๗. กัปปินสูตร ว่าด้วยอานาปานสติสมาธิ
โดย บ้านธัมมะ  13 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38050

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 221

๗. กัปปินสูตร

ว่าด้วยอานาปานสติสมาธิ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 221

๗. กัปปินสูตร

ว่าด้วยอานาปานสติสมาธิ

[๑๓๒๑] กรุงสาวัตถี. ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า.

[๑๓๒๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของภิกษุนั้นหรือหนอ.

[๑๓๒๓] ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นท่านผู้มีอายุนั้นนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายมิได้เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของท่านผู้มีอายุนั้นเลย.

[๑๓๒๔] พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิใด ภิกษุนั้นได้สมาธินั้นตามความปรารถนาได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก.

[๑๓๒๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ กระทำให้มากซึ่งสมาธิ เป็นไฉน เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 222

[๑๓๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี.

จบกัปปินสูตรที่ ๗

อรรถกถากัปปินสูตร

กัปปินสูตรที่ ๗.

ท่านแสดงถึงความหวั่นไหวนั่นเอง แม้ด้วยสองคำว่า ความไหวหรือความเอนเอียง.

จบอรรถกถากัปปินสูตรที่ ๗