[คำที่ ๕๑๑] อโทส
โดย Sudhipong.U  6 มิ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 34362

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อโทส”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อโทส อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - โท - สะ มาจากคำว่า น (ไม่) [แปลง น เป็น อ] กับคำว่า โทส (ความประทุษร้าย, ความโกรธ) รวมกันเป็น อโทส เขียนเป็นไทยได้ว่า อโทสะ แปลว่า ความไม่ประทุษร้าย, ความไม่โกรธ เป็นสภาพธรรมที่ดีงามประการหนึ่ง เป็นสภาพที่ไม่ประทุษร้าย ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน ไม่เป็นโทษทั้งกับตนเองและบุคคลอื่น

ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของ อโทส (อโทสะ) ไว้ดังนี้

อโทสะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? การไม่คิดประทุษร้าย กิริยาที่ไม่คิดประทุษร้าย ความไม่คิดประทุษร้าย ความไม่พยาบาท ความไม่คิดเบียดเบียน กุศลมูล คือ อโทสะ ในสมัยนั้น อันใดนี้ชื่อว่า อโทสะ มีในสมัยนั้น”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ในขณะนี้ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน พระองค์ทรงแสดงชาติ (ความเกิดขึ้น) ของจิต ว่า มี ๔ ชาติ ได้แก่ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นวิบากคือผลของกรรม ๑ และ จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา คือ ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล เป็นแต่เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไปเท่านั้น ๑

จะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสนั้น ย่อมมีจิตเกิดขึ้นเป็นไปใน ๔ ชาติ ดังกล่าว ตามความเป็นไปของจิตขณะนั้นๆ ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไปตามลำดับจะไม่มีทางที่เข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้เลย โดยเฉพาะอกุศลจิต ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย เกิดมากเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า เมื่อไม่กล่าวถึงขณะจิตที่เป็นกุศล ขณะจิตที่เป็นการได้รับผลของกรรม และขณะที่จิตเป็นกิริยาแล้ว นอกนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ขณะจิตที่เป็นไปพร้อมกับโทสะ ซึ่งเป็นความโกรธ ความขุ่นเคือง ความประทุษร้าย ความไม่พอใจ

ตามความเป็นจริงแล้ว โทสะ ซึ่งเป็นความโกรธ ความไม่พอใจ ความประทุษร้าย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอนาคามี ยังคงมีอยู่ เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อของความโกรธที่ยังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด, บางบุคคลเป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความประพฤติดี เรียบร้อย เกือบจะดูเหมือนว่า ไม่เห็นว่าเขาโกรธอะไรเลย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ต้องโกรธแน่แม้ว่าจะไม่มาก เป็นเพียงความขุ่นใจ ไม่พอใจเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งมีมากในชีวิตประจำวัน เวลาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็ยากที่จะไม่เกิดความขุ่นใจ ความไม่สบายใจ อย่างนี้ก็เป็นลักษณะของความโกรธเช่นเดียวกัน เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป จะบังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะละความโกรธได้อย่างเด็ดขาด ความโกรธก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ขณะที่เกิดความโกรธนั้น เป็นอกุศล ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นการสะสมโทสะ เมื่อสะสมบ่อยๆ เนืองๆ โดยที่ไม่มีการเห็นโทษเห็นภัย ก็ทำให้กิเลสมีกำลังมากขึ้น จนถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียน ทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นโทษเป็นภัยกับตนเองโดยตรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกด้วย

ขณะที่ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ เกิดขึ้น ข้าศึกภายในได้เกิดขึ้นแล้ว ตนเองเท่านั้นที่เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะกิเลสคือโทสะหรือความโกรธของตนเอง คนอื่นจะทำให้ไม่ได้เลย ถ้าโกรธต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด นั้น มีแต่กิเลสของตนเองเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นพอกพูนขึ้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย มีแต่โทษเท่านั้น

สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ ก็คือ อโทสะ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ประทุษร้าย ไม่โกรธ ไม่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยใดๆ เลย ไม่ว่าจะกับตนเองหรือผู้อื่น เพราะเหตุว่าไม่ว่าเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม สภาพธรรมฝ่ายดี ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดโทษเลยแม้แต่น้อย

การที่กุศล ความดีประการต่างๆ จะเกิดขึ้น เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องยากทั้งนั้น เพราะเป็นการทวนกระแสของกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อรู้ความจริง เห็นคุณของกุศล เห็นโทษของอกุศล รู้สิ่งที่ควรทำและรู้ในสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงเป็นสิ่งที่มีอุปการะเป็นอย่างมากในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน เพราะธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศลมีมากและสะสมมานาน จะขจัดหรือกำจัดออกจากจิตใจอย่างรวดเร็วในทันทีทันใด ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เกื้อกูลต่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ขัดเกลาละคลายอกุศล เพราะปัญญาจะไม่นำพาไปในทางที่เป็นอกุศล มีแต่จะเกื้อกูลให้กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญา ก็จะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ซึ่งปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องไม่ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากที่มากไปด้วยโทสะ ความโกรธ ความประทุษร้าย และกิเลสประการอื่นๆ แล้วขัดเกลาละคลายความโกรธ เป็นต้น จนกระทั่งดับได้อย่างหมดสิ้น เป็นอย่างนี้ได้จริงๆ ซึ่งจะต้องเป็นได้ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่พึ่งที่แท้จริง จึงไม่พ้นไปจากการมีโอกาสได้ฟังคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีน้อย เห็นคุณค่าของคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ซึ่งเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 6 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ