ถามความหมายของคำว่า การเกิด-ดับ ของจิต
โดย U-lan  18 ส.ค. 2559
หัวข้อหมายเลข 28091

ได้ยินคำกล่าวจากอาจารย์และผู้รู้หลายท่าน ที่กล่าวเปรียบเทียบจิตของเราเหมือนลิง ที่อยู่ไม่นิ่ง กระโดดไปจับกิ่งนี้ กิ่งโน้น ฯลฯ...เมื่อเปรียบกับคำว่าการเกิด-ดับของจิตแล้ว การเกิดของจิต เปรียบกับ ลิงที่กระโดดไปจับกิ่งไม้กิ่ง1 และการดับของจิต เปรียบกับ การที่ลิงละจากกิ่งไม้กิ่ง1 และการเกิดของจิต (อีกครั้ง) เปรียบกับ การที่ลิงกระโดดไปจับกิ่งไม้กิ่งที่ 2 และการดับของจิต (อีกครั้ง) เปรียบกับ การที่ลิงละจากกิ่งไม้กิ่ง2 วนซ้ำๆ ๆ แบบนี้ ใช่หรือไม่คะ

....ขอรบกวนท่านผู้รู้ชี้แนะข้อสงสัยนี้ด้วยนะคะ ว่าดิฉันเข้าใจการเกิด-ดับของจิตถูกหรือไม่



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็เป็นการอุปมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่า จิตเกิดและดับไป ไม่ตั้งอยู่ แต่ความจริงนั้น จิตเกิดดับรวดเร็วมากๆ ครับ

สภาพธรรม คือ จิต (และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ซึ่งเป็นปกติอย่างนี้ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตามความจริงเป็นอย่างนี้และเป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ผ่านไปแล้วชาติแล้วชาติเล่าและถ้ายังไม่มีการอบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นที่จะสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีเหตุที่ทำให้มีการเกิดในภพต่างๆ มีสภาพธรรมเกิดสืบต่ออีก มีจิตและเจตสิก รวมทั้งรูปด้วย เกิดขึ้นเป็นไป ยังไม่พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง

จิต จะไม่เกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ แต่เกิดทีละขณะ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งข้อความที่แสดงไว้ชัดเจน คือ ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว (เอานิ้ว ๒ นิ้วมารวมกันและก็ดีดแยกออก เหมือนการดีดนิ้ว) ซึ่ง เป็นช่วงเวลาที่สั้นแสนสั้น แม้ช่วงเวลาลัดนิ้วมือเดียว นี้ จิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) เกิดดับไปแล้วนับแสนโกฏิครั้ง

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๒๓

ข้อความบางตอนจากอรรถกถาเผณปิณฑสูตรที่ ๓

อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ต่อมน้ำย่อมเกิดและสลายตัวในเพราะหยดน้ำนั้นๆ อยู่ได้ไม่นาน ฉันใด แม้เวทนาก็ฉันนั้น ย่อมเกิดและสลายตัวไป อยู่ได้ไม่นานในขณะชั่วลัดนิ้วมือเดียว เกิดแล้วดับไปนับได้แสนโกฏิครั้ง.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๗

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็นธรรมแม้แต่อย่างหนึ่งอันอื่น ซึ่งเป็นไปรวดเร็วเหมือนอย่างจิตนี้เลยนะภิกษุทั้งหลาย และว่าจิตไปได้ไกล ไปดวงเดียว ดังนี้.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

การพิจารณาแม้ในขั้นเรื่องราวของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปก็เป็นประโยชน์ หากพิจารณาถูกและเกื้อกูลต่อการเจริญอบรมปัญญาด้วยเหตุที่ว่าใครได้อะไรจากสิ่งที่ผ่านไปแล้วบ้าง สิ่งที่เพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป ซึ่งความจริงในชีวิตมีสิ่งที่ปรากฏทางต แต่เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายที่จากโลกนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่มีอะไรเลย นอกจากการเกิดดับของจิต สาระของชีวิต จึงเป็นผู้อบรมปัญญาเจริญกุศล เพราะไม่มีอะไรติดตามไปได้ และจะเป็นที่พึ่งในโลกหน้า คือ โลกของจิตที่เกิดดับในขณะต่อไป คือ คุณความดี และปัญญาที่อบรมต่อไปจนถึงปัญญาที่ดับกิเลส ไม่มีการเกิดขึ้นและดับไปของจิต เจตสิก รูป อันเป็นความสุขที่แท้จริง เพราะเป็นความสุขที่ปราศจากการเกิดขึ้นของสิ่งทั้งปวง ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย tuijin  วันที่ 18 ส.ค. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย U-lan  วันที่ 18 ส.ค. 2559

สาธ สาธุ สาธุ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 18 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรม คือ จิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ นั้น มีขณะที่สั้นแสนสั้น เพียงแค่เกิด ดำรงอยู่อยู่ขณะที่สั้นแสนสั้นแล้วก็ดับไป เกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเลย
ประโยชน์จากการฟังพระธรรม คือ เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง จากที่เคยไม่รู้มานานแสนนาน ไม่รู้เลยว่าขณะนี้เป็นธรรม พร้อมทั้งมีการยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น มีความมั่นคงในความเป็นจริงของธรรมว่า ทุกขณะ ไม่ปราศจากธรรมเลย มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด โดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน สิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจ และความเข้าใจจะเจริญขึ้นได้ เกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการอบรมจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย มานิสาโข่งเขียว  วันที่ 18 ส.ค. 2559

สาธุ


ความคิดเห็น 6    โดย ปาริชาตะ  วันที่ 18 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 20 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย Tommy9  วันที่ 20 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย intra  วันที่ 21 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 21 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ