ธัมมะคนละข้อ ถวายแด่พ่อหลวง
โดย Guest  6 มิ.ย. 2549
หัวข้อหมายเลข 1298

ธัมมะคนละข้อ ถวายแด่พ่อหลวง และบูชาพ่อสูงสุด (พระพุทธเจ้า)

อยากให้ทุกคนร่วมพิมพ์ธัมมะที่ถูกต้องคนละข้อ เพื่อถวายแด่ในหลวงของเรา ที่ครอง

ราชย์ ครบ 60 ปี และที่สำคัญที่สุด เพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้แม้แต่กษัตริย์ เทวดา

มาร พรหม ยังบูชา บูชาด้วยพระธรรมคนละข้อกันเถอะ ผมเริ่มก่อนนะ

การฟังเป็นความดี ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี

การอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ

การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี การทำตามโอวาทโดยเคารพเป็นความดี

กิจมีการฟังเป็นต้นนี้ เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล.



ความคิดเห็น 2    โดย prachern.s  วันที่ 7 มิ.ย. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 329

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ

กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท.

" ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นการยาก, ชีวิต ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นอยู่ยาก, การฟังพระสัทธรรมเป็นของยาก การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นการยาก."


ความคิดเห็น 3    โดย Niranya  วันที่ 7 มิ.ย. 2549

ถึงจะแต่งกายแบบใดๆ ก็ตาม ถ้าใจสงบระงับ ควบคุมตนได้ มั่นคง บริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เรียกว่า พราหมณ์ สมณะ หรือ ภิกษุ.


ความคิดเห็น 4    โดย saowanee.n  วันที่ 7 มิ.ย. 2549

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ มหาขันธกะ ข้อ ๖๕

เย ธมฺ มา เหตุปฺ ปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต (อาห)

เตสญฺ จ โย นิโรโธ เอวํวาที มหาสมโณติ ฯ

" ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่า

นั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น

พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้ "


ความคิดเห็น 5    โดย supin.s  วันที่ 7 มิ.ย. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒

โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อมตํ ปทํเอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อมตํ ปทํ.

"ก็ผู้ใด ไม่เห็นบทอันไม่ตาย พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี,

ความเป็นอยู่วันเดียว ของผู้เห็นบทอันไม่ตายประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่ของผู้นั้น."


ความคิดเห็น 6    โดย เด็กดาวคะนอง  วันที่ 7 มิ.ย. 2549

บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตเสียจากบาป

เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในบาป.

ถ้าบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่ควรทำบาปนั้น บ่อยๆ

ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น เพราะว่าความสั่งสมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์.

ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ

พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะว่าความสั่งสมบุญทำให้เกิดสุข.


ความคิดเห็น 7    โดย pornchai.s  วันที่ 7 มิ.ย. 2549

เราย่อมกล่าวว่า ความหวั่นไหวในโลกไหนๆ มิได้มีแก่พระอรหันตขีณาสพใดเพราะทราบฝั่งนี้ และฝั่งโน้นในโลก พระอรหันตขีณาสพนั้น เป็นผู้สงบขจัดทุจริตเพียงดังว่าควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ได้ข้ามแล้วซึ่งชาติ และชรา

ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส


ความคิดเห็น 8    โดย audience  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 49

๙. นักขัตตชาดก ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์ [๔๙] " ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลา ผู้มัว คอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้." จบ นักขัตตชาดกที่ ๙


ความคิดเห็น 9    โดย prakaimuk.k  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ความเพียรที่จะเผากิเลสเป็นความอดทนอย่างสูง

โอวาทปาฏิโมกข์


ความคิดเห็น 10    โดย devout  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ จิตตสูตรที่ ๒

(๑๘๐) เทวดาทูลถามว่า

โลกอันอะไรย่อมนําไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอํานาจของ

ธรรมอันหนึ่ง คืออะไร

(๑๘๑) พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกอันจิตย่อมนําไป อันจิตย่อมเสือกไสไป

โลกทั้งหมดเป็นไปตามอํานาจของธรรมอันหนึ่ง

คือ จิต


ความคิดเห็น 11    โดย shumporn.t  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมาปรารถนาประโยชน์อันใด ความปรารถนาเหล่านั้นจงสำเร็จแก่ท่าน

เถิด ท่านจงเอาดวงตาไปเถิด เมื่อท่านขอดวงตาข้างหนึ่ง เราจะให้สองข้าง ท่านมีดวง

ตา จงไปเพ่งดูชนเถิด ท่านปรารถนาสิ่งใด สิ่งนั้นจงสำเร็จแก่ท่าน เราไม่ให้ดวงตานี้

เพราะหวังยศ ไม่ปรารถนาบุตร ไม่ปรารถนาทรัพย์ ไม่ปรารถนาแว่นแคว้น อนึ่ง ธรรม

ของสัตบุรุษทั้งหลายเป็นธรรมเก่าอันบัณฑิตประพฤติกันมาแล้ว

ขุททกนิกาย จริยาปิฏก สิวิราชจริยา


ความคิดเห็น 12    โดย Guest  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 457
มูคผักขจริยา (เตมียชาดก)


พระราชาทรงคุมคามการอธิษฐาน ที่เรา

อธิษฐานไว้ด้วยเหตุต่างๆ แต่เราไม่ทำลาย

การอธิษฐานนั้น เพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั่น

เอง เราจะเกลียดพระมารดาพระบิดาก็หามิได้

เราจะเกลียดตนเองก็หามิได้ แต่พระสัพพัญ-

ญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้นแหละ

เราจึงอธิฐานองค์ ๓ คือ ใบ้ หนวก งอยเปลี้ย


ความคิดเห็น 13    โดย Guest  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 1


ใครจักรู้ชัดซึ่งแผ่นดินนี้และยมโลก กับ

มนุสสโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก ใครจักเลือกบท

ธรรมอันเราแสดงดีแล้ว เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาด

เลือกดอกไม้ฉะนั้น พระเสขะจักรู้ชัดแผ่นดินและ

ยมโลกกับมนุสสโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก พระเสขะ

จักเลือกบทธรรมอันเราแสดงดีแล้ว เหมือนนาย

มาลาการผู้ฉลาดเลือกดอกไม้ฉะนั้น.


ความคิดเห็น 14    โดย น้องกอล์ฟ  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

กตัญญูกตเวที เป็นความดี


ความคิดเห็น 15    โดย คุณประมาท  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

ความไม่ประมาทเป็นความดี


ความคิดเห็น 16    โดย paderm  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 119

ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ

(แต่) ชนเป็นอันมากยังอาบอยู่ในน้ำนี้

สัจจะ และธรรมมีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดและเป็นพราหมณ์.


ความคิดเห็น 17    โดย aditap  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

ข้อความในอรรถกถาขุททกนิกาย ฉักกนิบาต มาลุงกายบุตตเถรคาถาที่ ๕

ขณะที่พระผู้มีพระภาคเสด็จอุบัติแล้ว ๑

ขณะที่บังเกิดแล้วประเทศที่มีพระพุทธศาสนา ๑

ขณะที่อวัยวะทั้ง ๖ ไม่บ่กพร่อง ๑

ขณะที่สัมมาทิฐฐิ ๑

ซื้งทุกท่านก็เป็นผู้ที่ได้ขณะที่ประเสริฐเหล่านี้

ก็ขอขณะที่ประเสริฐเหล่านี้อย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย


ความคิดเห็น 18    โดย siwa  วันที่ 8 มิ.ย. 2549

ผู้มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล เพียบพร้อมไปด้วยยศและโภคะ

จะไปยังประเทศและสถานที่ใดๆ

ก็ย่อมได้รับการต้อนรับบูชาในสถานที่นั้นๆ .


ความคิดเห็น 19    โดย khampan.a  วันที่ 10 มิ.ย. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 4

๑๐. โทษของบุคคลเหล่าอื่นเห็นได้ง่าย ฝ่าย โทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้น ย่อมโปรยโทษของบุคคลอันเหมือนบุคคลโปรยแกลบ แต่ว่าย่อมปกปิดโทษของตน เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยเครื่องปกปิดฉะนั้น.


ความคิดเห็น 20    โดย Buppha  วันที่ 11 มิ.ย. 2549

สุกรํ สาธุนา สาธุ = ความดี อันคนดีทำง่าย

สาธุ ปาเปน ทุกฺกรํ = ความดี อันคนชั่วทำยาก


ความคิดเห็น 22    โดย seree  วันที่ 14 มิ.ย. 2549

การเพียรฟังพระธรรม

เป็นการสะสมอบรมปัญญาไปทีละเล็กทีละน้อย

แม้ในอดีตเราสะสมมาน้อยในชาตินี้เราก็เริ่มสะสมให้ค่อยๆ มากขึ้นได้


ความคิดเห็น 23    โดย seri  วันที่ 17 มิ.ย. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 3

บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ

ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีไปในท่ามกลางมหา-

สมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีเข้าไปสู่ซอก

ภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ (เพราะ) เขาอยู่

แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด ความตายพึงครอบงำ

ไม่ได้ ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่.


ความคิดเห็น 24    โดย aoy  วันที่ 12 ธ.ค. 2549

..เธอจงระวังความคิดของเธอ เพราะความคิดของเธอจะกลายเป็นความประพฤติของเธอ..

..เธอจงระวังความประพฤติของเธอ เพราะความประพฤติของเธอ

จะกลายเป็นความเคยชินของเธอ..

..เธอจงระวังความเคยชินของเธอ เพราะความเคยชินของเธอจะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ..

..เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ เพราะอุปนิสัยของเธอจะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต..


ความคิดเห็น 25    โดย lovedhamma  วันที่ 15 เม.ย. 2554

ตั้งตนอยูในสิ่งที่ดีงาม ทำกุศลโดยกาย วาจา และ จิตใจ