อยากทราบว่าพระอนาคามีที่สิ้นชีวิตระหว่างอยู่ในภาวะนิโรธสมาบัติ ท่านจะไปภพไหน
และพระอรหันตร์ที่ทำนิโรธสมาบัติอยู่ ถ้าสิ้นชีวิตไปจะไปที่ใด
สุธน ธนพิทักษ์
ผู้ที่อยู่ระหว่างเข้าฌาน หรือเข้านิโรธสมาบัติจะสิ้นชีวิตไม่ได้ คือต้องออกจาก
สมาบัติก่อน จุติจิตจึงเกิดได้ โดยปกติพระอนาคามี เมื่อสิ้นชีวิตย่อมเกิดบนพรหมโลก
สำหรับพระอรหันต์เมื่อสิ้นชีวิต เรียกว่า ปรินิพพาน คือดับไม่มีอะไรเหลือจึงไม่มีการ
เกิดใหม่อีก
ถ้าท่านได้รับอุบัติเหตุ ระหว่างอยู่ในนิโรธสมาบัติ หรือถูกลอบทำร้ายละ ท่านจะ
ไม่สิ้นชีพได้หรือ
ผู้ที่อยู่ระหว่างการเข้านิโรธสมาบัติไม่มีผู้ใดทำอันตรายใดๆ ได้เลย แม้แต่ผ้าที่
ท่านห่มอยู่ก็ไม่สามารถทำให้สูญเสียจากภัยใดๆ ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงร่างกายและ
ชีวิตของท่าน
ทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิ เห็นจากประสบการณ์จริงหรือ
ในพระไตรปิฎก และอรรถกถาแสดงไว้มากมาย เช่น นันทยักษ์ ใช้ตะบองใหญ่ทำ
ร้ายท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่านเข้านิโรธสมาบัติอยู่กลางแจ้ง เมื่อยักษ์ตีท่านไม่ได้รับ
อันตรายเลย และอดีตชาติของนางสามาวดีไปเผาพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งท่านเข้า
นิโรธสมาบัติอยู่ ปรากฏว่าบริขาร และร่างกายของท่านไม่ได้ รับอันตรายจากไฟเลย
และยังมีเรื่องอื่นๆ ในพระไตรปิฎกอีกมาก โปรดศึกษาด้วยตัวท่านเอง ท่านจะได้รับ
ความกระจ่างในเรื่องนี้ และในวิสุทธิมรรคได้กล่าวถึงก่อนเข้านิโรธสมาบัติผู้ที่จะเข้า
ต้องมีอธิษฐานให้บริขารไม่เป็นอันตรายจากภัยใดๆ เลย
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 291
[นานาพัทธอวิโกปนะ]
ในบุพกิจ ๔ นั้น ข้อว่า "นานาพัทธอวิโกปนะ-ไม่ยังพัสดุที่เนื่อง ด้วยภิกษุต่างรูปให้กำเริบ" มีอรรถาธิบายว่า พัสดุสิ่งใดมิใช่เป็นของ เนื่องกับภิกษุนี้แต่ผู้เดียว (แต่) เป็นของเนื่องกับภิกษุต่างรูป (ใช้ด้วยกัน) อยู่ เป็นบาตรจีวรก็ดี เตียงตั่งก็ดี เป็นเรือนที่อยู่ก็ดี หรือของเป็นบริขารอะไรๆ อื่นก็ดี พัสดุนั้นจะไม่กำเริบ คือจะไม่เสียไปด้วยอำนาจอันตรายทั้งหลาย มีไฟ น้ำ ลม โจรและหนูเป็นต้น ด้วยประการใด ก็พึงอธิษฐานด้วยประการนั้น นี่เป็นวิธีอธิษฐานในข้อนั้นคืออธิษฐานว่า "พัสดุนี้ๆ ภายใน ๗ วันนี้ จงอย่างถูกไฟเผา จงอย่าถูกน้ำพัดไป จงอย่าถูกลมทำลาย จงอย่าถูกพวกโจรลัก จงอย่างถูกสัตว์มีหนูเป็นต้นกัด" ครั้นอธิษฐานอย่างนี้แล้ว * อันตรายอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่พัสดุนั้น ตลอด ๗ วัน แต่เมื่อไม่อธิษฐาน พัสดุย่อมวินาสได้ด้วยอันตรายทั้งหลายมีไฟเป็นต้น
(การอธิษฐานมิให้พัสดุเสียหายในเวลาเข้านิโรธ) นี้ ชื่อว่านานาพัทธอวิโกปนะ-ไม่ยังพัสดุที่เนื่องด้วยภิกษุต่างรูปให้กำเริบ ส่วนพัสดุใดเป็นของเนื่องด้วยตนผู้เดียว เป็นผ้านุ่ง ผ้าห่มก็ดี อาสนะที่ตนนั่งก็ดี กิจที่จะต้องอธิษฐานไว้เป็นส่วนหนึ่งในพัสดุนั้นหามีไม่ ผู้เข้านิโรธย่อมคุ้มกันพัสดุนั้นไว้ได้ด้วยอำนาจสมาบัตินั่นเอง ดุจพัสดุของท่านพระสัญชีวะ (ที่กล่าวในอิทธิกถา) จริงอยู่ แม้คำบาลีนี้ก็ได้กล่าวไว้ว่า "ฤทธิ์ปกแผ่ด้วยอำนาจสมาธิของท่านพระสัญชีวะ ฤทธิ์ปกแผ่ด้วยอำนาจสมาธิของท่านพระสารีบุตร " ดังนี้ [อัทธานปริเฉท]
การกำหนดกาลแห่งชีวิต ชื่อว่า อัทธานปริเฉท อันภิกษุ (ผู้จะเข้านิโรธ) นี้ ต้องเป็นผู้ฉลาดอย่างดีในอัทธานปริเฉท ต้องคำนึงดูเที่ยวว่า อายุสังขารของตนจักเป็นไป จักไม่เป็นไปตลอด ๗ วัน แล้วจึงเข้า เพราะถ้าไม่คำนึงดูอายุสังขารซึ่งจะต้องดับในภายใน ๗ วันเสียเลยแล้วเข้าไซร้ นิโรธสมาบัติของเธอย่อมไม่อาจป้องกันความตายได้เธอจะ (ต้อง) ออกจากสมาบัติเสียในระหว่าง (ไม่ครบ ๗ วัน) นั่นเองเพราะความตายภายในนิโรธไม่มี (ต้องออกแล้วจึงตาย) เพราะเหตุนั้น ต้องคำนึงดูกำหนดกาลแห่งชีวิตนั้นแล้วเทียวจึงเข้า ด้วยว่าแม้จะไม่คำนึงถึงบุพกิจที่เหลือ (นอกนี้) ก็ยังได้ แต่กำหนดกาลแห่งชีวิตนี้ท่านว่าต้องคำนึงทีเดียว