ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สนทนาธรรม ณ ถนนสุสานประตูหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านพระภิกษุ หลังจากฟังแล้ว เข้าใจแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่จะมีลำดับของการอบรมอธิศีล อธิจิตต อธิปัญญา โดยลำดับ
ท่านอาจารย์ เป็นการฟังที่ยังไม่เข้าใจถ้าเป็นการฟังที่เข้าใจขึ้นๆ จะรู้ว่า การอบรม เป็นอย่างไร เจ้าค่ะ
ท่านพระภิกษุ อย่างไร เป็นลำดับอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องฟัง จนกระทั่งมีความเข้าใจใน "ลักษณะ" ของสภาพธรรมจนกว่าจะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรม "ขณะนี้"ไม่มีใครสามารถบังคับให้สติปัฏฐานเกิดได้เพราะ "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" สิ่งนี้ ลืมไม่ได้เลย เจ้าค่ะ
ถ้าไม่มี โสตปสาท (โสตปสาทรูป) หรือว่า มีโสตปสาท แต่ เสียง (สัททรูป) ไม่กระทบโสตปสาทจิตได้ยิน (โสตวิญญาณจิต) ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นต้น
ฉะนั้น แม้ว่าขณะนี้จะเป็นธรรมะทั้งหมดไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นธรรมะทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตายแต่ถ้า "ความรู้-ความเข้าใจ" ไม่พอ ก็หลงลืมสติต่อไป จนกว่าจะมีการฟังอีก เข้าใจอีกจนกระทั่งเหตุปัจจัยถึงพร้อมที่สติปัฏฐานจะเกิด พร้อมกับสัมมาทิฏฐิ
สติปัฏฐาน คือ มรรคมีองค์ ๘ ปกติสติปัฏฐาน เกิดกับมรรคมีองค์ ๕ คือ ต้องเกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาสังกัปปะ ก็ทราบได้ว่า ขณะนั้น "ไม่ใช่เรา" ที่ไปตั้งใจให้สติเกิดแต่เป็นเพราะมีปัจจัย (ข้างต้น) สติก็ระลึก
สติ จะระลึกอะไร ก็แล้วแต่ (ไม่เลือกอารมณ์ที่ปรากฏ) เป็นสติปัฏฐานทั้งนั้น (ต้องไม่ลืมว่า สติปัฏฐาน มีปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์) สิ่งที่มีจริงเท่านั้น นะเจ้าคะ เป็นสติปัฏฐาน (ที่ตั้งให้เกิดสติ) ได้ทั้งหมดและสิ่งที่มีจริง มีทาง (ทวาร) ปรากฏได้ ๖ ทางคือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ต้องเป็นมี "สภาวะลักษณะ" คือ การเกิดดับ จึงจะเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าเป็นเรื่องราวบัญญัติ ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง (เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้) ฉะนั้น ต้องเข้าใจถูก ในความต่างของ ปรมัตถธรรม กับบัญญัติ
ถ้าไม่เข้าใจความต่าง ของปรมัตถธรรม และบัญญัติก็จะเกิดความสับสน ปะปนกันและเป็นแต่ "ความคิดนึก" เจ้าค่ะ
ขออนุโมทนา
สาธุ
ปกติสติปัฏฐาน เกิดกับมรรคมีองค์ ๕ แต่ถ้าสติเกิด แต่ปัญญาไม่เกิดได้ไหมครับ จะเรียกว่ามรรคมีองค์ ๔ หรือเปล่าครับ
ขอบคุณครับ
ที่แรกๆ ก็ไม่ค่อยจะเชื่อนะครับที่ว่าฟังอย่างเดียวเป็นการอบรม จึงคอยหาทางต่างๆ ที่เคยมีประสพการและเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอฟังไปๆ เป็นปีก็รู้สึกถึงการเปลียนแปลง จึงเข้าใจว่าการฟังเป็นการอบรมมีอย่างเดียว ไม่มีวิธีอื่น และไม่ต้องหาทางอื่น ซึ่งไม่มี มีแต่การฟังให้เข้าใจอย่างเดียว ส่วนเข้าใจอะไร ก็เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไง ครับ
ขอแสดงความคิดเห็นดังนี้ค่ะ
จากการศึกษา ปกติสติปัฏฐาน เกิดกับมรรคมีองค์ ๕ คือ สัมมาทิฏฐิ (ปัญาเจตสิก) สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) สัมมาสติ (สติเจตสิก) สัมมาสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) สัมมาสังกัปปะ (วิตกเจตสิก)
เว้นวิรตีเจตสิก ๓ คือ (เว้นทุจริตทางกาย วาจา...ดูรายละเอียดด้านล่างค่ะ) สัมมาอาชีวะ (สัมมาอาชีวะเจตสิก) สัมมาวาจา (สัมมาวาจาเจตสิก) สัมมากัมมันตะ (สัมมากัมมันตเจตสิก)
วิรตีเจตสิกดวงใดดวงหนึ่ง จะเกิดร่วมด้วยในกรณีที่ขณะสติปัฏฐานเกิด มีการวิรัติทุจริตตอนนั้นด้วยในขณะนั้น เป็นมรรคมีองค์ ๖ เป็นต้นและจะเกิดพร้อมกัน เป็นมรรคมีองค์ ครบ ๘ เมื่อโลกกุตตรจิตเกิดเท่านั้น สติเกิด ปัญญาไม่เกิดร่วมก็มีค่ะ เช่น สติขั้นทาน ไม่มีปัญญาเกิดร่วม ในกรณีที เป็นเรา ที่กระทำทาน ถ้าปัญญาเกิดร่วมกับสติ...ไม่ใช่เรา...ที่กระทำทานค่ะ เป็นต้นค่ะ มรรคมีองค์ ๔ ไม่เคยได้ยินเลยค่ะ
ไม่ทราบท่านอื่นมีความเห็นว่าอย่างไรกันบ้างค่ะ
ขอเชิญร่วมสนทนา...หากมีข้อผิดพลาด กรุณาทักท้วงด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ข้อมูลพิ่มเติมเรื่อง วิรตีเจตสิก ๓ ค่ะ
สัมมากัมมันตะ
สมฺมา (ชอบ ถูก) + กมฺมนฺต (การงาน)
การงานชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ อย่าง คือ
๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
สัมมาวาจา
สมฺมา (ชอบ ถูก) +วาจา (คำพูด) คำพูดชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง คือ
๑. งดเว้นจากการพูดปด
๒. งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๓. งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๔. งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
สัมมาอาชีวะ
สมฺมา (ชอบ ถูก) + อาชีว (การเลี้ยงชีพ)
การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจ ให้เกิดการงดเว้นจากมิจฉาชีพซึ่งเป็นไปทางกายหรือวาจาที่ทุจริต
และมรรคมีองค์ ๕ คือ
สัมมาสติ
สมฺมา (ชอบ ถูก) + สติ (การระลึก)
การระลึกชอบ หมายถึง สติเจตสิกที่ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม จนปัญญามีกำลังประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น สัมมาสติก็ระลึกที่ลักษณะของนิพพาน
สัมมาทิฏฐิ
สมฺมา (ชอบ ถูก) + ทิฎฺฐิ (ความเห็น)
ความเห็นถูก ความเห็นชอบ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ซึ่งมีลักษณะที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาทิฎฐิมีหลายระดับ ตั้งแต่ กัมมสกตาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกเรื่องความมีกรรมเป็นของๆ ตน) ฌานสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับฌานจิต) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับวิปัสสนา ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐานก็เป็นมรรคมีองค์ ๕ แต่ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็เป็นมรรคมีองค์ ๘) เป็นต้น
สัมมาสมาธิ
สมฺมา (ชอบ ถูก) + สมาธิ (ความตั้งมั่น)
ความตั้งมั่นชอบ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ในขณะที่สติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณเกิด สัมมาสมาธิทำจิตและเจตสิกอื่นให้ตั้งมั่นในอารมณ์คือ นามธรรม หรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดลักษณะของนามรูปนั้นๆ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นสัมมาสมาธิก็ทำให้จิต และเจตสิกอื่นตั้งมั่นในอารมณ์คือนิพพาน
สัมมาสังกัปปะ
สมฺมา (ชอบ ถูก) + สงฺกปฺป (ความดำริ)
ความดำริชอบ หมายถึง วิตกเจตสิกที่ตรึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อสติจะได้ระลึก ปัญญาจะได้ศึกษาในลักษณะของนามรูป สัมมาสังกัปปะมีอาการ ๓ อย่าง คือ
๑. ดำริในการออกจากกาม
๒. ดำริในการไม่พยาบาท
๓. ดำริในการไม่เบียดเบียน
สัมมาวายามะ
สมฺมา (ชอบ ถูก) + วายาม (ความเพียร)
ความเพียรชอบ หมายถึง วิริยเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปพร้อมกับสติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณ เป็นความเพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ้าสติปัฏฐานขาดปัญญาซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน และเป็นมรรคไม่ได้ครับอย่าว่าแต่ ๔ เลย ๓ ๒ ๑ ก็ไม่ได้ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ไม่ควรลืมความหมายของคำว่า "มรรค" ครับ มรรคในที่นี้ไม่ใช่มิจฉามรรค แต่เป็นสัมมามรรค เป็นอริยมรรค เป็นหนทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ดำเนินรอยตามพระพุทธองค์ไปแล้ว สู่ความเป็นผู้ไกลจากกิเลส ดับทุกข์โทษภัยทั้งปวงได้หมดสิ้น ไม่มีการกลับมาเกิดอีก นี่ไม่ใช่หนทางที่จะไปถึงโดยไม่มีการเจริญขึ้นของปัญญา ถ้าขาดปัญญา ก็ถึงนิพพานไม่ได้แน่นอนครับ
ความหมายของผมคงจะเป็นอันนี้ครับ
สติเกิด ปัญญาไม่เกิดร่วมก็มีค่ะ เช่น สติขั้นทาน ไม่มีปัญญาเกิดร่วม ในกรณีที เป็นเรา...ที่กระทำทาน ถ้าปัญญาเกิดร่วมกับสติ...ไม่ใช่เรา...ที่กระทำทานค่ะ เป็นต้นค่ะ
แต่เขาคงไม่เรียกว่ามรรค ตามความคิดเห็นที่ 10
ขอบคุณมากครับ
แต่ข้อความอันนี้ก็น่าสนใจนะครับ
สัมมาสมาธิทำจิตและเจตสิกอื่นให้ตั้งมั่นในอารมณ์ คือ นามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดลักษณะของนามรูปนั้นๆ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นสัมมาสมาธิก็ทำให้จิต และเจตสิกอื่นตั้งมั่นในอารมณ์คือนิพพาน
ขออนุโมทนาครับ
ขณะที่สติปัฏฐานเกิดต้องมีมรรค 5 เป็นอย่างน้อย หรือขณะที่มีวิรตีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดวงใดดวงหนึ่งก็เป็นมรรค ๖ แต่ในขณะที่เป็นโลกุตตระมรรคมีองค์ ๘ จะเกิดขึ้นพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกันคือพระนิพพานค่ะ
ที่นี่น่ารื่นรมย์
ขอบคุณครับ
สติปัฏฐานเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์
จะเกิดโดยปราศจากปัญญาเจตสิกไม่ได้เลยค่ะ และปัญญาที่เกิดร่วมด้วยนั้น ต้องเป็นองค์มรรคที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ค่ะ
ขอบพระคุณอีกครั้งครับคุณไตร
ไหนๆ ก็ถามแล้ว ขอถามอีกนิดหนึ่งครับ
1. คำว่า สติ กับ สติปัฏฐาน ต่างกันอย่างไรครับ
2. สติเจตสิก เกิดร่วมกับวิบากจิตเช่น สัมปฏิฉันนะ สันตีรณะ ได้ไหมครับ หรือว่าต้องเกิดที่ชวนะที่เดียวเท่านั้น
ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ
ขอร่วมสนทนาด้วยคนค่ะ ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วยค่ะเช่นขณะที่เป็นไปในการให้ทาน การวิรัติงดเว้นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น และขณะที่จิตเป็นไปในความสงบ (สมถภาวนา) ขณะนั้นสติเกิดร่วมด้วยค่ะ แต่ไม่ใช่สติปัฎฐาน
สติที่เป็นขั้นสติปัฎฐานนั้น จะต้องเป็นจิตที่เป็นไปในการเจริญสติปัฎฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งก็คือการเจริญอริยมรรค์มีองค์ ๘ นั่นเอง สำหรับสติเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณจิตทั้งหมด จะไม่เกิดร่วมกับอโสภณจิตค่ะ เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิตซึ่งเป็นอโสภณจิตจึงไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
1. สติปัฏฐาน ๔ มีความหมายกว้างกว่าครับ
2. เกิดไม่ได้ครับ สติเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น ส่วนสัมปฏิจฉันนจิต กับ สันตีรณจิต เป็นอโสภณจิต ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย
โสภณจิต มีด้วยกัน 3 ชาติ ได้แก่ ชาติกุศล ๑ ชาติกิริยา ๑ ชาติวิบาก ๑ - ถ้าสติเกิดกับชวนจิต ปกติโดยทั่วไปสำหรับผู้ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตนั้นเป็นชาติ กุศล หรือ ถ้าจิตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นจิตที่เป็นผลจากการดับกิเลสแล้ว เรียกว่า ผลจิต เป็นชาติวิบาก สติก็เกิดร่วมด้วยได้ - สติที่เกิดกับจิตชาติกิริยา มีเฉพาะพระอรหันต์ เรียกว่า โสภณกิริยาจิต
- สติที่เกิดกับจิตชาติวิบาก เช่น ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต ของผู้ที่เกิดในสุคติภูมิด้วยโสภณเหตุ ๒ คือ มี อโลภเจตสิก ๑ และ อโทสเจตสิก ๑ เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตในขณะเกิด ส่งผลให้ ภวังคจิต และ จุติจิต ของผู้นั้นในชาตินั้น เป็นจิตที่ประกอบด้วยเจตสิก ๒ ดวงนี้เช่นกัน ทำนองเดียวกันกับผู้ที่เกิดในสุคติภูมิ ด้วยโสภณเหตุ ๓ คือ มี อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก (ปัญญา) ๑ เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตในขณะเกิด จึงเป็นปัจจัยให้ ภวังคจิต และ จุติจิต ของผู้นั้น ในชาตินั้นมีโสภณเหตุ ๓ นี้เช่นกันครับ เราเรียกจิตชาติวิบากที่มีสติเกิดด้วยร่วมว่า โสภณวิบากจิต
โสภณ อโสภณ ศึกษามาแล้วนานๆ เข้า ก็ลืมว่าต่างกันอย่างไร แต่พอได้อ่านกระทู้ได้ถูกเตือนก็จำได้ ในขณะที่ลืมและพยายามที่จะรู้ว่าต่างกันอย่างไร ก็เข้าใจว่าต้องเป็นธรรมที่เกียวข้องกับเหตุ ๖ พอคิดถึงเหตุ ๖ ก็จำได้ถึงความแตกต่าง ครับ
โอ้โห ยอดเยี่ยมมากครับ ละเอียดจริงๆ มี LINK ให้ค้นหาข้อมูลอีกด้วย
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ