กรรม - วิบากกรรม ๒
โดย ใหญ่ราชบุรี  13 ธ.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 24165

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ข้อความจาก ฟังธรรม-ปกิณณกธรรม ๙๗๖๐ กรรม-วิบากกรรม ๒ คำบรรยายธรรม โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

“เพราะว่าถ้าเราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่างพวกสัตว์เดรัจฉานต่างๆ ที่มีนะคะ ถึงจะอยู่ในห้องนี้ ก็ไม่รู้เรื่อง ก็มีเพียงแค่จิตได้ยิน แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจในสิ่งที่กำลังกล่าวถึง ไม่รู้เรื่องสภาพธัมมะ”

ขอเรียนถามค่ะ แยก ๒ กรณีนะคะ ก. หากเป็นสัตว์ ข. หากเป็นคน

๑. “ไม่รู้เรื่อง” คือสภาพธัมมะใด

๒. เหตุที่ “ไม่รู้เรื่อง” ได้แก่อะไรบ้าง

๓. “จิตได้ยิน” คือสภาพธัมมะใด

๔. เหตุที่“จิตได้ยิน” ได้แก่อะไรบ้าง

๕. “รู้เรื่อง” คือสภาพธัมมะใด

๖. เหตุที่“รู้เรื่อง” ได้แก่อะไรบ้าง

๗. ขอรายละเอียดและอรรถาธิบายเกี่ยวกับพระสูตรที่ค้างคาวฟังธรรม

๘. “จิตฟัง” คือสภาพธัมมะใด

๙.เหตุที่“จิตฟัง” ได้แก่อะไรบ้าง

๑๐. “เข้าใจ” คือสภาพธัมมะใด

๑๑. เหตุที่“เข้าใจ” ได้แก่อะไรบ้าง

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. “ไม่รู้เรื่อง” คือ สภาพธัมมะใด

กรณีของสัตว์เดรัจฉาน ไม่รู้เรื่อง คือ แม้ได้ยินเสียงธรรม แต่ไม่รู้ในอรรถ ความหมาย ที่กำลังกล่าว เพื่อที่จะให้เข้าใจความจริง เพียงแต่ได้ยิน นิมิตของเสียงเท่านั้น แต่ไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจความจริงตามพระธรรมที่กล่าวเป็นเสียง ครับ ส่วนมนุษย์ที่สะสมปัญญามา ก็สามารถเข้าใจ คือ รู้เรื่อง คือ รู้ความหมายแล้วก็เข้าใจในอรรถ ว่า มุ่งหมาย ทรงแสดง ความจริงในเรื่องอะไร และ เกิดปัญญาเข้าใจความจริงในสภาพธรรมแม้ในขั้นการฟังเพิ่มขึ้น ส่วน มนุษย์ ที่ ไม่ได้สะสมปัญญามา ก็รู้ความหมาย แต่ไม่เข้าใจอรรถ ไม่เข้าใจ ในพระธรรมที่พระพุทะเจ้าทรงแสดง ครับ ส่วนมนุษย์ที่ไม่เข้าใจภาษา ก็ได้ยินภาษานั้น เช่น ภาษาต่างประเทศ ก็ไม่เข้าใจแม้ความหมาย แต่ก็ได้ยิน ก็ไม่ต่างจากสัตว์ที่ไม่รู้เรื่อง ในส่วนของการไม่เข้าใจความหมาย ที่ไม่รู้เรื่อง ครับ

๒. เหตุที่ “ไม่รู้เรื่อง” ได้แก่อะไรบ้าง

ที่สำคัญที่สุด ที่ไม่รู้เรื่อง เพราะ กิเลส มีความไม่รู้ คือ อวิชชาเป็นใหญ่ เป็นประธาน ไม่ว่าจะเป็นคน หรือ สัตว์ ครับ

๓. “จิตได้ยิน” คือสภาพธัมมะใด

จิตได้ยิน คือ สภาพธรรมที่เป็นจิต ที่เป็นจิตชาติวิบาก ที่ทำหน้าที่รู้เสียงในขณะนั้น ครับ

๔. เหตุที่ “จิตได้ยิน” ได้แก่อะไรบ้าง

เพราะ อาศัยกรรมในอดีต เป็นปัจจัยทำให้เกิดจิตได้ยิน และ อาศัย หู ที่เป็นโสตปสาทรูป และอาศัย เสียง ที่มากระทบ และ อาศัย เจตสิก อื่นๆ เจ็ดประเภทเกิดร่วมด้วย ทำให้เกิดจิตได้ยิน ครับ รวมความว่า อาศัยเหตุัจจัยหลายๆ ประการ ทำให้เกิดจิตได้ยิน ครับ ไม่ว่าคน หรือ สัตว์ เหตุปัจจัยให้เกิด จิตได้ยินก็ไม่ต่างกัน และ จิตได้ยินของคน หรือ สัตว์ ก็ไม่ต่างกันที่เป็น จิตชาติวิบากทำหน้าที่รู้เสียง ครับ

๕. “รู้เรื่อง” คือสภาพธัมมะใด

รู้เรื่อง ก็มีทั้งรู้ความหมาย ซึ่งเป็นกุศลจิต อกุศลจิตก็ได้ เป็นเจตสิกที่ดี หรือไม่ดีก็ได้ แต่รู้เรื่องด้วยปัญญาก็เป็นอีกระดับหนึ่ง เป็นอโมหเจตสิก หรือปัญญานั่นเอง

๖. เหตุที่“รู้เรื่อง” ได้แก่อะไรบ้าง

รู้เรื่องโดยความหมาย คือ อาศัยจิตที่คิดนึกทางมโนทวาร คิดนึกต่อในความหมายของเสียงนั้น รู้เรื่องเป็นคำๆ ของเรื่องราวนั้น ส่วนรู้เรื่องด้วยปัญญา ก็อาศัย การสะสมปัญญามาในอดีต ทำให้เป็นปัจจัยเมื่อได้ยินสิ่งที่เคยสะสมมาก็เข้าใจ เกิดปัญญา รู้เรื่องในความเป็นจริงมากขึ้น ครับ

๗. ขอรายละเอียดและอรรถาธิบาย เกี่ยวกับพระสูตรที่ค้างคาวฟังธรรม

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า ๓๑๕

ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ภิกษุเหล่านั้นเป็นค้างคาวหนูห้อยอยู่ที่เงื้อมแห่งหนึ่ง เมื่อพระเถระ ๒ รูป จงกรมแล้วท่องอภิธรรมอยู่ ได้ฟังถือเอานิมิตในเสียงแล้ว. ค้างคาวเหล่านั้นไม่รู้ว่า "เหล่านั้น ชื่อว่าขันธ์ เหล่านี้ ชื่อว่าธาตุ" ด้วยเหตุสักว่าถือเอานิมิตในเสียงเท่านั้น จุติจากอัตภาพนั้น แล้วเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว เกิดในเรือนตระกูลในกรุงสาวัตถี เกิดความเลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์ บวชในสำนักของพระเถระแล้ว ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ ก่อนกว่าภิกษุทั้งปวง แม้พระศาสดาก็ทรงแสดงอภิธรรมโดยทำนองนั้นแลตลอด ๓ เดือนนั้น

๘. “จิตฟัง” คือสภาพธัมมะใด

จิตฟัง ก็คือ จิตได้ยิน แต่ ถ้าเป็นจิตที่รู้เรื่อง ความหมาย ก็เป็นจิตที่คิดนึกต่อจากจิตได้ยิน ครับ

๙. เหตุที่ “จิตฟัง” ได้แก่อะไรบ้าง

เหตุที่จิตฟัง ก็คือ จิตได้ยิน ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว ครับ แต่ ถ้าหมายถึง ฟัง ด้วยความคิดนึกตาม ก็เป็นไปตาม นิยามของธรรมที่เกิดจิตได้ยินแล้ว วาระต่อไปก็คิดนึกในความหมายของเสียง หรือ เรื่องราวต่างๆ เพียงแต่จะรู้ความหมาย หรือ รู้เรื่องหรือไม่ ก็ตามแต่เหตุปัจจัยของแต่ละคน ครับ

๑๐. “เข้าใจ” คือสภาพธัมมะใด

ปัญญา คือ ความเข้าใจ เป็นอโมหเจตสิก

๑๑. เหตุที่ “เข้าใจ” ได้แก่อะไรบ้าง

การสะสมปัญญามาในอดีต และ เหตุคือ การคบสัตบุรุษ การฟังธรรมของสัตบุรุษ และการทำบุญไว้ในปางก่อน คือ การสะสมปัญญาในอดีต และ การพิจารณาโดยแยบคายของตนเอง ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 13 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัตว์ดิรัจฉาน ไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถไตร่ตรองพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ ไม่พ้นไปจากอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น

เหตุที่ไม่รู้เรื่อง เพราะสะสมความไม่รู้มานานแสนนาน แม้จะไม่กล่าวถึงสัตว์ดิรัจฉาน กล่าวถึงผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ไม่ใช่ว่าฟังพระธรรมแล้วจะเข้าใจเลย ไม่รู้เรื่อง ก็มี คิดเรื่องอื่น ในขณะที่ฟัง ไม่ได้พิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็ไม่รู้เรื่องเช่นเดียวกัน

จิตได้ยิน เป็นไทย พูดสั้นๆ คือ ได้ยิน จิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่นี้คือ โสตวิญญาณ เป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นผลของกรรม

เหตุที่ทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น นั้น มีหลายอย่าง เพราะสภาพธรรมเกิดขึ้นเองลอยๆ ไม่ได้ต้องอาศัยปัจจจัยหลาย กล่าวคือ ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมกับจิตได้ยิน ต้องมีที่เกิดของจิตได้ยิน ต้องมีเสียงเป็นอารมณ์ และมีกรรมเป็นเหตุให้ได้ยินได้เกิดขึ้น

ถ้ามุ่งถึงรู้เรื่องที่เป็นการเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่เป็นธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ต้องเป็นกิจของปัญญาที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น

เหตุที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ต้องไม่พ้นไปจากเหตุสำคัญคือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ละเว้นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ตนเองมีความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น

ค้างคาว ที่ได้ยินเสียงของพระธรรมแล้ว ถือนิมิตในเสียง เป็นชีวิตในภพหนึ่งชาติที่ประพฤติตามที่เป็นไป และในชาติสุดท้ายค้างคาวเหล่านั้น ได้บวชในพระพุทธศาสนาเป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงพระอภิธรรม

มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม จิตฟัง ขณะนั้น ต้องมีจิต ถ้าไม่มีจิต ก็ไม่ได้ฟัง เมื่อฟังแล้ว ได้ยินแล้ว ก็มีจิตขณะอื่นๆ เกิดสืบต่อ ไม่ได้มีเฉพาะเพียงฟังเท่านั้น เพราะกว่าจะรู้เรื่องรู้ความหมาย ก็มีจิตเกิดดับสืบต่อกันหลายขณะทีเดียว

ธรรม เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปได้ แม้การจะได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็ต้องเป็นผู้เคยเห็นประโยชน์ของพระธรรมมา มีศรัทธาพร้อมที่จะฟัง และฟังแล้วก็พิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

เข้าใจ เป็นภาษาไทย เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูก เห็นถูก ในภาษาไทยไม่มีคำว่าปัญญา (เพราะคำว่าปัญญา หรือ ญาณ เป็นภาษาบาลี) แต่มีคำว่า เข้าใจ ดังนั้น ปัญญา ก็คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็ทำกิจหน้าที่ของปัญญา คือ เข้าใจถูก เห็นถูก เมื่อปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้น ก็สามารถถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ได้ ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น เหมือนอย่างเช่น พระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต ที่ท่านเป็นอย่างนั้นได้ ก็เพราะปัญญาที่ท่านได้สะสมอบรมมา นั่นเอง

การที่ความเข้าใจ จะเจริญขึ้นได้ จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยการอบรมจากการฟัง การศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่สำคัญคือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 13 ธ.ค. 2556

ไม่รู้เรื่อง คือ อวิชชา ความไม่รู้ ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย natural  วันที่ 13 ธ.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 25 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ