อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ อินทริยวรรคที่ ๑ นี้ มีข้อความต่อไปว่า ท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการในตน ผู้นั้นพึงถึงความตกลงใจในข้อความนี้ว่า เราย่อมเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย การมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นความเสื่อม ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีราคะไพบูลย์ ๑ ความเป็นผู้มีโทสะไพบูลย์ ๑ ความเป็นผู้มีโมหะไพบูลย์ ๑ และไม่มีปัญญาจักษุก้าวไปในฐานะและอฐานะอันลึกซึ้ง ๑
พิจารณาได้ใช่ไหมว่า ท่านเป็นผู้ที่มีธรรม ๔ ประการในตนหรือไม่ ถ้ามีธรรม ๔ ประการในตนก็เป็นความเสื่อม ความเป็นผู้มีราคะ คือ โลภะ ความต้องการ ความปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างไพบูลย์ อย่างมากทีเดียว ไม่เคยมีสติระลึกรู้สภาพของธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะเพลิดเพลินไป หรือเป็นผู้ที่มีโทสะความไม่แช่มชื่นความขัดเคืองไพบูลย์ หรือเป็นผู้ที่มีโมหะ ความไม่รู้เหตุผล ไม่รู้วิธีหนทางที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อละ ราคะ โทสะ โมหะ
ไม่มีปัญญาจักษุก้าวไปในฐานะและอฐานะอันลึกซึ้ง ๑ ฐานะและอฐานะเป็น ของที่ลึกซึ้ง สิ่งใดที่ควรแก่การพิจารณา หรือว่าไม่ควรที่จะพิจารณา เพราะเหตุว่าไม่ทำให้ปัญญารู้สภาพนั้นตามความเป็นจริง
ข้อความต่อไปท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการในตน ผู้นั้นพึงถึงความตกลงใจในข้อนี้ว่า เราไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย การมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่เป็นความเสื่อม ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีราคะเบาบาง ๑ ความเป็นผู้มีโทสะเบาบาง ๑ ความเป็นผู้มีโมหะเบาบาง ๑ และมีปัญญาจักษุก้าวไปในฐานะและอฐานะอันลึกซึ้ง ๑
สำหรับท่านผู้ฟังที่สนใจในธรรมก็คงจะเป็นข้อปลอบใจได้ว่า ท่านเริ่มเป็นผู้มีราคะเบาบาง มีโทสะเบาบาง มีโมหะเบาบาง และถ้าพิจารณาธรรมด้วยความแยบคาย ก็เป็นผู้ที่มีปัญญาจักษุก้าวไปในฐานะและอฐานะอันลึกซึ้ง ซึ่งถ้ามีธรรม ๔ ประการนี้แล้ว ไม่เป็นความเสื่อม
ถ้าไม่สนใจในธรรมเลย ไม่พิจารณาธรรมเลย ย่อมจะเป็นผู้ที่มีราคะไพบูลย์ โทสะไพบูลย์ โมหะไพบูลย์ และไม่มีปัญญาในการที่จะรู้ฐานะและอฐานะ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 63