฟังมา และ อาจเป็น ”โลกวัชชะ” (โลกติเตียน) ก็ได้ เป็นส่วนตัวก็อยู่ได้, ถ้ามีเหตุจำเป็น (ธุระส่วนตัว) ก็แจ้งให้เจ้าอาวาสทราบ, เจ้าอาวาสก็จะพิจารณาว่าจำเป็นจริงหรือไม่? ถ้าเห็นสมควร ท่านก็จะบอกผ่านไปยัง ”ไวยาวัจกร” อีกที ประมาณนี้แหละครับ ...


ความคิดเห็น 14    โดย thilda  วันที่ 13 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย พจน์ ชนะสูงเนิน  วันที่ 11 พ.ค. 2565

สาธุอนุโมทามิ


ความคิดเห็น 16    โดย chatchai.k  วันที่ 11 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ