อานาปานสติโดยนัยต่างๆ
โดย สารธรรม  17 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43953

สำหรับเรื่องของอานาปานสติมีมาก ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค อานาปานกถา ข้อ ๓๖๒ – ๔๒๒ ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ใน อานาปานสังยุตต์ ก็มีเรื่องของอานาปานสติโดยนัยต่างๆ ในพระวินัยปิฎก ตติยปาราชิกกัณฑ์ อานาปานสติสมาธิกถา ส่วนในพระอภิธรรมปิฎกเป็นเรื่องของ มหาสติปัฏฐาน ๔ โดยรวม ไม่ได้แยกเป็นบรรพต่างๆ

สำหรับพยัญชนะต่อไป

นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

นี่เป็นลักษณะของผู้ที่มีสติที่ลมหายใจ เวลานี้ลมหายใจเข้าสั้น ออกสั้น เข้ายาว ออกยาว ถ้าสติไม่รู้ที่ลมหายใจจะไม่ทราบเลย ผู้ที่จะทราบต้องเป็นผู้รู้ลักษณะของลมหายใจที่กำลังกระทบ

สำหรับพยัญชนะในที่ต่างๆ ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา มีข้อความว่า

ลมอัสสาสะ คือ ลมหายใจออกชื่อว่า อานะ

ลมปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าชื่อว่า อปานะ

ส่วนใน สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มีพยัญชนะที่อธิบายเรื่องลมอัสสาสะ ปัสสาสะ โดยนัยเดียวกัน คือ ลมออกภายนอกชื่อว่า ลมอัสสาสะ ลมเข้าภายในชื่อว่า ลมปัสสาสะ และมีข้อความว่า ลมหายใจออกชื่อว่า อานะ ลมหายใจเข้าชื่อว่า ปานะ

สำหรับผู้ที่สนใจในพยัญชนะ อยากทราบความหมายของอานาปานะ ก็จะได้ทราบว่า หมายความถึง ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ถ้าเป็นลมหายใจออก พยัญชนะก็ว่า อานะ ลมหายใจเข้า ก็เป็นปานะ หรืออปานะ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 86