ปกตูปนิสสยปัจจัย
โดย Witt  13 เม.ย. 2563
หัวข้อหมายเลข 31735

กราบเรียนขอความละเอียดและความกระจ่างจากอาจารย์วิทยากรครับ

"อกุศล" เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด "กุศล" ได้อย่างไร มีตัวอย่างเช่นไร



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรม ที่มีกำลังจนสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมอื่นที่เป็นจิต เจตสิกครับ ซึ่งปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางมากครับ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นๆ เกิดนั้น ปัจจัยที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยคือ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ เป็นต้น ซึ่งปกตูปนิสสยปัจจัย มีหลายอย่างดังนี้ครับ

1. กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด กุศลที่เป็นจิต เจตสิก เช่น สะสมการฟังธรรม ความเห็นถูกมา ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต คือปัญญาเกิดได้อีกครับ หรือ กุศลขั้นการฟังเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลขั้นสูง ครับ

2. กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อกุศล เช่น เพราะมีความเห็นถูก (ปัญญา) ทำให้เกิดมานะ ดูหมิ่นผู้อื่น เป็นต้น

3. กุศลเป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ เกิดวิบาก

4. อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล

5. อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล

6. อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ ที่เป็นวิบากจิต

7. อัพยากตะ เป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ

จะเห็นนะครับว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางครับ สภาพธรรมทั้งที่เป็นจิต เจตสิก รูปและบัญญัติด้วย

อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล ด้วยหลายปัจจัย ครับ เช่น โดยปกตูปนิสสยปัจจัยก็ได้ ยกตัวอย่าง เช่น เพราะ อาศัยโลภะ อยากได้ไปเกิดที่ดีๆ อยากมีทรัพย์สมบัติ จึงเป็นปัจจัยให้ทำกุศล มีการให้ทาน เป็นต้น เพราะ อาศัยโลภะเป็นปัจจัย ในขณะจิตแรกเป็นเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต มีการให้ทาน เป็นต้น ในขณะจิตต่อๆ ไป ครับ ด้วยอำนาจของปกตูปนิสสยปัจจัย

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรม โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เรื่อง อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล
ณ ตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย.พ.ศ. ๒๕๒๕ถอดเทปโดยคุณสงวน สุจริตกุล

"ปกตูปนิสสยปัจจัย"เป็นปัจจัยได้ โดยกว้างขวางจริงๆ แม้แต่ อกุศล ก็เป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ให้เกิด กุศล ได้

ท่านที่กลัวความยากลำบาก เช่น กลัวว่า ถ้าไม่ให้ทานแล้ว จะเป็นคนยากจนขัดสนเพราะเหตุว่า ไม่มีกุศลกรรม เป็นปัจจัยกุศลวิบาก จึงเกิดไม่ได้.เมื่อรู้อย่างนี้เพราะต้องการผล คือ กุศลวิบากจึงกระทำกุศลมีทานกุศล เป็นต้น มีไหมคะ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า อกุศล นั่นเอง คือ โลภะ
ความต้องการมนุษย์สมบัติ หรือ สวรรค์สมบัติเป็นปัจจัยให้กระทำกุศล เพราะฉะนั้น อกุศล จึงเป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ให้เกิด กุศล
หรือว่า บางท่านเป็นผู้ที่มีความสำคัญตน ในฐานะ ในชื่อเสียงด้วยเหตุนี้ท่านจึงทำทานกุศลแต่ไม่ใช่เพื่ออะไร เพราะตนเองเพราะความสำคัญตน เพราะเกียรติยศ หรือ ชื่อเสียง นั่นก็คือ อกุศล เป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ให้เกิด กุศล

หรือว่า บางครั้งความไม่รู้ หรือ ความเห็นผิดก็เป็น "ปัจจัย" ให้ทำกุศล ได้เหมือนกันเคยได้ยินได้ฟังไหมคะ ที่ว่ามีการตื่นเต้นว่า ผู้ที่เกิดปีมะโรง จะต้องตาย ถ้าไม่มีการให้ทาน.!ปรากฏว่า ผู้ที่เกิดปีมะโรงก็ให้ทานกัน เป็นการใหญ่ทีเดียว เพราะกลัวว่าเมื่อตัวเกิดปีนั้น แล้วไม่ได้ให้ทาน ... ปีนั้นจะต้องตาย นี่ก็เป็นเพราะความไม่รู้ หรือ ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น อกุศล จึงเป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ให้เกิด กุศล

หรือ บางคนอาจจะทำอกุศลแล้วนึกถึงอกุศล ที่ได้กระทำแล้วก็เห็นว่าเป็นโทษ จึงขวนขวาย ที่จะกระทำกุศลชดเชย กับอกุศล ที่ได้กระทำแล้ว ก็มี แม้ครั้งในอดีตเช่น พระเจ้าอโศกมหาราช หรือ พระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเป็นผู้ที่ได้กระทำอกุศลไว้มาก แต่เป็นผู้ที่ระลึกได้ จึงได้ทำกุศล.เพราะฉะนั้นอกุศล ก็เป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ให้เกิด กุศล

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย Witt  วันที่ 13 เม.ย. 2563

กราบเรียนถามเพิ่มเติมครับ

ในเมื่อผู้นั้นมีอกุศลจิตเป็นปัจจัย ให้ตนเองเจริญกุศล "ก็ย่อมทำด้วยความเป็นตัวตน" ใช่ไหมครับ เหมือนบางคนที่ทำทานเพื่อหวังรวย หรือขึ้นสวรรค์ อย่างนั้นแล้วจะเกิดกุศลได้อย่างไรครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 13 เม.ย. 2563

เรียน ความเห็นที่ 2 ครับ

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง จิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก แม้หวังผลให้ทาน ก็มีจริง แต่จิตขณะให้ก็มี ขณะที่หวังผล กับ ขณะที่ให้จึงต่างกัน เกิดกุศลจิตได้ แม้เพียงเล็กน้อย สมกับข้อความใน ทานสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

ทานสูตร

และขออธิบายแต่้ละข้อ ให้เข้าใจง่าย แม้หวังผลให้ทานก็ได้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ เพราะกุศลเล็กน้อยในขณะให้ครับ

ข้อความใน ทานสูตร ได้อธิบายไว้ดังนี้ ขอสรุปดังนี้ครับ

ท่านพระสารีบุตร ได้กราบทูลถาม พระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมากไม่มีอานิสงส์มาก อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

1. บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน เพราะ หวังผลของทาน คือ ว่า ให้ทานเพื่อจะได้ไปเกิดใน สวรรค์ มีความหวัง มีโลภะ แล้วจึงให้ทาน กับ สมณะ พราหมณ์ ผู้ขอทั้งหลายเมื่อบุญนี้ให้ผลก็ทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๑ คือเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

2. บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน ไม่ได้หวังผลของบุญว่าจะไปเกิดในสวรรค์ ไม่มีความต้องการผลของบุญจึงให้ เหมือนข้อแรก แต่ให้ทานเพราะคิดว่า การให้ทานเป็นการทำความดี จึงให้ทาน ด้วยผลของบุญนั้น ก็ทำให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๒ คือ ดาวดึงส์

3. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้หวังผลของบุญ ไม่ได้คิดว่าทานเป็นการดีจึงให้ แต่ให้ทานเพราะคิดว่า ปู่ย่า ตายาย บิดา มารดาเคยให้มา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณีนี้ จึงให้ทาน ด้วยผลบุญของการให้ทานแบบนี้ ก็ทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๓ คือ สวรรค์ชั้นยามา ครับ

4. บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานเพราะคืดว่า เราหุงหากินเองได้ แต่คนอื่น รวมทั้งสมณะ พราหมณ์ หุงหากินเองไม่ได้ จึงให้ทาน เพราะผลของบุญนี้จึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๔ คือ ดุสิต ครับ

5. บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานเพราะคิดว่า ฤาษีต่างๆ ในอดีตกาลเป็นผู้จำแนกแจกทาน เราก็ควรเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนบุคคลเหล่านั้นจึงให้ทาน ด้วยผลของบุญนั้น ทำให้เกิดในสวรรค์ชั้น นิมมานรดี สวรรค์ชั้นที่ ๕

6. บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อเราให้แล้ว ย่อมทำให้เกิดความปลื้มใจเกิดปิติโสมนัสในการให้ทาน จึงให้ทาน เพราะผลของบุญจึงทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๖ ชั้นปรนิมมิตตสวัตตี ครับ

7. บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต คือ ปรุงแต่งจิตด้วย สมถะและวิปัสสนา โดยที่ขณะที่ให้ทาน สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ว่าขณะที่ให้ทานเป็นสภาพธรรมใช่เรา ขณะนั้นชื่อว่าให้ทาน ปรุงแต่งจิต เป็นการให้ทานอันประเสริฐสูงสุด ถึงการดับกิเลสได้ ครับ


จะเห็นนะครับว่า การจะได้เกิดในสวรรค์ก็ต้องเป็นผลของบุญ ซึ่งทาน ก็เป็นบุญประเภทหนึ่ง สามารถทำให้เกิดในสวรรค์ได้ แต่ สวรรค์ก็มีหลายชั้น เพราะแบ่งไปตามระดับของกุศล ตามความประณีตของกุศลครับ กุศลใดที่ประกอบด้วยปัญญาและไม่มีกิเลส ครอบงำ เช่น หวังผลของบุญ กุศลนั้นก็มีอานิสงส์มากครับ ผู้ที่หวังผลของบุญหรือ ทำเพื่อตนเอง เป็นต้น อานิสงส์ก็น้อยตามไปเพราะมีกิเลสเกิดขึ้น คือ โลภะ สลับในขณะก่อนให้ ความประณีตของกุศลก็น้อยลง ทำให้เกิดในสวรรค์เพียงชั้นที่ ๑ ครับ

ส่วน การให้ทานที่ประเสริฐสูงสุด คือ การให้เพื่อประดับปรุงแต่งจิต คือ ขณะนั้นมีปัญญารู้ลักษณะของจิตที่ให้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น สละ ละกิเลส ละความไม่รู้ประกอบด้วยปัญญา เป็นการให้ทานที่เลิศที่สุดครับ

การทำกุศลจึงมีมากมาย ที่เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่ง การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ย่อมทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ผู้ที่มีปัญญาเจริญขึ้น กุศลประการต่างๆ ก็เจริญขึ้น โดยไม่เว้น และเจริญกุศลทุกๆ ประการอันเป็นเพื่อละ สละกิเลสครับ ปัญญาจึงเป็นธรรมเกื้อกูลต่อการเจริญกุศลทุกๆ ประการ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 13 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่องปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติม ทบทวนได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ
อุปนิสสยปัจจัย...ปกตูปนิสสยปัจจัย

ปกตูปนิสสยปัจจัย และ ผลของกรรม

ปกตูปนิสสยปัจจัย และ กรรม

ปกตูปนิสสยปัจจัย และ อัธยาศัยที่แตกต่าง

ปกตูปนิสสยปัจจัย....กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อกุศล

ปกตูปนิสสยปัจจัย.....สัทธาในพระธรรม และ ความเห็นผิด
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย Somporn.H  วันที่ 13 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย Witt  วันที่ 13 เม.ย. 2563

กราบขอบพระคุณอาจารย์เผดิมและอาจารย์คำปั่นเป็นอย่างสูง

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ประสาน  วันที่ 13 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย yogototo  วันที่ 14 เม.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ