ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๖
โดย khampan.a  1 ก.ย. 2556
หัวข้อหมายเลข 23482

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๖]

[1] เมื่อรู้ว่าอกุศล ไม่ดี ก็เริ่มเห็นโทษของอกุศลทีละเล็กทีละน้อย แต่ถ้าไม่รู้ว่า อกุศลไม่ดี ไม่รู้ว่าโกรธ ไม่ดี ก็คิดว่าจะต้องโกรธ เพราะเมื่อโกรธแล้วคนอื่นจะได้ เชื่อฟังหรือทำอะไรให้ เป็นต้น ไม่เข้าใจในเหตุในผลจริงๆ แท้ที่จริงแล้วความทุกข์ เกิดกับใคร คนที่กำลังโกรธนั่นเอง เป็นทุกข์

[2] จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของพระธรรม คำสอน ก็เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่เพื่อลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ

[3] ขั้นเริ่มต้นซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการปฏิปัตติธรรม คือ ฟังให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

[4] ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย ใครจะรู้ได้ว่าขณะนี้ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่ง หนึ่งสิ่งใด

[5] ตายไปแล้ว อะไรติดตามตัวไปได้บ้าง ทรัพย์สมบัติติดตามตัวไปได้ไหม? ไม่ได้เลย แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่รักมากยิ่งกว่าสิ่งอื่น ก็ติดตามไปไม่ได้ สิ่งที่ประเสริฐที่ติดตามไปได้ ก็คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก

[6] ความเห็นผิดทำให้เสื่อมจากประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า

[7] มีความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะใด ก็ไม่ใช่คนดีในขณะนั้น

[8] เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ขณะใดก็ไม่ใช่คนดีในขณะนั้น เพราะฉะนั้นต้องอดทนที่กุศลจิตจะเกิด ที่จะเป็นคนดีมากสักเท่าไร กว่าที่กิเลสจะดับหมด นอกจากการที่จะอดทนเป็นคนดียังจะต้องอดทนต่อการที่จะกระทำความดีด้วย

[9] ผู้ที่ใคร่ที่จะดับกิเลส ต้องเป็นผู้ที่ขยัน เป็นผู้ที่ขวนขวาย เป็นผู้ที่อดทนต่อการ ที่จะฟังพระธรรมให้เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยใจจริง ซึ่งการละ กิเลสเป็นเรื่องจริง

[10] ทุกคนเป็นไปตามกรรมจริงๆ สุดปัญญาที่ใครจะไปยับยั้งได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีใคร อยากให้ใครถูกเผาถูกทำร้ายถูกเบียดเบียน ... แต่เมื่อกรรมของเขาเป็นเหตุเขาก็จะ ต้องได้รับผลของกรรมนั้น อาจจะเป็นเรา เป็นเขา เป็นใคร วันหนึ่งวันใดก็เหมือนกัน นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เรานี้หวั่นเกรงภัยจากอกุศลกรรม และเห็นโทษของอกุศลกรรม

[11] สละวัตถุของตนเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นได้ จิตในขณะนั้นก็มีความสบาย เพราะว่าไม่มีความตระหนี่ ได้ประโยชน์ทั้งจิตใจของตนเอง เพราะอ่อนโยนและยัง เบิกบานที่เห็นผู้รับมีความสุข ได้ใช้สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับเขา และโลกก็ย่อมจะ ร่มเย็นต่อไปได้

[12] เวลาที่พูดกับใคร ก็ควรพูดสิ่งที่มีประโยชน์ และพูดคำพูดที่น่าฟัง มีการ คิดถึงจิตใจของเขา และอนุเคราะห์เกื้อกูลเขา ให้เขาสามารถจะเข้าใจในเหตุ ในผลได้

[13] กุศลเป็นกุศล อกุศล เป็น อกุศล ไม่ใช่ว่า กุศลของคนไทยจะต้องดีกว่ากุศล ของคนชาติอื่น หรือว่า อกุศลของคนชาติอื่น จะต้องร้ายกว่า อกุศลของคนไทย เพราะธรรมเป็นธรรม

[14] ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนก็จะต้องรู้ความจริงว่า วันหนึ่งก็ต้องตาย เหมือนคนอื่นๆ ซึ่งตายไปแล้ว เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ควรที่จะได้พิจารณาว่า วันที่จะจากโลกนี้ไป จะจากไปด้วยปัญญา ที่ได้อบรมจนกระทั่งเจริญขึ้นหรือว่าจะจากไปโดยที่ว่า ไม่สนใจที่จะมีการอบรม เจริญปัญญา

[15] ชีวิตประจำวันของแต่ละคนให้ทราบว่าคิดอย่างไร ทำอย่างนั้น คิดอย่างไร พูดอย่างนั้น สะสมมาอย่างไร ความคิดก็เกิดตามการสะสม คิดที่จะริษยา คิดที่จะ ตระหนี่ หรือคิดที่จะเมตตา นั่นก็แล้วแต่การสะสมทั้งสิ้น

[16] บางท่านหมุนเจอวิทยุรายการ “แนวทางเจริญวิปัสสนา” นี้โดยที่ไม่มีใครแนะนำ เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีอดีตกรรม ที่ได้สะสมมาแล้วก็คงจะไม่ได้ฟังธรรม ทางสถานีวิทยุ หรือว่า ถ้าฟังแล้วก็อาจจะไม่สนใจ แต่สำหรับท่านที่มีการสะสมมา แล้ว พอฟังท่านก็สนใจทันที รู้ว่าเป็นสิ่งซึ่งมีจริง แล้วสามารถที่จะฟัง พิจารณา ศึกษา ให้เข้าใจขึ้นได้

[17] ชีวิตประจำวันทุกวันนี้ วันทั้งวัน โอกาสของกิเลสมีมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การที่จะได้ฟังพระธรรมหรือพิจารณาธรรม หรือ สนทนาธรรมเป็นแต่เพียงโอกาสที่สั้นๆ และเล็กน้อยมาก

[18] เวลาที่เกิดการไม่ฟังพระธรรม หรือว่าความสนใจที่น้อยลง อาจจะเห็นได้ว่า ขณะนั้น เป็นการเปิดช่องให้กิเลสซึ่งมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันค่อยเพิ่มโอกาสที่จะมี กำลังขึ้นอีกจากการไม่ฟัง จากการไม่พิจารณาธรรม จากการไม่สนทนาธรรม

[19] ปกติทุกคนมี โลภะ โทสะ โมหะ มีความขุ่นเคืองใจ แต่ถ้าล่วงศีลเมื่อไร เมื่อนั้นก็แสดงให้เห็นถึงกำลังของอกุศลว่ามีมาก ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดง พระธรรมทั้งหมดเพื่อที่จะให้พุทธบริษัท มีความประพฤติดี ให้กุศลจิตเกิดทุกระดับ ตั้งแต่ขั้นต้นในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

[20] ตราบใดที่ความเห็นถูกยังไม่เกิดการอบรมความเห็นถูกยังไม่เกิด จะให้ออกจาก ข้อปฏิบัติที่ผิด หรือ ความเห็นผิดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งจะต้อง พิจารณาในชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะว่าเรื่องของอกุศลมีมากมายเหลือเกิน

[21] คนที่อยู่ด้วยกัน ที่มีความสุข ผาสุกจริงๆ นี้ ก็ด้วยข้อปฏิบัติชอบ คือ เมตตา

[22] เมื่อได้ฟังพระธรรมมามากแล้ว ก็เป็นผู้ที่น้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะ ในเรื่องของ เมตตา ถ้าอบรมเจริญแล้วก็ไม่ยากเลย ที่จะมีความเป็นมิตรกับทุกคน แล้วก็อภัยให้ ในสิ่งซึ่งอาจจะขาดตกบกพร่องของบุคคลอื่น แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีฉันทะ คือ ไม่มีความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา ก็อาจจะ ขัดหู ขัดตา หรือว่าขุ่นเคือง ไม่พอใจในสัตว์ บุคคลทั้งหลายได้

[23] วันหนึ่งๆ ที่จะรู้ว่าตัวเองมีเมตตาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็จะสังเกตได้ว่าขณะใดที่ โกรธ ขณะนั้นไม่มีเมตตา ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ แม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้น ก็ไม่มีเมตต

[24] ถ้าใครเป็นผู้มักโกรธ ขุ่นเคืองใจไม่พอใจบุคคลอื่นง่ายๆ หรือว่าไม่ลืมซึ่งความ โกรธ ความขุ่นเคืองนั้น ก็ควรที่จะระลึกรู้ความจริงว่าพบกันเพียงชาตินี้ชาติเดียวจริงๆ แล้วจะไม่พบกันอีกเลย เพราะฉะนั้นควรจะดีต่อกัน มีเมตตากัน หรือว่าควรจะโกรธกัน? เพราะว่าการเห็นกันครั้งหนึ่งๆ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่าจะเป็นการเห็นกันครั้งสุดท้ายหรือไม่ เพราะถ้าคิดว่าอาจเป็นการเห็นกันครั้งสุดท้าย ก็อาจจะทำให้จิตใจอ่อนโยน แล้วมีความเมตตากรุณาต่อกัน

[25] ถ้าทราบว่ายังเป็นผู้มีโมหะมาก ที่จะต้องขัดเกลา ก็จะทำให้ไม่ละเลยการ ฟังพระธรรม และไม่ละเลยการเจริญกุศลทุกประการด้วย จากการเป็นมนุษย์ ในชาตินี้ จะไปสู่การเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน อาจจะเป็นพรุ่งนี้ หรือเย็นนี้ ก็ย่อมได้ทั้งสิ้น ถ้ารู้อย่างนี้ ก็จะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท.

(ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกันทุกท่าน ร่วมแบ่งปันข้อความธรรม ด้วยนะครับ)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความย้อนหลังครั้งที่ ๑๐๕ ได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๕

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 1 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมปันธรรมด้วย ครับ

[1] เพราะฉะนั้น เราก็พูดถึงสิ่งที่ปัญญายังไม่ได้ประจักษ์ เช่น สัจจธรรม เกิดแล้วดับ ตลอดเวลาสุดจะประมาณ ไม่ได้พูดถึงด้วยปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง แต่พูดถึงเรื่องราว ของผู้ที่ประจักษ์แจ้งและทรงแสดง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นความจริงอย่างนั้น ก็รู้ว่าใคร ถูกใครผิด คนที่ยังไม่ประจักษ์ จะไปเห็นเหมือนคนที่ประจักษ์ เป็นไปไม่ได้เลย ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ใครหรือเราทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความหมายของธาตุ ที่เป็นธาตุเห็นถูกคือ สัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูก

[2] ทำไมถึงต้องตั้งชื่อ อยากให้คนอื่นรู้ใช่ไหมคะ แต่ถึงแม้เราไม่เรียกชื่อ สิ่งนั้น ก็ปรากฎแล้ว เหนียวๆ เหนอะๆ หนะๆ ลื่นๆ อะไรนี้ เรียกว่าอะไรคะ ลองไปสัมผัส อะไรสักอย่าง บอกได้ไหมว่าลักษณะนั้นเป็นยังไงเหนอะ หนะ นุ่ม ลื่น หรืออะไร สารพัดอย่าง จะเอาอะไรมาพูดมาอธิบาย ไม่ตรงกับสภาพธรรมที่ปรากฎแล้วเปลี่ยน ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะมีสัก ๑๐๐ คำ ๑๐๐๐ คำ ก็ตามแต่ ไม่เหมือนกับที่ขณะ ที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฎถึงไม่เรียกชื่อเลย สภาพนั้นก็เป็นอย่างนั้น เปลี่ยนไม่ได้ เลย แต่เรียกเพื่อที่จะให้คนอื่นเข้าใจความหมายว่า หมายความถึงลักษณะสภาพ ธรรมอะไร

[3] ใครถอนอนุสัยของใครได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เรื่องซึมเศร้า ก็มีท่านผู้ฟังหนึ่ง ก่อนที่จะมาฟังธรรมที่มูลนิธิฯ สามีท่านสิ้นชีวิต ท่านก็ซึมเศร้าอย่าง มาก ในที่สุด หลังจากที่ได้มาฟังธรรมที่มูลนิธิฯ ตอนนี้ท่านก็เบิกบาน รักษาโรคซึม เศร้าด้วยปัญญา

[4] เมื่อตายแล้ว ก็ไม่มีการที่โลกนี้จะตามไปอีกน ก็เป็นโลกอื่น เหมือนโลกก่อน ที่จากมา เคยทำอะไรไว้ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม วุ่นวายปั่นป่วนสารพัด ก็แล้วแต่ แต่เมื่อมฤตยูคือความตายเกิดขึ้น ก็พ้นจากโลกนั้น แล้วก็แล้วแต่ว่ากรรม จะทำให้มาเกิดในโลกนี้ ก็ทำให้เป็นอย่างนี้ จนกว่ากรรมจะทำให้พ้นจากโลกนี้ไปสู่ โลกอื่น ถ้าไปสวรรค์ชั้นดุสิตหรือดาวดึงส์ ก็ตามแต่ จะมีเรื่องของโลกนี้ ตามไปอีกหรือเปล่า ว่าเรายังอยู่ในโลกนี้หรือเปล่า จะไม่มีความคิดได้เลยว่าเรายัง อยู่ในโลกนี้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ตาย โลกนี้เป็นโลกของเรา มีเหตุการณ์อย่างนี้ เรากำลังอยู่ในโลกนี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมกล่าวถึงโดยนัย ใดๆ ก็เพื่อให้น้อมไปสู่ความจริงว่าทุกคนนี้อยู่ในโลก ต่อเมื่อยังไม่ถึงวาระที่จะจาก โลกนี้ไป

[5] การที่สะสมมา แล้วมีปัญญาที่จะเห็นตามความเป็นจริง และมั่นคงในกุศล เพราะรู้ว่าการแก้ปัญหาทุกอย่าง อกุศลแก้ไม่ได้แน่นอน ดูเสมือนว่าจะแก้ได้ แต่แก้ไม่ ได้เลย เพราะปัญหามาจากไหน ปัญหามาจากจิตซึ่งเป็นอกุศลทั้งนั้น ปัญหาไม่ได้ มาจากกุศลจิตเลย ปัญหาทุกปัญหามาจากอกุศลจิต

[6] เพราะฉะนั้นจะให้อกุศลจิต หรือ อกุศลธรรม แก้ปัญหา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีปัญญา ก็สามารถที่จะทำสิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยกุศลจิต ด้วยความหนักแน่น มั่นคง ในคุณความดี หรือในธรรมฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นก็ย่อมสามารถที่จะแก้ทุกสถานการณ์ได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะนั้น แต่ว่าแม้ในขณะ ต่อๆ ไปกุศลก็ไม่ได้ให้โทษเลย

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย napachant  วันที่ 2 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย jaturong  วันที่ 2 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย thassanee  วันที่ 2 ก.ย. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย papon  วันที่ 2 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย j.jim  วันที่ 3 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย kinder  วันที่ 3 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย Thanapolb  วันที่ 5 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศึกษาต่อไปตราบใดที่ยังมีลมหายใจ และเมื่อมีโอกาส

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 9    โดย rrebs10576  วันที่ 21 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 29 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย มังกรทอง  วันที่ 22 ส.ค. 2564

เมื่อรู้ว่าอกุศล ไม่ดี ก็เริ่มเห็นโทษของอกุศลทีละเล็กทีละน้อย แต่ถ้าไม่รู้ว่า อกุศลไม่ดี ไม่รู้ว่าโกรธ ไม่ดี ก็คิดว่าจะต้องโกรธ เพราะเมื่อโกรธแล้วคนอื่นจะได้ เชื่อฟังหรือทำอะไรให้ เป็นต้น ไม่เข้าใจในเหตุในผลจริงๆ แท้ที่จริงแล้วความทุกข์ เกิดกับใคร คนที่กำลังโกรธนั่นเอง เป็นทุกข์ น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ