การเจริญอานาปานสติสมาธิเป็นเรื่องที่ต้องสงบจากรูป เสียง ฯลฯ
โดย สารธรรม  16 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43952

เรื่องของการเจริญอานาปานสติสมาธิเป็นเรื่องที่ต้องสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสตามสมควร สติจึงจะระลึกที่ลมหายใจได้นานจนกระทั่งเป็นสมาธิ นอกจากนั้น มีข้อความว่า

ภิกษุ แม้ไปสู่เสนาสนะ ๗ อย่างที่เหลือ เว้นป่า และโคนไม้เสีย จะกล่าวว่าไปสู่เรือนว่าง ดังนี้ก็ควร

ข้อความที่ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

มีพยัญชนะเพิ่มเติมที่ว่า นั่งคู้บัลลังก์ ซึ่งมีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงชี้แจงความมั่นคงแห่งกิริยานั่ง ความสะดวกแห่งความเป็นไปของลมหายใจออก และลมหายใจเข้า ถึงอิริยาบถอันสงบ เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน จึงตรัสว่า

นั่งคู้บัลลังก์ เมื่อนั่งอย่างนี้ หนัง เนื้อ และเอ็น ย่อมไม่โน้มเอียงไป เวทนาที่จะเกิดเพราะเนื้อ และเอ็นเหล่านั้นโน้มเอียงไปย่อมไม่เกิด เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดจิตย่อมมีอารมณ์เป็นอันเดียว สมาธิย่อมเพิ่มพูนเจริญได้

เวลานี้ทุกคนมีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น แล้วก็อาจจะโน้มเอียงไปทางหนึ่งทางใดที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิดได้ เพราะความโน้มเอียงไปของหนัง ของเนื้อ ของเอ็นนั่นเอง

บางคนเวลาที่นั่งไม่สะดวก ประเดี๋ยวก็เกิดทุกขเวทนา เมื่อยขัด ปวดไปหมดการที่จะให้จิตสงบเป็นเอกัคคตาตั้งมั่นที่ลมหายใจ ก็ย่อมจะไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงพยัญชนะว่า นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เพื่อที่ว่า เมื่อหนัง เนื้อ เอ็น ไม่โน้มเอียงไป ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นรบกวน จิตย่อมมีอารมณ์เป็นอันเดียว สมาธิย่อมเพิ่มพูน

เพราะฉะนั้น ในมหาสติปัฏฐานไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยเจริญสมาธิเท่านั้น แต่ถึงแม้ผู้นั้นจะเคยเจริญสมถภาวนามาอย่างไร เคยเจริญอานาปานสติสมาธิมาแล้วอย่างไร ก็เจริญสติปัฏฐานด้วย เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติต่อไป

ไม่เหมือนผู้ที่ไม่เคยฟังธรรม ก็ได้แต่เจริญอานาปานสติสมาธิ บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แต่ที่อานาปานบรรพ ไม่ใช่อยู่แต่เฉพาะในหมวดของสมถภาวนาเท่านั้น อยู่ในมหาสติปัฏฐานด้วย เป็นเพราะเหตุว่าแม้ผู้ที่เคยเจริญ อานาปานสติสมาธิก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติได้ สติตามระลึกรู้ลมหายใจได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 85

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 86