ปฐมสุขสูตร และ อัญญติตถิยสูตร ... วันเสาร์ ๗ ส.ค. ๒๕๕๓
โดย บ้านธัมมะ  2 ส.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 16850

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

... สนทนาธรรมที่ ...

••• มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ••

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๗ ส.ค. ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ปฐมสุขสูตร

(ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์และสุข)

จาก ... [เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๓๘ - หน้าที่ ๒๐๗

และ

อัญญติตถิยสูตร

(ว่าด้วยทุกข์ในวาทะ ๔)

จาก ... [เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒๖ หน้าที่ ๑๓๐ - ๑๔๐

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๓๘ - หน้าที่ ๒๐๗

๕. ปฐมสุขสูตร

(ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์และสุข)

[๖๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่นาลกคาม แคว้นมคธ ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อว่าสามัณฑกานิ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนท่านพระสารีบุตร อะไรหนอเป็นเหตุให้เกิดสุข อะไรหนอเป็นเหตุให้เกิดทุกข์. ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ การเกิดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การไม่เกิดเป็นเหตุให้เกิดสุข ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เมื่อมีการเกิด เป็นอันหวังได้ทุกข์นี้คือ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ สัมผัสไฟสัมผัสท่อนไม้ สัมผัสศัสตรา ญาติก็ดี มิตรก็ดี ย่อมมาประชุมพร้อมกัน โกรธเคืองเขา ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เมื่อมีการเกิด เป็นอันหวังได้ทุกข์นี้, ดูก่อนท่านผู้มีอายุเมื่อไม่มีการเกิด เป็นอันหวังได้สุขนี้ คือ ความไม่หนาว ความไม่ร้อน ความไม่หิวความไม่ระหาย ไม่ต้องอุจจาระ ไม่ต้องปัสสาวะ ไม่ต้องสัมผัสไฟ ไม่ต้องสัมผัสท่อนไม้ ไม่ต้องสัมผัสศัสตรา ญาติก็ดี มิตรก็ดี ย่อมไม่มาประชุมพร้อมกัน โกรธเคืองเขา ดูก่อนผู้มีอายุ เมื่อไม่มีการเกิด เป็นอันหวังได้สุขนี้ ดังนี้ .

จบปฐมสุขสูตรที่ ๕

อรรถกถาปฐมสุขสูตรที่ ๕

ปฐมสุขสูตรที่ ๕ .- สามัณฑกานิปริพาชก ถามท่านพระสารีบุตร ถึงสุขทุกข์ที่มีวัฏฏะเป็นมูล.

จบอรรถกถาปฐมสุขสูตรที่ ๕.

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒๖ หน้าที่ ๑๓๐ - ๑๔๐

๔. อัญญติตถิยสูตร

(ว่าด้วยทุกข์ในวาทะ ๔)

(นำมาเพียงบางส่วน)

[๗๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน กรุง-ราชคฤห์. ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้มีความคิดดังนี้ว่าเวลานี้ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาต ในกรุงราชคฤห์ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เถิด ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัยกับปริพา-ชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๗๒] ท่านพระสารีบุตรพอนั่งเรียบร้อยแล้ว พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ได้กล่าวกะท่านดังนี้ว่า ดูก่อนท่านสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย อนึ่ง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดขึ้นเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำ ดูก่อนท่านสารีบุตร ก็ในวาทะทั้ง ๔ นี้ พระสมณโคดมกล่าวไว้อย่างไร บอกไว้อย่างไรพวกข้าพเจ้าพยากรณ์อย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่พระสมณโคดมกล่าวแล้วจะไม่กล่าวตู่พระสมณโคดมด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะพึงติเตียนได้.

[๗๓] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูก่อนท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตาม วาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้ ดูก่อนท่านทั้งหลายในวาทะทั้ง ๔ นั้น แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเอง ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ผู้อื่นทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่าเกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ดูก่อนท่านทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ถึงพวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดเองเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะจะมีได้ ดังนี้. ... ฯลฯ ...



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 2 ส.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปฐมสุขสูตร (ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์และสุข) ปริพาชกชื่อสามัณฑกานิ ได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรถึงเหตุของทุกข์และสุข ว่าเป็นอย่างไร ท่านพระสารีบุตร ได้ตอบว่า การเกิดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การไม่เกิดเป็นเหตุให้เกิดสุข เพราะมีการเกิด จึงมีทุกข์ประการต่างๆ มากมาย คือต้องประสบกับความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ต้องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม การไม่เกิด เป็นเหตุให้เกิดสุข เพราะไม่มีการเกิด จึงไม่ต้องมีทุกข์ ไม่ต้องประสบกับความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหายไม่ต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น จึงเป็นสุข.


ข้อความโดยสรุป

อัญญติตถิยสูตร *

(ว่าด้วยทุกข์ในวาทะ ๔)

อัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนากับท่านพระสารีบุตร ว่า มีวาทะในเรื่องทุกข์ของสมณพราหมณ์ ๔ พวก ดังนี้ คือ

๑. ทุกข์ ตนทำเอง

๒. ทุกข์ ผู้อื่นทำให้

๓. ทุกข์ ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย

๔. ทุกข์ เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่ตนเองทำ ไม่ใช่ผู้อื่นทำให้

แล้วได้ถามท่านพระสารีบุตร ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงในเรื่องนี้ไว้อย่างไรเมื่อกล่าวอย่างไรจึงจะชื่อว่ากล่าวตรงตามพระดำรัสของพระองค์ ท่านพระสารีบุตร ตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า ทุกข์ อาศัยเหตุเกิดขึ้น กล่าวคือ ทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น เมื่อกล่าวอย่างนี้จึงจะชื่อว่ากล่าวตรงตามพระดำรัสของพระองค์, แม้ทุกข์ ตามที่เป็นความเห็นของพวกสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ต้องอาศัยผัสสะเกิดขึ้นทั้งนั้น เว้นผัสสะ เขาจะเสวยทุกข์ นั่น ย่อมเป็นไปไม่ได้.

* หมายเหตุ คำว่า อญฺญติตฺถิย แปลว่า อัญญเดียรถีย์ ตามศัพท์ หมายถึง ผู้แล่นไปสู่ท่าอื่น กล่าวคือ นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ในพระธรรมวินัยนี้ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

ความสุข

ชีวิตที่เหลืออยู่

ทุกข์กาย ... ทุกข์ใจ?

เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

พระอรหันต์สิ้นสุดการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ [คาถาธรรมบท]

ผู้ไม่มีโอกาสยกศีรษะขึ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ [อภัยเถรคาถา]

กลันทกนิวาปสถาน

ฯลฯ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย kinder  วันที่ 3 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย Jans  วันที่ 4 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย orawan.c  วันที่ 4 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย paew_int  วันที่ 5 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 5 ส.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย raynu.p  วันที่ 5 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย dron  วันที่ 6 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย เมตตา  วันที่ 6 ส.ค. 2553

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ...


ความคิดเห็น 10    โดย เข้าใจ  วันที่ 19 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่อรหันตสาวกเจ้า สุปฎิปันโนภควโตสาวกสังโฆ ขอขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งที่กรุณานำเสนอครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย swanjariya  วันที่ 6 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย สิริพรรณ  วันที่ 29 ส.ค. 2560

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ