อ่านเพิ่มเติมได้ที่พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 65
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 474
ขอเชิญคลิกที่ ..
ด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ [ภารสูตร] ตัณหา ราคะ โลภะ
ภวตัณหา
กามตัณหา
วิภวตัณหา
ทิฎฐิและมานะเป็นสภาพธัมมะคนละอย่างและไม่เกิดพร้อมกัน
ขณะใดที่มีมานะ ขณะนั้นก็ไม่มีความเห็นผิด เพราะขณะนั้นกำลังสำคัญตน ไม่ได้มี
ความเห็นผิด แต่ขณะที่มีทิฏฐิคือความเห็นผิดเกิดขึ้น เช่น เห็นผิดว่า เที่ยง เป็นสุข
และมีตัวตน ขณะนั้น ไม่มีความถือตัว (มานะ) สำคัญตนเกิดขึ้นในขณะนั้นเพราะกำลัง
มีความเห็นผิดไม่ได้มีความสำคัญตน ขออนุโมทนา
เข้าใจยากมากเลยครับ
"ขณะใดที่มีมานะ ขณะนั้นก็ไม่มีความเห็นผิด เพราะขณะนั้นกำลังสำคัญตน"
การสำคัญตนในที่นี้ไม่ได้เป็นสักกายทิฏฐิหรือครับ? ขณะนั้นไม่ยึดถือว่าเป็นเราเหนือหรือด้อยกว่าหรือเสมอใครๆ หรือครับ ทั้งสองธรรมนี้มีลักษณะที่เข้าใจยากครับ
ควรเข้าใจก่อนว่า ความเป็นเรา มี 3 อย่างคือ
ความเป็นเราด้วยโลภะ ความเป็นเราด้วยมานะ ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ
ทิฏฐิคือสภาพธรรมที่เห็นผิดจากความเป็นจริงคือเห็นว่าเที่ยง เป็นสุขและเป็นอัตตา
คือมีเราจริงๆ คือเกิดความเห็นขึ้นมาอย่างนั้น ส่วนมานะเป็นสภาพธรรมที่สำคัญตนว่า
สูงกว่า ด้อยกว่า เสมอกัน แต่ขณะที่สำคัญตน ขณะนั้นเกิดความเห็นขึ้นมาหรือไม่ว่ามี
เราจริงๆ มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ในขณะที่สำคัญตน ไม่มีครับ แต่ขณะใดที่เกิดความเห็นขึ้น
มาจริงๆ เช่น เห็นคนใดคนหนึ่งแล้วเกิดความเห็น คิดขึ้นมาว่ามีคนจริงๆ มีสัตว์บุคคล
จริงๆ ทีเที่ยง อย่างนี้เป็นความเห็นผิดครับซึ่งต่างกับขณะเกิดความสำคัญตน (มานะ)
ขณะนั้นกำลังสำคัญตนว่าสูงกว่า แต่ไม่ได้เกิดความเห็นขึ้นมาว่ามีสัตว์ บุคคลจริงๆ ใน
ขณะจิตนั้น ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีคำว่าเราหรือตัวตนแล้วจะต้องเป็นสภาพ
ธรรมที่เป็นทิฏฐิคือความเห็นผิดเสมอไป แต่อาจจะเป็นเราด้วยโลภะและมานะก็ได้ครับ
ดังนั้นสภาพธรรมคือมานะและทิฏฐิจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขออนุโมทนา
ถ้าตามตำรา ก็คือ ขณะใดที่มานเจตสิกเกิดร่วมกับโลภมูลจิต ขณะนั้นจะต้องไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย และ ขณะใดที่ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับโลภมูลจิต ขณะนั้นจะต้องไม่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ในความเป็นจริง ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงแล้ว สภาพธรรมในขณะนี้เกิดดับรวดเร็วมาก มากเกินกว่าจะประมาณได้ว่า เกิดดับไปแล้วกี่ขณะเพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้ดับทิฏฐานุสัยเป็นสมุจเฉท ก็มีโอกาสที่อกุศลประเภทนี้ จะเกิดได้อย่างรวดเร็ว สลับกับสภาพนามธรรมอื่นๆ โดยอาศัยเหตุปัจจัยจากการสะสมที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วดับไป เช่น ยึดถือมานะที่ดับไปว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเราจริงๆ เป็นต้นครับ
เคยได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวว่า " มีท่านหนึ่งบอกว่า ขณะที่เขากำลังสำคัญตนขณะนั้นเขารู้สึกไม่สบายใจเลย เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองหยาบ กระด้าง ไม่อ่อนโยน" ซึ่งตามความจริง มานเจตสิกจะไม่เกิดกับโทสมูลจิต แต่เพราะความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็เลยทำให้คิดว่าเวลาที่มานะเกิด เหมือนกับว่ามานะนั้นเป็นโทสะ ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะมานะก็ต้องเป็นมานะ โทสะก็ต้องเป็นโทสะแต่เพราะเหตุที่สภาพธรรมเกิดดับสลับกันรวดเร็วและมากมาย ถ้าไม่ได้เป็นผู้มีปกติเจริญสติ และสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ยากที่จะรู้ตามเป็นจริงถึงความละเอียด และความแตกต่างกันของสภาพธรรมแต่ละอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แม้ในตำราจะกล่าวว่า ธรรมแต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น เห็นขณะนี้ไม่ใช่ได้ยิน เกิดไม่พร้อมกัน มานะไม่ใช่ทิฏฐิ แม้จะเกิดกับโลภมูลจิตเหมือนกัน แต่เกิดคนละขณะกัน....ถ้าเราไม่มีความเห็นถูกตั้งแต่เบื้องต้น ก็ไม่มีทางที่อวิชชา หรือ ตัวตนของเราจะรู้ได้เลยครับ
คาถาธรรมบท ตัณหานี้เป็นธรรมชาติลามก มักแผ่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก ย่อม
ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ดุจหญ้าคมบางอันฝนตก
รดแล้ว งอกงามอยู่ฉะนั้น แต่ผู้ใดย่อมย่ำยีตัณหานั่น ซึ่งเป็นธรรมชาติลามก ยากที่ใคร
ในโลกจะล่วงไปได้ ความโศกทั้งหลายย่อมตกไปจากผู้นั้น ตกไปจากใบบัวฉะนั้นค่ะ
ผมเผลออีกแล้วครับว่าแต่ละธรรมะที่เกิดขึ้นมานั้น เป็น ของ เรา ไม่มีการพิจารณาไตร่ตรองให้ดีขอบพระคุณครับ
ดังนั้น ผมเห็นว่ามานะ แสดงความเป็นตัวตนในลักษณะ ยึดถือสิ่งใดว่าสูง/เสมอ/หรือ
ต่ำกว่าสิ่งใดทิฏฐิ แสดงความเป็นตัวตนในลักษณะ ไม่มีการรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า
เป็นธรรมซึ่งทั้งสองธรรมนั้น เกิดกับโลภเจตสิก แต่ไม่พร้อมกันใช่ไหมครับ
หาอ่านเรื่องเจตสิกเหล่านี้ได้จากพระอภิธรรม และพระสูตร (ที่มีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ) ได้จากส่วนใดครับ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 65
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 474