ความแตกต่างระหว่างสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ
โดย natural  22 ม.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 22376

เนื่องจากญาติมีความเชื่อในการปฏิบัติธรรมด้วยการนั่งสมาธิและเริ่มสนใจศึกษาธรรมะ จึงฝากเรียนถามผู้รู้ถึงความต่างระหว่างสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ รวมถึงแหล่งข้อมูลอ้างอิงในพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ (หากมี) หรือแหล่งข้อมูลอื่นที่พอจะช่วยให้เข้าใจเพิ่มขึ้นได้

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 22 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"สมาธิ" เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็นสัมมาสมาธิ การทำสมาธิให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้น เป็นความพอใจที่จะให้จิตตั้งมั่น แน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว

ขออนุญาตยกคำอธิบายจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในเรื่อง สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ

ท่านผู้ฟัง โลภะ เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาได้ไหม

ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น ... ก็มีโลภะกันมากๆ

ท่านผู้ฟัง พระอริยบุคคลบางรูป ได้ทำความเพียรกันอย่างเด็ดเดี่ยวทีเดียว ก็แสดงว่าท่านอยากพ้นทุกข์ อันนี้ตรงกับที่อาตมากำลังกล่าวอยู่หรือเปล่า

ท่านอาจารย์ โลภะ เป็นสภาพที่ติดข้อง ฉันทะ เป็นสภาพที่พอใจจะกระทำ โลภะเกิดกับกุศลจิตไม่ได้เลย ฉันทะเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้.

ท่านผู้ฟัง พระอริยบุคคลทำความเพียรนั้น ... เป็นโลภะ หรือ ฉันทะ

ท่านอาจารย์ เป็นกุศลเจ้าค่ะ ... ท่านไม่ได้เพียรอกุศล

ท่านผู้ฟัง การที่โยมผู้หญิงท่านนั้นกล่าวว่า การนั่งสมาธินั้น จิตใจเพลิดเพลิน ยินดี รู้สึกติดข้อง การกระทำอย่างนั้น เป็นโลภะ หรือ ฉันทะ

ท่านอาจารย์ ขณะนั้น ... มีปัญญาหรือเปล่า เจ้าคะ

ท่านผู้ฟัง ก็การกระทำนั้น เป็นไปเพื่ออริยมรรค

ท่านอาจารย์ การกระทำอย่างนั้น ... ไม่ได้เป็นไปเพื่ออริยมรรค แต่เป็นความพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น. คนที่ทำสมาธิตั้งหลายคน เขาบอกว่า เขาต้องการทำสมาธิ เพราะไม่อยากให้จิตใจฟุ้งซ่าน อยากให้จิตใจจดจ่ออยู่ที่หนึ่งที่ใด และเข้าใจว่า ขณะนั้นสงบ. ขณะใดที่เป็นโลภะคือความติดข้อง แม้ต้องการจะจดจ้อง ขณะนั้น เป็นลักษณะของมิจฉาสมาธิ เพราะว่า ... ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย.

ท่านผู้ฟัง สมาธินั้น ... แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ

ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิก มีสภาพที่มีอารมณ์เดียว ขณะที่เป็นสมาธิก็มีเอกัคคตาเจตสิก ที่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งปรากฏ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะเอกัคคตาเจติก เป็น "สัพพจิตตสาธารณเจตสิก"

ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ เพราะมีอยู่แล้วกับจิตที่เกิดทุกดวง เพียงแต่ว่าเวลาที่จิตเกิดนั้น (ปกติ) ... ลักษณะของเอกกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏ เพราะจิตที่เกิดก็สั้นมาก และสิ่งที่ปรากฏ วาระหนึ่งๆ ก็สั้นมาก ฉะนั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏตั้งมั่นถึงระดับที่เราใช้คำว่า "สมาธิ" แต่ถ้าจิตจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนาน ... ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ เช่น ตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ... เดินให้ดี ไม่ให้ล้ม ข้ามสะพานไม่ให้ตก เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ขณะนั้น ... ไม่ใช่กุศลจิต ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่ "สัมมาสมาธิ" แต่เป็น "อกุศลสมาธิ" หรือ "มิจฉาสมาธิ" ขณะที่เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ" ต่อเมื่อใดที่กุศลจิตเกิดบ่อยๆ เพราะรู้ว่าวันหนึ่งๆ ทานก็เกิดน้อย การวิรัติทุจริตก็เกิดน้อย และจิตส่วนใหญ่จะตกไปเป็นอกุศล เมื่ออารมณ์ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิต จะคล้อยไปเป็นอกุศลเป็นส่วนใหญ่ ยากนักหนาที่เมื่อเห็นแล้ว ... เป็นกุศล แล้วแต่ว่าสะสมกุศลจิตระดับใดมามาก ถ้าเป็นผู้ที่มากด้วยเมตตา เมื่อคิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ก็ยังมีจิตที่เป็นมิตร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นอุปนิสัย แต่ขณะนั้นก็สั้นนิดเดียว เดี๋ยวเสียงก็ปรากฏ ... เดี๋ยวสีก็ปรากฏ ฉะนั้น ลักษณะของสมาธิก็ไม่มั่นคง ... ถึงแม้จะเป็นกุศลก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาในครั้งโน้นคือผู้ที่เห็นโทษของอกุศล โดยเฉพาะโลภะ รู้ว่าจิตจะคล้อยตามสิ่งที่กำลังปรากฏด้วยความติดข้องอย่างไม่รู้สึกตัวเลย รู้ว่าติดข้องในการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส และการกระทบสัมผัส ท่านเหล่านั้นพยายามที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส เมื่อรู้ว่าทั้งหมดนี้ เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลจิต

ที่สำคัญ ... ท่านเหล่านี้ รู้ว่าสำคัญที่ "วิตกเจตสิก" หมายความว่า เมื่อนึกถึงอะไร แล้วเป็นเหตุให้จิตเป็นกุศล เช่น นึกถึงศีล นึกถึงสิ่งที่เป็นเหตุให้จิตสงบจากอกุศล เป็นเหตุให้ลักษณะของกุศลจิตเกิดบ่อย และความสงบก็จะปรากฏ ลักษณะของสมาธิก็จะตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ" สัมมาสมาธิระดับที่เป็นอุปจารสมาธิและอัปนาสมาธิ จึงเป็นฌานจิต เป็นปฐมฌาน และรู้ต่อไปอีกว่า ขณะนั้น ถ้ายังมีวิตกคือมีการตรึกอยู่ ก็ใกล้ต่อการตรึกถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

ฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงละสภาพธรรมที่เป็นวิตกหรือการตรึก และประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้น โดยไม่ให้มีวิตกหรือการตรึก เป็นเรื่องที่ยากและเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

ฉะนั้น เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่าอย่าไปพอใจกับคำว่า "สมาธิ" โดยไม่มีการศึกษาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อนว่ามิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ... ต่างกันอย่างไร.

ท่านผู้ฟัง อย่างสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ ... เป็น "สัมมาสมาธิ" ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้าค่ะ ... เพราะว่า เป็นสมาธิที่เกิดพร้อมกับ "สัมมาทิฏฐิ"

ส่วนข้อความในพระไตรปิฎกที่ผู้ถามต้องการ ดังนี้ครับ

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 360

[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งมั่นชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่าสัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น.

เชิญคลิกฟังธรรมที่นี่ ครับ

สัมมาสมาธิเป็นอย่างไร

สัมมาสมาธิ - มิจฉาสมาธิ

นั่งสมาธิเป็นการปฏิบัติธรรมไหม

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย นิรมิต  วันที่ 22 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 22 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมาธิ เป็นความตั้งมั่น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสมาธิเกิดร่วมด้วย สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง มีความเสมอกันกับจิตที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ตามประเภทของจิตนั้นๆ

มิจฉาสมาธิ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นผิด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ขณะที่อกุศลจิตเกิดจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามไม่ได้ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี

สัมมาสมาธิ เป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตที่เป็นโสภณจิต คือจิตที่ดีงาม สัมมาสมาธิไม่ได้อยู่ที่คำที่ใช้ เพราะว่า เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นสัมมาสมาธิ อยู่ที่ว่าจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ถ้าจิตเป็นกุศล แม้ไม่ใช้คำอะไรเลย ก็เป็นสัมมาสมาธิ

ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 22 ม.ค. 2556

สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่น ความแน่วแน่ในกุศล ส่วนมิจฉาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นในอกุศล เช่น มีตัวตนไปจดจ้องในสภาพธรรม ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย ch.  วันที่ 22 ม.ค. 2556

อนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ทำดีทูเดย์  วันที่ 22 ม.ค. 2556
อนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 8    โดย nong  วันที่ 23 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย Boonyavee  วันที่ 23 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 3 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย สิริพรรณ  วันที่ 18 เม.ย. 2565

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านทุกประการค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย Jarunee.A  วันที่ 21 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ