ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โกลด์เมาท์เท่น วังน้ำเขียว รีสอร์ท
โดย วันชัย๒๕๐๔  19 ก.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 18772

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ทันตแพทย์หญิงวิภากร พงศ์วรานนท์ คุณเดือนฉาย ค่ำอำนวย และคุณกุสุมา โกมลกิติ ได้กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ไปร่วมสนทนาธรรมที่ โกลด์เมาท์เท่น วังน้ำเขียว รีสอร์ท

โกลด์เมาท์เท่น วังน้ำเขียว รีสอร์ท เป็นสถานที่ที่ตั้งอยู่บนยอดเนินเขา สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามได้โดยรอบ มีอากาศสดชื่น เย็นสบาย สมกับที่ได้รับการจัดอันดับว่าบริเวณโดยรอบนี้ มีโอโซน คือ อากาศบริสุทธิ์ เป็นอันดับ ๗ ของโลก โดยในวันแรกที่เดินทางไป คุณหมอวิภากร มีกุศลเจตนา กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์แวะพักรับประทานอาหารกลางวันที่ Village Farm & Winery

เป็นมื้ออาหารที่แสนวิเศษสุดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่นอกจากจะได้รับกุศลวิบากอันเลิศแล้ว ยังมีโอกาส ได้ยินได้ฟังการสนทนาธรรมโดยใกล้ชิดด้วยความเมตตาของท่านอาจารย์ แม้ในขณะที่แวะดื่มกาแฟ,โกโก้ ที่ ร้านกาแฟดอยช้าง เมื่อคุณป้าจี๊ด น้องสาวของท่าน พูดถึงเรื่องของกุศลวิบากที่ได้รับว่า ท่านไม่ค่อยได้ทำกุศลใหม่ ได้แต่รับ เดี๋ยวก็หมด ท่านอาจารย์ก็มีเมตตาเตือนทุกคนว่า "แล้วจะไม่สร้างใหม่หรือ?" เพียงคำสั้นๆ เท่านี้ มื้ออาหารนี้ ก็มีคุณค่าเหลือประมาณ กราบท่านอาจารย์ครับ และขออนุโมทนาในกุศลเจตนา และกุศลทุกประการของคุณหมอวิภากร ครับ

การสนทนาธรรมในครั้งนี้ มีสหายธรรมผู้ใหม่หลายท่าน ที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน หลายท่านก็มาไกลจากนครราชสีมา พิษณุโลก สงขลา มาร่วมสนทนาครั้งนี้โดยเฉพาะ

และ เช่นเคยนะครับ ข้าพเจ้าก็ขออนุญาตนำข้อความบางตอนจากการสนทนา และภาพบรรยากาศต่างๆ มาฝากทุกท่าน เพื่อการพิจารณา ดังนี้ครับ

คุณเมตตา กราบท่านอาจารย์ และอาจารย์วิทยากรทุกท่านค่ะ หนูขอสนทนาถึงว่า การศึกษาธรรมะ ก็คือ การ "เข้าใจ" ว่า ธรรมะขณะนี้ อยู่ที่ไหน? คืออะไร? เพราะว่า เมื่อก่อน หนูก็จะไปศึกษาพระธรรม ก็คือ เข้าวัด ฟังธรรม ซึ่งเข้าวัดฟังธรรม นี่ก็ได้ฟังแต่ธรรม "เรื่องราวของธรรม" ไม่ว่าท่านจะแสดงเกี่ยวกับ เรื่องชาดก หรือว่า เรื่องราวในพระสูตร หนูก็ไม่เข้าใจว่า พระธรรมคืออะไร? อยู่ที่ไหน?

จนกระทั่งได้มาฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์ ถึง "เข้าใจ" ว่า การศึกษาพระธรรม ก็คือ การศึกษาให้ "เข้าใจความจริง" ว่า ธรรมะ คืออะไร? อยู่ที่ไหน? เพราะฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า "สภาพธรรม" คืออะไร? "ธรรมะ" คืออะไร? คือ สิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏอยู่ขณะนี้!!!


ซึ่งถ้าเราศึกษาพระสูตร ไม่ว่าพระสูตร พระวินัย ก็มีสภาพธรรมะ ถ้าเรา "เข้าใจ" สิ่งที่ท่านอาจารย์ แสดงให้เราเข้าใจว่า ธรรมะ คือ ความจริงที่มีในขณะนี้!!! ฉะนั้น เวลาเราศึกษาพระสูตร วันเสาร์ เราศึกษาพระสูตร เราก็จะเข้าใจว่า เป็นธรรมะ ทั้งนั้นเลย ในพระสูตรอ้างถึงบุคคล ท่านพระอานนท์ ท่านพระสารีบุตร ซึ่งถ้า "เข้าใจ" ก็เป็นธรรมะ ทั้งนั้น เป็น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น แล้วก็เป็นกุศล อกุศล ซึ่งสามารถที่จะ "เข้าใจ" ได้ หนูก็ขอสนทนาแค่นี้ค่ะ กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ค่ะ

อาจารย์นิภัทร คำหนึ่งที่เราชอบได้ยิน ได้ฟัง แล้วพูดกันบ่อยๆ ก็คือ สภาวธรรม "สภาวธรรม" ... ... ."สภาวะ" ... .น่ะ คืออะไร? คือ "สภาพธรรม" ที่เราชอบพูดกัน สภาพธรรม หรือ สภาวธรรม คืออะไร? "สภาพ" นี่มีศัพท์อยู่สองศัพท์ คือ "สะ" กับ "ภาวะ" "สะ" แปลว่า มี "ภาวะ" แปลว่า ปรากฏ "มีปรากฏ" อยู่ เรียกว่า "สภาวะ"

"ธรรมะ" คือ ของจริง ... ของจริง ... มีปรากฏอยู่ ของจริงมีปรากฏอยู่ เรียกว่า "สภาพธรรม" ของจริงที่มีปรากฏอยู่ ปรากฏแล้วหายไป ดับไปก็ยังไม่ใช่ ต้อง "ขณะนั้น" ขณะ ... ที่ปรากฏ ... ..เราจะ "รู้ธรรมะ" ก็ "รู้" ขณะที่ธรรมะปรากฏ ที่มีอยู่ ไม่ใช่รู้ธรรมะที่เป็นอดีต หรือที่ยังไม่มี ที่ยังมาไม่ถึง อนาคตอย่างนี้ เราต้องรู้ ขณะที่ธรรมะเขามีอยู่ ขณะนั้น จริงๆ ที่ว่า "รู้ธรรมะ" หรือ "เห็นธรรมะ" ต้อง "ขณะนั้น" ครับ

อ.ประเชิญ ก็ขออนุญาติกลับไปเรื่อง "เห็นแก่ตัว" สักนิดครับ ท่านอาจารย์ครับ พอดีผมเพิ่งนึกได้ คำสนทนากับหมออภิญญา ในวันแรกที่มาถึง มีคำนี้ คือ หมออภิญญา ก่อนหน้านี้ก็ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล แล้วภายหลัง ก็ได้ลาออก แล้วคุณหมอก็ใช้คำว่า เดี๋ยวนี้ "หนูเห็นแก่ตัว" คือ ถ้าหากว่าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ก็จะต้องมีความรับผิดชอบสูง ไม่มีโอกาส ที่จะได้ศึกษาธรรมะ ตนเองก็ไม่ได้เข้าใจธรรมะ คุณหมอก็ใช้คำว่า "เดี๋ยวนี้หนูเห็นแก่ตัว" ก็งงเหมือนกันครับว่า ตรงนี้ เห็นแก่ตัว ที่ท่านอาจารย์กล่าวตอนต้นว่า ไม่ถูก เป็นอกุศล กราบเรียนท่านอาจารย์ ครับ

ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะรู้ว่า "ไม่มีตัว" ไงคะ

อ.ประเชิญ สั้นเหลือเกินครับ

ท่านอาจารย์ ก็คุณหมอ ก็ไม่ได้เป็นผู้อำนวยการอีกแล้ว แต่ว่า กำลังศึกษาธรรมะ เพื่อรู้ว่าไม่มีตัว แต่ก่อนนี้ เข้าใจว่ามีตัว ใช่ไหม? "เห็นแก่ตัว" แต่ว่า เมื่อศึกษาแล้ว ก็จะได้เข้าใจได้ถูกต้องว่า "ไม่มีตัว ที่จะ เห็นแก่ตัว" แต่เป็นธรรมะ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

อ.ประเชิญ อาจจะใช้คำพูดที่ไม่ถูกต้อง ใช่ไหมครับ ท่านอาจารย์ครับ?

ท่านอาจารย์ ตามความคิดค่ะ จะสังเกตุได้นะคะ แต่ละคำถาม มาจากความคิด ความเข้าใจ ของแต่ละคน

อ.ประเชิญ คุณหมอ คงจะมีอะไรสนทนาเพิ่มเติมไหมครับ เพราะว่า พอดีตรงกับที่เป็นประโยค ที่สนทนากัน ก็เลย อาจจะเหมือนความแตกต่าง อาจจะใช้คำผิด อย่างที่ท่านอาจารย์ได้ให้ความเข้าใจไปแล้ว นะครับ

คุณหมออภิญญา จริงๆ แล้ว มีคำถามอื่นนะคะ คือพอเราทำงานไป ทำงานไปนี่ เราจะเห็นเลยว่า ถ้าประโยชน์ตน ยังไม่เกิดเต็มที่ ไปเสียสละคนอื่นให้ตาย มันไม่ใช่การทำประโยชน์ ที่ยั่งยืนเลย เพราะเราคิดว่าเราเสียสละ เราช่วยเหลือคนอื่น เราทุ่มเท คลีนิคเราไม่ทำ เงินเราไม่สนใจ พยายามทุ่มเทไป ทุ่มเทไป แต่มันเหมือนกับว่า มันไม่เจอเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต แล้วทีนี้มันเหมือนกับว่า เราคลำไปเราก็เหมือนอยู่ในความมืดบอดต่อไป ที่ตัวเองตั้งไว้ว่า ต้องเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น แล้วทีนี้ เราเดินไปอย่างนี้ แล้วเราจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตได้อย่างไร?

ก็เลยกลับมาทบทวนดูตัวเราใหม่ทั้งหมด เลยคิดว่า ถ้าจะชนะที่แท้จริงก็ต้องเห็นแก่ตัว ไม่ต้องไปเห็นแก่คนอื่น มันก็เริ่มจุดตั้งต้นตรงนี้ แล้วคิดว่าถ้าเห็นแก่ตัวแล้วนี่ ต่อไป ถ้าเราเห็นแก่ตัว จนเราเข้าใจมันแล้ว การทำประโยชน์ มันถึงเป็นการทำประโยชน์ที่แท้จริง ก็เริ่มต้นอย่างนี้ค่ะ อันนี้คือประเด็นที่จะเรียนเพิ่มเติม นะคะ

แต่ว่ามีสองคำถามที่ เกี่ยวกับความหมายของคำที่อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ เพราะจะเจอเยอะเหลือเกิน เวลาคุยกับเพื่อน หรือว่าได้ฟังเพื่อนที่เข้าวัดกัน มีสองคำถาม ที่ตัวเองอยากจะเข้าใจความหมายว่า ความหมายจริงๆ คืออะไร? คำว่า "ไปเจริญกรรมฐาน" กับคำว่า "ภาวนา" เพราะสองคำนี้ เวลาคุยกับเพื่อนทีไร จะเจอสองคำนี้ ตลอดเลย เลยอยาก "เข้าใจ" สองคำนี้จริงๆ ว่า มันคืออะไรกันแน่? กราบขอบพระคุณค่ะ

ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนา ที่ต้องการ "เข้าใจจริงๆ " ใน "คำ" ที่ได้ยิน ได้ฟัง ไม่ใช่ว่า ตามๆ กันไป โดยไม่เข้าใจ หรือ คิดว่าเข้าใจ เช่น พอพูดว่า "เจริญกรรมฐาน" เขาเจริญกัน เราก็เจริญด้วย แต่ไม่รู้ว่าอะไร นั่นคือ ไม่เข้าใจเลย

เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่มีความคิด ที่จะต้อง"เข้าใจ" สิ่งที่ ได้ยิน ได้ฟัง นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรอนุโมทนาอย่างยิ่ง ที่จะ ไม่พูด "คำ" ที่ไม่รู้จัก หรือจะ ไม่ทำ "สิ่ง" ซึ่งไม่รู้ เพราะฉะนั้น "กรรมฐาน" ได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหมะ? เข้าใจหรือยัง? ถ้าไม่ได้ "ฟัง" ให้ "เข้าใจ" จริงๆ ก็ "คิดว่าเข้าใจแล้ว"

แต่ว่า ตามความเป็นจริง คำนี้ ไม่ใช่ภาษาไทย ขอเชิญคุณคำปั่นค่ะ

คุณคำปั่น ครับ ก็อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวนะครับ ว่า ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นพระธรรม คำสอน ที่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดง มาจากคำว่า "กัมมัฏฐาน" ซึ่งก็มีคำสองคำรวมกัน คือ คำว่า "กัมม" ซึ่งก็หมายถึง การกระทำ บวกกับ "ฐาน" คือ ที่ตั้ง เมื่อแปลแล้วก็คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำ ฟังดูแล้วอาจจะยังไม่เข้าใจ นะครับ ท่านแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า มีที่ตั้ง ที่จะให้กุศลธรรมเจริญขึ้น ทั้งในเรื่องของ ความสงบของจิต ทั้งในเรื่องของ ความเห็นแจ้งสภาพธรรมะ ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น "กัมมัฏฐาน" จึงเป็นพระธรรมคำสอน ที่เป็นไป เพื่อความสงบระงับกิเลส แล้วก็ เป็นไปเพื่อ การเห็นธรรมะ ตามความเป็นจริง ครับ

เพราะว่า พระองค์ทรงแสดง กัมมัฏฐาน (กรรมฐาน) ออกเป็นสองอย่าง คือ สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งก็จะต้องฟัง ต้องศึกษา ให้ละเอียดว่า ทรงมุ่งหมายถึงอะไร เป็นสำคัญ ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจถูก เห็นถูก ทั้งหมดเลย ถ้าหากไม่มี "ความเข้าใจ" ก็จะไปทำอะไรด้วยความไม่เข้าใจ หรือว่า ด้วยความเป็นตัวตน เพราะว่า แสดงถึงธรรมะ ที่มีจริง ทั้งในเรื่องของ สมถกรรมฐาน แล้วก็ วิปัสสนากรรมฐาน กราบเรียน ท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่อง "ทำ" เลย แต่ว่า เป็นเรื่องเข้าใจถูก แม้แต่ขณะนี้ ก็ทำอะไรไม่ได้ "ทำเห็น" ไม่ได้ เพราะ "เห็น" เกิดแล้ว "ทำได้ยิน" ได้ไหม? ทำไม่ได้!!! "ได้ยิน" เกิดแล้ว ตามเหตุ ตามปัจจัย ซึ่งไม่มีใคร สามารถที่จะ "ทำ" ได้เลย

เพราะฉะนั้น จะ "ทำกรรมฐาน" หรือ จะทำอะไร ถ้ามีความ "เข้าใจธรรมะ" จริงๆ ก็รู้ว่า ไม่มีตัวตน ที่จะทำอะไร ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า ทุกอย่าง เป็นธรรมะ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น จึงเกิดได้ แต่ถ้าไม่มีปัจจัย แล้วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้เกิด ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น จะไม่เข้าใจผิด ถ้ามีการ "ฟัง" และมีการ ไตร่ตรอง ให้เกิดความเข้าใจจริงๆ อย่างที่คุณคำปั่นกล่าวถึง "กัมมัฏฐาน" = "ที่ตั้งของการกระทำ" ทำไมจะค้านกันหรือเปล่าคะ? ที่บอกว่า ทำไม่ได้ คุณคำปั่นคะ?

คุณคำปั่น เป็นเรื่องของการอบรม เจริญ ให้มีขึ้น ครับท่านอาจารย์ครับ ซึ่งก็ไม่มีตัวตน ที่จะไปกระทำ แต่ว่า เป็นการเจริญขึ้นของธรรมฝ่ายดี ที่เกิดขึ้น เป็นไป

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น โดยศัพท์ภาษาบาลี จะใช้คำว่า "ภาวนา" สิ่งที่ยังไม่เกิด ไม่มี ก็ "อบรม" ให้เกิด มีขึ้น สิ่งที่เกิด มีแล้ว ก็ "อบรม" ให้เจริญมากขึ้น เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงความต่างของ "ภาวนา" คือ สมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา "สมถะ" คือ ความสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็น "ปัญญา" ที่สามารถ สงบขึ้นๆ เพราะว่า ธรรมดา กุศลทุกประเภท ก็ สงบจากอกุศล แต่ว่า สั้นมาก น้อยมาก แค่ ๗ ขณะจิต คิดดู หนึ่งขณะ ... นี่ ... ไม่ต้องพูดถึงเลย ขณะนี้ นับไม่ถ้วน ว่า "กี่ขณะ" ... .ที่กำลัง "เห็น" แล้ว "รู้" ว่า สิ่งที่เห็นเนี่ย เป็นอะไร

เพราะฉะนั้น ยังไม่ทันจะรู้ว่า สิ่งที่เห็น เป็นอะไร? ก็มากมาย ... หลายขณะ ... .แต่ถ้าเพียง หนึ่งขณะนี้ จะสักแค่ไหน? เพราะฉะนั้น ๗ ขณะ ของกุศลจิตนี่ น้อยมาก ... แต่ก็มีปัจจัย ที่จะเกิดขึ้น เป็นไป

ผู้ที่มีปัญญา เท่านั้น ที่เห็นโทษของอกุศล จึงจะอบรมเจริญ สมถภาวนาได้ แต่ถ้าไม่เห็นโทษของอกุศล นะคะ ไม่รู้เลยค่ะ บางคนถามบอกว่า เค้าไม่มีอกุศล ไม่โลภ คิดดูสิคะ ความไม่รู้ ทำให้ไม่รู้ว่า แม้ขณะนี้ ... ก็มีอกุศล แล้วส่วนใหญ่ ก็เป็นโลภะ และ อวิชชา ก็ไม่รู้

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง จากการที่ทรงตรัสรู้ ทำให้สามารถ "เข้าใจความจริง" ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ด้วยตัวเองเลย ว่าจริงๆ แล้ว อกุศลเกิด เมื่อมีปัจจัย ตลอดเวลาก็ว่าได้ ถ้าไม่กล่าวถึงวิบาก คือ ผลของอกุศล และ กุศล ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง พวกนี้ เพราะว่า เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ก็จะเป็นอกุศล ส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่กล่าวว่า ไม่มี เพราะ "ไม่รู้"

ด้วยเหตุนี้ พระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ สมถภาวนา ก็ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษ ของความติดข้อง ทันทีที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และ การคิดนึก เรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ทั้ง ๕ ทาง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มี "ปัญญา" สามารถที่จะ "รู้" ความต่าง ของขณะจิต ว่า ขณะนี้ ... เดี๋ยวนี้ ... เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล เราพูด "ชื่อ" ตลอดเวลา กุศลจิต ใน "ขณะ" ที่ให้ทาน แต่ขณะที่ให้ทาน ก็มี "เห็น" เห็นแล้วก็ไม่รู้ว่า เป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น "ทาน" คือ การให้ ก็คือ ชั่วขณะที่ไม่มีความติดข้อง สามารถที่จะสละให้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ แก่คนอื่น ขณะนั้น ไม่ได้กล่าวถึง จิตเห็น จิตได้ยิน แต่หมายความถึง "ขณะ" ที่ "ขณะนั้น" ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีอกุศลใดๆ เลย

แล้ววันนี้ มีอกุศล มาก หรือ น้อย คะ? ถ้าเห็นโทษ และ มีปัญญา เพียงรู้ว่า ขณะไหนเป็นอกุศล จึงสามารถที่จะรู้ว่า กุศล ไม่ใช่ อกุศล และ กุศล จะเกิดบ่อยๆ ได้อย่างไร? แล้วก็จะ "มั่นคง" ได้อย่างไร?นั่นคือ ต้องอาศัย "ปัญญา" ถ้าขณะที่ กำลังเป็นอกุศล จะมืดสนิท จะไม่รู้ว่า "กุศล" เป็นอย่างไร? แล้วก็ จะไม่รู้หนทาง ที่จะทำให้ "กุศล" เกิดขึ้นด้วย

แต่ เมื่อมีการตรัสรู้ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็มีการอบรมเจริญปัญญา ที่ใช้คำว่า "วิปัสสนาภาวนา" เพราะว่า ก่อนหน้านั้น จะมีเพียงขั้น สมถภาวนา เท่านั้น ไม่มีใครสามารถที่จะ มีความเข้าใจ สภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรมะ ไม่ใช่ตัวตน มีความเห็นที่ถูกต้อง จนสามารถรู้ความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่า ขณะนั้นจะเป็น โลภะ เป็นโทสะ เป็นเห็น เป็นได้ยิน เป็นธรรมะ ทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้น แล้ว ดับไป

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา จากการที่ได้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจขึ้น ก็จะทำให้ มีการอบรมความเห็นถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่ง "ขณะนั้น" "คิด" และ "ฟังเข้าใจ" แต่ "กำลังรู้" ลักษณะ ที่เป็นธรรมะจริงๆ เมื่อมีความรู้เพิ่มขึ้น การละคลาย การยึดถือ สภาพธรรมะ ว่าเป็นตัวตน ค่อยๆ น้อยลงสภาพธรรมะ จึงสามารถ "ปรากฏ" ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น "วิปัสสนา" คือ "ปัญญา" ที่เห็นแจ้งความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ ฟังเพียงเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ การที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมะ ซึ่งมีจริงๆ กำลังเกิด-ดับ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของ "ปัญญา" ทั้งหมด ไม่ว่า จะเป็นการอบรมเจริญ สมถภาวนา หรือว่า วิปัสสนาภาวนา

เพราะฉะนั้น คำว่า "กรรมฐาน" ต้องหมายถึง การอบรม เจริญความสงบของจิต โดย "มีความเข้าใจ ถูกต้อง" ว่า อารมณ์ใด เมื่อจิตระลึกถึงบ่อยๆ แล้วจะสงบ นั่นคือ สมถกรรมฐาน หรือ สมถภาวนา แต่ถ้า เป็นวิปัสสนาภาวนา ก็ต้องมี "ที่ตั้งของจิต" ที่จะทำให้ "ปัญญา" เกิดขึ้น รู้สิ่งนั้น ตามความเป็นจริง ซึ่ง แม้อกุศล เกิดขึ้น ขณะนั้น ก็เป็นธรรมะ ซึ่งไม่ใช่เรา เกิดแล้ว ดับด้วย

เพราะฉะนั้น วิปัสสนาภาวนา ไม่ได้มุ่งไปที่จิตสงบ โดยไม่รู้ความจริง ของสภาพธรรมะ "ต้องมีปัญญา" ด้วย แล้วก็เป็น "ปัญญา" ที่สามารถที่จะเข้าใจถูกว่า "ขณะนี้เป็นธรรมะ" แล้วก็อบรมความเข้าใจเพิ่มขึ้น เมื่อไหร่ที่ ... ..เริ่มรู้ ... ลักษณะ ... . เมื่อนั้น ... .ลักษณะนั้น ... .เป็น "ที่ตั้ง" ให้เกิด "ความเข้าใจ"ในลักษณะนั้น ว่า เป็นธรรมะ จึงเป็น วิปัสสนากรรมฐาน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 606

๑๐. สติปัฏฐานสูตร

[๑๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในแคว้นกุรุทั้งหลาย (ทรงอาศัย) นิคมหนึ่งของชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสธัมมะ. ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

[๑๓๒] พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์เพื่อก้าวล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัสเพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง. ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ. ๔ ประการเป็นไฉน?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑. ฯลฯ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนาท่านวิทยากรทุกท่าน

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ


อนึ่ง ขอเชิญคลิกชมกระทู้ที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่.. กราบแม่



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 19 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะรู้ว่า "ไม่มีตัว" ไงคะ

อ.ประเชิญ สั้นเหลือเกินครับ

ท่านอาจารย์ ก็คุณหมอ ก็ไม่ได้เป็นผู้อำนวยการอีกแล้ว แต่ว่า กำลังศึกษาธรรมะ

เพื่อรู้ว่า ไม่มีตัว แต่ก่อนนี้ เข้าใจว่า มีตัว ใช่ไม๊คะ?

"เห็นแก่ตัว" แต่ว่าเมื่อศึกษาแล้ว ก็จะได้เข้าใจได้ถูกต้องว่า "ไม่มีตัว ที่จะ เห็นแก่ตัว"

แต่เป็นธรรมะ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

-------------------------------------------------------------------

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์สุจินต์และทุกท่านครับ

และพี่วันชัยที่นำภาพ บรรยากาศและธรรมดีๆ มาให้ เพื่อสติที่เกิดระลึกขึ้นได้

เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญานะครับ


ความคิดเห็น 2    โดย Jans  วันที่ 19 ก.ค. 2554

กราบเท้าอนุโมทนากุศลจิตของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทันตแพทย์หญิงวิภากร พงศ์วรานนท์

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ในการถ่ายทอดพระธรรมและภาพบรรยากาศ

และสหายธรรมทุกท่านที่ได้เจริญกุศลทุกประการค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย pat_jesty  วันที่ 19 ก.ค. 2554
ขอบคุณคุณวันชัยและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

ความคิดเห็น 4    โดย dets25226  วันที่ 20 ก.ค. 2554

ถ่ายภาพได้อย่างน่าประทับใจมากครับ

เก็บบรรยากาศได้ดีทีเดียว

ภาพที่ผมประทับใจที่สุด ก็เป็นภาพที่สหายธรรม ๒ ท่าน นั่งสนทนายกมือไหว้

อาจารย์สุจินต์ครับ ภาพนี้สุดๆ ครับ

ดังมีคำกล่าวที่ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเคารพพระธรรม

สหายธรรมทั้งหลาย ก็มิได้ต่างไปเลย แสดงความเคารพด้วยใจ

ออกมาทางกายทวารและวจีทวาร

สาธุครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย pirmsombat  วันที่ 20 ก.ค. 2554

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนาคุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์

คุณเดือนฉาย ค่ำอำนวย และคุณกุสุมา โกมลกิติ

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ในการถ่ายทอดพระธรรมและภาพบรรยากาศ

และสหายธรรมทุกท่านครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Anutta  วันที่ 20 ก.ค. 2554

กราบท่านอาจารย์สุจินต์และขออนุโมทนาพี่วันชัย ที่ทำให้แม้ไม่ได้ไปแต่ก็ซาบซึ้งเสมือน

ได้อยู่สนทนาธรรมด้วยเมื่ออ่านข้อความที่ได้ถ่ายทอดมา อนุโมทนาจริงๆ ค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย khampan.a  วันที่ 20 ก.ค. 2554

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย และ ทุกๆ ท่าน ด้วยครับ


ความคิดเห็น 8    โดย Noparat  วันที่ 20 ก.ค. 2554

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนาท่านวิทยากรทุกท่าน

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย และ สหายธรรมทุกๆ ท่านด้วยค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย เมตตา  วันที่ 21 ก.ค. 2554

เพราะฉะนั้น วิปัสสนาภาวนา ไม่ได้มุ่งไปที่จิตสงบ โดยไม่รู้ความจริง ของสภาพธรรมะ

เพราะฉะนั้น "ต้องมีปัญญา" ด้วย นะคะ

แล้วก็เป็น "ปัญญา" ที่สามารถที่จะเข้าใจถูกว่า "ขณะนี้เป็นธรรมะ"

แล้วก็อบรมความเข้าใจเพิ่มขึ้น

เมื่อไหร่ที่.....เริ่มรู้...ลักษณะ....

เมื่อนั้น....ลักษณะนั้น....เป็น "ที่ตั้ง" ให้เกิด "ความเข้าใจ"ในลักษณะนั้น ว่า เป็นธรรมะ

จึงเป็น วิปัสสนากรรมฐาน

.................................................

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์วิทยากรทุกท่าน

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย และ สหายธรรมทุกๆ ท่านด้วยค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย raynu.p  วันที่ 21 ก.ค. 2554
กราบอนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 11    โดย ZetaJones  วันที่ 21 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย orawan.c  วันที่ 21 ก.ค. 2554
กราบอนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 13    โดย nong  วันที่ 21 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย นิด  วันที่ 21 ก.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 15    โดย ผิน  วันที่ 21 ก.ค. 2554

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ วิทยากรทุกท่าน

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ วันชัย และ สหายธรรมทุกๆ ท่าน


ความคิดเห็น 16    โดย wittawat  วันที่ 21 ก.ค. 2554
ขออนุโมทนาพี่วันชัยครับ