[คำที่ ๑๕o] พฺรหฺมจริยา
โดย Sudhipong.U  10 ก.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 32270

ภาษาบาลี ๑ คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์ “พฺรหฺมจริยา

คำว่า พฺรหฺมจริยา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า พรำ - มะ - จะ - ริ - ยา] มาจากคำว่า พฺรหฺม  (ประเสริฐ) กับ คำว่า  จริยา (ความประพฤติ) แปลรวมกันได้ว่า ความประพฤติประเสริฐ นิยมแปลทับศัพท์ว่า พรหมจรรย์, ความประพฤติประเสริฐ มีนัยที่หลากหลายกว้างขวางมาก ทั้งในเรื่องของการให้ทาน การขวนขวายในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ศีล ๕(เว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นต้น) พรหมวิหาร(เมตตา  กรุณา มุทิตา  อุเบกขา) การงดเว้นจากการเสพเมถุน การยินดีในคู่ครองของตน ความเพียรในทางที่เป็นกุศล อุโบสถศีล    ศาสนา(พระธรรมคำสอน) อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ (มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น) เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ไม่พ้นไปจากสิ่งที่ดีทั้งหมด  สูงสุด คือ  การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น เป็นการดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นมรรคพรหมจรรย์ ตามข้อความจาก ปรมัตถโชติกา อรรถกถา  ขุททกนิกาย  ขุททกปาฐะ  มงคลสูตร ว่า

“มรรค เรียกว่า พรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ ว่า ดูกร ภิกษุ อริยมรรคมีองค์ ๘  คือ สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เป็นพรหมจรรย์”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ละคำล้วนมีความละเอียดลึกซึ้งแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้แต่คำว่า “พรหมจรรย์”  ได้ยินคำว่า “จรรย์” ในภาษาไทย มาจากคำว่า จริยา ความประพฤติ ความเป็นไป ส่วนคำว่า พรหม หมายถึง ประเสริฐ เพราะฉะนั้น พรหมจรรย์ ซึ่งเป็นความเป็นไป หรือความประพฤติที่ประเสริฐในชีวิตคืออะไร?      

จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เป็นไปกับด้วยอกุศลมากมาย ไม่ประเสริฐอย่างแน่นอน แต่ถ้าขณะใดก็ตามที่กุศลธรรมประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น ย่อมเป็นธรรมที่ประเสริฐ บางครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงความกว้างของพรหมจรรย์ ทานก็เป็นพรหมจรรย์ ศีลก็เป็นพรหมจรรย์ ความเพียรก็เป็นพรหมจรรย์ เป็นต้น แต่พรหมจรรย์สูงสุด คือ การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะว่าเกิดมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่า เกิดเพราะอะไร บางคนก็ถามว่า เกิดมาทำไม คือ ไม่รู้อะไรเลย ทั้งๆ ที่เกิดแล้ว ก็คือเกิดแล้วต้องเป็นไป กล่าวคือ เกิดแล้วต้องเห็นบ้าง ต้องได้ยินบ้าง ต้องได้กลิ่นบ้าง ต้องลิ้มรสบ้าง ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายบ้าง ต้องคิดนึกบ้าง กุศลบ้าง อกุศลบ้าง วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้ ชั่วขณะสั้นๆ เล็กๆ น้อย ๆ ทั้งหมด รวมกันแล้วก็เป็นชีวิตในวันหนึ่งๆ แล้วก็คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ชีวิตประจำวันจึงไม่พ้นไปจากธรรมเลย แต่ไม่รู้ความจริงจึงหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์  เป็นบุคคล เป็นตัวตน หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด 

การที่เกิดมาแล้ว สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ก็คือ สามารถอบรมเจริญความเห็นถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม, ฟังพระธรรม เพื่อรู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงทุกขณะของชีวิต แล้วทรงแสดงความจริงเพื่อให้ผู้อื่นสามารถเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นกุศลที่จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น ถ้ามีปัญญาเห็นถูกต้องแล้วจะไม่ทำอกุศลกรรมอย่างแน่นอน พร้อมทั้งเพิ่มพูนกุศลประการต่างๆ ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นปัญญาจะนำมาซึ่งกุศลทุกประการด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้  ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่า สิ่งที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ คือ การประพฤติประเสริฐ นั้น ก็ต้องฟังสิ่งที่ถูกต้องก่อน กล่าวคือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไปฟังเรื่องอื่น ศาสตร์อื่น เรื่องโลก เรื่องจักรวาล เรื่องดิรัจฉานกถาทั้งหลาย (ถ้อยคำที่ไม่เป็นประโยชน์ ขวางทางสวรรค์และนิพพาน) มีแต่จะทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน  ไม่ทำให้เข้าใจตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมได้เลย 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายได้รู้ความจริง เพราะบุคคลผู้ที่รู้ความจริง คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ  สามารถบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้ประเสริฐ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังสิ่งที่ตรงและถูกต้องที่ไม่แปรผัน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ผู้นั้นก็จะเข้าถึงความประเสริฐ คือ ถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ในที่สุด

เบื้องต้นของพรหมจรรย์ นั้น การฟังพระธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และในบางนัย บางคนไม่มีพื้นฐานในเรื่องความประพฤติที่ดีทางกาย ทางวาจา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ศีลเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ในเพศของบรรพชิต นั่นคือ การแสดงเบื้องต้นในระดับของความประพฤติ แต่ก่อนที่จะเป็นผู้ประพฤติดีในขั้นศีล มีความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่ดีได้นั้น ก็ต้องได้ยินได้ฟังสิ่งที่ตรงและถูกต้องก่อน ถึงจะประพฤติปฏิบัติตรงและสมควรทางกาย ทางวาจา ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะประพฤติตามธรรมพระวินัยได้ตรงและถูกต้อง   ผู้นั้นก็จะต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ  

ดังนั้น เบื้องต้นของพรหมจรรย์ คือ การฟังพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ถ้าขาดการฟังพระธรรมแล้ว ความประพฤติที่ดีที่ตรงที่ถูกต้อง ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ความเข้าใจพระธรรม จึงเป็นที่พึ่งได้ในทุกระดับขั้นอย่างแท้จริง จะเห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ว่า เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสจนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ