ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า
โดย สารธรรม  16 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43948

ข้อความใน มหาสติปัฏฐานสูตร เรื่องอุทเทสวารกถา ซึ่งเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ คือ อานาปานบรรพ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจเข้า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่าเราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักสั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าใจสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า

ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง

พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง

พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง

พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักแต่ว่าความรู้ เพียงสักแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฎฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

จบอานาปานบรรพ

นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก สำหรับอานาปานบรรพคงจะมีพยัญชนะที่ทำให้ยังข้องใจหรือสงสัยอยู่ แต่ข้อสำคัญคือ มหาสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่า ในบรรพนี้จะมีคำว่า เราหายใจเข้า เราหายใจออก เป็นเครื่องระลึกเพื่อให้รู้ชัด คือเห็นกายในกายซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจพยัญชนะด้วย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 85