การให้ทานเพื่อประโยชน์เกื้อกูลบุคคลอื่น แต่หลังจากให้ทานแล้ว ในเวลาต่อมา นึกเสียดายว่าไม่น่าให้มากถึงขนาดนั้น เพราะผู้ให้อาจอยู่ในฐานะที่ตกต่ำลง การคิดเสียดาย ทำให้อานิสงส์ของทานนั้นเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะทานนั้นสำเร็จไปแล้ว กรุณาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กรรม คือ การกระทำ คือ เจตนาเจตสิกนั่นเอง ที่เป็นไปในฝ่ายกุศล หรือ อกุศล ซึ่งเจตนาเจตสิกที่เป็นไปในฝ่ายกุศล เรียกว่า กุศลเจตนา ซึ่งเป้นไปในกุศลประการต่างๆ เช่น การให้ทาน ก็ต้องมีเจตนาเจตสิก ซึ่งเมื่อกล่าวถึงเจตนาที่เป้นตัวกรรมที่เป็นไปในการทำกรรมประการต่างๆ ก็สามารถมี เจตนาได้ 3 กาล คือ
1. ปุพพเจตนา คือ เจตนาก่อนที่ จะทำกุศล มีทาน เป็นต้น เช่น คิดที่จะให้ทาน ว่า เราจะให้ทานกับผู้นี้ ก็เป็นเจตนาก่อนให้
2. มุญจนเจตนา คือ เจตนา ขณะที่ทำกุศล มีการให้ทาน เป็นต้น ที่เป็นขณะที่ให้
3. อปรเจตนา คือ เจตนาหลังจาก ที่ให้ทาน คือ เจตนาที่เกิด พร้อมกับกุศลจิต เช่น ขณะที่ให้ทานไปแล้ว ก็นึกถึงกุศล คือ ทานที่ให้ไปแล้ว ด้วยจิตโสมนัสในกุศลนั้นว่าเราให้ดีแล้ว ก็ชื่อว่า เป็นเจตนาหลังให้ ที่เกิดกับกุศลจิต ครับ
เพราะฉะนั้น กุศลของบุคคลที่ทำครบ 3 กาล คือ ก่อนให้มีเจตนาที่จะให้ และมีเจตนาที่จะให้ และเมื่อให้แล้ว เกิดจิตโสมนัสในกุศลที่ได้ให้แล้ว ผลของกุศลย่อมมีผลมาก เพราะเกิดชวนจิต คือ กุศลจิตได้ต่อเนื่องนั่นเอง เมื่อกุศลเกิดต่อเนื่องที่เป็นเหตุมาก ผลของบุญก็มากตามกำลังของกุศลที่เกิดบ่อยต่อเนื่องทั้ง 3 กาล ครับ และเมื่อให้แล้วเสียดายภายหลัง อกุศลก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น กำลังของกุศลย่อมน้อยกว่าการที่ให้แล้วไม่เสียดาย คือ ไม่เกิดอกุศล หรือ ให้แล้วเกิดกุศลแช่มชื่น ครับ เพราะมีอกุศลแทรกขึ้น กำลังของกุศลจึงน้อยกว่า อานิสงส์จึงน้อยตามไปด้วย ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทาน เป็นการสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นเกิดขึ้นเป็นไปเป็นบางครั้งบางคราว แต่ละคนสะสมมาไม่เหมือนกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ต้องเข้าใจว่าผลของทานที่ให้ จะมีมากยิ่งขึ้น ถ้าเจตนาของการให้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ เจตนาขณะที่ตัดสินใจที่จะให้ ขณะที่กำลังให้ และหลังจากที่การให้สำเร็จแล้ว เหตุผล ก็คือว่า มีกุศลจิตที่เกิดขึ้นมากกว่า และเพราะกุศลจิตนั้น บริสุทธิ์กว่า ขณะที่ให้แล้วเกิดความเสียดายในภายหลัง ซึ่งก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ที่จะเป็นประโยชน์ คือ การเจริญกุศล ก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลส กุศลเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ควรที่จะอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะเบาสบาย ผ่องใส ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่จิตเป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง แม้ในขณะที่ให้ทาน ไม่ใช่ให้เพื่อหวังผลเป็นสิ่งตอบแทนจากการให้ ถ้าเป็นผู้ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมก็จะทำให้เห็นอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงแล้ว เริ่มขัดเกลากิเลสของตนเอง และเป็นผู้ที่เข้าใจในเหตุในผลมากยิ่งขึ้น ทั้งหมด ย่อมเป็นเพราะได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ถ้าเริ่มเข้าใจพระธรรมไปตามลำดับแล้ว การเจริญกุศลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในขั้นของทาน (การให้ สละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น อันเป็นการสละซึ่งความตระหนึ่) ขั้นของศีล (งดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ และประพฤติในสิ่งทีดีงาม) ขั้นของภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง) ย่อมเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ให้แล้วเสียดาย กุศลอ่อนลง เพราะ มีความตระหนี่ เป็นอกุศลเกิดขึ้น ค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ