ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ
โดย chatchai.k  17 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44029

(ธาตุวิภังคสูตร)

ต่อไปขอกล่าวถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ เพื่อศึกษาสันติ ว่าทรงมุ่งหมายอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้ จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่น ย่อมเป็นประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ดูกร ภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิตเพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็ปัญญานี้ คือ ความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง

เวลานี้มีสุขเวทนาบ้าง มีทุกขเวทนาบ้าง มีอทุกขมสุขเวทนาบ้าง แต่ถึงปัญญาขั้นที่รู้ว่า เมื่อสิ้นชีวิตลงแล้วก็ไม่มีสุขเวทนาอีกเลย ไม่มีทุกขเวทนาอีกเลย ไม่มีอุเบกขาเวทนาอีกเลย นั่นจึงจะเป็นความสงบที่แท้จริง ถ้าไม่ถึงขั้นนี้ก็ไม่ใช่ปัญญาที่ประเสริฐยิ่ง เพราะเหตุว่าปัญญาที่ประเสริฐยิ่งจะต้องเป็นปัญญาที่รู้อย่างนี้ คือ รู้ว่าเบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิตเพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมด ที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ เพราะเหตุนั้นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง

สำหรับเรื่องต่อไปที่เกี่ยวเนื่องกัน

ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณ ไม่กำเริบ ดูกร ภิกษุ เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดานั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่ นิพพานนั้นจริง

ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็สัจจะนี้ คือ นิพพาน มีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่งบุคคลนั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อมสมาทานอุปธิเข้าไว้ อุปธิเหล่านั้นเป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็จาคะนี้ คือ ความสละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง

สัจจะที่ประเสริฐก็เป็นการรู้แจ้งนิพพาน หรือนิพพานนั่นเองเป็นสัจจะ คือ ไม่เลอะเลือน เปลี่ยนแปลง แปรปรวน เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถึงความเป็นสัจจะอย่างยิ่ง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง คือ ผู้ที่รู้แจ้งสิ่งที่ไม่เลอะเลือน ส่วนจาคะก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็สละวัตถุ บางครั้งก็สละกิเลส แต่ถ้าสละจริงๆ เป็นการสละอย่างยิ่ง เป็นการสละที่ประเสริฐ แล้วต้องสละอุปธิ คือ กิเลส และขันธ์ ไม่มีการยึดถือ สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 96