ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 124-127
ข้อความบางตอน
อุปักกิเลสสูตร
[๔๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่พระวิหารโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี. สมัยนั้นแลพวกภิกษุในกรุงโกสัมพี เกิดขัดใจ ทะเลาะวิวาทกัน เสียดสีกันและกัน ด้วยฝีปากอยู่.
[๔๔๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้ายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกภิกษุในกรุงโกสัมพีนี้ เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกัน เสียดสีกันและกัน ด้วยฝีปากอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดอาศัยความอนุเคราะห์เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้นเถิด"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ ด้วยดุษณีภาพ ต่อนั้น ได้เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้ว ได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย" เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นเจ้าของธรรม ทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนืองๆ แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้"
[๔๔๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้น แม้ในวาระที่ ๒ ดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย" ภิกษุรูปนั้น ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ในวาระที่ ๒ ดังนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นเจ้าของธรรม ทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนืองๆ แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้"
[๔๔๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้น แม้ในวาระที่ ๓ ดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย" ภิกษุรูปนั้น ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ในวาระที่ ๓ ดังนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นเจ้าของธรรม ทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทรงประกอบเนืองๆ แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะแก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้."
(ว่าด้วยภาษิตคาถา)
[๔๔๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนุ่งสบง ทรงบาตรจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี ในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะ กำลังประทับยืนอยู่นั่นแหละได้ตรัสพระคาถา ดังนี้ว่า ภิกษุมีเสียงดังเสมอกัน ไม่มีใครๆ สำคัญตัว ว่า เป็นพาล เมื่อสงฆ์แตกกัน ต่างก็มิได้สำคัญตัวกันเองให้ยิ่ง พวกที่เป็นบัณฑิต ก็พากันหลงลืมมีปากพูด ก็มีแต่คำพูดเป็นอารมณ์พูดไป เท่าที่ปรารถนาแสดงฝีปาก ไม่รู้เหตุที่ตนนำไป. ก็ชนเหล่าใด ผูกโกรธเขาว่า คนโน้น ได้ด่าเรา คนโน้น ได้ประหารเราคนโน้น ได้ชนะเรา คนโน้น ได้ลักของของเราเวรของคนเหล่านั้น ย่อมไม่สงบ. ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธเขาว่า คนโน้น ได้ด่าเรา คนโน้น ได้ประหารเรา คนโน้น ได้ชนะเราคนโน้น ได้ลักของของเราเวรของชนเหล่านั้น ย่อมเข้าไปสงบได้.เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลย ในกาลไหนๆ แต่จะระงับได้ ด้วยไม่มีเวรกันนี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่.ก็คนพวกอื่น ย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราจะย่อยยับในที่นี้แต่ชนเหล่าใดที่นั้น รู้สึกความมุ่งร้ายกัน ย่อมสงบแต่ชนเหล่านั้นได้.
คนพวกอื่น ตัดกระดูกกัน ผลาญชีวิตกันลักโค ม้า ลักทรัพย์กัน แม้ชิงแว่นแคว้นกัน ยังมีคืนดีกันได้เหตุไร พวกเธอจึงไม่มีเล่า ถ้าบุคคล ได้สหาย ที่มีปัญญารักษาตัว ร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์มีปกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ คุ้มอันตรายทั้งปวงได้ พึงชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด.
ถ้าไม่ได้สหาย ที่มีปัญญารักษาตัว ร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์มีปกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่พึงเป็นผู้ผู้เดียว เที่ยวไปเหมือนพระราชาที่ทรงสละราชสมบัติ และ เหมือนช้างมาตังคะในป่า ฉะนั้น.การเที่ยวไปคนเดียว ประเสริฐกว่าเพราะความเป็นสหายกันในคนพาล ไม่มี.!พึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป และ ไม่พึงทำบาป เหมือนช้างมาตังคะ มีความขวนขวายน้อยในป่า ฉะนั้น.
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และ สรรพสัตว์
ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น การสมาคม กับบัณฑิตแม้เพียงครั้งเดียวก็สามารถรักษาบุคคลนั้นไว้ได้ แต่การสมาคมกับคนพาล แม้มากครั้งก็ไม่สามารถรักษาบุคคลนั้นได้ค่ะ
ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
[เล่มที่ 62] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 678
การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้น ย่อมรักษาผู้สมาคนั้น การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากก็รักษาไม่ได้ พึงคบกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิท สนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้สัตธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีความเจริญ ไม่มีความเสื่อม
สาธุ