[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 358
๑๐. สังขปาลจริยา
ว่าด้วยจริยาวัตรของสังขปาลนาคราช
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 74]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 358
๑๐. สังขปาลจริยา
ว่าด้วยจริยาวัตรของสังขปาลนาคราช
[๒๐] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นพระยานาค ชื่อสังขปาละ มีฤทธิ์มาก มีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษแรงกล้า มีลิ้นสองแฉก เป็นใหญ่กว่านาคทั้งหลาย เราอธิษฐานอุโบสถมีองค์ ๔ ประการว่า ผู้ใดมีกิจด้วยผิวหนังก็ดี เนื้อก็ดี เอ็นก็ดี กระดูกก็ดี ของเรา ผู้นั้นจงนำเอาอวัยวะที่เราให้แล้วนี้ไปเถิด แล้วสำเร็จการอยู่ ณ สถานที่ใกล้ทางใหญ่สี่แยก อันเกลื่อนกล่นด้วยหมู่ชนต่างๆ พวกบุตรของนายพรานเป็นคนดุร้าย หยาบช้า ไม่มีกรุณา ได้เห็นเราแล้ว มีมือถือไม้พลองตะบองสั้นกรูกันเข้ามาหาเรา ณ ที่นั้น พวกบุตรนายพรานเอาหอกแทงเราที่จมูก ที่หาง ที่กระดูกสันหลัง แล้วเอาหวายร้อยหามเราไป ถ้าเราปรารถนา ก็พึงยังมหาปฐพีอันมีสมุทรสาครเป็นที่สุด พร้อมทั้งป่า ทั้งภูเขา ให้ไหม้ด้วยลมจมูกในที่นั้นๆ แต่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 359
เราไม่โกรธเคืองพวกบุตรนายพราน แม้จะแทงด้วยหลาว แม้จะทิ่มด้วยหอก นี้เป็นศีลบารมีของเรา ฉะนี้แล.
จบ สังขปาลจริยาที่ ๑๐
อรรถกถาสังขปาลจริยาที่ ๑๐
พึงทราบวินิจฉัยในอรรถกถาสังขปาลจริยาที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.
ความสังเขปในบทว่า สงฺขปาโล เป็นต้น มีดังนี้. ชื่อว่า มหิทฺธิโก มีฤทธิ์มาก เพราะประกอบด้วยฤทธิ์ของนาคใหญ่เช่นกับโภคสมบัติของเทพ. ชื่อว่า ทาาวุโธ มีเขี้ยวเป็นอาวุธ เพราะมีเขี้ยวเป็นอาวุธ ๔ เขี้ยว คือข้างล่าง ๒ ข้างบน ๒. ชื่อว่า โฆรวิโส มีพิษแรงกล้า เพราะมีพิษมีเดชสูง. ชื่อว่า ทวิชิวฺโห มีลิ้นสองแฉก เพราะประกอบด้วยลิ้นสองแฉก สำเร็จมาแต่กำเนิดนาค. ชื่อว่า อุรคาภิภู เป็นใหญ่กว่านาคทั้งหลาย เพราะความเป็นใหญ่กว่านาคทั้งหลาย อันได้ชื่อว่า อุรค เพราะไปด้วยอกแม้ของนาคผู้มีอานุภาพใหญ่. ในทาง ๒ แยก กล่าวคือที่ที่นั้น ทางสองสายทะลุติดต่อกันไป. ในทางใหญ่ คือเป็นที่ที่มหาชนสัญจรไปมาเสมอๆ. อันเกลื่อนกล่นด้วยหมู่ชนต่างๆ เพราะจากที่นั้นมีมหาชนมากมาย. องค์ ๔ ด้วยสามารถแห่งองค์ ๔ ซึ่งจะกล่าวในบัดนี้. บทว่า อธิฏฺาย คืออธิษฐานได้แก่ตั้งใจ. เมื่อใดเราเป็นนาคราชมีรูปตามที่กล่าวแล้ว ชื่อว่าสังขบาล. เมื่อนั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 360
เราสำเร็จการอยู่ในที่ดังกล่าวแล้วในหนหลัง คือสำเร็จการอยู่ด้วยการอยู่จำอุโบสถ.
จริงอยู่ พระมหาสัตว์เป็นผู้ขวนขวายในบุญ มีทานและศีลเป็นต้น ท่องเที่ยวไปมาในคติของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยการแสวงหาโพธิญาณ บางครั้งเกิดในนาคพิภพอันมีสมบัติเช่นกับสมบัติของเทพ เป็นนาคราชชื่อว่าสังขปาละ. มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก. นาคราชนั้น เมื่อกาลผ่านไป รังเกียจสมบัตินั้นปรารถนากำเนิดมนุษย์ จึงอยู่จำอุโบสถ. เมื่อนาคราชนั้นอยู่ในนาคพิภพ การอยู่รักษาอุโบสถไม่สมบูรณ์. ศีลจักเศร้าหมอง. ด้วยเหตุนั้น นาคราชจึงออกจากนาคพิภพ ล้อมจอมปลวกแห่งหนึ่งในระหว่างทางใหญ่ และทางเดินทางเดียว ไม่ไกลแม่น้ำ กัณหวรรณา แล้วอธิษฐานอุโบสถ สมาทานในวัน ๑๔ - ๑๕ ค่ำ เป็นปกติ. อธิษฐานว่า ผู้ต้องการหนังเป็นต้นของเราจงเอาไป สละตนให้เป็นทานแล้วนอน. วันค่ำหนึ่งจึงไปนาคพิภพ. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า. อีกเรื่องหนึ่งในกาลเมื่อเราเป็นนาคราช ชื่อว่า สังขปาละ มีฤทธิ์มากเป็นต้น.
ท่านกล่าวบทว่า จตุโร องฺเค อธิฏฺาย อธิษฐานองค์ ๔ มีผิวหนัง เป็นต้น ไว้ในที่นี้ เป็นการแสดงถึงอธิษฐานมีองค์ ๔. เพราะผิวหนังเป็นองค์หนึ่งในที่นี้. เมื่อพระมหาสัตว์อยู่จำอุโบสถอย่างนี้ กาลล่วงไปยาวนาน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 361
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อสังขปาลนาคราชสมาทานศีลอย่างนั้นแล้วนอน บุตรของพราน ๑๖ คน คิดกันว่าจะหาเนื้อ จึงถืออาวุธเที่ยวไปในป่า ครั้นไม่ได้อะไรๆ ก็กลับเห็นนาคราชนั้นนอนอยู่บนยอดจอมปลวก คิดว่า วันนี้เราไม่ได้อะไรเลย แม้แต่ลูกเหี้ย. เราจักฆ่านาคราชนี้กิน แต่นาคราชนี้ใหญ่มาก เมื่อเข้าไปจับคงหนีไป ดังนั้นจึงคิดกันว่า เราจงเอาหลาวแทงนาคราชนั้นทั้งๆ ที่นอนอยู่นั่นแหละที่ขนด ทำให้อ่อนกำลังแล้วจึงจับ จึงถือหลาวเข้าไปหา. แม้พระโพธิสัตว์ก็มีร่างกายใหญ่ประมาณเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง ดุจพวงดอกมะลิที่ร้อยวางไว้งามยิ่งนัก ประกอบด้วยดวงตาเช่นกับผลมะกล่ำ และศีรษะเช่นกับดอกชบา. นาคราชนั้นโผล่ศีรษะจากระหว่างขนด เพราะเสียงเท้าของคน ๑๖ คนเหล่านั้น ลืมตาสีแดงเห็นคน ๑๖ คนถือหลาวเดินมา คิดว่าวันนี้ความปรารถนาของเราจักถึงที่สุด ได้มอบตนให้เป็นทานแล้ว ตั้งจิตอธิษฐานแน่วแน่ เพราะกลัวศีลของตนจะขาดว่า เราจะไม่แลดูชนเหล่านี้ ซึ่งเอาหลาวแทงร่างกายของเรา ทำให้เป็นช่องเล็กช่องใหญ่ จึงสอดศีรษะเข้าไปในระหว่างขนดนอนต่อไป.
ลำดับนั้น บุตรพรานเหล่านั้นจึงเข้าไปจับนาคราชนั้นที่หางฉุดลงมา ตกบนแผ่นดิน เอาหลาวคมกริบแทงในที่ ๘ แห่ง สอดท่อนหวายดำพร้อมด้วยหนามเข้าไปทางปากเพื่อประหาร เอาคานหามในที่ ๘ แห่ง เดินไปสู่ทางหลวง. พระมหาสัตว์ตั้งแต่ถูกแทงด้วยหลาวก็หลับหามิได้มองดูลูกพราน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 362
เหล่านั้นแม้ในทีเดียว. นาคราชนั้นเมื่อลูกพรานเอาคาน ๘ อันหามนำไป ห้อยศีรษะกระทบแผ่นดิน. ลำดับนั้นพวกลูกพรานเห็นว่าศีรษะนาคราชห้อย จึงให้นาคราชนั้นนอนบนทางหลวง เอาหลาวแหลมแทงที่ดั้งจมูกสอดเชือกเข้าไปยกศีรษะขึ้น แล้วคล้องที่ปลายคานยกขึ้นอีก เดินทางต่อไป. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
พวกลูกพรานเป็นคนดุร้าย หยาบช้า ไม่มีกรุณา ได้เห็นเราแล้ว ถือไม้พลองตะบองสั้นกรูกันเข้ามาหาเรา ณ ที่นั้น พวกลูกพรานเอาหอกแทงเราที่จมูก ที่หาง ที่กระดูกสันหลัง แล้วสอดคานหามเราไป.
ถ้าเราปรารถนา ก็พึงยังมหาปฐพี อันมีสมุทรสาครเป็นที่สุด พร้อมทั้งป่า ทั้งภูเขา ให้ไหม้ด้วยลมจมูกในที่นั้นๆ.
แต่เราไม่โกรธเคืองลูกพรานทั้งหลาย แม้จะแทงด้วยหลาว แม้จะทุบตีด้วยหอก. นี้เป็นศีลบารมีของเรา ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 363
ในบทเหล่านั้น บทว่า โภชปุตฺตา คือลูกพราน.
บทว่า ขรา คือดุร้าย ได้แก่พูดหยาบ.
บทว่า ลุทฺทา คือหยาบช้า ได้แก่มีใจร้าย.
บทว่า อการุณา คือไม่มีความสงสาร.
บทว่า ทณฺฑมุคฺครปาณิโน คือถือกระบอง ๔ เหลี่ยม.
บทว่า นาสาย วินิวิชฺฌิตฺวา คือเอาหลาวแทงเราที่จมูกเพื่อสอดเชือกเข้าไป.
บทว่า นงฺคุฏฺเ ปิฏฺถณฺฏเก ที่หางที่กระดูกสันหลัง. พึงทราบการเชื่อมความว่า แทงที่หางและที่นั้นๆ อันใกล้กับกระดูกสันหลัง.
บทว่า กาเช อาโรปยิตฺวาน สอดคาน คือลูกพรานสองคน ยกคานข้างละคนที่แทงไว้ในข้างหนึ่งๆ ในบริเวณของหวายและเถาวัลย์ ๘ แห่งที่แทงผูกไว้ในที่ทั้ง ๘ ขึ้นบ่าของตนๆ.
บทว่า สสาครนฺตํ ปวึ คือ มหาปฐพีอันมีสมุทรสาครเป็นที่สุด.
บทว่า สกานนํ สปพฺพตํ คือพร้อมด้วยป่าและภูเขา.
บทว่า นาสาวาเตน ฌาปเย ความว่า ถ้าเราต้องการอยู่ ปรารถนาอยู่ โกรธแล้วพึงปล่อยซึ่งลมจมูก ยังมหาปฐพีนี้อันมีมหาสมุทรเป็นที่สุด พร้อมด้วยป่าและภูเขาให้ไหม้. คือพึงทำให้เป็นเถ้าถ่านพร้อมกับด้วยการให้ไหม้ด้วยลมจมูก. ในกาลนั้น อานุภาพของเราเป็นเช่นนี้. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ถึงจะแทงด้วยหลาว ถึงจะทิ่มด้วยหอก.
บทว่า โภชปุตฺเต น กุปฺปามิ ความว่า เราก็ไม่โกรธลูกพราน คือเราไม่โกรธลูกพรานผู้ดุร้าย แม้จะแทงด้วยหลาวอันคมกริบที่ถากทำด้วยไม้แก่นเพื่อทำให้หมดกำลัง และเมื่อสอดหวายและเถาวัลย์เข้าไปในที่ ๘ แห่ง และแม้จะทิ่มด้วยหลาวอันคมกริบ เพื่อทำให้หมดกำลังในที่นั้นๆ.
บทว่า เอสา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 364
เม สีลปารมี นี้เป็นศีลบารมีของเรา คือการที่เราผู้มีอานุภาพมากอย่างนี้ อธิษฐานอย่างนั้น ไม่โกรธลูกพรานเพราะกลัวศีลจะขาด นี้เป็นศีลบารมีของเรา ซึ่งเป็นไปแล้วโดยความไม่คำนึงถึงชีวิตโดยส่วนเดียวเท่านั้น. อธิบายว่า เป็นปรมัตถบารมี ด้วยอำนาจของศีล.
อนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์ถูกพวกลูกพรานนำไป กุฎุมพีชื่ออาฬาระชาวเมืองมิถิลา นำเกวียน ๕๐๐ นั่งอยู่บนยานอันสำราญไปเห็นพวกลูกพรานเหล่านั้น กำลังนำพระมหาสัตว์ไป ก็เกิดความสงสาร ถามลูกพรานเหล่านั้นว่า พวกท่านนำนาคราชนี้ไปทำไม? พวกท่านจักนำไปทำอะไร? พวกลูกพรานตอบว่า พวกเราจักปิ้งเนื้ออร่อยอ่อนอ้วนของนาคนี้กิน. กุฎุมพีนั้นจึงให้โคใช้งาน ๑๖ ตัว ทองคำฟายมือหนึ่งแก่พวกลูกพรานเหล่านั้น ผ้านุ่งห่มแม้แก่ภรรยาของทุกคน วัตถุสิ่งของที่ระลึกแก่พวกลูกพราน แล้วกล่าวว่า นาคนี้เป็นนาคราชมีอานุภาพมากโดยชอบ. ไม่ประทุษร้ายพวกท่านด้วยศีลคุณของตน. พวกที่ทำให้นาคราชนี้ลำบากเป็นบาปมาก. ปล่อยเสียเถิด. พวกลูกพรานเหล่านั้นกล่าวว่า นาคนี้เป็นอาหารเอร็ดอร่อยของพวกเรา. พวกเราไม่เคยกินนาคเลย. เอาเถิดพวกเราบูชาถ้อยคำของท่าน. เพราะฉะนั้นเราจะปล่อยนาคนี้. แล้วปล่อยให้พระมหาสัตว์นอนบนพื้นดิน เพราะความหยาบช้าของตนๆ จึงจับที่ปลายหวายและเถาวัลย์ที่ร้อยไว้ด้วยหนามเหล่านั้นเตรียมจะกระชาก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 365
ลำดับนั้น กุฎุมพีเห็นนาคราชลำบาก จึงทำไม่ให้ลำบากด้วยการเอาดาบตัดเถาวัลย์ ค่อยๆ ดึงออกไม่ให้เจ็บปวด ทำนองเดียวกับการนำเครื่องเจาะหูของทารกทั้งหลายออก. ในกาลนั้น ลูกพรานทั้งหลายช่วยกันค่อยๆ ดึงเครื่องผูกมัดที่สอดสวมออกจากจมูกของนาคราชนั้น. สักครู่หนึ่งพระมหาสัตว์ก็บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกมองดูอาฬาระด้วยตาเต็มไปด้วยน้ำตา. พวกพรานไปได้หน่อยหนึ่ง แอบปรึกษากันว่า นาคอ่อนกำลัง เมื่อนาคตาย พวกเราจักเอานาคนั้นไป. อาฬารกุฎุมพีไหว้พระมหาสัตว์กล่าวว่า จงไปเถิดมหานาค. พวกพรานจะไม่จับท่านอีกแล้ว ได้ตามไปส่งนาคราชนั้นหน่อยหนึ่ง แล้วก็กลับ.
พระโพธิสัตว์ไปยังนาคพิภพไม่ทำให้เสียเวลาในนาคพิภพนั้น ออกไปพร้อมด้วยบริวารใหญ่ เข้าไปหาอาฬาระพรรณนาคุณของนาคพิภพ แล้วนำอาฬาระไปในนาคพิภพนั้น ให้ยศยิ่งใหญ่พร้อมด้วยนางนาคกัญญา ๓๐๐ แก่อาฬาระ. ให้อาฬาระเอิบอิ่มด้วยกามทิพย์. อาฬาระอยู่ในนาคพิภพได้หนึ่งปี บริโภคกามทิพย์ จึงบอกแก่นาคราชว่า สหาย ข้าพเจ้าปรารถนาจะบวช จึงถือเอาบริขารของบรรพชิตออกจากนาคพิภพนั้น ไปหิมวันตประเทศแล้วบวชอาศัยอยู่ ณ หิมวันตประเทศนั้นเป็นเวลาช้านาน ต่อมา เที่ยวจาริกไปถึงกรุงพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีทอดพระเนตรเห็น ทรงเลื่อมใสอาจารสมบัติ ตรัสถามว่า พระคุณท่านบวชจากตระกูลที่มีสมบัติมาก. เพราะเหตุไรจึงบวช เมื่อจะทูลถึงเหตุที่ตนบวช จึงทูลเรื่องราวทั้งหมด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 366
ตั้งต้นแต่การขอให้พวกพรานปล่อยพระโพธิสัตว์จากเงื้อมมือแด่พระราชา แล้วแสดงธรรมด้วยคาถาทั้งหลายเหล่านี้ว่า :-
มหาบพิตร แม้กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ เป็นสิ่งไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา อาตมาภาพก็ได้เห็นแล้ว อาตมาภาพเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงบวชด้วยศรัทธา มหาบพิตร มนุษย์ทั้งหลาย ทั้งหนุ่ม ทั้งแก่ ตายหมด เหมือนผลไม้ในป่าหล่น ฉะนั้น อาตมาภาพเห็นดังนั้น จึงบวช ความเป็นสมณะไม่ผิด เป็นสิ่งประเสริฐ.
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า :-
ผู้มีปัญญาเป็นพหูสูต มีความคิดถึงฐานะมาก ควรคบแน่นอน ท่านอาฬาระ ข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องนาคราชและเรื่องท่านแล้ว จักกระทำบุญไม่น้อยทีเดียว.
ลำดับนั้น พระดาบสแสดงธรรมถวายพระราชาอย่างนี้ว่า :-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 367
ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต มีความคิดถึงฐานะมาก ควรคบ ข้าแต่ราชะ พระองค์ทรงสดับเรื่องราวของนาคราชและของอาตมาภาพแล้ว ขอจงทรงทำบุญไม่น้อยเถิด.
พระดาบสพักอยู่ ณ กรุงพาราณสีนั้นตลอดฤดูฝน ๔ เดือนแล้วไปหิมวันตประเทศ เจริญพรหมวิหาร ๔ ตลอดชีวิต ก็ได้เข้าถึงพรหมโลก. แม้พระโพธิสัตว์ก็อยู่จำอุโบสถตลอดชีวิตก็ได้ไปสู่สวรรค์. แม้พระราชานั้นก็ทรงทำบุญมีทานเป็นต้น แล้วก็ไปตามยถากรรม.
อาฬาระในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตรในครั้งนี้. พระเจ้าพาราณสี คือพระอานนท์เถระ. สังขปาลนาคราช คือพระโลกนาถ.
การบริจาคสรีระของนาคราชนั้นเป็นทานบารมี. การที่นาคราชผู้ประกอบด้วยเดชเป็นพิษเห็นปานนั้น เมื่อมีการเบียดเบียนก็ไม่ทำลายศีล ชื่อว่า ศีลบารมี. การละโภคสมบัติเช่นกับโภคสมบัติของเทพ แล้วออกจากนาคพิภพ บำเพ็ญสมณธรรม ชื่อว่า เนกขัมมบารมี. การเตรียมตัวว่าควรทำประโยชน์มีทานเป็นต้น และสิ่งนี้ๆ ชื่อว่า ปัญญาบารมี. การบรรเทากามวิตก และความเพียรด้วยการอดกลั้น ชื่อว่า วีริยบารมี. ความอดทนด้วยความอดกลั้น ชื่อว่า ขันติบารมี. การสมาทานสัจจะ ชื่อว่า สัจจบารมี. การตั้งใจสมาทานไม่หวั่นไหว ชื่อว่า อธิษฐานบารมี. ความเป็นผู้มีเมตตา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 368
และความเอ็นดูในสรรพสัตว์ทั้งหลาย หมายถึงมวลลูกพราน ชื่อว่า เมตตาบารมี. ความเป็นกลางในเวทนา และความผิดปกติที่ทำแล้วในสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่า อุเบกขาบารมี เป็นอันได้บารมี ๑๐ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้. แต่ศีลบารมีเท่านั้นที่ท่านยกขึ้นสู่เทศนา ทำให้เป็นบารมีมีความยิ่งยวดอย่างยิ่ง. อนึ่ง คุณานุภาพของพระโพธิสัตว์ในจริยานี้ พึงประกาศโดยนัยดังกล่าวแล้วในภูริทัตตจริยามีอาทิว่า โยชนสติเก นาคภวนฏฺาเน ในที่ตั้งนาคพิภพ ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ดังนี้.
จบ อรรถกถาสังขปาลจริยาที่ ๑๐
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 369
ชี้แจงเรื่องบารมีโดยวิเศษ
บทว่า เอเต คือจริยามีหัตถินาคจริยาเป็นต้น ที่แสดงแล้วในวรรคนี้ และจริยา ๙ ที่รวบรวมแสดงด้วยหัวข้อมีอาทิว่า หตฺถิ นาโค ภูริทตฺโต หัตถินาคจริยา ภูริทัตตจริยาเหล่าใด ทั้งหมดเหล่านั้น ชื่อว่า สีลพลา เพราะมีศีลเป็นกำลัง โดยความเป็นไปด้วยการบำเพ็ญศีลบารมีเป็นพิเศษ. ชื่อว่า ปริกฺขารา เพราะปรับปรุงศีลอันเป็นปรมัตถบารมีและเพราะปรับปรุงสันดานด้วยอำนาจแห่งการอบรม. ชื่อว่า ปเทสิกา สปฺปเทสา คือยังมีการสละให้ เพราะศีลปรมัตถบารมีอันถึงความอุกฤษฏ์ยังไม่สมบูรณ์. คือไม่ให้ก็ไม่ใช่. หากถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะรักษาชีวิต แล้วจักตามรักษาศีล อธิบายว่า เพราะบรรดาจริยาทั้งหลาย มีหัตถินาคจริยาเป็นต้นเหล่านั้น เรารักษาชีวิตของตนโดยเป็นเอกเทศเท่านั้น แล้วตามรักษาศีล. เรามิได้สละชีวิตโดยประการทั้งปวง. แต่เมื่อเราเป็นสังขปาลนาคราช มีอานุภาพมาก มีเดชคือพิษสูง ชีวิตของเราถูกพรานเหล่านั้นรวมหัวกัน มิได้จำแนกบุคคลทั้งก่อนทั้งหลัง นำไปโดยส่วนเดียวเท่านั้น. เราสละชีวิตที่ถูกเขานำไปให้เป็นทาน เพื่อตามรักษาศีลเท่านั้น. เพราะฉะนั้น จริยานั้นถึงความเป็นปรมัตถบารมี จึงเป็นศีลบารมีของเรา ท่านแสดงไว้ด้วยประการฉะนี้.
จบ อรรถกถาทุติยวรรค
เป็นการชี้แจงศีลบารมีโดยวิเศษอันสงเคราะห์เข้าในจริยา ๑๐ อย่าง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 370
รวมจริยาที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สีลวนาคจริยา ๒. ภูริทัตตจริยา ๓. จัมเปยยกจริยา ๔. จูฬโพธิจริยา ๕. มหิสราชจริยา ๖. รุรุมิคจริยา ๗. มาตังคจริยา ๘. ธรรมเทวปุตตจริยา ๙. ชยทิสจริยา ๑๐. สังขปาลจริยา จริยาทั้งหมดนี้เป็นกำลังของศีล เป็นบริขารของศีล เราได้สละชีวิตตามรักษาศีล เราผู้เป็นสังขปาลนาคราช ได้มอบชีวิตให้แก่คนใดคนหนึ่ง แม้ตลอดกาล ทุกเมื่อ เหตุนั้น จริยานั้นจึงเป็นศีลบารมี ฉะนี้แล.
จบ สีลบารมีนิเทส