อ.สุจินต์ : เถรวาท(เถระ-วาทะ) เป็นผู้ที่มั่นคงในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หรือพระวินัยทุกข้อ ที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์
ถ้านับถือในพระปัญญาคุณ ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง จะมีความมั่นคงในวาทะที่พระองค์ได้ตรัสแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่คิดว่ายุคสมัยเปลี่ยน ธรรมะก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย นั่นคือไม่ได้เข้าใจในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่เข้าใจคำว่า "เถรวาท"
อ.จักรกฤษณ์ : ถ้าเราดูตัวกฏหมายเอง โดยที่เราไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยเลย ดูในแง่ของผู้ที่เรียกว่าเป็นชาวพุทธโดยการนับถือพระรัตนตรัย แล้วก็มีการประพฤติปฏิบัติตามประเพณีนิยมบ้าง เราก็จะมองไม่เห็นเลยว่า กฏหมายคณะสงฆ์ มีความผิดปกติ หรือว่าไม่ถูกต้องอย่างไร
แต่ถ้าหากได้ศึกษาพระธรรมวินัยโดยละเอียด โดยเฉพาะพระวินัยบัญญัติเกี่ยวกับภิกษุแล้ว จะเห็นได้ว่า มีข้อแตกต่างจากพระวินัยออกไปค่อนข้างเยอะ เรียกว่า ๘๐-๙๐ เปอร์เซนต์ คงต้องกล่าวอย่างนี้ เพราะว่า ถ้าเอาพระธรรมวินัยมาเทียบกับบทบัญญัติของกฏหมายปัจจุบัน ก็คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่างกันมาก เพราะกฏหมายเอง ในประการที่หนึ่งก็คือ เรื่องของการปกครองสงฆ์ ก็ต่างไปจากพระธรรมวินัย เพราะในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงแสดงเอาไว้ ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสกับพระอานนท์ไว้ว่า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ไปแล้ว ก็มีพระธรรมวินัย เป็นผู้ปกครองสงฆ์
แต่ปัจจุบันนี้ กลายเป็นการปกครองสงฆ์ตามกฏหมาย ก็กลายไปเป็นลำดับชั้นต่างๆ มีลำดับชั้น มีขั้นตอนการปกครอง มีพื้นที่การปกครอง มีลำดับการบังคับบัญชา ตรงนี้ ประการแรก ทำให้เห็นถึงโครง ว่าต่างไปจากพระธรรมวินัย
อันที่สอง คือ หน้าที่และภารกิจของสงฆ์ในกฏหมาย ก็ต่างไปจากพระธรรมวินัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการดูแลกิจการวัด การปกครอง การจัดการงานที่ได้รับความมอบหมายจากฝ่ายปกครองต่างๆ ซึ่งในกฏหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มีระบุไว้ในมาตรา ๑๕ ตรี ว่า หน้าที่ของฝ่ายปกครองมีอะไรบ้าง ซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องของการเกี่ยวกับการสาธารณูปการ คือการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างอะไรต่างๆ รวมถึงสาธารณสงเคราะห์ คือ ช่วยเหลือสังคม ซึ่ง ๒ ประการหลักนี้ ไม่ปรากฏในพระธรรมวินัย เป็นสิ่งที่ไม่มีในพระธรรมวินัย
ดังนั้น การที่(กฏหมาย)กำหนดไว้อย่างนี้ แล้วก็ไม่เข้าใจพระธรรมวินัยว่า บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ของคณะสงฆ์ไว้อย่างไร ก็จะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน และปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่า มีการก่อสร้างถาวรวัตถุอะไรต่างๆ มากมายในวัดต่างๆ ในประเทศไทย เพราะว่า เกิดจากหน้าที่หรือภารกิจที่อยู่ในกฏหมาย
และในเรื่องของสาธารณสงเคราะห์ ก็จะเห็นได้ว่า ภิกษุท่านออกไปทำหน้าที่อะไรต่างๆ ในเรื่องของการพัฒนาสังคมมากมาย ซึ่งตรงนี้ เป็นเรื่องที่ทางโลกเห็นว่าดี แต่ว่า ตามพระธรรมวินัยแล้ว กลับเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม
ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า กฏหมายในปัจจุบัน แม้แต่กฏหมายของคณะสงฆ์เอง ไม่ถูกต้องหรือเป็นไปตามพระธรรมวินัย
ขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาต้นฉบับ ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :
และ ติดตามชมบันทึกการสนทนาพิเศษ "พระธรรมวินัยกับกฏหมาย" (ภาคบ่าย) ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :
ขออนุโมทนาครับ