ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิฯ และ คณะวิทยากรของมูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชา ณ อาคารของมูลนิธิฯ เลขที่ ๑๗๔/๑ ซอยเจริญนคร ๗๘ ถนนเจริญนคร แขวงดาวคะนอง เขตธนบุรี กทมฯ ระหว่างเวลา ๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. และ หยุดพักเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ในเวลา ๑๒.๐๐ - ๑๔.๐๐ น. โดยมีผู้มีจิตศรัทธา นำอาหารคาวหวาน นานาชนิด มาเจริญกุศล มากมายเช่นเคย
ขออนุโมทนาท่านเจ้าภาพอาหารคาวหวาน รวมทั้งท่านเจ้าภาพและท่านผู้ร่วมกันจัดดอกไม้ บูชาพระรัตนตรัย กับทั้งท่านที่ร่วมกันเจริญกุศลด้านอื่นๆ ทุกๆ ท่านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน มีความปรองดอง คือ มีจิตเสมอกัน ในอันที่จะกระทำความดีร่วมกัน เป็นโอกาสในการสละ ละคลาย ขัดเกลากิเลสทั้งหลาย ที่มีในตน ไปทีละเล็ก ทีละน้อย อันจะยังผลให้กุศลธรรมทั้งหลาย มีกำลังขึ้น เป็นปัจจัยในการสะสม อบรมเจริญปัญญาบนหนทางอันประเสริฐ เพื่อการรู้แจ้งธรรม ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
การได้มีโอกาสในการเจริญกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนหนทางของความเข้าใจถูกเห็นถูกในพระธรรม ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้แล้วนี้ เป็นโอกาส เป็นกาละ ที่แสนประเสริฐยิ่ง ในสังสารวัฏฏ์ ท่ามกลางบริษัท ที่มีใจเดียวกัน มีความชื่นบานต่อกัน มองกันด้วยปิยจักษุ ร่วมกันศึกษาพระธรรมด้วยความเมตตา อันไม่เป็นประมาณ ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ ๔๘๑ - ๒๘๖
๔. ปริสาสูตร (ว่าด้วยบริษัท ๓ จำพวก)
[๕๓๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๓ นี้ บริษัท ๓ คือ อะไร? คือ (อคฺควตี ปริสา) บริษัทที่มีแต่คนดี, (วคฺคา ปริสา) บริษัทที่เป็นพรรค (คือ แตกกัน) , (สมคฺคา ปริสา) บริษัทที่สามัคคีกัน
บริษัทที่สามัคคีกันเป็นอย่างไร? ในบริษัทใด ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่า นมประสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ (คือ สายตาของคนที่รักใคร่กัน) บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่สามัคคีกัน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ...ฯลฯ... มองดูกัน และกันด้วยปิยจักษุ ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมได้บุญมาก ในสมัยนั้นภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าอยู่อย่างพรหม คือ อยู่ด้วยมุทิตา (พรหมวิหาร) อันเป็นเครื่องพ้นแห่งใจ (จากริษยา) ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์ยินดี กายของผู้มีใจปีติย่อมระงับ ผู้มีกายรำงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมเป็นสมาธิ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหนาตกบนภูเขา น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ยังซอกเขาและลำรางทางน้ำให้เต็ม ซอกเขาและลำรางทางน้ำเต็มแล้ว ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองเต็มแล้ว ย่อมยังบึงให้เต็ม บึงเต็มแล้วย่อมยัง คลองให้เต็ม คลองเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำให้เต็ม แม่น้ำเต็มแล้ว ย่อมยังทะเลให้เต็มฉันใด ก็ดี ในสมัยใด ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ...ฯลฯ... มองดูกันและกัน ด้วย ปิยจักษุ ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมได้บุญมาก ...ฯลฯ... จิตของผู้มีสุขย่อมเป็นสมาธิ ฉันนั้น เหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล บริษัท ๓.
จบปริสาสูตรที่ ๔.
อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาในช่วงเช้าของวันนั้น ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้เมตตา ขยายความละเอียดลึกซึ้ง ของคำว่า สามัคคี พร้อมเพรียง และ ปรองดอง ซึ่งเป็นข้อความที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แก่การพิจารณา ในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมด้วย "คำ" ที่มีการพูดถึง กล่าวถึงกันโดยบ่อย ในปัจจุบัน ครับ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
อ.คำปั่น ถ้าจะพิจารณาถึงความเป็นจริงของธรรมะ ถ้ากล่าวถึง ความสามัคคี ความปรองดอง ในทางพระพุทธศาสนา ที่เป็นพุทธประสงค์จริงๆ ต้องเป็นธรรมะฝ่ายดี ที่เกิดขึ้น เป็นไป ถ้ากล่าวถึงบริษัท หรือ กลุ่มชน ที่อยู่รวมกัน ท่านแสดงออกเป็น ๓ กลุ่ม ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ก็มีข้อความแสดงไว้ว่า
กลุ่มแรก ก็คือ บริษัทที่มีแต่คนดี ท่านแสดงตัวอย่างไว้ว่า หมายถึงผู้ที่เป็นเถระ หรือว่า บุคคลผู้เป็นใหญ่ เป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม อบรม เจริญปัญญา น้อมประพฤติ ในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ชนรุ่นหลังเห็นเป็นแบบอย่างที่ดี ก็จะถือเป็นแบบอย่าง ที่จะน้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม นี้เรียกว่า บริษัท ที่มีแต่คนดี
ประเภทที่ ๒ คือ บริษัทที่แบ่งเป็นพวก เรียกว่า วคฺคาปริสา เป็นบริษัทที่ไม่ดี เป็นบริษัทที่อยู่ด้วยกัน แต่ว่า มีความแก่งแย่งกัน มีความทะเลาะวิวาท บาดหมางกันซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้น เป็นไป ของธรรมะ ที่เป็นอกุศลธรรม
ประเภทที่ ๓ คือ บริษัทที่เป็นผู้ที่มีความสามัคคีกัน เรียกว่า สามัคคีบริษัท เป็นกลุ่มชนที่สามัคคี พร้อมเพรียงกัน มีเมตตาต่อกัน มีความเป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดีต่อกัน เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงความสามัคคี ในความเป็นจริงของธรรมะ ที่เป็นพุทธประสงค์จริงๆ ก็ต้องเป็นความเกิดขึ้น เป็นไป ของธรรมะฝ่ายดี ที่เป็นธรรมะ ที่เป็น กุศลธรรมที่เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน เป็นต้น เชิญอาจารย์กุลวิไล ครับ
อ.กุลวิไล ก่อนที่ดิฉันจะกราบเรียนท่านอาจารย์ ดิฉันก็จะอ่านข้อความ เพราะว่า คำว่า พร้อมเพรียง ความปรองดอง มีในพระไตรปิฎกซึ่งพระวินัยปิฎก มหาวารวรรค เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๑ มีข้อความเกี่ยวกับ พุทธประเพณี "...พระตถาคตทั้งหลาย ทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถาม ก็มี ย่อมไม่ตรัสถาม ก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ในสิ่งที่ไม่ได้ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมสอบถามภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรม อย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย อย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่จำพรรษา เป็นผาสุข และ ไม่ลำบาก ด้วยบิณฑบาต ด้วยวิธีการใด..."
ซึ่งพระภิกษุเหล่านั้น ก็ได้กราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงการช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันพระภิกษุที่กลับมาก่อน ก็จะปูอาสนะ จัดหาน้ำล้างเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าล้างภาชนะสำหรับถ่ายบิณฑบาต ตั้งน้ำฉันและน้ำใช้ส่วนภิกษุที่กลับทีหลัง ก็จะเก็บล้าง กวาดหอฉันพระภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวด้วยว่า การช่วยเหลือของท่านเหล่านั้น มีการช่วยเหลือกันก็จริงแต่ท่านก็จะไม่ทักทาย ไม่ปราศรัยต่อกันและกัน ซึ่งท่านก็กล่าวว่า นี่คือการอยู่ด้วยความผาสุข โดยที่อยู่ด้วยความพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าฯ ทรงติเตียนว่า เป็นผู้จำพรรษาอย่างปศุสัตว์ คือ อยู่อย่างปศุสัตว์ร่วมกันแท้ๆ และท่านก็ได้ทรงพุทธานุญาต ปวารณา คือ การว่ากล่าวกันและกัน ที่ใดก็ได้ ที่พร้อมเพรียงกัน โดยธรรมะ เพื่อการว่ากล่าวนี้ เป็นวิธีการออกจากอาบัติเป็นวิธีการเคารพวินัยของพวกเธอ ช่วงแรก ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ก่อน นะคะ เพราะว่า ยังมีนัย ที่ท่านพระอนุรุธกล่าวถึงสามัคคีธรรม ซึ่งก็เป็นการพร้อมเพรียง ปรองดอง ไม่วิวาทกันดุจน้ำนมสดกับน้ำ มองดูกันด้วยตาอันเป็นที่รัก กราบเรียนท่านอาจารย์ ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็เป็นชีวิตประจำวัน นะคะ และ ที่สำคัญที่สุด ก็คือ "ใจ" สุข ทุกข์ ทั้งหมด อยู่ที่ใจ แต่ละท่าน ก็มีใจ นะคะ แต่ว่า "ใจ" จะสุขแค่ไหน หรือว่า ทุกข์แค่ไหน ก็แล้วแต่สภาพธรรมะ ซึ่งสะสมมาพร้อมกับการที่ได้มีชีวิตอยู่แต่ละวัน ซึ่งไม่สามารถบังคับบัญชาได้
ในครั้งอดีต พระภิกษุ ท่านอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น แต่ละคน ในแต่ละบ้าน ไม่มาก ใช่ไหม? แต่ว่า ถ้าอยู่กันมากๆ อย่างนั้นแล้ว จิตใจจะเป็นอย่างไร? เพราะเราคงจะไม่คิดถึงแต่เฉพาะภายในบ้าน เท่านั้น ในบ้านเดียวกัน ย่อยลงมาแล้วพร้อมเพรียงกัน ทำอะไร หรือเปล่า?
ก็เป็นเรื่องที่ ถ้าไม่คิดเลย ก็เหมือนกับว่า ไม่มีความสำคัญอะไร แต่ว่า ตามความเป็นจริง ทั้งหมด อยู่ที่ "ใจ" เพราะฉะนั้น แม้แต่จะอยู่ในบ้าน หรือ อยู่ในป่า เป็นหมู่คณะ อยู่มาก อยู่น้อย อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า "เป็นคนดี" เพราะเหตุว่า ถ้าใจไม่ดี จะอยู่ที่ไหน อย่างไรๆ ก็ไม่มีความสุข ไม่ว่าจะในบ้าน หรือว่า จะนอกบ้าน รวมกัน เป็นหมู่คณะ
เพราะฉะนั้น ข้อความที่คุณกุลวิไล กล่าวถึง ก็กล่าวถึง ความสามัคคี แล้วก็ พร้อมเพรียง แล้วก็ ปรองดองพร้อมเพรียง คงไม่ยาก อย่างวันนี้ ทุกคน พร้อมเพรียงกันมาที่นี่ เพื่อที่จะได้สนทนาธรรม และ พอมาถึงแล้ว ก็พร้อมเพรียงกัน บูชาพระรัตนตรัยไม่ยาก ใช่ไหม? แต่ "ใจ" ขณะนั้น มีความ "ปรองดอง" หรือเปล่า?
เพราะฉะนั้น ความปรองดอง ก็หมายความถึง "จิตที่เสมอกัน" ยาก นะคะ จิตที่เสมอกัน ที่จะเป็นคนดี แล้วก็ การที่จะเป็นคนดี และ มีจิตเสมอกันได้ ถ้าขาดพระธรรมไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย
เพราะฉะนั้น เราก็ฟังธรรมะกันมานาน ไม่ใช่แต่เฉพาะวันนี้ ก่อนๆ นั้น และ ก่อนนั้นอีก ก็ได้ฟังมา เคยพิจารณาจิต แล้วก็เข้าใจจิตของตนเอง หรือเปล่า? เพราะว่า ที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่จิตคนอื่นจิตคนอื่น เรารู้มาก ใช่ไหม? เขาไม่ดีอย่างนั้น เขาทำอย่างนี้ แต่ว่า จิตของตนเอง ถ้าได้พิจารณาแล้ว ก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า ยังขาดความดี อีกมากไหม? หรือว่า เท่าที่มีอยู่แค่นี้ ก็เป็นความดี ที่พอแล้ว?
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ดีขึ้นได้ ด้วยพระธรรม การที่จะมีจิตเสมอกัน คือ การปรองดองกัน แล้วก็ศึกษาธรรมะ เพื่อเป็นคนดีขึ้น ปรองดองขึ้น และ จิตเสมอกันยิ่งขึ้น ก็สำคัญกว่าการพร้อมเพรียงกัน เพราะการพร้อมเพรียงกัน โดยการที่ว่า ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดพร้อมกัน เข้ามาในห้องนี้พร้อมกัน เลิกพร้อมกัน ก็เรียกว่า พร้อมเพรียงกันแล้ว แต่ "ใจ" ของแต่ละคน เสมอกันหรือเปล่า? และมีความปรองดองกัน แค่ไหน? ถ้าไม่คิดถึง "ความดี" ปรองดองยาก เพราะว่า ต่างคนก็ต่าง "เห็นแก่ตัว" แล้วก็คิดถึงแต่ตัวเอง
อย่างพระภิกษุที่อยู่ด้วยกัน จะมาก จะน้อย ก็ตาม รูปไหนกลับมาก่อน ก็ปูอาสนะ เกี่ยงกันไหม? ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน ท่านผู้นี้เคยทำ ท่านก็ทำต่อไป? นั่นก็คือว่า ไม่มีใจเสมอกัน แล้วก็ไม่มีการที่จะ ปรองดองกัน ด้วยเพราะเหตุว่า เพียงแค่กิจเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ปรองดอง
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็เป็นเรื่องของจิต ที่ ถ้าแต่ละท่านได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็จะรู้ว่า ต้องละเอียด
ขอกล่าวถึงเรื่องธรรมดาๆ นะคะ ถ้าเราไปตามถนนแล้วเราพบคน จะรู้จักกันทักทายกันพอสมควร หรือว่า คนที่เพิ่งพบกัน จะถามเขาไหม ว่า รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? เพราะว่าเราเป็นชาวพุทธ ใช่ไม๊คะ?
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องยากเลย เพียงแค่ " รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? " คนที่นี่ ที่นั่งอยู่ที่นี่ ตอบได้ใช่ไหม? แต่ตามถนนหนทาง เด็ก-ผู้ใหญ่ นี่ ถ้าถามว่ารู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? เขาจะตอบว่าอย่างไร? คำตอบ ต้องต่างกัน ถูกต้องไม๊คะ? แล้วคำตอบที่ได้รับ ก็คือว่า ทรงเป็นผู้ที่ตรัสรู้ ถ้าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น หรือธรรมดาๆ อย่างเด็กเล็กๆ พ่อแม่ก็สอนให้ไหว้พระ สวดมนต์แล้วก็ถามว่า รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? เด็กจะตอบว่าอย่างไร? พ่อ - แม่ ให้ไหว้พระ ให้สวดมนต์ แต่ถามคำถามสั้นๆ " รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? " เขาจะตอบว่าอย่างไร?
ค่ะ ขอเชิญคุณคำปั่น เป็นตัวแทน ได้ไหมคะ? เด็กเล็กๆ พ่อแม่สอนให้ไหว้พระสวดมนต์ แล้วถามเด็กว่า รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? ฉันใด ผู้ใหญ่ โตขึ้น ก็ฉันนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการศึกษา และ ไม่มีการฟังธรรมะ แต่ที่ยกตัวอย่างเด็กนี้ ให้เห็นว่า เด็กไม่รู้ แล้วผู้ใหญ่ โตขึ้น แต่ละวัน แต่ละวัน ก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้น เหมือนกันไหม? เหมือนกันเลย
เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ต้องรู้ว่า เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมากไม่ใช่เพียงแต่ตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่เรียนมา เป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงอริยสัจจธรรม ถ้าตอบอย่างนี้ หมายความว่า เข้าใจอะไรหรือเปล่า? หรือว่า เพียงตอบ
เพราะฉะนั้น ถ้าคิดอีกอย่างหนึ่ง โตขึ้น หรือแม้แต่วันนี้ คิดบ้างไหม? ว่ากิเลสที่มี มากเหลือเกิน ประมาณไม่ได้เลย วันนี้มี ก็ไม่เห็น จนกว่าจะได้รับคำบอกเล่าว่า กิเลสทั้งนั้นเลย ตั้งแต่ตื่นมา จริงหรือเปล่า? คะ? แล้วก็กิเลสเหล่านั้น ทั้งหมด สามารถที่จะดับไม่เหลือเลย ลองคิดดู นี่คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงแต่กราบไหว้พระพุทธรูป แล้วคิดว่า นี่คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือใครถาม ก็ตอบเพียงสั้นๆ
แต่ว่า ตามความเป็นจริง ก็คือว่า ผู้ที่รู้ตัวเองว่ามีกิเลส เมื่อไหร่มากๆ ก็จะเริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นผู้ที่ดับกิเลสได้หมด ไม่เหลือเลย จึงสมควรแก่การที่จะกราบไหว้ แม้ว่าจะเป็นเด็ก ได้รับคำสอนมาว่า ให้กราบไหว้ ก็จริง แต่ ความเข้าใจ ต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น เพียงเท่านี้ ในวันนี้นะคะ มีกิเลสมาก แต่ว่า ผู้ที่เคยมีกิเลสมากมาแล้ว ในอดีต สามารถที่จะดับกิเลสได้หมด มีมาก เมื่อทรงแสดงพระธรรมแล้ว ผู้ที่รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม จากปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ในขณะนั้น ตั้งแต่ท่านอัญญาโกณทัญญะ เป็นรูปแรก แล้วก็พระภิกษุอื่น อีก ๔ รูป ดับกิเลสหมด ไม่เหลือเลย คำนี้ ลองคิดดู
ถ้าเราไม่รู้ ว่าเรามีกิเลสมาก เราจะอัศจรรย์ไหม? กับคำที่ว่า เป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด ไม่เหลือเลย แต่ ต่อเมื่อใด ที่สามารถจะรู้ได้ ว่าเราทุกคน มีกิเลสมาก แต่กิเลสมากๆ ทุกวัน เพิ่มขึ้นทุกวัน ทุกชาติ สามารถที่จะดับหมดได้เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ เห็นประโยชน์ของการเป็นคนดี ซึ่งจะมีการปรองดอง แล้วก็ ศึกษาพระธรรม ด้วยจิตที่เสมอกัน
เพราะฉะนั้น ความละเอียดของธรรมะ แม้แต่พระภิกษุ ท่านทำดีถึงอย่างนี้ คือว่า กลับมาก่อน ก็ปรองดอง ปูอาสนะ ไม่มีการเกี่ยง ไม่มีคิดว่า ท่านผู้นี้ควรทำ หรืออะไรต่างๆ แต่แม้กระนั้น พระผู้มีพระภาคฯ ก็ตรัสถามถึงความเป็นไปในแต่ละวัน
อ.กุลวิไล ซึ่งก็ตรงกับที่ท่านอาจารย์ ได้ให้ความเข้าใจว่า พร้อมเพรียงกัน แต่จิต ไม่เสมอกัน แน่นอน เพราะทุกคน ต่างคน ต่างมากัน ก็สามารถจะพร้อมเพรียงกันได้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านยังแสดงว่า ถ้าเกิดช่วยเหลือกันได้ อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ทักทายกัน ก็อยู่ไม่ต่างกันกับปศุสัตว์ ก็คือ พวกเหล่าแพะ นั่นเอง
ท่านอาจารย์ ค่ะ เท่านี้ค่ะ เห็นไหม? ว่าแม้แต่เพียงตรัสถาม ถึงชีวิตประจำวัน ของพระภิกษุ ซึ่งท่านกราบทูลแล้ว ก็ยังติเตียนว่า เมื่อไม่ทักทายกัน ปรองดองกันหรือเปล่า? พร้อมเพรียงกันได้ ใช่ไหม? แต่ว่า อยู่กันอย่างไร? อยู่แบบไม่ทักทายกัน แล้วเวลาที่จะว่ากล่าวกัน จะว่ากล่าวกันได้หรือ? ถ้าไม่มีการเป็นมิตร ไม่มีการทักทาย ไม่มีการเป็นผู้ที่มีจิตเสมอกัน และ หวังดีต่อกันจริงๆ
เพราะฉะนั้น การหวังดีต่อกันจริงๆ ก็จะทำให้เป็นผู้ที่สามารถที่จะว่ากล่าว ตักเตือน แต่ไม่ได้หมายความว่า ด้วยความไม่พอใจ ด้วยความขุ่นเคืองใจ หรือว่า ต้องการที่จะว่า เท่านั้น
แต่ว่า ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่ แต่ละคน เป็นคนดีได้ แม้ว่าจะอยู่ในป่าแล้ว แล้วก็ทำทุกอย่าง แต่ว่า ยังไม่ทักทาย หรือว่า ไม่ปราศรัยกัน แต่ว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ท่านเหล่านั้น ต่างให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในทางที่สามารถที่จะเป็นคนดีขึ้น ได้ไหม?
เพราะฉะนั้น ธรรมะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก สิ่งที่คิดว่าเล็กน้อยที่สุด ความจริงก็จะนำไปสู่ว่า ถ้าเห็นโทษ ก็จะทำให้ เป็นคนดีขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย ถ้าไม่เห็นโทษ แต่ละเล็ก แต่ละน้อย ก็จะนำไปสู่ชีวิตข้างหน้าในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งก็จะรู้ได้ว่า จะต้องเพิ่มกิเลส มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ พระธรรม มีคุณ เป็นสิ่งที่ ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนเลย ถ้าเปรียบเทียบกับรัตนะ ก็คือว่า เป็นรัตนะ ที่สามารถจะทำให้จิตใจ ซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส และ ความไม่รู้เปลี่ยนไปในทางที่เป็นประโยชน์ คือ รู้ความจริง แล้วก็อบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะเป็นคนดีขึ้นได้ มิฉะนั้นแล้ว เหมือนเดิมค่ะ หรืออาจจะร้ายกว่าเดิมแต่ละวัน ก็ได้
อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ กล่าวถึง ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า อย่างศีล นะคะ ท่านอาจารย์ เพราะว่าทุกคนก็คงไปมองที่ เรื่องศีล ซึ่งเป็นเรื่องของกาย วาจา จะช่วยให้คนอยู่ร่วมกัน ด้วยความพร้อมเพรียง ปรองดอง ได้อย่างไรคะ?
ท่านอาจารย์ ค่ะ พร้อมเพรียงกัน ก็ทำทุกอย่างพร้อมกัน ปรองดองกัน ก็ มีจิตเสมอกัน ศึกษาธรรมะ นั่นคือ ที่สุด ของการที่จะปรองดองกันได้จริงๆ
เพราะว่า ถึงแม้ว่าจะช่วยกัน ไม่เบียดเบียนกัน ทำร้ายกัน แต่ "ใจ" ก็ยังต่างกัน อยู่นั่นแหละถูกต้องไหม? เพราะเหตุว่า ต่างคน ต่างคิด ต่างคน ต่างเข้าใจ แต่ว่า ถ้ามีการเข้าใจ เหตุกับผล ตรงตามความเป็นจริง เมื่อนั้น ก็เป็นผู้ที่ปรองดองจริงๆ แล้วก็ มีใจเสมอกัน จริงๆ ในการศึกษาธรรมะ เพื่อที่จะดับกิเลส ด้วย
อ.กุลวิไล ทำให้ดิฉันคิดถึง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้ายังไม่เข้าใจธรรมะ และ เป็นเราเมื่อไหร่ ปรองดองกันไม่ได้ ปรองดองไม่ได้แน่นอน เพราะว่า ความเป็นเรา ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ กิเลส ปรองดองกันได้ไหม?
อ.กุลวิไล ไม่ได้แน่นอน ค่ะ
ท่านอาจารย์ พร้อมเพรียงกัน ได้ไหม?
อ.กุลวิไล พร้อมเพรียงได้ค่ะ ทำกิจกรรมร่วมกันได้
ท่านอาจารย์ พร้อมเพรียงได้ ทำอะไรร้ายๆ พร้อมกัน ร่วมกันทำก็ได้ ใช่ไหม?
อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์คะ ท่านอาจารย์กล่าวถึง สิ่งที่ควรจำ ก็ลืม แม้แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เดี๋ยวนี้!! ถูกต้องไหม? ใครจำ?
อ.กุลวิไล คิดว่าเป็นเรา ค่ะ ท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ "จำ" หรือเปล่า? ว่า ขณะนี้!!! เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้
อ.กุลวิไล เพราะไม่รู้ แล้วก็ความติดข้อง ทำให้แทนที่จะรู้เพียง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ก็เลยเป็นเรื่องราว ต่างๆ ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วประโยคนี้ อีกสักกี่ร้อยครั้ง? จะจำได้ ไม่ลืม!!! เห็นไหม? กำหนดไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับ "ความเข้าใจ"
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ได้ฟังแล้ว ก็ดับไปแล้ว แต่ก็สะสม สืบต่อในจิต ขณะต่อๆ ไป จนกว่าจะถึง กาลที่นึกได้ ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็น "สติเจตสิก" เป็นสภาพธรรมะ ซึ่งเราได้ยินบ่อยๆ สภาพที่ ระลึก เป็นไป ในกุศล เพราะฉะนั้น ไม่ลืมว่า ขณะนี้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วกว่าจะรู้ความจริง อีกนานไหม? เพราะ แค่จะจำ ยังไม่ได้จำไว้ ใช่ไหม? แล้วที่จะให้รู้ถึงความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เท่านั้นจริงๆ อีกนานไหม?
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องคิดถึงเลย ว่าจะอีกนานเท่าไหร่? ขอเพียงได้เข้าใจ สิ่งที่ได้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ "ให้เข้าใจขึ้น"
อ.คำปั่น ท่านอาจารย์ครับ ขอกลับมาที่ประเด็นเรื่อง ปรองดอง อีกสักเล็กน้อยครับ ที่ท่านอาจารย์ปรารภ ในช่วงก่อนหน้านี้ว่า ความปรองดอง ที่สุดแล้วก็คือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก เพราะฉะนั้น ก็แสดงถึง ความเป็นจริง ในพระพุทธศาสนาจริงๆ ว่า พระธรรมทั้งหมด เป็นไปเพื่อปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก จริงๆ ครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ กุศลธรรม ปรองดองกันได้ แน่นอน แต่ อกุศล ปรองดองกันได้ไหม?
คือ การที่เราจะได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม แม้แต่คำในพระไตรปิฎก ซึ่งอาจจะผ่านไป แต่ถ้าไตร่ตรอง ก็จะเห็นความแตกต่าง ของคำว่า พร้อมเพรียง กับคำว่า ปรองดอง พร้อมเพรียง ใจไม่เสมอกัน พร้อมเพรียงกันได้ ตามกฏ ตามระเบียบ ใช่ไหม? แต่ว่า ปรองดอง ต้องเป็นสภาพของจิต ที่เสมอกัน ในความดี เพราะเหตุว่า อย่างที่อุปมาเมื่อกี้นี้ มืด กับ สว่าง ปรองดองกันได้ไหม?ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า จะมีมารดา บิดา มีพี่ชาย น้องชาย มีเพื่อน มีผู้คุ้นเคย แต่ความชั่ว กับ ความดี ปรองดองกันได้ไหม? คือ ต้องมีความเข้าใจอย่างมั่นคง ชัดเจน อกุศล เป็น อกุศล และ กุศล เป็น กุศล ถ้าเป็นกุศลแล้ว ไม่มีความเห็นแก่ตัว สามารถที่จะสละ แล้วทำประโยชน์ ซึ่งกันและกัน ได้ ขณะนั้น ก็เป็น ปรองดอง แต่ถ้าเป็น อกุศล ถึงแม้ว่าจะชอบกัน แต่ใจมีโลภะ ใช่ไหม?ตัวเองสำคัญกว่า หรือเปล่า? แล้วก็อาจจะมีโทสะ แน่นอน
ตราบใดที่ยังเป็นอกุศลอยู่ ปรองดองจริงๆ ไม่ได้ แต่สามัคคี ได้ ร่วมใจกันทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ถ้าเป็นปรองดอง ก็คือ กุศลธรรม ปรองดองกับ กุศลธรรมได้ แน่นอน แต่อกุศลธรรม ปรองดองกับ อกุศลธรรม ไม่ได้ เพราะเหตุว่า เบียดเบียนกันตลอด ใช่ไหม? ด้วยการไม่รู้ และ ด้วยการเห็นแก่ตัว
เพราะเหตุว่า จริงๆ แล้ว ที่มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า ลูกเรา ใช่ไหม? รักใครมากคะ? สองคำนี้ "ลูก" กับ "เรา" จริงๆ แล้ว รักใครมากกว่ากัน? แล้วจะปรองดองอย่างไรกันดี? คะ? ต่างคน ก็ต่าง "เห็นแก่ตัว" ถึงที่สุดแล้ว ก็ยังมีความเป็นเรา ยังมีความไม่รู้
เพราะฉะนั้น มืด กับ สว่าง ก็ไม่สามารถจะปรองดองกันได้ ต่อเมื่อไหร่ เป็นคนดี ดีแล้ว ปรองดองกับ ความดี ได้ เพราะว่า ความดี ไม่ทำร้ายใครเลย เกิดเมื่อไหร่ กับใคร สถานการณ์ใดๆ ได้ทั้งสิ้นดี เป็น ดี ดี จะเปลี่ยนเป็น ชั่ว ไม่ได้ เช่นเดียวกัน ความไม่ดี จะเป็น ความดี ไม่ได้ เพราะเหตุว่า เกิดแล้วดับ เป็นไม่ดี แล้วจะ เป็นดี ได้อย่างไร?
เพราะฉะนั้น ดี คือ ดี ชั่ว คือ ชั่ว บางคน อาจจะคิดว่า ชั่ว ปรองดองกับ ชั่ว ความจริง ไม่ได้เพราะเหตุว่า เห็นแก่ตัว แล้วก็มีโลภะ มีความรักตน เหนือสิ่งใด แล้วก็มี โทสะ อย่างไรๆ ก็ ตัวเองเป็นใหญ่
กราบเท้าบูชาคุณ
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
แต่ว่า ตามความเป็นจริง ก็คือว่า ผู้ที่รู้ตัวเองว่ามีกิเลส เมื่อไหร่มากๆ ก็จะเริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นผู้ที่ดับกิเลสได้หมด ไม่เหลือเลย จึงสมควรแก่การที่จะกราบไหว้ แม้ว่าจะเป็นเด็ก ได้รับคำสอนมาว่า ให้กราบไหว้ก็จริง แต่ ความเข้าใจ ต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น เพียงเท่านี้ ในวันนี้นะคะ มีกิเลสมาก แต่ว่า ผู้ที่เคยมีกิเลสมากมาแล้ว ในอดีต สามารถที่จะดับกิเลสได้หมด มีมาก เมื่อทรงแสดงพระธรรมแล้ว ผู้ที่รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม จากปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ในขณะนั้น ตั้งแต่ท่านอัญญาโกณทัญญะ เป็นรูปแรก แล้วก็พระภิกษุอื่น อีก ๔ รูป ดับกิเลสหมด ไม่เหลือเลย คำนี้ ลองคิดดู
ภาพสวยงาม รายละเอียดครบถ้วนทุกแง่มุม พร้อมกับธรรมที่ไพเราะประกอบภาพได้อย่างลงตัว นำมาซึ่งความเข้าใจพระธรรมและความแช่มชื่นในกุศลของสหายธรรม ครับ
ขออนุโมทนาพี่วันชัย ภู่งาม
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง ที่น้อมนำสารธรรม และภาพอันสวยงาม มาให้ผู้ศึกษาพระธรรมได้อ่าน ชม ร่วมกัน ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะคุณวันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
ภาพประกอบคำบรรยาย สวยงามมากค่ะและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาคะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะรูปสวยมากๆ ค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ด้วยความเคารพ จาก ใหญ่ราชบุรี - ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ