นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๐
...จาก...
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๕๖๑
๖. กฏุวิยสูตร
(ว่าด้วยพระทำตัวเป็นของเน่า)
[๕๖๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เวลาเช้า ทรงครองสบงแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้ากรุงพาราณสี เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตอยู่ที่โคโยคมิลักขะ เป็นภิกษุไร้ความแช่มชื่นทางสมณะ มีความแช่มชื่นนอกทางสมณะ ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ใจไม่มั่นคง มีจิตกวัดแกว่ง มีอินทรีย์อันเปิด จึงตรัสกะภิกษุนั้นว่า แน่ะภิกษุ เธออย่าทำตัวให้เป็นของเน่า ตัวที่ถูกทำให้เป็นของเน่าแล้วส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้ง แมลงวัน จักไม่ไต่ไม่ตอม นั่น เป็นไปไม่ได้
ภิกษุนั้นได้รับพระโอวาทแล้ว ก็รู้สึกสลดทันที
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงพาราณสีแล้ว ภายหลังภัตตาหาร กลับจากบิณฑบาตแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเช้านี้ เราครองสบงแล้ว ถือบาตรจีวร เข้ากรุงพาราณสี เพื่อบิณฑบาต เราได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตอยู่ที่โคโยคมิลักขะ เป็นภิกษุไร้ความแช่มชื่นทางสมณะ มีความแช่มชื่นนอกทางสมณะ ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะใจไม่มั่นคง มีจิตกวัดแกว่ง มีอินทรีย์เปิด เราจึงกล่าวกะภิกษุนั้นว่า แน่ะภิกษุ เธออย่าทำตัวให้เป็นของเน่า ตัวที่ถูกทำให้เน่าแล้ว ส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้ง แมลงวัน จักไม่ไต่ไม่ตอม นั่นเป็นไปไม่ได้ ภิกษุนั้นได้รับโอวาทแล้ว รู้สึกสลดทันที
เมื่อสิ้นกระแสพระพุทธดำรัส ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นของเน่า อะไรเป็นกลิ่นเหม็นคาว อะไรเป็นแมลงวัน
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า อภิชฌาเป็นของเน่า พยาบาทเป็นกลิ่นเหม็นคาว ความตรึกทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศล เป็นแมลงวัน แน่ะภิกษุ ตัวที่ถูกทำให้เป็นของเน่าแล้วส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้ง แมลงวันจักไม่ไต่ไม่ตอม นั่นเป็นไปไม่ได้
นิคมคาถา
(พระคาถาสรุป)แมลงวัน คือ ความดำริที่เกี่ยวด้วยราคะ ย่อมไต่ตอมภิกษุผู้ไม่คุ้มครองตาและหู ไม่สำรวมอินทรีย์ ภิกษุผู้ทำตัวเป็นของเน่า ส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้ง ย่อมไกลออก ไป จากพระนิพพาน เป็นผู้มีส่วนรับทุกข์เท่านั้น คนโง่เขลาไม่ได้ความสงบภายใน ไปในบ้าน หรือในป่าก็ตาม ก็ถูกแมลงวันตอมไป ส่วนคนเหล่าใดถึงพร้อมด้วยศีล ยินดี ในความสงบ ระงับด้วยปัญญา คนเหล่านั้น เป็นคนสงบ อยู่สบาย แมลงวันไม่ไต่ตอม
จบกฏุวิยสูตรที่ ๖
อรรถกถากฏุวิยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในกฏุวิยสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้:-
บทว่า โคโยคมิลกฺขสฺมึ ความว่า ในสำนักของคนป่า ที่ปรากฏตัวอยู่ ในตลาดซื้อขายวัว
บทว่า ริตฺตสฺสาทํ ความว่า ขาดความยินดี เพราะไม่มีความสุขเกิดแต่ฌาน
บทว่า พาหิรสฺสาทํ ความว่า มีความยินดีในความสุขภายนอก ด้วยอำนาจแห่งความสุขที่เกิดแต่กามคุณ
บทว่า กฏุวิยํ ได้แก่ ของที่เขาทิ้งแล้ว
บทว่า อามกคนฺเธ ความว่า มีกลิ่นคาว กล่าวคือ ความโกรธ
บทว่า อวสฺสุตํ ความว่า เปียกชุ่มแล้ว แมลงวัน กล่าวคือกิเลส ชื่อว่า มกฺขิกา
บทว่า นานุปติสฺสนฺติ ความว่า จักไม่บินตามไป
บทว่า นานฺวาสฺสวิสฺสนฺติ ความว่า จักไม่ตามไปตอม
บทว่า สํเวคมาปาทิ ได้แก่ เป็นพระโสดาบัน
บทว่า กฏุวิยกโต ความว่า ทำให้เป็นของเสีย
บทว่า อารกา โหติ ความว่า มีในที่ไกล
บทว่า วิฆาตสฺเสว ภาควา ความว่า มีส่วนแห่งทุกข์นั้น
บทว่า จเร แปลว่า ย่อมเที่ยวไป. บทว่า ทุมฺเมโธ ได้แก่ ผู้มีปัญญาทราม ในพระสูตรนี้ ตรัสวัฏฏะไว้อย่างเดียวเท่านั้น. แต่ในคาถาทั้งหลาย ตรัสไว้ทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ
จบอรรถกถากฏุวิยสูตรที่ ๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๏ ข้อความโดยสรุป ๏
กฏุวิยสูตร
(ว่าด้วยพระทำตัวเป็นของเน่า)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาต ว่า อย่าทำตัวให้เป็นของเน่า ตัวที่ถูกทำให้เป็นของเน่าแล้วส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้ง แมลงวัน จักไม่ไต่ไม่ตอม นั่น เป็นไปไม่ได้
ภิกษุนั้น พอได้รับพระโอวาทแล้ว สลดใจทันที
แล้วภายหลังพระองค์ทรงนำเรื่องดังกล่าวมาตรัสเล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระองค์ว่า อะไรเป็นของเน่า อะไรเป็นกลิ่นเหม็นคาว อะไรเป็นแมลงวัน
พระองค์ตรัสตอบว่า อภิชฌา เป็นของเน่า พยาบาทเป็นกลิ่นเหม็นคาว ความตรึกที่เป็นอกุศล เป็นแมลงวัน
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
อภิชฌา
คันถะ ๔ ... อภิชฌากายคันถะ
คันถะ ๔ ... พยาปาทกายคันถะ
อกุศลวิตก
ขยะในใจ
กามคุณ ๕
อินทรียสังวร
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น