ยมกปาฏิหาริย์ คือเหตุการณ์ใด
โดย panaporn.a  24 เม.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 34121

ยมกปาฏิหาริย์ คือเหตุการณ์ใด ที่ปรากฎในพระไตรปิฎก 

และการที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังสววรค์นั้นเป็นไปในลักษณะใด

และการที่พระพุทธเจ้าทำให้มนุษย์เห็นสวรรค์ นรก นั้นเป็นไปในลักษณะใด

ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 24 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ยมกปาฏิหาริย์ คือเหตุการณ์ใด ที่ปรากฎในพระไตรปิฎก
ยมกปาฏิหาริย์ เป็นปาฏิหาริย์ที่ทรงแสดงเป็นคู่ๆ เป็นปาฏิหาริย์ กล่าวคือ เป็นความอัศจรรย์ที่ทรงแสดงได้เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แม้พระอัครสาวกอย่างท่านพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะก็ไม่สามารถแสดงได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในครั้งต่างๆ ดังนี้ คือ

ครั้งแรก เมื่อทรงตรัสรู้ใหม่ๆ เพื่อตัดความสงสัยของเทวดาว่าพระองค์ได้ตรัสรู้จริงๆ หรือไม่ พระองค์จึงเสด็จขึ้นไปแสดงยมกปาฏิหาริย์ในนภากาศ

ครั้งที่ ๒ หลังจากที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ในพรรษาที่ ๗ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ข่มพวกอัญญเดียรถีย์ แล้วพระองค์ก็เสด็จไปทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ครั้งที่ ๓ ในขณะที่พระองค์เสด็จลงจากสรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็มีข้อความว่าพระองค์ได้ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ด้วย

และ อีกครั้งหนึ่ง เป็นการแสดงปาฏิหาริย์ เหมือนในวันที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือ ในวันสิ้นพระพุทธศาสนา พระธาตุอันตรธาน พระธาตุทั้งหมดจักประชุมกันที่มหาโพธิมัณฑสถานแล้ว รวมเป็นพระพุทธรูป แสดงพุทธสรีระประทับนั่งขัดสมาธิ ณ โพธิมัณฑสถาน จักการทำปาฏิหาริย์แสดง เหมือนในวันแสดงยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งมีแต่เทวดาเท่านั้นที่เห็น ต่อจากนั้น เตโชธาตุลุกโพลงขึ้นจากพระสรีรธาตุทำให้พระสรีระนั้นหมดสิ้นไป
ขอเชิญอ่านลักษณะของยมกปาฏิหาริย์ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้

ลักษณะของยมกปาฏิหาริย์ [คาถาธรรมบท]


การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังสววรค์นั้นเป็นไปในลักษณะใด
มีข้อความใน[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า ๓๐๗ ดังนี้
พระศาสดากำลังทรงทำปาฏิหาริย์อยู่นั่นแล ทรงรำพึงว่า "พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายทำปาฏิหาริย์นี้แล้ว จำพรรษาที่ไหนหนอแล?" ทรงเห็นว่า "จำพรรษาในภพดาวดึงส์ แล้วทรงแสดงอภิธรรมปิฎกแก่พระพุทธมารดา" ดังนี้แล้ว ทรงยกพระบาทขวาเหยียบเหนือยอดภูเขายุคันธร ทรงยกพระบาทอีกข้างหนึ่งเหยียบเหนือยอดเขาสิเนรุ วาระที่ย่างพระบาท ๓ ก้าว ได้มีแล้วในที่ ๖๘ แสนโยชน์อย่างนี้. ช่องพระบาท ๒ ช่อง ได้ถ่างออกเช่นเดียวกันกับการย่างพระบาทตามปกติ. ใครๆ ไม่พึงกำหนดว่า "พระศาสดาทรงเหยียดพระบาทเหยียบแล้ว. เพราะในเวลาที่พระองค์ทรงยกพระบาทนั่นแหละ ภูเขาเหล่านั้นก็มาสู่ที่ใกล้พระบาทรับไว้แล้ว ในเวลาที่พระศาสดาทรงเหยียบแล้ว ภูเขาเหล่านั้นก็ตั้งประดิษฐานในที่เดิม"

ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาแล้ว ทรงดำริว่า "พระศาสดาจักทรงเข้าจำพรรษานี้ ในท่ามกลางบัณฑุกัมพลสิลา อุปการะจักมีแก่เหล่าเทพดามากหนอ แต่เมื่อพระศาสดาทรงจำพรรษา ที่นั่น เทพดาอื่นๆ จักไม่อาจหยุดมือได้ ก็แลบัณฑุกัมพลสิลานี้ ยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์ แม้เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว ก็คงคล้ายกับว่างเปล่า."


การที่พระพุทธเจ้าทำให้มนุษย์เห็นสวรรค์ นรก นั้นเป็นไปในลักษณะใด

มีข้อความใน[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า ๓๑๗ ดังนี้
พระศาสดาประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก ทรงแลดูข้างบนแล้ว สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูแล้วทั้งหลาย ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก ทรงแลดูข้างล่าง. สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูแล้ว ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงอเวจี ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียงทั้งหลาย จักรวาลหลายแสนได้มีเนินเป็นอันเดียวกัน เทวดาเห็นพวกมนุษย์, แม้พวกมนุษย์ก็เห็นพวกเทวดา. พวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหมด ต่างเห็นกันแล้วเฉพาะหน้าทีเดียว

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีไปแล้ว. มนุษย์ในบริษัทซึ่งมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์แม้คนหนึ่ง เมื่อแลดูสิริของพระพุทธเจ้าในวันนั้นแล้ว ชื่อว่าไม่ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า มิได้มีเลย


ข้อที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ปาฏิหาริย์ใดๆ ก็ไม่เหมือนกับอนุสาสนีปาฏิหาริย์

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (คำสอนเป็นอัศจรรย์) เป็นคำสอนของบุคคลผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก เพื่อที่จะตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่เพียงเพื่อตรัสรู้เฉพาะพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่ทรงมีพระมหากรุณาที่จะทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลให้สัตว์โลกได้เข้าใจพระธรรมตามพระองค์ด้วย

ดังนั้น พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จึงทำให้ผู้ได้ฟัง ได้ศึกษา จากที่เคยเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสตามลำดับมรรคได้ สูงสุดคือถึงความเป็นพระอรหันต์ หมดจดจากกิเลสโดยประการทั้งปวง

จะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวัน แต่ละคนก็มีกิเลสมากด้วยกันทั้งนั้น เพราะเคยได้สะสมมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ กิเลสเมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และเกิดขึ้นบ่อยมากเกือบจะตลอดเวลาก็ว่าได้ (เมื่อไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบาก กิริยา และกุศล) เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรม ก็จะไม่รู้เลยว่าตนเองเป็นผู้มีกิเลสมากน้อยแค่ไหน เมื่อไม่รู้กิเลสตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถละกิเลสใดๆ ได้เลย การที่จะรู้อย่างนี้ได้ ก็ต้องฟังพระธรรม ขึ้นชื่อว่าสาวกแล้ว ต้องได้ฟังพระธรรม ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลงจนกว่าจะมีปัญญาคมกล้าสามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ในที่สุด ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมปัญญาตั้งแต่ในขณะนี้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน บุคคลผู้ที่มีปัญญาเท่านั้น ที่จะซาบซึ้งและได้รับประโยชน์จากอนุสาสนีปาฏิหาริย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 24 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ความคิดเห็น 3    โดย Kalaya  วันที่ 25 เม.ย. 2564

กราบนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า


ความคิดเห็น 4    โดย panaporn.a  วันที่ 25 เม.ย. 2564

ขอบพระคุณพี่คำปั่นครับ


ความคิดเห็น 5    โดย Wisaka  วันที่ 20 พ.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ