นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
ทวยตานุปัสสนาสูตร *
(ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเนืองๆ )
จาก...พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ ๖๖๖
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ ๖๖๖
ทวยตานุปัสสนาสูตร
(ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเนืองๆ )
[๓๙๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็น
ธรรม ๒ อย่าง โดยชอบเนืองๆ พึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม พึงตอบเขาว่า
พึงมี ถ้าเขาถามว่า พึงมี อย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะวิญญาณนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ
ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ
ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจ
เด็ดเดี่ยวอยู่ พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้
หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้
ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณ
เป็นปัจจัย เพราะวิญญาณดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด
ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้น เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยดังนี้แล้ว
ย่อมเป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้ว เพราะความเข้าไปสงบแห่งวิญญาณ.
[๓๙๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ
ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิด เพราะผัสสะเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะผัสสะนั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์
จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็น
ธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ของชนทั้งหลายผู้อันผัสสะครอบงำแล้ว
ผู้แล่นไปตามกระแสแห่งภวตัณหา ผู้ดำเนินไปแล้วสู่หนทางผิด ย่อมอยู่
ห่างไกล ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้ผัสสะด้วยปัญญา ยินดีแล้วในธรรมเป็น
ที่เข้าไปสงบ ชนแม้เหล่านั้น เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้ว เพราะการดับไป
แห่งผัสสะ.
[๓๙๗] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ
ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะเวทนาเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะเวทนานั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์
จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็น
ธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
ภิกษุรู้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา หรือ ทุกขเวทนา
กับ อทุกขมสุขเวทนา ที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก ว่าเวทนานี้ เป็นเหตุ
แห่งทุกข์ มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา
ถูกต้องด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว เห็นความเสื่อมไปอยู่ ย่อมรู้แจ่มแจ้งความ
เป็นทุกข์ในเวทนานั้นอย่างนี้ เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั้นเอง ทุกข์จึงไม่
เกิด.
[๓๙๘] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะตัณหาเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การ
พิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะตัณหานั่นเอง ดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึง
ไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็น
ธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน ย่อมไม่ล่วง
พ้นสังสาระ อันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุรู้โทษนี้
ว่า ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นผู้มีตัณหาปราศจากไปแล้วไม่ถือมั่น
มีสติ พึงเว้นรอบ.
[๓๙๙] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ
ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อ
ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปาทานนั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่
เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ
ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไป
อีกว่า
ภพย่อมมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย สัตว์ผู้เกิดแล้วย่อมเข้าถึงทุกข์
ต้องตาย นี้ เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้แล้ว
โดยชอบ รู้ยิ่งความสิ้นไปแห่งชาติแล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ เพราะความ
สิ้นไปแห่งอุปาทาน.
[๔๐๐] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ
ว่าทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย นี้เป็น
ข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะการริเริ่มนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดย
ไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา
เห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็น
ปัจจัย เพราะความริเริ่มดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด
ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้น เพราะความริเริ่มเป็นปัจจัยดังนี้
แล้ว สละคืนความริเริ่มได้ทั้งหมดแล้ว น้อมไปในนิพพานที่ไม่มีความริเริ่ม
ถอนภวตัณหาขึ้น ได้แล้ว มีจิตสงบ มีชาติสงสารสิ้นแล้วย่อมไม่มีภพใหม่.
[๔๐๑] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ
ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอาหารทั้งหมดนั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ
ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรม
เป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย
เพราะอาหารทั้งหลายดับ โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด
ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้ถึงเวท รู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะ
อาหารเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว กำหนดรู้อาหารทั้งปวง เป็นผู้อันตัณหาไม่อาศัย
ในอาหารทั้งหมด รู้โดยชอบซึ่งนิพพานอันไม่มีโรค พิจารณาแล้วเสพ
ปัจจัย ๔ ย่อมไม่เข้าถึงการนับว่า เป็นเทวดาหรือมนุษย์ เพราะอาสวะ
ทั้งหลายหมดสิ้นไป.
[๔๐๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ
ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย
นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะความหวั่นไหวทั้งหลายนั่นเอง
ดับไป เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้
ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็น
ปัจจัย เพราะความหวั่นไหวดับ ไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด
ภิกษุ รู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหว เป็นปัจจัย
ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุสละตัณหาแล้ว ดับสังขารทั้งหลายได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว ไม่ถือมั่น แต่นั้น พึงเว้นรอบ.
[๔๐๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ
ว่า ความดิ้นรน ย่อมมีแก่ผู้อันตัณหา ทิฏฐิ และมานะอาศัยแล้ว นี้ เป็นข้อที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ผู้ที่ตัณหา ทิฏฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน
นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒
อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ผู้อันตัณหา ทิฏฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน ส่วนผู้อัน
ตัณหา ทิฏฐิ และมานะอาศัยแล้ว ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่ล่วงพ้น สังสาระอัน
มีความเป็นอย่างนี้ และ ความเป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุรู้โทษนี้ว่าเป็นภัยใหญ่
ในเพราะนิสสัย คือ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะทั้งหลายแล้วเป็นผู้อันตัณหาทิฏฐิ
และมานะไม่อาศัยแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากอรรถกถาได้ที่นี่
อรรถกถา ทวยตานุปัสสนาสูตร [ขุททกนิกาย สุตตนิบาต]
หมายเหตุ เนื่องจากการสนทนาพระสูตรวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
ยังมีเนื้อหาอีกมากที่จะต้องสนทนาเพิ่มเติม มูลนิธิฯจึงขอนำพระสูตรนี้ มาสนทนา
ต่อในวันเสาร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖
...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกๆ ท่าน...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
☺ข้อความโดยสรุป☺
ทวยตานุปัสสนาสูตร
(ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเนืองๆ )
เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา
มิคารมารดา พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยที่พระองค์ตรัสกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า ถ้ามีผู้มาถามว่าจะมีประโยชน์อะไร เพื่อการฟังกุศลธรรมอันเป็น
อริยะ เป็นเครื่องนำออกไป อันให้ถึงปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู ก็ควรตอบว่า เพื่อ
รู้ธรรม ๒ อย่าง เมื่อถูกถามอีกว่า ธรรม ๒ อย่างคืออะไร ก็ควรที่จะได้ตอบว่า
ธรรม ๒ อย่าง ได้แก่ การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง (โดยการสนทนา
ที่มูลนิธิฯ ครั้งนี้ นำมาศึกษาต่อจากคู่ที่ ๔) ดังนี้ คือ
คู่ที่ ๕ -ทุกข์เกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
-เพราะวิญญาณดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๖ -ทุกข์เกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย
-เพราะผัสสะดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๗ -ทุกข์เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย
-เพราะเวทนาดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๘ -ทุกข์ ย่อมเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย
-เพราะตัณหาดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๙ -ทุกข์ย่อมเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
-เพราะอุปาทานดับไปทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๑๐ -ทุกข์ย่อมเกิดเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย
-เพราะความริเริ่มดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๑๑ -ทุกข์เกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย
-เพราะอาหารดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๑๒ -ทุกข์เกิดเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย
-เพราะความหวั่นไหวดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๑๓ -ความดิ้นรนย่อมมีแก่ผู้มีตัณหา ทิฏฐิ และมานะ
-ผู้ละตัณหา ทิฏฐิและ มานะได้แล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน
[ตามข้อความในพระสูตร]
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
สังสารวัฏฏ์...ขณะนี้หรือเปล่า
กิเลสตัณหา
ตัณหา คือ อุปาทาน ใช่หรือไม่
สังโยชน์
ภพในปัจจยาการ คือ อะไร?
ทิฏฐิ กับ มานะ
สังสารวัฏฏ์และความจริง [ปฐมตถาคตสูตร]
ผู้นำพาสัตว์ออกจากสังสารวัฏฏ์
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ไม่เข้าใจ คู่ที่ ๑๐ -ทุกข์ย่อมเกิดเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย
-เพราะความริเริ่มดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
อะไรคือริเริ่มครับ
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
-ทุกข์ย่อมเกิดเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย
ความริเริ่ม หมายถึง ริเริ่ม ที่เป็นความเพียรที่เกิดพร้อมกับการทำกรรม เช่น มีการ
ทำกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม ขณะนั้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่เป็นความริเริ่ม
ความเพียร ริเริ่มนั้น เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะ การทำกุศลกรรม อกุศลกรรม นำมาซึ่ง
การเกิด เมื่อมีการเกิดก็นำมาซึ่งทุกข์
------------------------------
-เพราะความริเริ่มดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
เมื่อไม่มีความริเิ่ริ่ม คือ ความเพียรในการทำกุศลกรรม อกุศลกรรม ก็ไม่มีการเกิดอีก
จึงไม่ต้องทุกข์ เพราะ อาศัยการเกิดเป็นปัจจัย ครับ และ พระนิพพาน ชื่อว่าเป็น
สภาพธรรมที่ไม่ริเริ่ม แต่ ความเพียรในการทำกรรม ที่เป็นกุศล อกุศล ชื่อว่า ความ
ริเริ่ม นำมาซึ่งทุกข์ ครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 686
พึงทราบวินิจฉัยในวาระที่ ๑๐. ต่อไป. บทว่า อารมฺภปฺปจฺจยา
เพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย คือเพราะความเพียรสัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย.
บทว่า อนารมฺเภ วิมุตฺติโน ได้แก่น้อมไปในนิพพานที่ไม่มีความริเริ่ม.
บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น.
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ