ในการทำทาน ที่กล่าวว่าเป็น ทานมัย กุศลจิตที่เกิดขึ้นหรือเป็นไปกับ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ให้ผลเท่ากันคือมีอานิสงส์เท่ากันหรือไม่
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทาน ที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นทานมยปัญญาที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร ย่อมเป็นกุศลที่มีกำลังมากกว่า ทางกาย และ วาจา ครับ เพราะ เป็นทานที่ประกอบด้วยปัญญา
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 652
อธิบายทานมยปัญญา
คำว่า ทาน อารพฺภ (แปลว่า ปรารภทาน) ได้แก่ อาศัยทาน อธิบายว่า มีเจตนาในทานเป็นปัจจัย. คำว่า ทานาธิคจฺฉ (แปลว่า บุคคลผู้ให้ทาน) อธิบายว่า บุคคลผู้กำลังน้อมเข้าไปให้อยู่ซึ่งทาน ชื่อว่า ผู้ให้ทาน. คำว่า ยา อุปฺปชฺชติ (แปลว่า ย่อมเกิดขึ้น) ได้แก่ ปัญญาใด อันสัมปยุตด้วยเจตนาในทาน ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ปัญญานี้ ชื่อว่า ทานมยปัญญา. ก็เมื่อบุคคลคิดว่า เราจักให้ทานดังนี้ ก็ให้ทานอยู่ ครั้นให้ทานแล้ว ก็พิจารณาอยู่ซึ่งทานนั้น.
ทานมยปัญญานั้น ย่อมเกิดขึ้นโดยอาการ ๓ อย่าง คือ
ปุพพเจตนา
มุญจนเจตนา
อปรเจตนา
ขออนุโมทนาครับ
ขอถามเพิ่มในเรื่องที่เกี่ยวข้องกันครับ
ใน พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 253 มีข้อความว่า
"อนึ่ง กุศลญาณสัมปยุตจิตเป็นทานมัยยังเป็นไปอยู่ ในกาลใด ความเป็นไปของบุคคลผู้บูชาพระไตรรัตน์ด้วยมือของตน ในกาลนั้น เป็นกายกรรม. ในกาลใด เมื่อบุคคลจะบูชาพระไตรรัตน์จึงสั่งบุตร ภรรยา ทาส กรรมกร และบุรุษเป็นต้นให้บูชา ในกาลนั้น เป็นวจีกรรม. ในกาลใด บุคคลปรารภวัตถุวัตถุทานที่มีอยู่ มีประการตามที่กล่าวแล้วนั้นนั่นแหละ แล้วคิดว่า เราจักให้สีเป็นทาน (วณฺณทานํ) ดังนี้ ในกาลนั้น เป็นมโนกรรม."
กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ดังในข้อความข้างต้น เป็นกุศลที่มีกำลังเท่ากัน หรือมโนกรรม ก็ยังเป็นกุศลที่มีกำลังมากกว่าครับ
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
ก็ต้องพิจารณาสภาพจิต ทางกาย วาจาและใจ
แต่เมื่อว่าโดยละเอียดแล้ว การกระทำทางกาย วาจา จะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิตใจที่ตรึกนึกคิดเป็นกุศล อกุศล เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนา การกระทำทางใจ ที่เรียกว่า มโนกรรม นั้น มีกำลังมากที่สุด มากกว่า การกระทำทางกาย วาจา ทั้งฝ่ายกุศล และ อกุศล ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับใจในขณะนั้น แม้กาย วาจา ภายนอกจะดูดี ไม่ดีอย่างไร แต่สำคัญที่ใจเป็นสำคัญ ที่เป็นมโนกรรม และผลของกรรมก็มากกว่า ทั้งทางกายและวาจาด้วย ทั้งในฝ่ายของกุศล และ อกุศล ครับ
ในอรรถกถา อุปาลิวาทสูตร ได้อธิบายในเรื่องของมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่าทางฝ่ายกายกรรมและวจีกรรม ในฝ่ายกุศล มโนกรรมก็ชื่อว่ามีคุณมากกว่า กุศลกรรมทางกายกรรมและวจีกรรม เช่น เจตนา (กรรม) ที่เป็นไปในขณะมรรคจิตนั้นสามารถดับกิเลสได้ มโนกรรมฝ่ายกุศลจึงชื่อว่าเป็นใหญ่ มีคุณกว่ากายกรรมและวจีกรรม
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 13 อรรถกถา อุปาลิวาทสูตร
ก็ในอกุศลและกุศลทั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสกายกรรมวจีกรรมที่ถึงอกุศล ว่าเป็นใหญ่ ดังนี้ย่อมไม่ลำบากตรัสมโนกรรมฝ่ายกุศลว่าเป็นใหญ่ ดังนี้ก็ไม่ลำบาก จริงอย่างนั้น บุคคลพยายามด้วยกายอย่างเดียวกระทำกรรม ๔ (อนันตริยกรรม) มีมาตุฆาตเป็นต้น ก็ด้วยกายเท่านั้นบุคคลกระทำกรรมคือ สังฆเภท (ทำลายให้แตกกัน) อันจะยังผลให้บุคคลตั้งอยู่ในนรกถึงกัปหนึ่งก็ด้วยวจีทวาร ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกายกรรม วจีกรรม ฝ่ายอกุศลว่าเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า ไม่ลำบาก. ส่วนเจตนาในฌานอย่างเดียวย่อมนำสวรรค์สมบัติมาให้ถึง ๘๔,๐๐๐ กัป เจตนาในมรรคอย่างเดียวย่อมเพิกถอนอกุศลทุกอย่างย่อมถือเอาพระอรหัตได้ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสมโนกรรมฝ่ายกุศลว่าใหญ่ จึงชื่อว่าไม่ลำบาก.
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขณะที่ให้ทานเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น มีความเข้าใจถูกเห็นถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ขณะนั้น ก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นไปกับด้วยการให้ แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นสภาพธรรมที่ประเสริฐ ไม่ว่าจะทำอะไร ขณะไหน ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก สามารถเกิดขึ้นรู้ตามความเป็นจริงได้
แต่ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเป็นเบื้องต้นเลย ไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย ดังนั้น รากฐานสำคัญจริงๆ ก็คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุดแด่พระรัตนตรัย
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่ง ครับ.
บุญสำเร็จด้วยการให้ บุญจะมากหรือน้อยก็อยู่ที่ปัญญา ขณะที่หวังผลบุญขณะนั้นเป็นอกุศล กุศลก็เกิดสลับกับอกุศล ค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนา
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ยินดีในกุศลจิตครับ