เข้าใจว่าจิตเป็นวิญญาณขันธ์เป็นธาตุรู้ แต่สังขารเป็นธรรมที่เกิดจากการปรุงแต่ง
ของจิตแสดงว่าจิตทำหน้าที่มากกว่ารับรู้ ช่วยอธิบายให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องโดย
ละเอียด
จิตทั้งหมดมีลักษณะเดียวคือรู้แจ้งอารมณ์ การปรุงแต่งต่างๆ เป็นหน้าที่ของเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ในบางครั้งเป็นที่รู้กันอาจใช้คำว่าการปรุงแต่งของจิต แต่ความจริงเป็นธรรมะที่เกิดร่วมกับจิตปรุงแต่ง เช่น โลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มานะ ทิฏฐิ เป็นต้นธรรมะเหล่านี้เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น
แท้จริงแล้วเจตสิกกับสังขารต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร ช่วยสาธยายเพิ่มเติมด้วย
ขันธ์ทั้งหมดมี ๕ ขันธ์นะคะ เป็นรูปขันธ์ ๑ และเป็นนามขันธ์ ๔ ได้แก่
รูปขันธ์ ๑ คือ รูปปรมัตถ์มี ๒๘ รูป
เวทนาขันธ์ ๑ คือ เวทนาเจตสิก
สัญญาขันธ์ ๑ คือ สัญญาเจตสิก
สังขารขันธ์ ๑ คือ เจตสิกที่เหลือทั้งหมดมี ๕๐ ประเภท
วิญญาณขันธ์ ๑ คือ จิตทุกประเภท
ส่วนโลภเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ค่ะ
โลภะเป็นเจตสิก ๑ ในเจตสิก ๕๒ ประเภท และโลภเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ ๑ ในสังขารขันธ์ ๕๐ ประเภทเวทนาเจตสิก และ สัญญาเจตสิก เป็นเจตสิกที่แยกต่างหากจากสังขารขันธ์ ๕๐ ประเภท เป็นเวทนาขันธ์ และ สัญญาขันธ์
สังขารขันธ์ คือ กองแห่งสังขาร หมายถึง เจตสิก ๕๐ ดวง (สงฺขาร ความปรุงแต่ง) เหตุที่แยกเวทนาและสัญญาออกมา เพราะสัตว์ทั้งหลายสำคัญในเวทนาและสัญญา คือ เวทนาและสัญญาเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่วัฏฏทุกข์