ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร ...
พระสูตรเรื่องสัมพหุลภิกขุ
๑. ประโยชน์ของการอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัตว์มีดวงตามืดบอด หลงทางในทางกันดารด้วยอกุศล คือโลภะ โทสะ โมหะ โดยไม่เห็นโทษภัย ซึ่งขณะนี้ก็ไม่รู้ว่ากำลังอยู่ในทางกันดาร เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น ทรงสอนให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต่างจากความเห็นว่าเที่ยงบ้าง สูญบ้าง เป็นต้น จนสัตว์ประจักษ์แจ้งความจริง พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
๒. ความสุขโดยนัยของเวทนา
ความสุข คือเวทนาหรือความรู้สึกอย่างหนึ่งที่นำความแช่มชื่นยินดีมาให้เป็นธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา อาศัยทางกาย หรือทางใจ จึงปรากฏความสุขทางกายเป็นวิบากคือผลของกรรม ส่วนความโสมนัสทางใจเกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ได้ซึ่งเป็นการสะสมความละเอียดของเวทนาแม้ขณะฟังธรรมเข้าใจก็ไม่ได้เป็นโสมนัสเวทนาเสมอไป ก็อาจเป็นอทุกขมสุขเวทนาก็ได้ ซาบซึ้งบ้าง เฉยๆ บ้าง เป็นจริงสำหรับคนนั้นต้องเป็นปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นเท่านั้นจึงรู้ได้
๓. ความลึกซึ้งของเวทนา
ขณะรู้ว่าอกุศลธรรมเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่กำลังปรากฏ เป็นเพียงแต่เริ่มรู้ว่าเป็นลักษณะธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏสั้นมากแล้วดับไป ขณะนั้นยังไม่ถึงขณะที่ปัญญาประจักษ์แจ้ง ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เทียบเคียงด้วยความคิดว่าตอนนั้นเรากำลังมีเวทนาอะไร และเดี๋ยวนี้กำลังฟังเข้าใจอยู่ ถ้าเป็นผู้ตรงก็คือไม่ทราบว่าขณะนี้เวทนาเป็นเฉยๆ โสมนัสหรือสุข เพราะไม่ใช่ขณะที่รู้ลักษณะของความรู้สึก แต่หากมีโสมนัสปรากฏ ก็ทราบได้ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ทราบ เพราะไม่ปรากฏลักษณะ
๔. ความสุขอย่างยิ่ง
ความสุขในทรัพย์สมบัติ ในกามหรือในการบริโภคเป็นสุขเวทนา แต่สุขเวทนาก็ยังเป็นทุกข์เพราะยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ เพราะอาศัยปัจจัยให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ความสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพานอันพ้นจากสภาพธรรมที่เกิดดับแปรปรวน
๕. นามธรรมและรูปธรรม
ก่อนอื่นต้องรู้ว่าสิ่งที่มีจริงๆ คือธรรม
รูปธรรม คือเป็นธรรมที่มีจริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เช่น ความแข็ง เป็นต้น
นามธรรม คือสภาพธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก และนิพพาน
นามธรรม ยังแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
- นามธรรม ที่รู้อารมณ์ ได้แก่ จิต และเจตสิก
- นามธรรม ที่ไม่รู้อารมณ์ ได้แก่ พระนิพพาน
ธรรมอย่างหนึ่ง และธรรมแต่ละอย่าง
ลักษณะของสิ่งที่มีจริงนั้น เช่น ขณะที่ปรากฏว่าแข็ง คือธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต้องเรียกรูปธรรม นามธรรม ทั้งสิ้นเพราะมีจริงจึงเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะไม่ปะปนกับลักษณะอื่น เป็นธรรมแต่ละอย่าง ฟังเข้าใจขึ้นจนกว่าจะรู้ว่า ทั้งหมด เป็นธรรมแต่ละอย่าง
๖. ความหมายของปฏิจจสมุปบาท
คือความเป็นไปของสังสารวัฏฏ์ (โดยมีสภาพธรรมที่อาศัยกันและกันเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น) เมื่อสิ่งนี้มีจึงมีสิ่งนี้ เช่น เมื่อมีอวิชชา ก็มีการเกิด จะไม่มีไม่ได้ เป็นต้น
เพราะอวิชชามี สังขารจึงมี
เพราะความไม่รู้เป็นปัจจัย อภิสังขาร หมายถึงสภาพธรรมที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง คือกรรม ได้แก่ อปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร ซึ่งหมายถึงเจตนาเจตสิกที่เป็นกุศลกรรมบถหรืออกุศลกรรมบถจึงเกิด.
เพราะสังขารมี วิญญาณจึงมี
โดยนัยที่ข้ามภพชาติ กุศลหรืออกุศลกรรมเป็นเหตุให้ปฏิสนธิจิตเกิดในภพต่อไป ที่ทุกคนมาที่นี่ก็เพราะกุศลหรืออกุศล และแม้กุศลหรืออกุศลก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส เกิดต่อๆ ไปในระหว่างมีชีวิตอยู่.
เพราะวิญญาณมี นามรูปจึงมี
ซึ่งหากเกิดในภูมิที่เป็นขันธ์ ๕ โดยชลาพุชะกำเนิด (เกิดในครรภ์) ปฏิสนธิจิตก็ต้องเกิดพร้อมกับเจตสิกซึ่งเป็นประเภทเดียวกับจิตที่ทำให้เกิด และกัมมชรูปคือรูปที่เกิดเพราะกรรม ๓ กลุ่ม (หทยทสกกลาป ๑ ภาวทสกกลาป ๑ กายทสกกลาป ๑) .
เพราะนามรูปมี สฬายตนะจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีอายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.
เพราะสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี
เพราะมีรูป มีตา และมีจักขุวิญญาณประชุมกัน จึงมีจักขุสัมผัส ทางหู ทางจมูก เป็นต้น ก็โดยนัยเดียวกัน ซึ่งก็คือความจริงขณะนี้ สภาพธรรมที่มีขณะนี้มาจากไหน ก็มาจากอวิชชาคือความไม่รู้เป็นปัจจัยสืบเนื่องมาจากชาติก่อน จนเป็นชาตินี้และชาติต่อๆ ไป
๗. ความลึกซึ้งของอวิชชา
เพียงได้ยินว่าความติดข้อง ในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ นำทุกข์มาให้ แม้แต่ความติดข้องก็ไม่เห็น แล้วจะเห็นอวิชชาซึ่งไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วหมดไปได้อย่างไร
๘. โทษของอกุศลดังลูกศรอาบยาพิษ
"ธรรมดากิเลสเหล่านั้น ... หยาบคายร้ายแรง ควรละ ไม่ควรเอาไว้ คล้ายลูกศรอาบยาพิษ ก็ปานกัน"
ไม่ใช่ตัวตนที่นำกิเลสออก แต่เป็นปัญญา จากที่เคยคิดว่าอกุศลไม่ดี ไม่อยากมี ก็มีความเข้าใจยิ่งขึ้นว่าอกุศลเป็นธรรม มีเพราะมีปัจจัยจึงเกิด เข้าใจถูก มั่นคงขึ้นว่าทุกอย่างที่ปรากฏเป็นธรรมตามที่ทรงแสดง
ข้อสำคัญที่สุด คือเห็นโทษของอกุศลทั้งหมดว่าเป็นลูกศรอาบยาพิษ หรือไม้ที่ปักอยู่กลางใจ เช่น ต้องวิ่งวุ่นวายด้วยอำนาจของโลภะ ซึ่งเป็นการแสวงหาความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย วันหนึ่งๆ มากมายมหาศาลเพียงใด ซึ่งละเอียดไปแต่ละบุคคล เช่น ต้องการบริโภคเนื้ออร่อย คนทำอาหารก็ต้องหาอะไรมาทำอาหาร เพียงเพราะความสุขที่ชั่วคราวแล้วหมดไป คือรสที่พอใจ ซึ่งตราบใดที่ไม่เห็นความไม่แน่นอนคือความไม่เที่ยงและเกิดดับของสภาพธรรม ก็จะไม่ละคลายหรือหน่ายสิ่งที่ยึดติดมานานมาก ซึ่งไม่ใช่เพียงคำพูด แต่ต้องเป็นปัญญา
๙. ความคิดที่รังเกียจอกุศลธรรม
ฟังเรื่องอกุศล ไม่ใช่เรื่องที่คิดรังเกียจ แต่เป็นความสามารถเข้าใจธรรม ว่าอกุศลก็เป็นธรรม ขณะที่อกุศลเกิด ลักษณะของอกุศลนั้นๆ ปรากฏให้เห็นโดยความเป็นอนัตตาที่ใครบังคับบัญชาไม่ได้ แต่เป็นปัญญาที่เห็นถูกว่าเป็นธรรม ขณะนั้นละความเป็นเรา เพราะเห็นถูกว่าเป็นธรรม เป็นการสะสมของสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ซึ่งขณะนี้ทำกิจนั้นๆ อยู่ ไม่มีเราหรือใครทำ เพราะเป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจนั้นๆ
แม้แต่ความอยากรู้ว่าอกุศลเป็นธรรมอย่างไร ก็เป็นเพียงความสงสัยในสภาพธรรม ซึ่งก็เป็นธรรม ขณะที่ฟังเข้าใจเป็นกุศล ขณะที่คิดโน่นคิดนี่ทั้งหมดก็เป็นอกุศล ซึ่งห้ามคิดไม่ให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้
๑๐. การให้อภัยกันสามัคคีกันอย่างไร
อภัยทาน เป็นความสามัคคีหรือไม่ เพียงให้อภัยก็ไม่ยาก ไม่ต้องหาอะไรมาให้ เพียงจิตให้อภัย ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้ก็สามัคคีกัน (คือพร้อมเพรียงกันเป็นกุศล) เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการพิจารณาจิตในขณะนั้น ถ้าเป็นกุศลก็คือสามัคคีกันได้ แม้ไม่ต้องพูดอะไรเลย
๑๑. การฟังธรรมสามัคคีกันอย่างไร
"การฟังธรรม ความพร้อมเพรียงของหมู่ การปรองดองกัน เป็นเหตุนำสุขมาให้"
ฟังธรรมแล้วสามัคคีกันหรือไม่ ขณะที่ไม่สบายใจขุ่นเคืองไม่พอใจ ขณะนั้น ความคิดเห็น การกระทำ ไม่พร้อมกัน ไม่สามัคคีกัน ไม่ช่วยกันทำ มีทุกข์ไม่ใช่สุข แต่ขณะที่ฟังธรรมแล้วผู้ที่ศึกษาธรรมฟังธรรมน้อมประพฤติเพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกเพื่อจุดประสงค์เดียวกันคือเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะเป็นผู้มีจิตเสมอกันด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเพียรเผากิเลสความไม่รู้ด้วยความเข้าใจ แต่สุขโสมนัสก็เกิดตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าฟังธรรมแล้วจะเกิดสุขโสมนัสเสมอไป เฉพาะผู้ที่มีสุขโสมนัสเกิดเท่านั้นที่รู้ได้ด้วยตนเอง
๑๒. พ้นจากชาติ คือการเกิดได้ด้วยการฟังธรรม
ความหมายของ "การแสดงธรรมของสัตบุรุษย่อมพ้นจากทุกข์มีชาติเป็นต้น"
ถ้ามีชาติก็เพราะมีกิเลส จึงต้องอาศัยสัตบุรุษคือบุคคลผู้แสดงธรรมถูก และเมื่อเข้าใจธรรมยิ่งขึ้นแล้วก็สามารถพ้นภัยคือกิเลสทั้งหลายได้ เพราะกุศลจิตเกิดขัดเกลากิเลสยิ่งๆ ขึ้น เมื่อหมดกิเลสแล้วก็ไม่เกิดอีก
๑๓. การฟังธรรมรู้อะไร
ฟังจนกว่าจะไม่ลืมว่า สิ่งนี้คือธรรม รู้ความจริงของสิ่งนี้ คือสิ่งที่มีจริงทั้งหมดซึ่งมีแต่ละลักษณะ เป็นธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่ไปรู้สิ่งอื่น จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นธาตุที่สามารถกระทบจักขุปสาท จิตเห็นเกิดเมื่อไรสิ่งนี้ก็ปรากฏจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่งที่มีลักษณะให้รู้ได้และหมดไปเท่านั้น ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น
๑๔. ประโยชน์ของปัญญาขั้นฟัง
อย่าหวังว่าจะดับกิเลสได้โดยขั้นฟัง เพราะเป็นเพียงโอกาสสะสมความเข้าใจสัจจะ
สิ่งที่มีจริงๆ อบรมความเห็นประโยชน์ของการได้รู้ความจริงจนกว่าจะรู้ความจริงละความเห็นผิดและความยึดถือว่ามีเรา อบรมมีความเข้าใจถูก ว่า ทั้งหมดคือธรรม
๑๕. ความต่างของปัญญาขั้นฟัง และปัญญาที่เข้าใจว่าธรรมคือธรรม
ขณะที่ฟังก็เข้าใจเรื่องราวของธรรมชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่ขณะที่เข้าใจว่าธรรมคือธรรม แต่ขณะที่รู้ถึงเฉพาะซึ่งลักษณะที่เป็นธรรม จึงเป็นปัญญาที่เข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งต้องสะสมความเข้าใจที่จะละความต้องการ เป็นผู้ที่ละเอียดแม้อยากให้กุศลเกิดรู้ความจริงก็เป็นความอยาก ไม่ใช่ปัญญา
๑๖. ความหมายแท้จริงของการละกิเลส
"สัตว์ทั้งหลายอันมีราคะเป็นต้นใดอันเสียบอยู่แล้วย่อมแล่นไปในทิศทั้งปวง"
ต้องรู้จักลูกศรก่อนจึงถอนได้ ซึ่งได้แก่ กิเลสทั้ง ๑๐ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ เป็นเหมือนลูกศรที่ถอนได้ยาก ปัญญาเท่านั้นที่จะละกิเลสถอนกิเลสได้ไม่ใช่อย่างอื่น ซึ่งเกิดได้เพราะฟังพระธรรมรู้ความจริงขณะนี้ ซึ่งต้องสะสมปัญญาตามลำดับเท่านั้น เป็นทางเดียวที่จะสามารถละกิเลสได้
๑๗. ความลึกซึ้งของปัญญาที่ละกิเลส คือความเป็นเรา
แม้ว่าสภาพธรรมจะปรากฏกับสติสัมปชัญญะคือปัญญา ที่ถึงเฉพาะในขณะที่สภาพธรรมปรากฏจริงๆ โดยไม่เป็นใคร ไม่มีเรา เป็นธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏให้รู้รอบได้ทีละอย่าง รู้สิ่งที่ปรากฏทางมโนทวารทั้งนามธรรมและรูปธรรม เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แต่ก็ยังไม่ใช่ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ หรืออุทยัพพยญาณ ปัญญาแค่นั้นไม่พอที่จะละคลายความเป็นตัวตน ละคลายการยึดติดถือว่าแข็งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งได้แก่อนิจจานุปัสสนาญาณ [1] (ปัญญาที่พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ซึ่งละความสำคัญว่าเที่ยง) เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าปัญญาที่ละความเห็นผิดว่าเที่ยง เป็นเรา ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นสมบูรณ์พร้อมได้ ปัญญาต้องอบรมเจริญขึ้นบ่อยๆ โดยละเอียดว่าเป็นธรรมจนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง ทั้งหมดเพื่อให้รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม
เดี๋ยวนี้มีโลภะหรือไม่ ถ้ามีก็คือแล่นไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทิศใดก็เป็นทิศทั้งหมดที่เป็นไปด้วยโลภะ และโลภะ มาจากไหน ถ้าไม่มีอวิชชาก็ไม่มีโลภะ และถ้ามีโลภะก็ไปทุกทิศ แม้เกิดก็เพราะมีโลภะ
ทิศโดยนัยของภูมิ ๓
ถ้าติดข้องในกาม ตายแล้วไปเบื้องล่าง หากละกามได้แล้ว ตายไปก็ไปเบื้องบน คือพรหมโลก หากถอนศรได้ทั้งหมดแล้ว ก็ไม่แล่นไปสู่ทิศใดๆ สิ้นปฏิสนธิ สิ้นโอฆะ คือเครื่องกดสัตว์ให้จมในวัฏฏะ
๑๘. ข้ออุปมาของการละกิเลส
เพียงขั้นฟัง หวังจะมีกุศลมากขึ้น อกุศลน้อยลง แต่ไม่เห็นอกุศลตามความเป็นจริง แล้วก็ไม่รู้ความต่างของปัญญาขั้นฟัง และขณะที่ปัญญารู้เฉพาะลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดดับเร็วมาก ก็ไม่ใช่เรื่องหวังหรือคาดคะเนว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมในชาติใด เพราะยังไม่เกิด และไม่สามารถรู้ได้ในขณะต่อไป
คำอุปมาเรื่องการละคลายกิเลส จากนาวาสูตร เรือใหญ่เกยบก ซึ่งผุพังลงด้วยแดด ลม อากาศ ค่อยๆ เสื่อมสลายไปฉันใด ปัญญาจากการฟังที่ค่อยๆ สะสมความเห็นว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เห็นก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทรงแสดงความจริงโดยละเอียดว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างแต่ละประเภท จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรม
๑๙. ฟังเพียงไรจึงจะละคลายกิเลส
ที่ตอนนี้ยังไม่สามารถละคลายกิเลสได้ ก็เพราะยังไม่มีปัญญาขั้นรู้ลักษณะของธรรม เมื่อฟังธรรมเข้าใจขณะใด ขณะนั้นละความไม่รู้ทันที มีแข็ง เป็นธรรมที่รู้อะไรไม่ได้ เป็นความจริงแม้ไม่ต้องเรียกอะไร ใครก็ห้ามแข็งไม่ให้ปรากฏไม่ได้ แต่แข็งเป็นธรรมตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกอย่างเป็นธรรม ก็ค่อยๆ รู้ไปทีละอย่างว่าเป็นธรรม ทุกคนรู้แข็ง แต่เวลาที่แข็งปรากฏ ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมขณะที่แข็งปรากฏ ไปทำ ไปหา ไปอยากรู้อย่างอื่น เพราะฉะนั้น ทุกอย่างไม่เว้นแม้แข็ง ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง จนกระทั่งทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีเรา มีเพียงสิ่งที่เกิดดับ
๒๐. กามคุณเหมือนความฝันหลอกลวง ดังของที่ยืมมา
กามคุณ ซึ่งได้แก่รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ที่ว่าเป็นของที่ยืมมา คือต้องคืนกลับไป ไม่ใช่เจ้าของตลอดกาล ไม่ว่าจะช้าเร็ว วันหนึ่งก็ต้องถึงวันตายที่จะคืนไม่กลับมาอีกเลย ที่ว่าฝันคือตื่นแล้วไม่มี ฝันหลายอย่างแต่ว่าตื่นแล้วไม่มีสักอย่าง ขณะนี้กำลังฝันหรือไม่ เพราะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเพียงชั่วคราวแล้วดับไปไม่เหลือเลย ไม่กลับมาอีก ฝันมานานมากแล้วหรือไม่ เริ่มฝันตั้งแต่เกิด มีทุกอย่างที่จำไว้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นคนนั้น สิ่งนั้นจริงๆ แม้เดี๋ยวนี้ก็ยังจำว่ามีอยู่ ทั้งที่ไม่มีอะไรเลย คือปรากฏแล้วหมดไป
๒๑. ความจริงที่ไม่ใช่ความฝัน
ความจริง ชีวิตเกิดแล้วไม่เหลือ เป็นอย่างนี้ไม่เฉพาะชาตินี้ ชาติก่อนตลอดทั้งสังสารวัฏฏ์ เมื่อวานเหลืออะไร เมื่อครู่นี้เหลืออะไร เสียงที่เพิ่งได้ยิน ดับแล้วไม่กลับมาอีก ไม่เฉพาะเสียง ทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น อยู่ในโลกของความฝัน ที่คิดว่ามี ในสิ่งที่ไม่มี
๒๒. ต้นเหตุแห่งความฝันที่หลอกลวง คือเห็นกามคุณว่าเป็นเรา
ธาตุที่น่าอัศจรรย์คือจิต เกิดดับสืบต่อไม่ขาดสาย จิตที่ดับแล้วยังเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ยากที่จะรู้ว่าจิตขณะก่อนหน้านี้ไม่ใช่จิตขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความฝันอย่างนี้ คือมีเราจริงๆ ก็ยังไม่ตื่น
๒๓. ทางที่จะตื่นจากความฝันที่หลอกลวง
สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏได้เมื่อจิตเห็นเกิด เพราะมีจักขุปสาท ถ้าไม่มีจักขุปสาท แม้สิ่งที่ปรากฏทางตามี ถ้าไม่กระทบจิตเห็น ก็เกิดไม่ได้ ปัญญาที่สามารถแทงตลอดการเกิดดับจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า มีสิ่งที่มีจริงอยู่ขณะนี้ มีจริงอยู่ชั่วขณะที่ปรากฏเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีปัญญารู้ลักษณะของธรรม ก็ฝันว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ถ้ามีปัญญารู้ลักษณะธรรมก็ตื่น
๒๔. ความเกี่ยวข้องของการรักษาธุดงค์และสมณธรรม ระหว่างบรรพชิตและคฤหัสถ์
ถ้าธุดงค์ไม่เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ ผู้ศึกษาธรรมก็ต้องมีการแบ่งแยกระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ แต่เป็นเรื่องของความเสมอกันด้วยกุศลจิตทุกเรื่องไม่เฉพาะธุดงค์เท่านั้น และแม้สมณธรรมก็หมายถึงธรรมของผู้สงบ แม้คฤหัสถ์ก็สงบได้ ซึ่งทางที่ทำให้สงบจนกระทั่งถึงการดับกิเลสก็คือเป็นคนดี ฟังธรรม ศึกษาธรรม เข้าใจธรรม ขัดเกลากิเลส ดับกิเลส ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะบุคคล แต่ทุกคนที่มีโอกาสฟังธรรมและเข้าใจ
ความหมายธุดงค์
ธุดงค์ คือข้อปฏิบัติ ละเอียดเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสเพื่อความมักน้อย สันโดษ มี ๑๓ ข้อ ซึ่งภิกษุสามารถรักษาได้ครบว่าด้วยเรื่องต่างๆ เช่น บิณฑบาต จีวร เสนาสนะ และอิริยาบถ เป็นต้น สำหรับภิกษุณี สามเณร สามเณรี และคฤหัสถ์ สามารถรักษาได้บางข้อลดไปตามลำดับ เช่น ที่คฤหัสถ์รักษาได้ก็มีทานมื้อเดียว ทานอาสนะเดียว ภาชนะเดียว เป็นต้น (การเดินป่า ไม่ปรากฏในธุดงค์ ๑๓) ทั้งหมดเป็นความประพฤติด้วยความเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้อยู่ขัดเกลากิเลสที่จะประพฤติด้วยอัธยาศัยตัดความยุ่งยาก ดิ้นรนแสวงหา ที่ทำให้เสียเวลาหรือประโยชน์อื่นไป
๒๕. ความหมายของคนดี
ขณะที่กุศลจิตเกิดเมื่อไร ก็เป็นคนดีเมื่อนั้น ขณะที่อกุศลจิตเกิดเป็นคนดีไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องบุคคล แต่เป็นจิตขณะนั้น ขณะที่ฟังธรรมเข้าใจขึ้นก็ต่างจากผู้ที่ไม่ได้ฟัง คือเป็นกุศลในขณะที่ฟังไม่ใช่เป็นอกุศลที่ไม่เข้าใจ และก็ยังมีความเข้าใจที่ทำให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก คือดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถสงบจากอกุศลยิ่งขึ้น
ความจริงที่ล่วงพ้นไปด้วยความไม่รู้
เวลาที่ล่วงไปแต่ละวันๆ ได้อะไรบ้างที่เป็นความดีที่เป็นประโยชน์ หรือเพียงแต่ล่วงไปและเต็มไปด้วยความอยากได้ของสวยงาม แต่แม้ความจริงที่ปรากฏ เช่น ขณะที่โกรธเกิดขึ้น ก็ไม่ทราบ ก็เต็มไปด้วยความไม่รู้ ความดีไม่ใช่ของที่บุคคลอื่นนำมาให้ ที่ความดีจะอบรมเจริญยิ่งขึ้นได้ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจความจริง แม้คิดดีก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา แม้คิดไม่ดีก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา
ความหมายของความสงบ
ขณะที่เป็นกุศล สงบจากอกุศล คือราคะ โทสะ โมหะ ที่จะอบรมให้ความสงบเจริญยิ่งขึ้นได้ต้องมีปัญญา หากไม่มีปัญญา ความสงบจะเจริญขึ้นไม่ได้
๒๖. ความละเอียดของผู้ที่อบรมมาเพื่อรู้แจ้งอริยธรรมโดยเร็ว
การบรรลุธรรมได้รวดเร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับการสะสม ท่านพระสารีบุตร จากความเป็นพระโสดาบันถึงความเป็นพระอรหันต์ ๑๕ วัน ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ๗ วัน ท่านพาหิยทารุจีริยะ ท่านก็ได้ตรัสรู้อย่างรวดเร็วบรรลุเป็นพระอรหันต์เพียงฟังธรรมสั้นๆ จากพระพุทธเจ้า หรือท่านสันตติมหาอำมาตย์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น [ซึ่งหากบรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่เป็นคฤหัสถ์ ถ้าไม่บวชก็จะปรินิพพานในวันนั้น เพราะเพศคฤหัสถ์ไม่สามารถรองรับคุณธรรมอันสูงยิ่งนี้ได้] ไม่ใช่เรื่องเจาะจงให้เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อใดที่เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาซึ่งต่างกันเป็นไปแต่ละหนึ่งซึ่งแม้ขณะนี้ที่ได้ยิน สุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ ก็ไม่เหมือนกัน ขณะต่อไปก็ไม่เหมือนกัน และเมื่อปัญญาถึงกาลที่สมบูรณ์รู้ความจริง สภาพธรรมะระดับใดใครก็เปลี่ยนไม่ได้ ห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้
สิ่งใดที่พิสูจน์การสะสมของตน
ธรรมปรากฏแล้วก็พึงรู้ความจริงว่าเป็นอย่างนั้น และไม่ใช่เรื่องที่ให้คนอื่นบอกว่าตนเองสะสมมาเท่าไรกัป แต่ความเข้าใจขณะนั้นเองเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าปัญญาถึงระดับใด ซึ่งรู้ได้เฉพาะตน
[1] อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา เป็นต้น คือมหาวิปัสสนา ซึ่งจะสมบูรณ์พร้อมได้เมื่อปหานปริญญาซึ่งมีภังคานุปัสสนาญาณเป็นภูมิพื้น แสดงไว้โดยนัยของอนุปัสสนา ๗ บ้าง อนุปัสสนา ๑๘ บ้าง ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาคที่ ๓ ตอนที่ ๒
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะครับ
เป็นประโยชน์มากครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณและกราบอนุโมทนาค่ะ _/|_
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อ่านแล้วยิ่งมองเห็นตนในตัวมากยิ่งขึ้น เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน ผมเคยขอหนังสือจากมูลนิธิศึกษาฯ โดยได้รับเมตตาจาก คุณดวงเดือน บารมีธรรม ได้ส่งหนังสือใหัหนึ่งชุด มีแนวทางเจริญวิปัสสนา บารมีในชีวิตประจำวัน และอีกหลายๆ เล่ม เมื่อได้อ่านเนื้อความแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจ ตอนหลังก็ต้องอาศัยการฟังประกอบจึงค่อยๆ รู้เข้าใจมากขึ้น แต่ก็ทิ้งไปหลายปีครับ เป็นเพราะวิบากที่ไม่ดีจึงต้องเจอกับมรสุมชีวิตอย่างหนัก ขออภัยครับที่มีเรื่องส่วนตัวแทรกครับ เมื่อมาศึกษาในเว็บไซต์นี้มีประโยชน์มากสูงสุดจริงๆ
ขอขอบพระคุณผู้นำเสนอทุกๆ ท่านเป็นอย่างสูงครับ อ่านแล้วเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ก็ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาในธรรมทานด้วยครับ
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
... เป็นคนดี ฟังธรรม ศึกษาธรรม เข้าใจธรรม ขัดเกลากิเลส ดับกิเลส ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะบุคคล แต่ทุกคนที่มีโอกาสฟังธรรมและเข้าใจ.
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ด้วยความเคารพ จากใหญ่ ราชบุรี - ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี
ขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ