ความสงสารและความเป็นห่วงเป็นสภาพธรรมลักษณะอย่างไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้่าพระองค์นั้น
ความเป็นจริงของสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แม้คำที่ได้ยินได้ ฟัง ก็ต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงด้วย
ความสงสาร ที่ใช้ในภาษาไทย ความหมายอาจจะเป็นในลักษณะของความเศร้าใจ หดหู่ใจ เมื่อเห็นสัตว์ประสบกับความทุกข์ ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่ เศร้าใจ ทุกข์ใจ นั้นเป็นอกุศล (ประเภทของโทสะ) ไม่ใช่กุศล แต่ความสงสาร ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เป็นกุศลธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี เป็นกรุณาเจตสิก ที่เมื่อ เห็นสัตว์ประสบกับความทุกข์แล้ว มีความปรารถนาที่จะทำการช่วยเหลือเพื่อให้สัตว์ นั้นพ้นจากความทุกข์
ในชีวิตประจำวัน ไม่ค่อยจะได้พบเห็นสัตว์ที่ประสบทุกข์บ่อยนัก จึงเป็นโอกาสของ การอบรมเจริญเมตตา คือ ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน มีไมตรีจิตที่ดีต่อกัน มีความ ปรารถนาดีต่อกัน
-ความเป็นห่วง ไม่พ้นไปจากอกุศลธรรม มาจากความติดข้องยินดีพอใจ นั่นเอง ถ้าหากว่ายังมีกิเลส ยังมีความยินดี ติดข้อง อยู่ตราบใด ความห่วงใย ความทุกข์ใจ ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปอยู่นี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง เริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องในขณะนี้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ความกังวลใจ ความห่วงใย ความทุกข์ใจ ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความสงสาร เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น กรุณาเจตสิก ที่เกิดกับจิตที่ดีงาม ซึ่งลักษณะของ กรุณาเจตสิก คือ
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 208
ธรรมชาติใด เมื่อความทุกข์ของผู้อื่นมีอยู่ ย่อมทำความหวั่นใจ แก่สาธุชนทั้งหลาย เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า กรุณา (แปลว่า ธรรมชาติผู้ทำความหวั่นใจ) นัยหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมซื้อเอาเสีย คือเบียนเอาเสียซึ่งความทุกข์ของผู้อื่น หมายความว่า ทำทุกข์ของ ผู้อื่นให้หายไปเสีย เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า กรุณา
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 210
กรุณา มีความเป็นไปโดยอาการ (คิด) เปลื้องทุกข์ (ของสัตว์ทั้งหลาย) เป็นลักษณะ มีอันทนไม่ได้ต่อความทุกข์ของผู้อื่นเป็นรส มีความไม่เบียดเบียน (สัตว์) เป็นเครื่องปรากฏ มีอันมองเห็นความที่สัตว์ผู้ถูกทุกข์ครอบงำทั้งหลายเป็นผู้อนาถ เป็นเหตุใกล้
- ดังนั้น ลักษณะของ กรุณา ความสงสาร คือ เมื่อเห็นทุกข์ของผู้อื่นแล้ว เกิด จิตที่คิดจะช่วยเหลือ เห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่นด้วยกรุณา แต่ไม่ใช่ด้วยความ เศร้าใจ ซึ่งอาการที่ปรากฎ สำหรับ กรุณาที่เกิดขึ้น คือ ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ ทั้งหลาย และ ย่อมนำประโยชน์เกื้อกูลเขาไปให้เพื่อให้ผู้นั้นพ้นทุกข์ ส่วนเหตุใกล้ให้เกิด กรุณา ความสงสาร คือ เพราะ อาศัยบุคคลที่ประสบทุกข์ เดือดร้อน คือ ได้พบคนที่ตกทุกข์ได้ยาก จึงเกิดจิตที่เป็นกุศล มีความสงสารได้ ครับ ความกรุณา จึงเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม หากแต่ว่า ในการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ที่เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วนั้น ขณะที่เห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ ก็ย่อมสามารถเกิด ความ กรุณาที่เป็น เจตสิกที่ดีงามเกิดขึ้น แต่ขณะจิตต่อไปก็เกิดความเศร้าใจ หดหู่ใจ สมดังในวิสุทธิมรรคแสดงเพิ่มเติมไว้ว่า
ความเกิดขึ้นแห่งความโศก (คือกลายเป็นโศกไป) เป็นวิบัติแห่งกรุณานั้น) หมายถึง ความเศร้าโศก เสียใจ เป็นวิบัติของกรุณา ที่ไม่ใช่กรุณา ครับ ความห่วงใย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง หากจะพิจารณาว่า ความห่วงใย มีลักษณะ อย่างไร และ เป็นสภาพธรรมอย่างไร ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ซึ่งหาก พิจาณาให้ละเอียดแล้วขณะที่ห่วงใย ความรู้สึกเป็นอย่างไร สบายใจหรือไม่สบายใจ ก็ไม่สบายใจเลย เพราะฉะนั้น ความห่วงใย จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นโทสเจตสิก ที่ เกิดร่วมกับ โทสมูลจิตในขณะนั้น ความห่วงใย จึงเป็นลักษณะที่เป็นความขุ่นใจ ไม่สบายใจ อันเป็นลักษณะของโทสเจตสิก ซึ่งมีเหตุมาจากความติดข้อง ยินดี พอใจ ในสิ่งใด สิ่งหนึ่ง ครับ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
รบกวนเรียนถามเพิ่มเติมว่า เหตุใดบางครั้งความเป็นห่วงจึงเกิดมากกับคนคนหนึ่ง ซึ่งมีเหตุให้ห่วงน้อยกว่าอีกคนหนึ่ง นอกจากเพราะความติดข้องพอใจแล้ว เป็น เพราะกรรมหรือเหตุอื่นได้ด้วยหรือไม่คะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ
ธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัยหลายปัจจัย ซึ่งถ้าไม่มีความติดข้องเลย ความห่วงใย ความกังวลในบุคคลต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ดังนั้น ที่กล่าว ถึงก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมที่เป็นความไม่สบายใจ เป็นห่วงกังวล ในบุคคล นั้นๆ มาก น้อย ตามกำลังของความติดข้อง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร
ขอเชิญศึกษาพระธรรม...
รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์
พระไตรปิฎก
ฟังธรรม
วีดีโอ
ซีดี
หนังสือ
กระดานสนทนา
การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)