ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๖๑
~ พระภิกษุคือผู้ที่มีศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิตเพื่อละกิเลสเพื่อให้ถึงความสงบจากกิเลส นี้จึงจะเป็นพระภิกษุและพระภิกษุแต่ละท่านเมื่อบวช ก็ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสเพราะฉะนั้น พระภิกษุทั้งหมดมีพระธรรมวินัยที่จะศึกษาและประพฤติปฏิบัติตาม จะประพฤติ นอกพระธรรมวินัย ไม่ได้
~ บวช เพื่ออะไร?บวชเพื่อขัดเกลากิเลสซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรมด้วยเพราะเหตุว่าการที่จะขัดเกลากิเลสได้นั้นต้องอบรมเจริญอย่างไร ทั้งกาย วาจาและใจเพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่เป็นไปเพื่อการได้ มักมาก ต้องการไม่ใช่ชีวิตของพระภิกษุไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยเพราะว่าภิกษุในธรรมวินัย เป็นผู้ที่มีพระบรมศาสดาเป็นพระบิดา เป็นผู้ให้กำเนิดเพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการเคารพอย่างยิ่งในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
~ พระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่อเปิดเผยแล้ว ยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรืองไม่ว่าจะเป็นพระวินัยและพระธรรมแต่ถ้าปกปิดไว้ ไม่มีใครรู้ถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้บัญญัติพระวินัย ด้วยพระองค์เองต้องด้วยพระมหากรุณาและพระปัญญาที่จะอนุเคราะห์ให้ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะขัดเกลากิเลสและจะประพฤติตาม ต้องประพฤติตามอย่างบริสุทธิ์ยิ่งเช่นเดียวกับพระองค์
~ ภิกษุทุกรูปต้องเคารพ ต้องประพฤติตามพระวินัย เพราะใครบัญญัติ? พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะไม่ประพฤติตามที่พระองค์ทรงบัญญัติหรือ?นี้เป็นข้อที่ภิกษุทุกรู้ต้องรู้จุดประสงค์ว่าบวชเพื่ออะไร? ... ซึ่งจะต้องขัดเกลากิเลสทั้งกาย วาจา ในเพศของบรรพชิตต้องเป็นผู้ตรงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามซึ่งได้สละแล้วก่อนที่จะบวชและเมื่อบวชแล้วก็เป็นผู้ที่สละเพราะฉะนั้นจะกลับมาเป็นชีวิตอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ ด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้นบรรพชิตจะไม่ทำกิจของคฤหัสถ์เพราะละความเป็นคฤหัสถ์แล้ว บรรพชิตมีหน้าที่ที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิตคือ รักษาและประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย
~ ชีวิตทั้งหมดที่เกิดมา ค่า อยู่ที่เข้าใจธรรม เพราะว่าเกิดมามีแต่โลภะ (ติดข้อง) โทสะ (ขุ่นเคือง) และ กิเลสต่างๆ เหมือนเกิดมาเพื่อเก็บขยะจริงๆ อกุศลทั้งหลายเหมือนขยะ เหมือนเชื้อโรค ก็เก็บไปพอกพูนมากขึ้น แต่ขณะใดก็ตาม ที่เป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูกขณะนั้น มีค่าที่สุดในชีวิต
~ ในขณะที่ฟังพระธรรม จะคิดเรื่องธรรม จะพิจารณา จะเพิ่มความเข้าใจขึ้น และถ้าฟังบ่อยๆ ฟังเป็นประจำ นอกจากวันหนึ่งๆ มีโอกาสจะคิดถึงเรื่องธรรม ซึ่งปกติแล้วนอกจากเวลาฟังก็มักจะคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าวันหนึ่งๆ มีโอกาสจะฟังมาก ก็จะทำให้คิดถึงเรื่องของธรรมมาก และถ้าฟังจนกระทั่งเป็นอุปนิสัยแล้ว เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็ยังอาจจะคิดเรื่องธรรมแทนที่จะคิดเรื่องอื่นก็ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงกำลังของการสะสม ซึ่งควรที่จะไม่ประมาทเลย
~ โกรธกับไม่โกรธ อย่างไหนดี เห็นโทษหรือยังว่า โกรธไม่ดีแน่ ไม่โกรธดีกว่า ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ ด้วยปัญญา ผู้นั้นก็จะค่อยๆ ละคลายความโกรธ และเห็นประโยชน์ของความสงบ มั่นคงในความสงบ
~ ลาภก็ปรารถนา ยศก็ปรารถนา สรรเสริญก็ปรารถนา แต่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่แพ้ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ ก็จะสามารถทำให้ทำทุจริตกรรมได้
~ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ขณะที่มีเมตตาก็เป็นอโทสเจตสิก (ความไม่โกรธ) ขณะที่มีความกรุณา มีความอาทรห่วงใย ใคร่เกื้อกูลผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกรุณาเจตสิก ขณะที่บุคคลอื่นมีความสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ เป็นต้น ขณะนั้นมีความยินดีด้วย ก็เป็นมุทิตาเจตสิก และขณะที่ระงับโลภะ โทสะ มีความเป็นกลาง เสมอในสัตว์ทั้งปวง ขณะนั้นก็เป็นตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร
~ ในอดีตชาติ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า โลภะของใครจะมากและรุนแรงแค่ไหน ชาตินี้พอจะรู้ได้ พอจะจำได้ พอจะนึกถึงได้ แต่ชาติก่อนไม่มีทางจะรู้ได้เลย แต่ก็จะเห็นได้ว่า แม้ในอดีตอนันตชาติ (ชาติที่ผ่านมานับไม่ถ้วน) ซึ่งแต่ละท่านก็มีโลภะสะสมมาแล้วมากนั้น แต่ก็มีผู้ที่อบรมเจริญกุศล สะสมกุศลซึ่งเป็นพละ (กำลัง) ที่สามารถจะละอกุศลได้ในที่สุด
~ การที่จะดับทุกข์จริงๆ ต้องดับที่ต้นเหตุ คือ อวิชชา ถ้าไม่มีปัญญา ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อวิชชาก็เต็ม และเมื่ออวิชชายังเต็มอยู่ ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลต่างๆ เช่น ความติดข้องในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเหตุให้ ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจธรรม ไม่อยากจะรู้ ไม่อยากจะเข้าใจธรรม ก็เพราะเหตุว่ามีความติด ความพอใจ ความเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ในความคิดนึกต่างๆ
~ ทางฝ่ายกุศลเป็นฝ่ายที่มีกำลังจริงๆ ถ้าได้เจริญอบรมแล้ว แม้อวิชชาที่ได้สะสมมาในอดีตนานสักเท่าไร แต่เมื่อปัญญาคมกล้า ก็สามารถดับอกุศลนั้นๆ ได้
~ เราก็มีลาภอันประเสริฐ ได้เกิดในเมืองที่ยังมีธรรม เป็นโอกาสที่ดียิ่งที่ว่ากุศลในอดีตของเรา ทำให้ได้มีโอกาสเพิ่มเติมกุศล และก็ต้องเพิ่มมากๆ เพราะเรายังไม่รู้ว่า จะจากโลกนี้ไปขณะไหน
~ เมตตามีโลภะเป็นข้าศึกใกล้ และก็มีโทสะหรือพยาบาทเป็นข้าศึกไกล คือ อยู่ห่าง ไม่เข้ามาใกล้ได้เลย ระหว่างความโกรธกับความเมตตา เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันจริงๆ เข้าใกล้กันไม่ได้ แต่ว่าลักษณะของเมตตากับโลภะใกล้เคียงกันมาก ซึ่งถ้าไม่พิจารณาจริงๆ เป็นอกุศล คือ โลภะ ไม่ใช่เมตตา โดยรู้ว่า ความรู้สึกนั้นที่เคยเข้าใจว่าเมตตา เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์หรือไม่ ถ้าขณะใดเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ให้รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เมตตาจริงๆ แต่ว่าเป็นโลภะ
~ ควรที่จะมีความเข้าใจและก็เห็นใจ และก็อภัยให้คนที่ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิด และตัวเองก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าอภัยให้ได้
~ ขณะใดที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ ทางตา มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหู มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นของจริง ถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแล้ว ผิดทั้งหมด
~ มีกองทัพอะไรในตัวบ้าง? มีกองทัพโทสะ มีกองทัพโลภะ แต่สำหรับผู้มีปัญญา มีความอดทนเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ สะสมไป อีกไม่นานเลย ผู้นั้นก็จะมีกองทัพของขันติ (ความอดทน) เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นบ่อยๆ ถ้าเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว ก็ยังไม่ชื่อว่ากองพล ยังไม่ชื่อว่ากองทัพ เพราะเหตุว่ายังมีจำนวนน้อยอยู่ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฝึกอบรมจริงๆ ในวันหนึ่งก็จะต้องมีกองพลของขันติได้
~ ถ้าเป็นผู้ที่โกรธ แต่ไม่พยาบาท อภัยได้ และไม่ผูกโกรธ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของผู้ว่ายาก ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ยอมจะอภัย และยังพอใจที่ยังโกรธอยู่ เป็นผู้ไม่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม นั่นคือผู้ที่ว่ายาก
~ ถ้าสอนใครแล้ว คนนั้นก็ไม่ยอมเลยที่จะปฏิบัติตาม คนสอนก็เหนื่อย และในยุคนี้สมัยนี้เมื่อพระพุทธศาสนาได้ล่วงเลยมาจนถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นกึ่งพุทธกาล เพราะฉะนั้นพระธรรมคำสอนที่สมบูรณ์ในเหตุผล ก็จะรุ่งเรืองอยู่เพียงชั่วระยะหนึ่ง และต่อจากนั้นก็ถึงกาลที่จะค่อยๆ เสื่อมไปจนกระทั่งสูญไปในที่สุด
~ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนที่ยั่งยืนเลย ทุกคนมีทั้งกุศลและอกุศล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคลก็มีความเป็นปุถุชน หนาด้วยกิเลสเหมือนกัน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับกิเลสใดๆ เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
~ ผู้ที่ฉลาดจริงๆ หาโทษของตนเองว่ามีโทษอะไรบ้าง ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่เห็น อาจจะไม่รู้ แต่ตนเองเท่านั้นที่อาจจะรู้ดี และในขณะเดียวกัน ถ้ามีการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นก็หากุศลของคนอื่นที่จะอนุโมทนา (ชื่นชมในความดี) ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ เพราะเหตุว่าอนุโมทนาในกุศลของคนอื่น และเห็นโทษของตนเองว่าเป็นโทษ เพื่อที่จะได้ขัดเกลาละคลายโทษนั้นยิ่งขึ้น
~ ถ้าเป็นผู้ว่ายากหรือสอนยาก ก็ย่อมจะไม่รับฟังคำสอน และจะมีความขัดเคือง จะทำให้เมื่อโกรธแล้วก็ย่อมห่างเหินไป หรือว่าอาจจะจากไปตลอดชีวิต ซึ่งก็จะไม่เป็นเหตุให้ละคลายกิเลส เพราะเหตุว่าไม่ยอมที่จะรู้จักอกุศลของตนเอง และไม่เห็นความหวังดีของผู้ที่กล่าวสอนหรือพร่ำสอน
~ ถ้ารู้ว่าคนอื่นมีอกุศลอย่างไร ท่านเองก็มีอกุศลอย่างนั้น ก็เหมือนกัน ก็น่าที่จะเข้าใจและเห็นใจ และอดทนต่ออกุศลของคนอื่นได้ ถ้าท่านสามารถจะมีความอดทนต่ออกุศลของคนอื่นเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าพระธรรมได้ขัดเกลาจิตใจของท่าน ที่เคยไม่อดทนต่ออกุศลของคนอื่น เพราะรู้สึกว่าอดทนยากต่ออกุศลของคนอื่น แต่ถ้าในขณะนั้นเป็นกุศล จะรู้สึกว่าอดทนได้โดยไม่ยากในขณะที่ศรัทธาเกิด นั้น ครอบงำอกุศล ทำให้อกุศลเกิดไม่ได้ และก็ครอบงำความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา
~ กุศลจิตเป็นปรมัตถธรรม (สิ่งที่มีจริง เปลี่ยนแปลงไม่ได้) ไม่มีเชื้อชาติ ไม่จำกัดผิวพรรณวรรณะ เป็นอนัตตา (ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น) ไม่ว่าจะเกิดกับใครที่ไหน เมื่อใด สัตว์ดิรัจฉานก็มีกุศลจิตได้ เมื่อมีเหตุที่จะให้กุศลจิตเกิด มนุษย์ก็มีกุศลได้ มีอกุศลได้ ผิวพรรณวรรณะใดก็มีกุศลได้ มีอกุศลได้
~ ทุกคนต้องจากโลกนี้ไป วันหนึ่งก็จะถึงเวลาที่ไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไรต่อไปอีกแล้ว เพราะว่าจากไปสู่โลกอื่น แต่ว่าจะจากไปสู่ที่ไหน ถ้าเป็นผลของกุศล จะต้านทานไม่ให้ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ (นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน) ซึ่งเป็นภูมิที่ไหลไปโดยง่าย ตามอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว
~ ยามทุกข์ ยามเดือดร้อน ก็มีพระธรรมเป็นสรณะ (เป็นที่พึ่ง) ทั้งๆ ที่มีความทุกข์ ก็ยังไม่ทุกข์ได้ เมื่อระลึกถึงความจริงของธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง
~ บางคนก็มีใจที่เมตตา กรุณา สงสารคนที่กำลังเดือดร้อน ขณะนั้นรู้ได้ว่า เป็นสภาพของจิตที่อ่อนโยน แต่ว่าศรัทธานั้นพอที่จะช่วยเหลือด้วยหรือยัง หรือเพียงแต่คิดสงสาร เห็นใจ ขณะนั้นก็เป็นจิตใจที่ดี แต่ศรัทธานั้นยังไม่มีกำลังถึงกับจะช่วย ด้วย ซึ่งถ้าเป็นกุศลที่มีกำลังเพิ่มขึ้น ก็จะไม่คิดเมตตาหรือว่ากรุณาแต่เพียงในใจ แต่ก็จะต้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นการเกื้อกูล เป็นประโยชน์ต่อผู้นั้นด้วย
~ โกรธเมื่อไหร่ ไม่ใช่เมตตาเมื่อนั้น
~ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ เป็นผู้ประมาท
~ คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัส จะไม่มีประโยชน์หรือ?
~ ถ้าไม่เข้าใจธรรม ก็ไม่สามารถนำกิเลสออกไปได้
~ จะรู้ได้ว่า คำใดก็ตาม ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อไม่ทำให้คนที่ได้ฟัง สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้
~ การที่แต่ละคนเข้าใจธรรม เป็นทางเดียวที่จะดำรง คำสอนของพระพุทธศาสนาไว้ได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจพระธรรมเลย แล้วจะกล่าวว่าจะรักษาพระพุทธศาสนา จะรักษาอย่างไร? เพราะเหตุว่า ใครก็ตามที่เข้าใจพระธรรม พระศาสนาก็ดำรงอยู่ เพราะยังมีผู้ที่เข้าใจ แต่เมื่อใดที่ไม่มีผู้ใดเข้าใจ พระศาสนาดำรงอยู่ได้ไหม? พระศาสนาก็อันตรธานไปจากคนที่ไม่เข้าใจ แต่ละคนๆ จนไม่เหลือ
~ จะดำรงพระศาสนาได้ ก็คือ ฟังพระธรรม ศึกษาความจริง ไตร่ตรองความจริง ในแต่ละคำ เพราะรู้ว่า คนอื่นจะไม่สามารถที่จะทำให้ เกิดปัญญาความเห็นถูกได้นอกจากฟังเฉพาะคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้ ผู้ใดกล่าวคำจริง คำจริงนั้น เป็นคำของเรา เพราะทรงตรัสรู้ จึงได้มีคำจริงนั้นๆ ไม่ว่าใครจะกล่าวคำจริงคำไหน ความเข้าใจในความจริงนั้นมาจากใคร ก็ต้องมาจากการที่เขาได้ศึกษาธรรม คำของพระพุทธเจ้า จนเข้าใจจริงๆ จึงสามารถที่จะกล่าวคำจริงนั้นๆ ได้ ใครจะกล่าวคำไหน คำจริงนั้นก็มาจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมด
~ รู้จักกิเลส และรู้จักทางที่จะละกิเลส เมื่อได้ฟังพระธรรม
~ ไม่ต้องบวช แต่ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ดีไหม?.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๖๐
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณครับ อาจารย์
อนุโมทนา สาธุ สาธุครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
สาธุ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
~ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ เป็นผู้ประมาท
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ