เรียนท่านวิทยากร โลภะ โทสะ โมหะ สามองค์ธรรมยิ่งใหญ่นี้ มักมาจากโมหะที่ครอบงำกามาวจรบุคคลให้เวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ฏไม่จบสิ้น เมื่อเกิดมาเป็นผู้น้อยและพบกับผู้ใหญ่ที่มีโมหะ โทสะ มาก มักโกรธนั้น พระพุทธองค์ทรงเทสนาไว้อย่างไรบ้าง คะ
ขอนอบน้อมแด่พระัรัตนตรัย
ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว ไม่ว่าจะมากหรือน้อยและเป็นกิเลสประเภทใด ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดีเศร้าหมอง ไม่ควรเจริญและควรละด้วยปัญญา สำหรับกิเลสที่เป็นโลภะ โทสะและโมหะเมื่อเกิดขึ้น ย่อมทำร้ายบุคคลนั้นเอง เปรียบเหมือน ขุยไผ่เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำร้ายต้นไผ่นั้นเองครับ ซึ่ง กิเลสคือโทสะ ที่เป็นสภาพธรรมที่ขุ่นใจ ประทุษร้ายจิตของผู้ทีเกิด เมื่อกิเลสคือโทสะมีกำลังมาก ย่อมเป็นผู้มักโกรธ แต่สำหรับบางบุคคลเมื่อกิเลสที่เป็นโทสะมีกำลังย่อมถึงความเป็นผู้ผูกโกรธ ไม่ลืม และเป็นความอาฆาต และเมื่อมีกำลังมากย่อมแสดงออกมาทางกายและวาจาที่จะประทุษร้ายผู้อืนได้ครับ
สำหรับพระธรรมเทศนาที่ได้แสดงในเรื่อง การจะทำอย่างไรในเมื่อพบผู้มักโกรธและผูกโกรธ พระธรรมของพระพุทธเจ้าทีทรงแสดง ไม่มีส่วนไหนเลยที่จะเป็นไปให้เกิดอกุศล แต่พระองค์แสดงธรรมให้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลและปัญญาครับ
ดังนั้น เมื่อมีการกระทำที่ไม่ดีของผู้อื่นทางกายและวาจา การพิจารณาด้วยความเห็นถูกย่อมพิจารณาว่า
1. เพราะสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน คือ ตัวเราเองย่อมเคยกรรมที่ไม่ดีเอาไว้ จึงทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดีทางกาย เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเป็นผลของกรรมที่ไม่ดีแล้วที่เกิดจากการกระทำกรรมที่ไม่ดีของเราเอง จะโทษใครได้ เพราะเป็นเราเองที่ทำกรรมไว้ จึงไม่ควรทำกรรมใหม่ที่ไม่ดีอีกครับ
2. ความเป็นผู้มีขันติ ประโยชน์ตนคือความอดทนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ผู้ที่โกรธย่อมเป็นอกุศลของบุคคลนั้นเอง ส่วนใจของผู้ที่ได้ยิน ได้รับการกระทำที่ไม่ดี ก็ไม่ขึ้นอยู่กับใจของผู้อื่นที่ผูกโกรธ ดังนั้น ควรรักษาประโยชน์ตนด้วยความไม่โกรธ มีขันติครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...
ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี [เวปจิตติสูตร]
3. พิจารณาด้วยความเข้าใจบุคคลที่มีกิเลสเหมือนกัน เข้าใจถูกครับว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลส เป็นปุถุชน ก็ยังเป็นผูหนาด้วยกิเลส จึงควรเห็นใจและเข้าใจว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเป็นธรรมดาที่จะยีงมีความโกรธและผูกโกรธ เพราะมีความไม่รู้ที่สะสสมมามากนั่นเอง และสะสมกิเลสมามาก จึงทำให้เป็นผุ้มักโกรธ อาศัยความเข้าใจถูกว่าทุกคนยังมีกิเลสและเป็นปุถุชน ก็ย่อมเป็นธรรมจึงเป็นอย่างนั้น จึงไม่ควรโกรธในสิ่งที่เป็นธรรมดาอย่างนั้นครับ
4. มีเมตตา กรุณาในบุคคลนั้น คือ สงสารเห็นใจ คนที่ทำไม่ดี ผลที่ไม่ดีย่อมมีกับเขา เมื่อบุคคลนั้นย่อมได้รับสิ่งที่ไม่ดี เพียงแค่ความโกรธเกิดขึ้นก็เผาจิตใจเขาเอง และเมื่อมีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่ไม่ดี ก็ทำให้เขาต้องได้รับกรรมที่ไม่ดี ตามสมควรแก่กรรม จึงควรเห็นใจ มีเมตตา และ สงสารด้วยกรุณา กับบุคคลที่อาฆาต ผูกโกรธครับ
5. พิจารณาส่วนที่ดีของบุคคลนั้นแม้จะมีเล็กน้อย ทุกคนก็ต้องมีส่วนที่ดีหรือไม่ดี เป็นธรรมดา แม้จะมีไม่ดีมาก แต่ก็อาจจะมีความดีบ้าง ก็พิจารณาส่วนที่ดีของเขาในขณะนั้น ก็ทำให้เห็นใจ เข้าใจบุคคลที่มักโกรธ ผูกโกรธได้ครับ
6. พิจารณาโดยเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ในความเป็นจริงไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม ดังนั้น จึงมีแต่จิต เจตสิกทีเกิดขึ้น ขณะที่อาฆาต โกรธ ก็เป็นเพียง จิต เจตสิกที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น ไม่มีคนนั้นที่โกรธ ที่อาฆาต ดังนั้นจะโกรธ จิต เจตสิกที่ไม่ดีได้อย่างไร เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะเท่านั้นครับ
ขออนุโมทนา
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...
ปฐมอาฆาตวินยสูตร - ทุติยอาฆาตสูตร
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ไม่ได้มีเพียงแค่ ๓ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ เท่านั้น ยังมีอีกมาก เช่น ความไม่ละอายต่ออกุศล ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล ความฟุ้งซ่านไม่สงบแห่งจิต เป็นต้น และ ทุกครั้งที่จิตเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม ก็จะมีโมหะ ซึ่งเป็นความหลงความไม่รู้เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว ไม่เคยนำประโยชน์ใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย เพราะเป็นสภาพธรรมที่ขจัดซึ่งคุณความดี พร้อมทั้งให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ไม่ใช่อกุศลธรรม ไม่มีพระพุทธพจน์แม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนเกิดอกุศลเลย แม้เพียงเล็กน้อย รวมถึงความโกรธ (โทสะ) ด้วย เพราะโดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะโกรธในคนที่ทำไม่ดี แต่ความโกรธ ไม่ว่าเป็นใครโกรธ และ โกรธใคร ก็ไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะเป็นอกุศล เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่ว่าจะจากบุคคลอื่น หรือ เรืองอื่นๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าไม่โกรธ ไม่เกิดความไม่พอใจ ก็นับว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยาก เพราะโดยปกติของปุถุชนผู้ที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลสแล้ว กิเลสย่อมเกิดขึ้นมากเป็นธรรมดา แต่ก็สามารถขัดเกลาได้ ด้วยการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ตามความเป็นจริงแล้ว พระธรรมสอนไม่ให้โกรธ สอนไม่ให้อาฆาต มีแต่สอนให้มีเมตตา มีความเป็นมิตรมีความเป็นเพื่อนมีความหวังดีต่อผู้อื่น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม "การสอนให้โกรธ ไม่มีในคำสอนทางพระพุทธศาสนา"
ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดได้กับทุกบุคคลเมื่อได้เหตุได้ปัจจัย แต่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้น ที่จะเห็นโทษของความโกรธว่าเป็นอกุศลธรรมที่พึงละ ไม่ควรพอใจ ไม่ควรยินดีที่จะโกรธต่อไป เพราะความโกรธแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เมื่อสะสมมากขึ้นก็อาจจะถึงขั้นผูกโกรธ พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้าย ทางกาย หรือทางวาจาในภายหน้าได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย
ดังนั้น ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดี และควรอย่างยิ่งที่จะน้อมประพฤติตามด้วยความจริงใจ กล่าวคือ ควรมีเมตตา มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนต่อบุคคลอื่นด้วยกาย วาจา ใจ เพราะเหตุว่าแต่ละบุคคลก็เป็นเพื่อนร่วมเดินทางในสังสารวัฏฏ์เหมือนกันทั้งนั้น มีทั้งดีและไม่ดี เหมือนกันทั้งนั้น
การให้อภัย เห็นใจ และเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควรที่สุด แต่การไม่ชอบกัน การโกรธกัน การไม่พอใจกัน ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย มีแต่โทษอย่างเดียวเท่านั้น ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน นะคะ
ด้วยความเคารพและขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
จากใหญ่ราชบุรี – ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี
ขอบคุนมากคะที่ไห้เข้าร่วมออกความคิดเห็น
ขออนุโมทนาครับ