ขณะนี้กำลังนั่ง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเลย เพราะว่า สภาพธรรมเกิดแล้วดับเร็วมาก ไม่มีใครไปจัดการ ถ้าจัดการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถหรือว่าทำกิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น ขณะนั้นเป็นเรา ไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยจึงเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด ไม่มีใครที่สามารถจะมีกุศลจิตได้ตลอดเวลา ประเดี๋ยวก็เป็นอกุศลประเภทต่างๆ ตามปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ แต่สติสามารถที่จะระลึกลักษณะนั้นว่า เป็นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
โลภะเกิดขึ้นกับใคร ก็มีลักษณะอย่างเดียวคือ ติดข้อง จะเกิดกับเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือสัตว์ หรือใครก็ตามแต่ ที่ไหนก็ตาม ในสวรรค์ก็มีโลภะ ในรูปพรหมก็มีโลภะ โลภะก็เป็นโลภะ คือเป็นธาตุ หรือเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ ไม่ต้องมีการทำอะไร ถ้าทำคือ ไม่เข้าใจธรรมจึงทำ แต่ถ้าเข้าใจจึงรู้ว่า ธรรมมีปัจจัยจึงเกิด และแม้แต่สติที่ระลึก ก็มีปัจจัยจึงเกิด เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกมี ๒ คำ คือ “มีสติ” หรือ “หลงลืมสติ” คือ สติไม่เกิด เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีการไปทำอะไรเลย
ควรฟังพระธรรมเพื่อความเข้าใจ ฟังเพื่อละความไม่รู้ (อวิชชา) ฟังเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เป็นการอบรมเจริญปัญญา (ความรู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง) ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมมากขึ้น ปัญญาเจริญมากขึ้น ปัญญานั่นเองจะทำกิจของปัญญา คือ ละกิเลส เราไม่มีทางจะละกิเลสได้ด้วยความเป็นตัวตน เพราะความเป็นเราหรือตัวตนนี้ก็เป็นกิเลสด่านแรกที่ยิ่งใหญ่ เป็นการยากที่จะละความยึดถือความเป็นเรา เพราะเรามีความยึดถือในตัวตนของเรามาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ที่ไม่เคยได้ฟังพระธรรมขั้นละเอียด (อภิธรรม)
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ