ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า เหตุ กับคำว่า ปัจจัย ต่างกันอย่างไร
ปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่อุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น หรือดำรงอยู่ตามควรแก่ประเภทของปัจจัยนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกไม่ใช่โลภเจตสิก แต่ทั้งผัสสเจตสิกก็ดี โลภเจตสิกก็ดี เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ธรรมอื่นๆ คือ จิต เจตสิก และรูปเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อสภาพลักษณะและกิจของผัสสเจตสิกต่างกับสภาพลักษณะและกิจของโลภเจตสิก ผัสสเจตสิกจึงเป็นสภาพปัจจัยที่ต่างกับโลภเจตสิก
ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยโดยเป็น อาหารปัจจัย อาหารเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งผล แต่ไม่มั่นคงถึงกับทำให้งอกงามไพบูลย์อย่างรากแก้วของต้นไม้ ส่วนสภาพธรรมที่เป็นเหตุนั้นเป็นปัจจัยโดยความเป็นเหตุ ซึ่งอุปมาเหมือนรากแก้ว ต้นไม้จะเจริญเติบโตโดยมีแต่รากแก้วอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีดิน นํ้าเป็นอาหาร แต่ถ้าขาดรากแก้ว ดิน นํ้า ก็ทำให้ต้นไม้งอกงามไพบูลย์ไม่ได้ ต้นไม้ที่มีรากแก้วกับพืชที่ไม่มีรากแก้วนั้นย่อมเจริญงอกงามไพบูลย์เพราะปัจจัยต่างกันฉันใด เจตสิกอื่นและสภาพธรรมอื่นนอกจากเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ก็เป็นปัจจัย โดยเป็นปัจจัยอื่น ไม่ใช่โดยเป็นเหตุปัจจัย
ในคัมภีร์ปัฏฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ ๗ เป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรมปิฎกนั้น แสดงสภาพธรรมทั้งหลายโดยความเป็นปัจจัยแก่กันและกันโดยประเภทของปัจจัยต่างๆ ปัจจัยแรก คือ เหตุปัจจัย แสดงให้เห็นความสำคัญของสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุ ในงานศพ เมื่อพระภิกษุท่านสวดพระอภิธรรมจะเริ่มต้นด้วย “เหตุปจฺจโย” คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เพื่อเตือนให้รู้ว่าสภาพธรรมซึ่งเป็นตัวเหตุที่จะให้เกิดผลเกิดภพเกิดชาตินั้น ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่ คุณพ่อ คุณแม่ และ สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
-ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ