๑. จันทิมสสูตร ว่าด้วยผู้ถึงฝั่ง
โดย บ้านธัมมะ  29 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36254

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 346

อนาถปิณฑิกวรรคที่ ๒

๑. จันทิมสสูตร

ว่าด้วยผู้ถึงฝัง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 346

อนาถปิณฑิกวรรคที่ ๒

๑. จันทิมสสูตร

ว่าด้วยผู้ถึงฝั่ง

[๒๕๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น จันทิมสเทวบุตร เมื่อสิ้นปฐมยาม มีวรรณะงามยิ่งนัก ทำพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่วแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๒๕๒] จันทิมสเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน มีจิตเป็นสมาธิ มีปัญญา มีสติ ชนเหล่านั้น จักถึงความสวัสดี ประดุจเนื้อในชะวากเขา ไร้ริ้นยุง ฉะนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน ไม่ประมาท ละกิเลสได้ ชนเหล่านั้น จักถึงฝั่ง คือ นิพพาน ประดุจปลา ทำลายข่ายได้แล้ว ฉะนั้น.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 347

อนาถปิณฑิกวรรคที่ ๒

อรรถกถาจันทิมสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในจันทิมสสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๒ ต่อไป :-

บทว่า กจฺเฉว แปลว่า ประดุจชะวาก ชะวากเขาก็ดี ชะวากไม้และน้ำก็ดี ชื่อว่า ชะวาก.

บทว่า เอโกพินิปทา ได้แก่ ประกอบด้วยจิตมีอารมณ์เดียว และปัญญาเครื่องรักษาตัว.

บทว่า สตา แปลว่า มีสติ.

ท่านอธิบายว่า ชนเหล่าใดได้ฌาน มีจิตมีอารมณ์อันเดียวผุดขึ้น มีปัญญาเครื่องรักษาตัวมีสติอยู่ ชนเหล่านั้น จักถึงความสวัสดี เหมือนเหล่ามฤค ในชะวากเขา หรือชะวากแม่น้ำ ที่ไม่มียุง.

บทว่า ปารํ ได้แก่ พระนิพพาน.

บทว่า อมฺพุโช แปลว่า ปลา.

บทว่า รณํ ชหา แปลว่า ละกิเลส.

ท่านอธิบายว่า ชนเหล่าใดได้ฌานไม่ประมาท ย่อมละกิเลสได้ ชนเหล่านั้น ก็จักถึงพระนิพพานเหมือนปลาทำลายข่ายที่ทำด้วยด้าย ฉะนั้น.

จบอรรถกถาจันทิมสสูตรที่ ๑