[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 264
ข้อความบางตอนจาก
กกจูปมสูตร
[๒๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีด้ามสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้นภิกษุหรือภิกษุณีรูปใด มีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น ภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิตไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายพวกเธอพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล
[๒๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอควรใส่ใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้เนืองนิตย์เถิด พวกเธอจะไม่มองเห็นทางแห่งถ้อยคำที่มีโทษน้อยหรือโทษมาก ที่พวกเธอจะอดกลั้นไม่ได้ หรือยังจะมีอยู่บ้าง ไม่มีพระเจ้าข้า เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงใส่ใจถึงโอวาทอันเปรียบได้ ด้วยเลื่อยนี้เนืองนิตย์เถิด ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์และความสุขแก่พวกเธอสิ้นกาลนาน ดังนี้แล
เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก
[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 439
ทรงแสดงความดุร้าย
[๗๖๐]
พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจัก ให้การประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น.
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาสตรา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้.
[๗๖๑]
พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยศาสตรา เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น.
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยศาสตรา ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาสตราอันคม
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้.
[๗๖๒]
พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาสตราอันคม เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น.
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลิดชีพข้าพระองค์ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาสตราสังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาสตราสังหารชีพแล้ว
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้.
[๗๖๓]
พ. ดีละๆ ปุณณะ. เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะดังนี้แล้ว จักอาจเพื่อจะอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้แล ดูก่อนปุณณะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด.
ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวรเดินทางจาริกไปยังที่ตั้งสุนาปรันตชนบท เมื่อจาริกไปโดยลำดับ ได้ลุถึงสุนาปรันตชนบทแล้ว.
[๗๖๔]
เป็นอันว่า ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะได้ให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง กลับใจแสดงตนเป็นอุบาสิกาประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน ครั้นสมัยต่อมา ท่านได้ปรินิพพานแล้ว
[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 22
อรรถกถา รัตนสูตร
พระราชาผู้ประกอบด้วยธรรม เช่นกับฤาษี ชนะแผ่นดินอันประกอบด้วยหมู่สัตว์เจริญรอยตามกัน บูชายัญเหล่าใด คือ
อัสสเมธะ ๑ (ทรงพระปรีชาในการบำรุงสัตว์ พาหนะมีม้า เป็นต้น)
ปุริสเมธะ ๑ (ทรงพระปรีชาในการเกลี้ยกล่อมประชาชน ๑)
สัมมาปาสะ ๑ (ทรงมีพระอัธยาศัยดุจบ่วงคล้อง น้ำใจประชาชน ๑)
วาชเปยยะ ๑ (ทรงมีพระวาจาเป็นที่ดูดดื่มใจคน ๑)
นิรัคคฬะ (ทรงปกครองพระนครไม่ต้องมีกลิ่นกลอน ๑)
มหายัญเหล่านั้น ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตา จิตที่อบรมดีแล้ว ถ้าหากว่าบุคคลไม่มีจิตประทุษร้าย ย่อมแผ่เมตตาไปยังสัตว์แม้ตัวหนึ่ง เพราะเหตุนั้น กุศลจึงมี ผู้มีใจเกื้อกูลต่อสัตว์ทั้งปวงเป็นผู้ประเสริฐทำบุญมาก
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขออนุโมทนาครับ
ทนไม่ได้ ใช่ไหม แล้วอกุศลของตัวเองล่ะ ทนได้หรือเปล่า ก็ไม่ต่างกันนี่ ...
จากความเห็นที่ 7 ...
ท่านกรุณาขยายความได้ไหมคะ อ่านแล้วไม่เข้าใจค่ะ.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เวลาเราเห็นความไม่ดีของคนอื่น ก็จะว่าหรือคิดตำหนิในทางที่ไม่ดี เป็นต้น แต่พอเราทำสิ่งที่ไม่ดี อย่างเดียวกัน ก็ไม่ได้คิดตำหนิตัวเองอะไร เหมือนกับคนอื่น ทั้งๆ ที่เป็นอกุศลเหมือนกันครับ เพราะความที่รักตัวเอง หรือ ความผิด อกุศลของคนที่เรารัก เมื่อเกิดขึ้น เราก็ไม่ว่าตำหนิอะไรมาก ต่างกับ ถ้าเป็นคนที่เราไม่ชอบ แต่ทำผิดหรือเป็นอกุศลเหมือนกับคนที่เรารัก เราก็ตำหนิมาก ไม่ชอบมาก ทั้งที่สภาพธัมมะก็อย่างเดียวกัน คืออกุศลครับ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ไม่ใช่ทุกคน ที่คิดอย่างนั้น ตราบใดที่ยังมี ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม. และความเป็นผู้ตรง ...
ขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบอนุโมทนาค่ะ