โลภมูลจิตเป็นพื้นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับไป
โดย สารธรรม  30 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44417

มีท่านผู้ฟังบอกว่า ตัวเองเป็นคนเจ้าโทสะ เพราะเหตุว่าเวลาที่โกรธ โกรธแรง สังเกตรู้ได้ เพราะเหตุว่าลักษณะของโทสะนั้นตึงตัง เวลาโกรธแล้วระงับไม่อยู่ ออกมาทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เป็นความรู้สึกโทมนัสอย่างรุนแรงบ้าง เพราะฉะนั้น ก็ทราบว่าตนเองนั้นเป็นคนมีโทสะมาก แต่ไม่รู้ตัวเลยว่า เวลาที่ไม่ใช่โทสมูลจิตแล้วเป็นอะไร โลภมูลจิตเป็นพื้นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับไป ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะรู้รส ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่รู้สึกตัวว่าเป็นคนเจ้าโทสะนั้น ความจริงทุกคนมีโลภมูลจิตมากเป็นพื้นอยู่แล้ว จึงทำให้เวลาที่กระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามความต้องการก็เกิดโทสะ ปฏิฆะ ความเดือดร้อนใจขึ้นได้

ปัญหาสำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานอาจจะมีว่า จะระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต โลภมูลจิตได้ในขณะไหน แต่ให้ทราบว่า ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เคยไม่รู้ให้ทั่ว ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นอะไร จะเป็นนามใด จะเป็นรูปใดก็ตาม ก่อนการละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงเสียก่อน

เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน ก็แล้วแต่สติ อย่าไปบังคับสติว่า ให้ระลึกรู้เฉพาะรูปนั้น ทางทวารนั้น หรือว่านามนี้เฉพาะทางทวารนี้ นั่นไม่ใช่ลักษณะของการเจริญสติ

สำหรับลักษณะของสราคจิต โลภมูลจิตซึ่งมีอยู่เป็นประจำและยากที่จะรู้ได้ เพราะสติไม่ค่อยจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตบ่อยๆ ท่านผู้ฟังก็คงจะคิดว่า พอจะมีสติระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตในขณะใดบ้าง เช่น ในขณะที่เห็น สติจะต้องระลึกรู้สิ่งที่ไม่เคยระลึก ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น ต่อไปขณะที่เห็น แล้วก็มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น สติก็จะได้เริ่มระลึกรู้ลักษณะสภาพความยินดีพอใจในขณะที่กำลังเห็น หรือว่ากำลังได้ยิน แล้วก็เกิดความยินดีพอใจขึ้น สติก็จะได้เริ่มระลึกรู้ลักษณะสภาพของความยินดีพอใจที่อาศัยการได้ยินเกิดขึ้นว่า สภาพนั้นมีจริง ในขณะนั้นกำลังเป็นอย่างนั้น กำลังปรากฏลักษณะของความยินดี ความพอใจ ความต้องการอย่างนั้น ก็จะได้ทราบว่า ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

ทุกครั้งที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการรู้รส ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร มีการกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง สัมผัส การคิดนึกที่ทำให้เกิดความสุข ความโสมนัสขึ้นในขณะใด แสดงว่าสภาพของจิตที่มีความยินดีพอใจนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ลักษณะของโลภมูลจิตจะปรากฏ ถ้าสติระลึกรู้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ เป็นของจริงที่ไม่ขาดไป พร้อมที่จะให้สติระลึกรู้เมื่อไรก็ได้ จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะชิน หรือเวลาที่มีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปในข้อประพฤติปฏิบัติ ในความเห็นผิดต่างๆ นั่นก็เป็นลักษณะของโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ความเห็นผิด หรือในขณะที่สำคัญตน ในชาติ ในตระกูล ในทรัพย์สมบัติ ในวิชาความรู้ ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุขต่างๆ ในขณะนั้นถ้าสติระลึกรู้ก็รู้ได้ว่า เป็นลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นลักษณะของสราคจิต โลภมูลจิตที่เป็นไป หรือเกิดร่วมกับมานะ ความสำคัญตนนั่นเอง เป็นสิ่งซึ่งสติควรจะระลึกรู้ แล้วถ้าเทียบเคียงกับสติปัฏฐานหมวดอื่นก็จะพบความสอดคล้องกันด้วย เช่น ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีเวทนา คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา สุขเวทนาก็มีทั้งที่อาศัยเรือน เคหสิตะ และไม่อาศัยเรือน

สำหรับสุขเวทนาที่อาศัยเรือน ได้แก่ สุขเวทนาที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เรือนของสุขเวทนา หรือว่าเรือนของโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับสุขเวทนา เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็มีโสมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน พอถึงจิตตานุปัสสนา ก็มีสราคจิต คือ โลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกันว่า เมื่อสภาพธรรมนั้นมีจริง สติก็ระลึกรู้ได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 137