เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
"ถีนมิทธะและธรรมที่จะละ" กระผมได้อ่านการบรรยายของอาจารย์ในกระทู้เกี่ยวกับความท้อแท้และอาจารย์ได้กรุณาตอบมาว่า มีธรรม 6 ประการที่จะละได้ กระผมขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายธรรมดังกล่าวด้วยครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถีนเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตท้อแท้ เซื่องซึมในอารมณ์ มิทธเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยท้อแท้ เซื่องซึมในอารมณ์ เมื่อเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เกิดขึ้น จะทำให้บุคคลนั้นมีอาการหดหู่ ท้อถอย เกียจคร้านหรือง่วงเหงาหาวนอน
[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 322
เหตุละถีนมิทธะ
แต่ถีนมิทธะนั้น จะละได้ด้วยโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลายมีอารภธาตุเป็นต้น. ความเพียรเริ่มแรก ชื่อว่าอารภธาตุ. ความเพียรที่มีกำลังกว่าอารภธาตุนั้น เพราะออกไปพ้นจากความเกียจคร้านแล้ว ชื่อว่านิกกมธาตุ- ความเพียรที่มีกำลังยิ่งกว่านิกกมธาตุแม้นั้น เพราะล่วงฐานอื่นๆ ชื่อว่าปรักกมธาตุ (ก้าวไปข้างหน้า. บากบั่น) . เมื่อภิกษุทำโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากๆ ในความเพียร ๓ ประเภทนี้ ย่อมละถีนมิทธะได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธาตุคือความเริ่มความเพียร ธาตุคือความออกพ้นไปจากความเกียจคร้าน ธาตุคือความก้าวไปข้างหน้ามีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโมนสิการ ในธาตุเหล่านั้นนี้เป็นอาหารเพื่อความไม่เกิดแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละถีนมิทธะที่เกิดแล้ว ดังนี้.
ธรรมสำหรับละถีนมิทธะ
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ คือ ๑. การกำหนดนิมิตในโภชนะส่วนเกิน ๒. การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ๓. การใส่ใจถึงอาโลกสัญญา (คือความสำคัญว่าสว่างๆ ) ๔. การอยู่กลางแจ้ง ๕. ความมีกัลยาณมิตร ๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย
ขออนุโมทนา
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
ข้อ 1,3,6 กระผมไม่เข้าใจ ขอความละเอียดด้วยครับ? ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
๑. การกำหนดนิมิตในโภชนะส่วนเกิน คือ การพิจารณาการบริโภคอาหารที่พอประมาณ คือ ทานยังไม่ทันอิ่ม ก็ทานน้ำตาม การทานน้อย ไม่มาก ก็จะไม่ทำให้ถึงความง่วง คือ ละถีนมิทธะได้ครับ
๓. การใส่ใจถึงอาโลกสัญญา (คือความสำคัญว่าสว่างๆ ) คือ เจริญสมถภาวนา พิจารณาความสว่าง ก็จะทำให้ ไม่ง่วงได้
๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย คือ การพูดคุยในเรื่องที่ดี ที่เป็นกุศล เช่น เรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องการเจริญอบรมปัญญา การสนทนา พูดคุยในสิ่งที่ดี กุศลก็เกิด ความง่วงที่เป็นอกุศลก็ไม่เกิด ครับ ขออนุโมทนา
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 295
แม้เมื่อถือเอานิมิตในโภชนะที่เกินอย่างนี้ว่า ภิกษุเมื่อบริโภคโภชนะ เหมือนพราหมณ์ที่ชื่อว่าอาหรหัตถกะ ที่ชื่อว่าภุตตวิมมิตกะ. ที่ชื่อว่าตัตรวัฏฏกะ ที่ชื่อว่าอลังสาฎกะ ที่ชื่อว่ากากมาสกะ แล้วนั่งที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน กระทำสมณธรรม ถีนมิทธะย่อมมาครอบงำเหมือนช้างใหญ่.
ถีนมิทธะนั้นจะไม่มีแก่ภิกษุผู้เว้นโอกาสแห่งคำข้าว ๔-๕ คำไว้ดื่มน้ำเป็นปกติ ย่อมละถีนมิทธะได้. ถีนมิทธะย่อมครอบงำในอิริยาบถใด เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถอื่นจากอิริยาบถนั้นเสียก็ดี กระทำไว้ใน ใจถึงแสงสว่างแห่งดวงจันทร์ประทีปและคบเพลิงในกลางคืน แสงสว่างดวงอาทิตย์ในกลางวันก็ดี อยู่ในกลางแจ้งก็ดี คบหากัลยาณมิตรผู้ละถีนมิทธะได้เช่นมหากัสสปเถระก็ดี ย่อมละถีนมิทธะได้.
แม้ในเรื่องที่เป็นสัปปายะอาศัยธุดงค์ ในอิริยาบถมีการยืนและการนั่งเป็นต้นก็ดี ย่อมละถีนมิทธะได้เหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะดังนี้. ก็ถีนมิทธะอันละได้ด้วยธรรม ๖ ประการเหล่านี้ ย่อมไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยอรหัตตมรรค.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความประพฤติที่เหมาะควร เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส มีอยู่ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่มากจนเกินไป นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ก็บรรเทาความง่วงเหงาหาวนอนได้ ส่วนในเรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนา เป็นเรื่องละเอียด และไม่ง่ายเลยสำหรับยุคนี้สมัยนี้ ธรรมที่เป็นไปเพื่อบรรเทาความง่วงเหงาหาวนอนได้ ที่สำคัญมาก ก็คือ การสนทนาสอบถามธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น ทำให้มีการได้พิจารณาไตร่ตรองในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ขณะนั้น เป็นกุศล จะไม่ง่วงเลย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ความง่วง มีธรรมดา แต่ละได้ด้วยปัญญา ค่ะ
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ