ถ้าไม่มีความหวัง หรือความต้องการแล้ว จะเจริญสติเพื่ออะไร
โดย chatchai.k  27 ต.ค. 2566
หัวข้อหมายเลข 46873

ต่อไปเป็นจดหมายฉบับที่ ๓

๗ สิงหาคม ๒๕๑๖

เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ ที่เคารพ

ด้วยผมได้ฟังอาจารย์บรรยายธรรมมาประมาณ ๒ ปีเศษ ยังไม่เข้าใจดี ยังมีข้อข้องใจอยู่มาก เพราะผมได้ยินท่านอาจารย์พูดว่า การเจริญสตินั้น ไม่มีเจตนาและความหวัง หรือความต้องการแต่อย่างใด

ฉะนั้น ผมขอถามว่า ถ้าไม่มีความหวัง หรือความต้องการแล้ว จะเจริญสติเพื่ออะไร เพราะคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ต้องมีความหวังเป็นธรรมดา ถ้าไม่มีความหวังหรือความต้องการแล้ว คงไม่มีคนฟัง และมาฟังอาจารย์กันมาก ที่ฟัง และมาฟังก็เพราะยังมีความต้องการอยู่ ฉะนั้น ขอให้อาจารย์อธิบายให้แจ่มแจ้งทีเถอะครับ

และอีกนัยหนึ่ง อาจารย์เคยพูดเสมอว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่จำกัดสถานที่ แม้ในโรงมหรสพ หรือขับรถ ขับเรือ ก็เจริญสติได้ แต่ผิดกันกับสำนักปฏิบัติ เพราะอาจารย์พูดว่า การไปเข้าวิปัสสนาตามสำนักนั้น เป็นอัตตา ตัวตน เป็นการบังคับ ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้

อันผมเห็นว่า คำพูดของอาจารย์ค้านกันเอง เพราะพูดว่า การเจริญสติไม่จำกัดสถานที่ แต่การไปสำนักปฏิบัตินั้น ก็ไปเพื่อการศึกษาและอบรมจิตนั่นเอง เพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอก และพิจารณากายในกายนั่นแหละ เพื่อให้สติและปัญญาเห็นตามความเป็นจริงว่า กายก็สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และเป็นของปฏิกูล น่าเบื่อหน่าย ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เห็นตามเป็นจริง ตามที่ได้เรียนมา และพิจารณากายในกายอยู่นั้น เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ก็รวมอยู่ที่นั่นด้วย เพราะการพิจารณา สติปัฏฐานทั้ง ๔ ภายในนั้น ไม่ใช่เอาตาดู หูฟัง แม้นั่งหลับตาพิจารณาอยู่นั้น สติปัฏฐาน ๔ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นในที่นั้น แล้วแต่สติจะระลึกได้ สัมปชัญญะจะรู้ทันกับสภาวธรรมนั้น แต่ขณะที่สติระลึกได้ สัมปชัญญะรู้ทัน ในขณะนั้นเจตนาไม่มี ไม่มีบุพเจตนาเบื้องต้นเป็นปัจจัย

นี่เป็นความเห็นของผมเอง ผิดถูกอย่างไร ให้ท่านอาจารย์แก้ไขให้ผมด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง เพราะผมเคยได้ฟังคำโบราณท่านกล่าวว่า ผิดแล้วช่วยกันแก้ แย่แล้วให้ช่วยกันทำ ฉะนั้น ผมจึงขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้ผมสัก ๒ - ๓ ครั้งเพราะบางทีผมก็ไม่ได้อยู่ฟัง บางครั้งคลื่นก็รบกวน ฟังไม่ได้เรื่องเลย

สุดท้ายนี้ ขอให้อาจารย์สรุปเรื่องสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้เข้ากับการเจริญสติปัฏฐานตามปกติ อย่าให้ขัดแย้งกัน

จากผม ผู้สงสัยจังหวัดเพชรบูรณ์



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 27 ต.ค. 2566

สุ. สำหรับจดหมายฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงข้อความที่ท่านเขียนมา ๒ ตอนคือ ตอนแรกท่านกล่าวว่า อันผมเห็นว่า คำพูดของอาจารย์ค้านกันเอง เพราะพูดว่า การเจริญสติไม่จำกัดสถานที่

ท่านกล่าวว่า ดิฉันพูดค้านกันเอง

การเจริญสติปัฏฐานนั้น คือ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม ที่เกิดขึ้นตามปกติเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีปกติจริงๆ ทำไมจะต้องมีสำนักปฏิบัติ ในเมื่อท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่ว่าท่านจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด อยู่ที่นี่ ท่านก็เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถ้าท่านเข้าใจความหมายและท่านปฏิบัติถูก ไม่ว่าท่านจะไปสู่สถานที่ใด สติก็เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เป็นปกติจริงๆ ตามปกติจริงๆ อย่างนี้แล้ว จะต้องมีชื่อว่าห้องปฏิบัติไหม

และเวลาที่ท่านไปสู่สำนักปฏิบัติ ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติจริงๆ หรือเปล่า ท่านพิจารณาเทียบเคียงได้ ชีวิตจริงๆ ของท่าน ไปหาเพื่อน ไปธุระ นี่เป็นสังสารวัฏฏ์ นี่เป็นชีวิตจริงๆ

เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ไม่ว่าจะยิ้ม จะหัวเราะ จะสนุกสนาน จะโศกเศร้า จะกำลังดูหนัง ดูละคร กำลังทำกิจการงานต่างๆ ก็ระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรมตามปกติ ซึ่งถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะไม่มีข้อสงสัยเลย และไม่จำเป็นที่จะต้องมีสถานที่หนึ่งสถานที่ใดที่จะชื่อว่าสำนักปฏิบัติ

ท่านกล่าวว่า การไปสำนักปฏิบัตินั้น ไปเพื่อการศึกษาและอบรมจิตนั่นเอง

ซึ่งตามความเป็นจริง การศึกษาด้วยการปฏิบัตินั้น ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ มีนามธรรม มีรูปธรรม พร้อมทุกขณะที่จะศึกษา การฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้นขณะใด ก็เป็นการศึกษาโดยปริยัติในขณะนั้น และการที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขณะใด ก็เป็นการศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพื่อความรู้ชัด เพื่อการประจักษ์แจ้งแทงตลอด โดยที่ไม่ต้องจำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลาด้วยว่า ท่านจะต้องไปศึกษาที่สำนักปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น เป็นความเข้าใจของท่านว่า ท่านไปเพื่อการศึกษา และอบรมจิตเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอก และการพิจารณากายในกาย ซึ่งกายก็มีทุกหนทุกแห่ง ไม่ต้องเฉพาะที่สำนักปฏิบัติเท่านั้น

ขณะใดก็ตามที่สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นก็เป็นการพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม และจะต้องเห็นว่า นามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เสมอกันด้วย โดยไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ จึงสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาให้คมกล้า ที่จะละคลาย และแทงตลอดสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

ถ้าท่านคิดว่า ท่านจะไปจำกัดสถานที่ และจะไปอบรมปัญญาให้คมกล้า แต่เวลาที่ท่านมีชีวิตดำเนินไปเป็นปกติในสังสารวัฏฏ์ตามความเป็นจริงของท่าน สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ท่านก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจธรรมได้

ท่านผู้ฟังท่านนี้ ขอให้สรุปเรื่องสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้เข้ากับการเจริญสติปัฏฐานตามปกติ อย่าให้ขัดแย้งกัน

ไม่ขัดแย้งกันถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าบางท่านอาจจะสะสมอบรมการเจริญสมาธิมาแล้ว แต่ขณะนั้นเป็นตัวตนที่เป็นสมาธิ เพราะไม่รู้ว่า แม้ความสงบของจิตในขณะนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ท่านยังไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าท่านจะเจริญสมถภาวนาเป็นสมาธิถึงขั้นฌานจิต ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานซึ่งเป็นอรูปฌานที่สูงที่สุด ท่านก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง สติไม่ได้ระลึกเป็นปกติ

แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานอยู่เสมอ แม้แต่จิตโน้มไปที่จะสงบเป็นสมาธิ สติก็สามารถจะระลึกได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติอยู่เสมอ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนชำนาญ จนแม้จิตโน้มไปที่จะสงบ สติก็ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าท่านมีความชำนาญที่จะถึงฌานจิตโดยรวดเร็ว สติก็ยังสามารถที่จะระลึกรู้ว่า แม้ฌานจิตก็ไม่เที่ยง หรือแม้ว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่เคยอบรมสมาธิถึงขั้นฌานจิต เพียงแต่เริ่มสงบ สติก็สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมที่เป็นความสงบแต่ละขั้นที่ต่างกันตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นลักษณะของความสงบแต่ละขั้นนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น

ที่จะไม่ขัดกันนี้ มีอยู่โดยประการเดียว คือ เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว แล้วแต่อัธยาศัย ท่านจะเป็นผู้ที่หนักในทาน หรือในศีล หรือในสมาธิ แต่ทุกท่านไม่ยึดถือว่าทาน ศีล สมาธินั้นเป็นตัวตน เมื่อท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

แต่ถ้าท่านไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านเจริญแต่สมาธิ และจะให้สมาธินั้นเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่ความรู้ชัด ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘

ถ้าท่านเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่จะต้องอดทนจริงๆ ที่ว่าอดทนนั้น คือ อดทนที่จะอบรมเจริญเหตุ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ตามปกติ จนรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางจริงๆ ข้อสำคัญคือ อย่าเข้าใจผิด อย่าหวังสิ่งอื่นที่ยังไม่ได้ปรากฏในขณะนี้ แต่ไม่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะเป็นอะไรก็ตาม โลภะ โทสะ โมหะ หรือสภาพของกุศลจิตใดๆ ก็ตามที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งปัญญาแยก รู้ชัดได้จริงๆ ว่า เป็นลักษณะของรูปธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะ เป็นลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะจริงๆ ตรงตามตามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ท่านกล่าวว่า ยากมากที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมที่ต่างกันว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมแต่ละชนิดที่ต่างกัน เพราะว่าบางชนิดก็ใกล้เคียงกันมาก ถ้าสติไม่ระลึกรู้ตรงลักษณะนั้นจริงๆ ก็ยากที่จะแยกให้รู้ว่า เป็นลักษณะของนามธรรมต่างชนิดกัน เช่น เวลาที่เกิดความกรุณาเมื่อเห็นสิ่งที่ควรแก่การสงสาร ควรแก่การที่จะกรุณา แต่ว่าหลังจากนั้น ความรู้สึกเป็นโทมนัส เสียใจ บางทีก็ถึงกับสลดใจ หดหู่ไป ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า สภาพของความกรุณาเมื่อเห็นสัตว์อื่นกำลังประสบกับความทุกข์ยากเป็นกุศลจิต แต่ว่าเวลาที่ไม่รู้ว่า ถ้าเกิดโทมนัส สภาพของจิตที่โทมนัสไม่ใช่กุศล แต่เป็นโทสมูลจิต เพราะฉะนั้น บางคนที่สงสารคนอื่นจนกระทั่งโทมนัสเสียใจ พอสติเกิดขึ้นระลึกรู้ ก็ปรากฏว่าเป็นโทมนัสเวทนาเสียแล้ว คือ ไม่ระลึกรู้ในขณะที่กำลังเป็นกุศลจิต ที่กำลังกรุณาในบุคคลที่กำลังประสบกับความทุกข์ยาก แต่กว่าสติจะระลึกรู้ ก็ไประลึกรู้ในลักษณะของโทมนัสเวทนา

แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมว่าเป็นสภาพที่ต่างกัน ไม่ใช่ประเภทเดียวกัน กุศลธรรมเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม แต่ว่าติดกัน จนกระทั่งยากที่จะแยกออกได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในสภาพของจิตที่ต่างกันจริงๆ

ด้วยเหตุนี้ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านก็มีนามธรรมต่างชนิด รูปธรรมต่างชนิดที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสภาพของรูปแต่ละลักษณะ เป็นสภาพของจิตแต่ละประเภท เป็นสภาพของความรู้สึกแต่ละชนิด ซึ่งถ้าขณะใดสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นบ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมจะยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น ก็คือ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งเป็นความรู้ชัดจริงๆ

การเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นการอบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เป็นวิปัสสนาภาวนา และไม่ใช่ต่างไปเป็นอื่นจากชีวิตปกติประจำวันของแต่ละบุคคล ซึ่งการที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น จะต้องเป็นสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ความวิจิตรของจิต ของสภาพธรรมที่ตนเองสะสมมา ไม่ว่าจะเห็น หรือได้ยิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ

เพราะฉะนั้น ชีวิตของพุทธบริษัทที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงต่างกันไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล พุทธบริษัทที่เป็นบรรพชิต ก็อบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต พุทธบริษัทที่เป็นฆราวาส ก็อบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของฆราวาส

ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องระลึกรู้ลักษณะของรูปอย่างเดียวกัน หรือว่าของนามอย่างเดียวกัน เป็นกฎเป็นเกณฑ์ อย่างนั้นจะไม่ใช่การที่ปัญญาจะรู้ชัดว่า แม้สติก็เป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา

ด้วยเหตุนี้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศของบรรพชิต ก็เจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ฆราวาสก็เจริญสติปัฏฐานในเพศของฆราวาส ซึ่งจะแลกเปลี่ยนกันก็ไม่ได้ จะให้ฆราวาสไปมีจิตอย่างบรรพชิตก็ไม่ได้ หรือจะให้บรรพชิตมีจิตอย่างฆราวาสก็ไม่ได้ นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368