ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ คณะวิทยากร รศ.สงบ เชื้อทอง ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ และ อาจารย์ธิดารัตน์ หอมจันทร์ ได้รับเชิญจาก คุณอดิศร และ คุณอมรา พวงชมภู ประธานกรรมการ และ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามแฮนด์ส จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อยืดยี่ห้อ “แตงโม” เจ้าของเรือนทองทิพย์ จังหวัดเชียงราย เพื่อไปสนทนาธรรม ณ เรือนทองทิพย์ เลขที่ ๓๓๓ หมู่ ๑ บ้านหนองด่าน ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
การเดินทางมาสนทนาธรรมที่เชียงรายของท่านอาจารย์และคณะฯในครั้งนี้ เป็นการเดินทางโดยต่อเนื่องจากการสนทนาธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยเมื่อเสร็จจากการสนทนาธรรมที่เชียงใหม่ในตอนบ่ายแล้ว คณะของท่านอาจารย์ได้เดินทางโดยรถตู้จำนวน ๕ คัน ไปยังจังหวัดเชียงราย ถึงจังหวัดเชียงรายในตอนค่ำ และเข้าพักที่โรงแรมคำธนา เดอะโคโลเนียล โฮเต็ล เช่นเคย
การเดินทางมาสนทนาธรรมที่ เรือนทองทิพย์ จังหวัดเชียงราย ของท่านอาจารย์ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ แล้ว ครั้งแรก ท่านอาจารย์เดินทางมาสนทนาธรรมตามคำเชิญของคุณอมรา เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา สำหรับท่านที่สนใจ สามารถคลิกชมภาพและความการสนทนาในครั้งนั้น ได้ที่นี่ครับ...ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ เรือนทองทิพย์ จ.เชียงราย ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ สำหรับการสนทนาในครั้งแรกนั้น เป็นการสนทนาเพียงครึ่งวันเช้าเท่านั้น หลังจบการสนทนา คณะของท่านอาจารย์ ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯในตอนบ่ายของวันนั้นเลย แต่สำหรับในครั้งนี้ ท่านเจ้าภาพมีความประสงค์ที่จะให้ทุกท่านได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงกราบเรียนท่านอาจารย์ เพื่อมีการสนทนาธรรมทั้งภาคเช้าและบ่าย
การเดินทางมาจังหวัดเชียงรายในครั้งนี้ คณะของท่านอาจารย์ ได้พักอยู่ที่เชียงรายถึงสองคืน โดยเมื่อเสร็จจากการสนทนาในวันแรกแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้น หลังรับประทานอาหารเช้า ณ โรงแรมที่พักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านอาจารย์และคณะฯ ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและรับประทานอาหารกลางวันที่ไร่บุญรอด ก่อนการเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในตอนบ่าย
จากความเข้าใจคลาดเคลื่อนบางประการ ทำให้คณะของเรา เดินทางถึงเรือนทองทิพย์ ก่อนเวลาสนทนาราวหนึ่งชั่วโมง แต่ทางท่านเจ้าภาพ ก็เตรียมการต้อนรับไว้พร้อมแล้ว โดยในวันนี้ เนื่องจากคุณอมรา ติดภารกิจสำคัญที่กรุงเทพฯ จึงมีเพียงคุณอดิศร และ บุตรสาว คอยให้การต้อนรับท่านอาจารย์และคณะฯด้วยความอบอุ่นอย่างยิ่ง และในระหว่างที่รอเวลาการสนทนาธรรมตามกำหนดการ ทุกท่านก็ไม่ละโอกาสสำคัญ ที่จะกราบเรียนสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ ท่ามกลางบรรยากาศที่เย็นสบาย แวดล้อมด้วยทิวทัศน์ที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ที่น้อยคน จะมีโอกาสอันแสนวิเศษเช่นนี้ ในสังสารวัฏฏ์
คุณอดิศร พวงชมภู สามีของคุณอมรา พวงชมภู ให้การต้อนรับท่านอาจารย์ และกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ และคณะวิทยากร ยังที่สนทนาธรรม ซึ่งได้จัดเตรียมสถานที่ไว้อย่างเรียบร้อยสวยงาม มีการกางเต้นท์และจัดเตรียมสถานที่สำหรับรับประทานอาหารกลางวัน ไว้สำหรับรองรับผู้เข้าร่วมฟังการสนทนาธรรมเป็นอย่างดีทางด้านล่างของที่สนทนาธรรม ซึ่งมีส่วนของห้องน้ำที่สะอาดสะอ้าน ทั้งยังมีซุ้มกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ ไว้บริการอีกด้วยครับ
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๓๒๕
พระศาสดาตรัสว่า " ดีละ มหาบพิตร ตถาคตบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ บริจาคมหาบริจาค ๑ แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็เพื่อตัดความสงสัยของชนผู้เช่นพระองค์นี่แหละ, ขอพระองค์จงทรงสดับปัญหาที่พระองค์ถามแล้วเถิด: บรรดาทานทุกชนิด ธรรมทานเป็นเยี่ยม, บรรดารสทุกชนิด รสแห่งพระธรรมเป็นยอด, บรรดาความยินดีทุกชนิด ความยินดีในธรรมประเสริฐ, ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุพระอรหัต" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ สพฺพํ รสํ ธมฺมรโส ชินาติ สพฺพํ รตึ ธมฺมรตี ชินาติ ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชนาติ.
" ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง, รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง, ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง, ความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง."
อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาบางตอนในวันนั้น มาฝากให้ทุกๆ ท่านพิจารณาเช่นเคย เป็นตอนที่มีผู้ฟังท่านใหม่ ที่มีความสงสัยในเรื่องของการทำสมาธิและการเดินจงกรม ซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งท่านอาจารย์และคณะวิทยากร ได้แสดงไว้โดยละเอียดอย่างยิ่ง จึงจะขอนำลงบันทึกไว้เพื่อประโยชน์ทั้งหมด โดยไม่ตัดทอน ซึ่งจะมีความยาวพอควร เหมาะสำหรับท่านที่มีเวลาในการอ่านและ พิจารณาโดยละเอียด ครับ
อนึ่ง เพื่อให้บันทึกการเดินทางไปสนทนาธรรมของท่านอาจารย์และคณะในครั้งนี้ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงขออนุญาตนำภาพของการเยี่ยมชมไร่บุญรอดของท่านอาจารย์และคณะฯในวันรุ่งขึ้น มาใส่ไว้ในช่วงก่อนจบการสนทนาด้วย นะครับ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
ผู้ฟัง อยากจะกราบเรียนว่า การทำสมาธิ การเดินจงกรม เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำ ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท หรือเปล่าคะ?
ท่านอาจารย์ ค่ะ พุทธบริษัท คือ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แล้วก็ประพฤติ ปฏิบัติ ตามพระธรรมด้วย เพราะฉะนั้น คำว่า "พุทธะ" หมายความถึง "ผู้รู้" ไม่ใช่ "ผู้ไม่รู้" ถ้าเป็นพุทธบริษัท จะรู้ได้จากการฟังพระธรรม แล้วก็ "เข้าใจ" ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเลย
เพราะฉะนั้น "สมาธิ" คือ อะไร? "จงกรม" คือ อะไร? ต้องรู้ก่อน ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ โดยไม่เข้าใจเลย อย่างนั้นก็ไม่ใช่ผู้ที่เป็นผู้ที่ฟังพระธรรม
ผู้ฟัง การทำสมาธิก็ ไม่ง่ายเลย ก็คือ ที่เขาสอนมา คือ ทำจิตให้เป็นหนึ่ง ถ้าเผื่อจิตเราว้าวุ่น วุ่นวาย อะไรอย่างนี้ การที่เราเพ่งหรือตั้งจิตไปในการเพ่งมองอย่างหนึ่ง ก็ทำให้เราจิตรวมเป็นหนึ่ง แล้วก็ไม่คิดถึงเรื่องอื่น อะไรอย่างนี้ ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพื่ออะไร?
ผู้ฟัง เพื่อทำจิตให้สงบ
ท่านอาจารย์ สงบ หมายความว่าขณะนั้น ไม่มีโลภะ
ผู้ฟัง ไม่วุ่นวาย ค่ะ
ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่วุ่นวาย ต้องไม่มีโลภะ ความติดข้อง ไม่มีโทสะ ความขุ่นเคือง และ ไม่มีโมหะ ความไม่รู้ ด้วย!!!
ผู้ฟัง บางครั้ง มันมีอยู่ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่แน่นอน!! ที่จริง เป็นเรื่องที่ละเอียดกว่านั้น คือ ต้องรู้ว่า สมาธิ คือ อะไร? มีจริงไหม? และ เดี๋ยวนี้ มีไหม?
ผู้ฟัง น่าจะมีจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
ท่านอาจารย์ คิดเอง หรือว่า ฟังมา?
ผู้ฟัง ทั้งฟังมา และ คิดเอง
ท่านอาจารย์ ฟังมาว่าอย่างไรคะ?
ผู้ฟัง ฟังมาว่า....ก่อนทำสมาธิใช่ไหมคะ?
ท่านอาจารย์ ก่อนทำค่ะ สมาธิ คือ อะไร?
ผู้ฟัง ก่อนทำ เราต้อง.....
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ก่อนที่จะพูดถึง ทำสมาธิ เฉพาะ "สมาธิ" คือ อะไร?
ผู้ฟัง การทำสมาธิ
ท่านอาจารย์ สมาธิ คือ อะไร?
ผู้ฟัง ถ้าฟังมา การทำสมาธิก็เป็น....
ท่านอาจารย์ ไม่ทำค่ะ ไม่ทำ!!!
ผู้ฟัง ยังไม่ทำ?
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า "ทุกคำ" ที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อความเห็นถูกต้อง "ทุกคำ" นำมาซึ่ง "ปัญญา" ความเข้าใจ ทุกคำเลย อย่างคำว่า "ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริง นี่เป็นความเข้าใจ ธรรมะเกิด ถ้าไม่เกิด ก็ไม่มี นี่เป็นความเข้าใจ เมื่อเกิดแล้ว สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดแล้ว สิ่งนั้นก็ต้องดับไป ไม่กลับมาอีก นี่ก็เป็น "ความเข้าใจ"
เพราะฉะนั้น ฟังธรรมะ คือ ฟังวาจาสัจจะ ที่เป็นความจริง ที่ทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ได้ "ทุกคำ" ต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ ก็คือว่า ไม่ได้เป็นธรรมะ ไม่ได้ฟังธรรมะ!!!
"สมาธิ" คือ อะไร? ถ้าไม่รู้ ไปทำอะไร? และ ไปทำไม?
ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แน่นอน!! ถ้าเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "เข้าใจ" ในสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน!!! สิ่งใดมี สิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หลากหลายมาก เป็นแต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้น แม้แต่สมาธินี่ มีจริงไหม? ยังไม่รู้เลย ว่าเป็นอะไร? จะตอบก็ไม่ได้ ว่ามีหรือไม่มี ก็ต้องรู้ก่อนว่า สมาธิ คือ อะไร? และถ้าไม่ฟัง จะรู้ไหม? ว่า สมาธิ คือ อะไร?
ผู้ฟัง ไม่น่าทราบค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ได้ฟังพระธรรม ถ้าจะรู้ ก็ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรม สนใจใช่ไหม? ที่จะรู้จักว่า สมาธิ คือ อะไร?
ผู้ฟัง สนใจค่ะ
ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณอรรณพค่ะ ก่อนคุณอรรณพ นะคะ สมาธิ มีจริงหรือเปล่า? ถ้าไม่มี เราคงไม่ต้องพูดถึง แต่ไม่รู้ว่า เป็นอะไร ใช่ไหม? เพียงแค่มีจริง ก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่งแล้ว เพราะมีจริงๆ แต่ธรรมะ มีหลากหลายมาก เพราะฉะนั้น "ธรรมะหนึ่ง" ซึ่งเราใช้คำว่า "สมาธิ" คือ อะไร?
อ.อรรณพ ก็ต้องมีสภาพธรรมะนั้นจริงๆ ใช่ไหม? ไม่ใช่ลอยๆ บอก "สมาธิ" แล้วก็ไม่รู้ว่า สมาธิ คือ อะไร? เป็นตัวจริง คือ เป็นสภาพธรรมะ ตัวธรรมะจริง อย่างหนึ่ง สมาธิ ก็คือ ความตั้งมั่น ซึ่งตั้งมั่นนี้ เป็นคำกลางๆ ตั้งมั่นด้วยดี ก็ได้ ตั้งมั่นด้วยไม่ดี ก็ได้ ใช่ไหม? อย่างโจร เวลาเขาจะเข้าไปทำอะไร โดยเฉพาะพวกที่โจรกรรมใหญ่ๆ เขาก็ต้องมีสมาธิในการทำ ในการงัดแงะ อะไรอย่างนี้ เขาต้องตั้งมั่นในเรื่องของเขา
เพราะฉะนั้น สมาธิ ก็คือ ความตั้งมั่นของจิต ที่เกิดแต่ละขณะจิต คือ เมื่อเช้าฟังไปแล้ว ใช่ไหม? จิต คือ สภาพรู้ ที่เป็นหลัก เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้น จิตต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด "จิตเห็น" รู้อะไร? "จิตเห็น" ก็ต้อง "รู้สี" จะไปรู้ "เสียง" ได้ไหม? ไม่ได้!!! "จิตได้ยิน" ก็ "รู้เสียง" จะไปรู้สี รู้กลิ่น ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น การที่ "จิตขณะหนึ่ง" เกิดขึ้น แล้ว "รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงสิ่งเดียว" เพราะอะไร? เพราะอะไร จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง จึงไม่รู้ทั้งสี ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น รวมกันในขณะเดียว? เพราะมีสภาพที่เกิดกับจิตอย่างหนึ่ง เป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง คือสิ่งที่เกิดกับจิต ที่ปรุงแต่งให้จิต รู้สิ่งที่จิตกำลังรู้ เพียงอย่างเดียว อันนี้ เป็นความจริงแน่นอน ใช่ไหม? จิตขณะหนึ่ง จะรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงอย่างเดียว "จิตเห็น" ก็ "รู้สี"
ผู้ฟัง อันนี้ จำเป็นกับในชีวิตประจำวัน???
อ.อรรณพ ไม่ใช่จำเป็น ชีวิตประจำวัน "เป็น" คือ เราจะแยกชีวิตประจำวัน กับ ธรรมะ อยู่ตลอด!!! แต่ในขณะนี้ ขณะที่ได้ยินเสียง เป็น "จิตได้ยิน" ไม่ใช่ใคร!!! และ "จิตได้ยิน" นั้น "ได้ยินเสียง" พอ "จิตเห็น" ก็ "รู้สี" แล้วก็มี "ความคิดนึก" แล้วจิตก็ได้ยิน สลับ เหมือนกับตอนนี้!! เหมือนกับเห็นด้วย ได้ยินด้วย!! ถูกไหม?
นี่คือ ความเกิดดับสืบต่อของจิต พรึ่บเลย เหมือนกับเวลาที่เขาฉายภาพยนตร์ ที่เป็นฟิล์ม เป็นภาพนิ่ง พอเปิดเร็วๆ ๑๖ ภาพ เกิน ๑๖ ภาพ ต่อวินาที ตาเราแยกไม่ออก ฉันใด ขณะนี้ เห็นขณะหนึ่ง ได้ยินขณะหนึ่ง มีความรวดเร็ว
ผู้ฟัง แล้วก็ มีคนบอกว่า ถ้าเผื่อเด็กจะเรียนหนังสือให้ดี
อ.อรรณพ ต้องมีสมาธิ
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
อ.อรรณพ กำลังจะพูดต่อไป แต่นี่ พื้นฐานก่อนว่า "พื้นฐานของชีวิต คือ จิตแต่ละขณะ" ซึ่งเกิดขึ้น รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทีละอย่าง แต่เกิดดับ สลับ รวดเร็วมาก ที่เราเรียนรู้อะไรได้ ที่เราฟังกันเข้าใจนี่ จริงๆ มีทั้งจิตเห็นเกิดขึ้น แล้วก็คิดนึก ว่าเป็นคนนี้ กำลังพูดอะไร จิตได้ยินเกิดขึ้น ไม่ใช่ขณะเดียว เกิดแล้วก็คิด เกิดแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด เห็นแล้วก็คิด เห็น-ได้ยิน สลับกัน รวดเร็ว เดี๋ยวมีกลิ่นบ้าง เดี๋ยวมีร้อนบ้าง สลับไป ใช่ไหม?
แต่ "พื้นฐานความเข้าใจ" คือ ขณะที่ "จิตเกิดขึ้น ขณะหนึ่ง" ซึ่ง "รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด" เพียงอย่างเดียว นั้น เพราะอะไร? เพราะมีสภาพที่เกิดกับจิต ก็คือ "เจตสิก" ที่เราพูดถึง เจตสิกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า "เอกัคตา เจตสิก" เอ-กะ แปลว่า "หนึ่ง" เอกัคตาเจตสิก ก็คือ เจตสิกที่ปรุงแต่งให้จิต เกิดขึ้น รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงสิ่งเดียว
เพราะฉะนั้น "จิตเห็น" ก็รู้ เฉพาะ "สี" เท่านั้น จะไปรู้อย่างอื่น ไม่ได้ เพราะมีเจตสิกนี้ (เอกัคตา เจตสิก) ที่จะสืบต่อ คือ จะเป็นตัว "สมาธิ" เพราะฉะนั้น เอกัคตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ปรุงแต่งให้จิต เกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพียงอารมณ์เดียว หรือ อารมณ์ เป็นสิ่งที่จิตรู้ (ภาษาไทยเราเอาไปใช้คนละความหมาย) สิ่งที่จิตรู้ จิตจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงอย่างเดียว เพราะเอกัคตา ปรุงแต่งให้รู้ "หนึ่ง" หรือ "เอกะ" เท่านั้น!!
ทีนี้ ตอนที่สนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตนี่ เกิดดับนับไม่ถ้วนจริง แต่ว่า รู้ในสิ่งนั้น ต่อเนื่องกันไป จึงเรียกการเกิดดับสืบต่อของจิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ที่คิดในเรื่องเดียวกันอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า "สมาธิ" เราบอกว่า เด็กที่มีสมาธิในการเรียน ก็คือว่า เวลาเขาเรียน เขาก็จะสนใจที่จะเห็นสี แล้วก็เป็นนิมิตของตัวอักษรต่างๆ เมื่อเช้าเราพูดแล้ว นิมิต ก็เลยเอามาพูดได้เลย อ้างอิงจากเมื่อเช้า เห็นเป็น ก ไก่ ข ไข่ อาจารย์เขาเขียนว่าอะไร หรือเป็นตัวเลข เห็นนิมิตหลายๆ รวมกัน เขาก็สนใจ เขาไม่ไปใส่ใจในเรื่องอื่น!! ไม่วอกแวก คือ จิตเกิดขึ้นไปคิดในเรื่องอื่น แทนที่จะคิดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้น "สมาธิ" ก็คือ การที่จิตเกิดขึ้นสืบต่อกัน เกิดดับสืบต่อกัน แล้วก็คิดถึงเรื่องใด อย่างต่อเนื่องไป ก็เรียกว่า "สมาธิ" แต่อย่างไรก็ตาม ทุกๆ ขณะจิต มีสมาธิอยู่แล้ว คือ มีเอกัคตาเจตสิกเป็นตัวสมาธิ มิฉะนั้น จิตจะเกิดขึ้นตั้งมั่น ในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้เลย แล้วก็รู้สิ่งนั้น เพียงแค่อย่างเดียว เพียงแต่ว่า ที่เราบอกว่า เป็นสมาธิ ก็คือ เกิดขึ้นหลายๆ ขณะสืบต่อยาว ก็เป็น "สมาธิ"
เพราะฉะนั้น อกุศล เป็นสมาธิ ได้ไหม? ได้!!! ถ้าอกุศลนั้น ประกอบไปด้วยเอกัคตาแล้วตั้งมั่นในเรื่องนั้น นานๆ มีสมาธิมาก ที่จะสนใจเรื่องอื่น เรื่องเขาทะเลาะเบาะแว้ง เรื่องชาวบ้าน มีสมาธิดูหนัง ดูละคร ติดตาม เรื่องอื่นไม่สนใจ ใครจะเรียก ไม่ใส่ใจ ก็เป็นอกุศล ก็ได้ เป็นกุศล ได้ไหม? เป็นกุศล ก็ได้ และ ระดับของสมาธิที่เป็นกุศล ก็ยังมีหลายระดับ
เพราะฉะนั้น ถ้าคนที่ยังไม่เข้าใจเช่นนี้ พอได้ยินคำว่า "สมาธิ" ในสังคมไทย ชาวพุทธนี่ เราก็บอกว่า เอาละ "ทำ" โดยที่เราไม่รู้เลยว่า เป็นกุศลสมาธิ หรือ อกุศลสมาธิ พอได้ยินคำว่า สมาธิ ข้ามไป ไม่รู้จักว่า สมาธิ คือ อะไร? ต้องเริ่มจากว่า สภาพนั้น คือ อะไร? ก่อน!!!
เพราะฉะนั้น สมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิต โดยสภาพธรรมะ คือ เอกัคตาเจตสิก ที่เกิด ปรุงแต่งให้จิต รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทีละอย่าง แล้ว "ตั้งมั่น" ชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ที่รวดเร็วที่สุด!!! แต่ว่า ถ้าสืบต่อกันในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อเนื่องในศาสตร์ ในวิชา ในเรื่องราวอะไร ก็เรียกว่า เขามีสมาธิในสิ่งนั้น โจรเขาก็มีสมาธิเป็นอกุศล ใช่ไหม?
เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา กล่าวไว้ชัด ว่าสมาธิ มีทั้งที่เป็น กุศลสมาธิ ก็มี อกุศลสมาธิ ก็มี สัมมาสมาธิ ก็มี มิจฉาสมาธิ ก็มี "สัมมา" คือ ดี ชอบ ถูก "มิจฉา" ก็คือ ผิด ไม่ถูก เป็นความเห็นที่เข้าใจผิด
เพราะฉะนั้น น่าสนใจว่า ที่แตกตื่นกันไปทำสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ หรือ มิจฉาสมาธิ???
ผู้ฟัง คือว่า ที่เมืองนอก ทางรัฐบาล เขาบรรจุสมาธิ เป็นวาระแห่งชาติ เราก็เลยคิดว่า มันต้องมีอะไรสักอย่าง ที่ทำให้เขาระบุอย่างนั้น
อ.อรรณพ ก็คือ อกุศลสมาธิ เขาก็มีกำลังของเขา อย่างคนที่เขาศึกษาศาสตร์ใดก็ตาม ถ้าไม่เป็นกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล แต่อกุศลนั้น ไม่ได้รุนแรงถึงไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์อะไร เช่น เราเรียนทำอาหาร ขณะนั้นก็เป็นโลภะ แต่ไม่ได้มีโทษมาก เพราะไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์อะไร เป็นโลภะปกติ พระโสดาบันก็ยังมี แต่ว่า โลภะที่คิดนั้น คิดในเรื่องเดียวกัน ถ้าคิดสเปะสะปะ ไปคิดเรื่องโน้นบ้าง ไปคิดเรื่องนี้บ้าง แม้จะมีเอกัคตา แต่เอกัคตาไปคิดเรื่องนี้บ้าง ไปคิดเรื่องโน้นบ้าง เดี๋ยวก็แว่บไปได้ยินเรื่องนี้ ไปคิดเรื่องอื่น ขณะนั้น เราก็เรียกว่า เขาไม่มีสมาธิในเรื่องนั้น แต่จริงๆ เอกัคตา เกิดกับจิตทุกดวง แต่ไม่ได้เกิดดับสืบต่อแล้วคิดในเรื่องนั้น ยาวนาน
เพราะฉะนั้น คนที่เขาเห็นเพียงว่า ขอให้มีสมาธิในการทำงาน เขาก็สนับสนุนให้มีสมาธิในการทำงานนั้น!! ก็ใช่!! สมาธินั้น เขาก็ทำให้สำเร็จผลของเขาตรงนั้น แต่ไม่ได้เป็นกุศล ไม่ได้นำไปสู่การที่จะเจริญขึ้น ในทางธรรมะ!!!
ที่นี้ ท่านอาจารย์ครับ จะทราบได้อย่างไร? ว่าเป็นกุศลสมาธิ หรือ อกุศลสมาธิ หรือ สัมมาสมาธิ หรือ มิจฉาสมาธิ ครับ???
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง ใครจะคิดอย่างไรถึงสิ่งนั้นก็ได้ ใช่ไหม? ห้ามไม่ได้!!! ไม่ว่าชาติไหนทั้งสิ้น แต่ว่าความจริง ต้องเป็นความจริง!!! เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม ไม่ว่าใครทั้งสิ้น ถ้าเป็นผู้ที่สะสมมา ที่จะเห็นว่า การรู้ความจริง มีประโยชน์แน่นอน เพราะเหตุว่า ความไม่จริง มีมาก แล้วก็ไร้ประโยชน์ แล้วก็เป็นโทษด้วย!!!
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น เมื่อพูดถึงคำไหน คำนั้น กล่าวถึงอะไรที่มีจริงๆ หรือเปล่า? เช่นคำว่า "สมาธิ" พูดกันมากเลย มีจริงหรือเปล่า? แค่นี้ก่อน มีจริงนะคะ แต่ไม่รู้ว่าอะไร? ถูกไหม? ยังไม่ต้องไปหาใครเลย!! มีจริง แต่ว่า สำหรับผู้ถามเองนี่ ยังไม่รู้ว่า สมาธิ คือ อะไร!!! เพียงแค่รู้ว่า มีจริง
สิ่งที่มีจริง จะต้องมีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่าง ทบทวนสำหรับทุกคน เวลาไหน กาละไหน เรื่องอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่มีจริง ที่เกิดจริงๆ มีจริงๆ แต่ไม่รู้อะไร เป็นธรรมะที่มีจริง ที่ใช้คำว่า "รูปธรรม" แต่สภาพธรรมะที่เป็น "สภาพรู้ , ธาตรู้" เกิดแล้วต้องรู้ ไม่รู้ ไม่ได้เลย แล้วก็ไม่มีรูปร่างเลย เป็น "นามธรรม" (นามธรรม) มี ๒ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว คือ "จิต" เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ขอเพิ่มอีกคำหนึ่ง คือ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ คำว่าสิ่งที่ถูกรู้ ก็ยาว ถ้าจะให้ตรงกับคำที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงบัญญัติใช้ ก็ใช้คำว่า "อารัมณะ" แต่คนไทยก็ตัดสั้นๆ ว่า "อารมณ์" เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้
ขณะนี้ ถ้ามี "เสียง" ปรากฏ "จิต" เป็นสภาพที่ "ได้ยินเสียง" เรารู้แต่ว่า ได้ยิน ได้ยิน แต่ไม่รู้ว่า "อะไรได้ยิน?" แต่ "ได้ยิน" มี เป็น "ธาตุชนิดหนึ่ง" ซึ่งไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้นได้เลย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วได้ยิน แล้วก็ดับ
เพราะฉะนั้น "สภาพที่ได้ยิน" มีแน่นอน!! ไม่ใช่รูปธรรม เป็น "นามธรรม" กำลัง "รู้แจ้ง เสียง" ซึ่ง "เสียง" ก็หลากหลายมาก แต่ จิต เป็นสภาพที่ "รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ" แล้วก็มี นามธรรมอีกชนิดหนึ่ง เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้สิ่งเดียว คือ อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่าทำกิจต่างกัน เพราะฉะนั้น ขณะนี้ จำได้ไหม? จำอะไรได้หรือเปล่า? ขณะนี้ คำถามธรรมดา แต่ก็คิด ความจริง เป็นธรรมดาจริงๆ ไม่ต้องคิด ชัดเจน ขณะนี้ "จำ" อะไรได้ไหม? จำได้!!! "จำ" มีจริงๆ ใช่ไหม? "จำ" มีจริงๆ นะคะ จำอะไร? บอกสักอย่างสิคะ?
ผู้ฟัง จำพระพุทธรูปได้
ท่านอาจารย์ จำพระพุทธรูป หมายความว่า จำสิ่งที่ปรากฏให้เห็น รูปร่าง ลักษณะนี้ "เคยเห็น" แล้วก็ "เคยรู้" ว่าเรียกว่าอะไร ด้วย เพราะฉะนั้น เป็น "ความจำ" ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะจิตเกิดแล้วดับ และ "จิต" มีหน้าที่ เกิดขึ้น "รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด" ที่ใช้คำว่า "รู้อารมณ์" จิต เกิดขึ้น เห็น "สิ่งที่ถูกเห็น" เป็น "อารมณ์" ของ "จิตเห็น" แล้วก็ดับ จิต เกิดขึ้น ได้ยินเสียง "เสียง" เป็น "อารมณ์" ของ "จิตได้ยิน" แล้วก็ดับ
เพราะฉะนั้น คำกล่าวที่ว่า "เห็นพระพุทธรูป" มีทั้ง "เห็น" และ "สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น" ในขณะนั้น จิต "เห็น" แต่ เจตสิก "จำ" ต่างกันแล้วใช่ไหม? แสดงว่า จิตจะเกิดขึ้น โดยไม่มีเจตสิก ไม่ได้ แต่เจตสิกแต่ละหนึ่ง ก็เป็นแต่ละหนึ่ง สำหรับ "สภาพจำ" ซึ่งเป็นเจตสิกชนิดหนึ่งนี้ เกิดกับจิตทุกประเภท!! ทุกขณะ!! ไม่เว้นเลย!! คำไหนที่ได้ตรัสไว้แล้ว โดยการประจักษ์แจ้ง ไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้เลย!!
เพราะฉะนั้น จิต เป็นธาตุรู้ เกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย รู้สิ่งเดียวกัน แต่ทำหน้าที่ ต่างกัน ขณะที่จิตเห็น สัญญาเจตสิกเกิดพร้อมจิต และ "จำ" สิ่งที่เห็น จิตไม่ได้จำ จิตแค่ เห็นแจ้ง ในสิ่งที่ปรากฏ แล้วเจตสิกอื่นๆ ก็เกิดพร้อมจิต พระผู้มีพระภาคฯทรงบัญญัติว่า "สัญญา" คือ "จำ" จำ ไม่ใช่ สมาธิ "จำ" เป็น "สัญญาเจตสิก" เริ่มรู้จักชื่อของเจตสิก ซึ่งหมายความว่า "เริ่มรู้" ลักษณะของเจตสิกแต่ละหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง คือ ลักษณะ "จำ" ใช้คำว่า "สัญญาเจตสิก"
ขณะที่ได้ยินเสียง จิต กำลังได้ยินเสียง มีสัญญาเจตสิกไหม? ขณะที่จิตได้ยินเสียง มีสัญญาเจตสิกไหม? ก่อนที่จะไปรู้สมาธิ!!! เห็นไหม? เราต้องมีความเข้าใจจริงๆ เป็นเบื้องต้น ในสิ่งที่มี ว่า คือ อะไร? โดยการที่ ไตร่ตรอง ในขณะที่ "เสียงปรากฏ" ต้องมี "จิต" ที่ "ได้ยิน" จิตได้ยิน เกิดพร้อม เจตสิกหลายชนิด เจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ ไม่เว้นเลย คือ "สภาพจำ" จำสิ่งที่ปรากฏ ที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้น
เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตได้ยินเสียง สัญญาเจตสิก จำอะไร? คะ? นี่ค่ะ ก่อนไปถึงสมาธิ ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้เลย ก็ไม่เข้าใจ "ได้ยินแต่ชื่อ" เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตได้ยินเสียง สัญญาเจตสิก จำอะไร?
ผู้ฟัง จำเสียงค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ขณะที่เห็น ยังไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปทันที แต่มี "เห็น" ก่อน ขณะนั้น มีสัญญาเจตสิก เกิดกับจิตเห็นไหม?
ผู้ฟัง มีค่ะ
ท่านอาจารย์ มี นะคะ สัญญาเจตสิกที่เกิดกับจิตเห็น จำอะไร? คะ? ก็จำสิ่งที่จิต "เห็น" ก็เกิดพร้อมกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ขณะที่จิต เห็น สัญญาจะไปจำเสียงได้อย่างไร? เพราะสัญญา ต้องเกิดพร้อมจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น แยกกันไม่ได้ ในขณะที่ "จิตเห็นหนึ่งขณะ" เกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ใน ๗ นั้น ต้องมีสภาพจำ คือ สัญญาเจตสิก เกิดร่วมด้วย ทุกครั้ง ที่จิตเกิด เพราะฉะนั้น ยังไม่รู้ว่า เป็นพระพุทธรูป เพียง "เห็น" จิตเห็น แล้วก็มี สัญญาเจตสิกเกิดพร้อมกันเลย สัญญาเจตสิก ต้องจำสิ่งที่จิต เห็น ใช่ไหม? พอจำแล้ว ภายหลังก็รู้ว่า สิ่งนั้น เป็นอะไร? พอเห็นอีก จำได้เลย แต่ต้องเห็น และ ทันทีที่เห็น ก็จำสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วภายหลังก็รู้ว่า นั่นเป็นพระพุทธรูป
พระพุทธรูปนั่ง มีไหม? คำถามธรรมดา พระพุทธรูปที่นั่ง มีไหม? ใช้คำธรรมดา จะได้เข้าใจง่ายๆ พระพุทธรูปนั่ง มีไหม?
ผู้ฟัง มีค่ะ
ท่านอาจารย์ มี พระพุทธรูปนอน มีไหม?
ผู้ฟัง มีค่ะ
ท่านอาจารย์ "นอน" สัญญา "จำ" จิต เพียงแค่ "เห็น" จิต "จำ" ไม่ได้!!! ไม่ใช่หน้าที่ของจิต "สัญญา" จำ หนึ่งเจตสิกแล้ว แล้วก็ยังมี ความรู้สึกทุกครั้ง เวลาจิตรู้อะไร ก็มี "สภาพที่รู้สึก" ในสิ่งนั้น ซึ่ง ความรู้สึก มี ๕ อย่าง รู้สึกเฉยๆ มีไหม? มี รู้สึกดีใจ มี รู้สึกเสียใจ มี รู้สึกขุ่นใจ มี รู้สึกสบาย
ผู้ฟัง มีค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะที่กายไม่เป็นทุกข์ ขณะนั้น สบายกาย ขณะใดที่สบายกาย ขณะนั้น ความรู้สึกสบาย จิตเป็นสภาพที่รู้ สิ่งที่ปรากฏที่กาย สัญญาจำ แต่ความรู้สึกไม่ได้จำ แต่ว่าเป็นความรู้สึก ในสิ่งที่ปรากฏกับจิตและเจตสิก ในขณะนั้น เวลาเห็นสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูป ทันทีที่เห็น รู้สึกอย่างไร? ยังไม่เป็นพระพุทธรูปเลย เพียงแค่ "เห็น" มีจิตเกิดเห็น มีสัญญาเจตสิกจำ แล้วก็มีเจตสิกที่รู้สึก ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า เวทนาเจตสิก
เพราะฉะนั้น "จิต" เกิดขึ้น "หนึ่งขณะ" มี สัญญาเจตสิก เกิดร่วมด้วย "จำ" มี เวทนาเจตสิก "รู้สึก" อย่างหนึ่งอย่างใด เกิดร่วมด้วย เวลาที่เห็น เพียงแค่ "เห็น" ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรเลย ทั้งสิ้น มีไหม? ต้อง "เห็น" ก่อน แล้วสัญญาก็จำ จำไว้ ทีหลังพอเห็นอีกก็จำได้ แต่ว่า ความรู้สึกมีไหม? ขณะที่กำลังเห็น ยาก มีก็ไม่รู้ แต่มี และ ฟังเพื่อรู้ เพื่อเข้าใจ ว่าเป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา!!!
กว่าจะไปถึง "สมาธิ" คิดดู ใช่ไหม? ไม่รู้อะไรเลย แล้วเพียงให้บอกว่า สมาธิคืออย่างนั้นอย่างนี้ แล้วให้ทำสมาธิ เป็นประโยชน์กับผู้ทำหรือเปล่า? เป็นประโยชน์กับผู้ฟังหรือเปล่า? เพราะไม่รู้อะไรเลย!!!
แต่พระพุทธศาสนา ไม่ใช่อย่างนั้นเลย!! ศาสนา คือ คำสอน ของใคร? ของพระพุทธเจ้า จึงเป็นพระพุทธศาสนา เพื่อให้คนฟัง เกิดเข้าใจ เป็นปัญญาของตนเอง ประโยชน์สูงสุด คือ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะเอาปัญญามาแจกให้คนนั้นคนนี้ได้ แต่จากที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง ก็ทรงแสดงความจริงให้คนอื่น เริ่มเข้าใจถูกต้อง!!!
เพราะฉะนั้น กำลังฟังพระพุทธพจน์ "คำจริง" ที่กล่าวถึง สิ่งที่มีจริงทุกอย่าง เดี๋ยวนี้ มี "จำ" ก็ยังไม่รู้ว่ามีจำแล้ว ในสิ่งที่ปรากฏให้เห็น มีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด ก็รู้สึกทันทีที่เห็น แล้วรู้สึกอะไร ในขณะที่เห็น? แค่ "เห็น" ความรู้สึกมี ๕ อย่าง เฉยๆ แล้วก็ ดีใจ พอใจ เสียใจ แล้วก็ สุขกาย ทุกข์กาย เพราะฉะนั้น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นอะไรก็ได้ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีความรู้สึกไหม?
ผู้ฟัง เฉยๆ ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ต้องมีผู้ช่วยเสมอเลย แต่จริงๆ ธรรมะนี่ ช่วยใครได้ไหม? เห็นคนเดียว ได้ยินคนเดียว คิดคนเดียว เข้าใจคนเดียว เห็นผิดคนเดียว เข้าใจถูกคนเดียว คนเดียวจริงๆ เกิดคนเดียวหรือเปล่า?
ผู้ฟัง คนเดียว ค่ะ
ท่านอาจารย์ อยู่มาคนเดียวหรือเปล่า?
ผู้ฟัง คนเดียว (มีเสียงหัวเราะกันครืน)
ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่มีญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง มิตรสหายเลยหรือคะ? มีนะคะ แต่ว่า ถ้าโดยธรรมะแล้ว ต้อง "จิตเกิดหนึ่งขณะ" เท่านั้น เป็นใครไม่ได้!!! แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ขณะนี้ ก็เป็นจิตแต่ละหนึ่ง และจิตแต่ละหนึ่ง เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็มีจิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อ ทันที ไม่มีระหว่างคั่น แลกกันก็ไม่ได้ ขอยืมกันก็ไม่ได้ ตามการสะสม ที่แต่ละหนึ่ง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เพราะฉะนั้น ช่วยกันไม่ได้!!! คิด ไตร่ตรอง ไม่ขอยืมคำของใคร ไม่ใช่ข้างหลังบอกว่า อย่างนั้น อย่างนี้ หรือข้างๆ บอกว่าอย่างนี้ แต่ต้องเป็นการฟังสิ่งที่มีจริงๆ เกิดขึ้นพร้อมกันหลายอย่าง จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ ต้องมีเจตสิกหลายชนิดเกิดร่วมด้วย แล้วเราค่อยๆ เข้าใจว่า คำกล่าวนี้ ถูกต้อง เพราะเหตุว่า เราเริ่มรู้จัก เจตสิกที่เกิดกับจิต ถ้าเราไม่รู้จักเจตสิกที่เกิดกับจิต เราจะกล่าวได้ไหม ว่าขณะนั้นมีเจตสิกเกิดกับจิต เจตสิกไม่ได้เกิดกับอย่างอื่นเลย เกิดกับรูปไม่ได้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งต้องอาศัยกันเกิดขึ้น รู้ พร้อมกันด้วย
เพราะฉะนั้น จิตกับเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน ไม่ใช่แยกกันเลย เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันด้วย รู้สิ่งเดียวกันด้วย เพราะฉะนั้น "ความรู้สึก" มีจริง ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก หนึ่งใน ๕๒ ประเภท และ "ความจำ" ก็เป็นเจตสิกหนึ่งใน ๕๒ ยังเหลืออีก ๕๐ แล้วก็จะรู้ว่า สมาธิเป็นอะไร แค่นี้ ไม่ต้องใครมาบอก
ถ้าสมาธิมีจริง "สมาธิ" เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่รู้อะไรเลย หรือว่า เป็น นามธรรม?
เพราะฉะนั้น "สมาธิ" ไม่ใช่จิต หรือ เป็นจิต? เริ่มเป็นความเข้าใจของตัวเองแล้ว!!! เห็นไหม? ประโยชน์ที่ได้รับจากการฟัง ไม่ใช่คนอื่นได้ประโยชน์ ผู้ที่ฟัง แล้วไตร่ตรอง จะเกิดความเข้าใจขึ้น ซึ่งความเข้าใจ ก็เป็นธรรมะที่มีจริง ซึ่งก็ไม่ใช่เรา!!!
เพื่อทั้งหมด จะได้รู้ว่า ไม่มีเรา!!!
เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม ที่ไม่ให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องว่า "ไม่ใช่เรา" ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!! เพราะฉะนั้น จะบอกให้ทำสมาธิ แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!! คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก "ทุกคำ"
เพราะฉะนั้น เจตสิก "จำ" มีแน่ๆ กำลังจำ!!! เจตสิกที่ "รู้สึก" มีแน่ๆ กำลังรู้สึก!!!
พอได้ยินคำว่า "สมาธิ" บอกว่า มีแน่ๆ เพราะฉะนั้น สมาธิที่มีแน่ๆ นี้ เป็นธรรมะ อะไร?
มีให้เลือก แต่ไม่ใช่เลือกตามใจชอบ (เลือก) ตามความเข้าใจ สภาพธรรมะที่มีจริง มีปัจจัยเกิดขึ้น แต่ไม่รู้อะไร ทั้งหมดเลย ไม่รู้สักอย่างเดียว "เสียง" เกิดเป็น "เสียง" ไม่รู้อะไร "กลิ่น" เกิดเป็น "กลิ่น" ไม่รู้อะไร "กลิ่น" มีจริงๆ ไหม? งงไม่ได้ ปกติ ตามความเป็นจริง กลิ่นมีจริง เพราะกลิ่นเกิดขึ้น จึงมี ใช่ไหม? แล้วกลิ่นก็ดับไป และ กลิ่นที่เกิดมาเป็นกลิ่นนั้น รู้อะไรหรือเปล่า? ไม่รู้ ใช่ไหม? ไม่เห็น ไม่รู้สึก ไม่หิว ไม่ง่วง เพราะฉะนั้น "กลิ่น" เป็น "รูปธรรม" ธรรมะที่ไม่รู้อะไร
เพราะฉะนั้น ธรรมะที่ไม่รู้อะไร เป็นประเภทหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีธรรมะที่เกิดขึ้นรู้ เห็น คิด จำ ก็ไม่มีการที่จะมีอะไรปรากฏ เลย เพราะไม่เห็น ธรรมะที่เกิดขึ้นรู้ มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เช่น "เห็น" เดี๋ยวนี้ เห็นจริงๆ "ได้ยิน" รู้ "เสียง" ที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่เสียงอื่น เวลาที่ "กลิ่น" ปรากฏ กลิ่นอะไรก็ได้ ไม่ต้องเรียกเลย แต่กลิ่นนั้น ที่ถูกจิตรู้ มีแน่นอน เป็นอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ เป็นรูปธรรม "กลิ่น" ไม่รู้อะไร แต่ "ธาตุ" ที่กำลังรู้กลิ่นมี เป็น "จิต" แต่จิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้ต้องมีนามธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น สภาพธรรมะที่เป็นนามธรรม ธาตุรู้ เกิดขึ้นรู้ แต่ว่า ไม่ใช่จิต มี เช่นจำ ก็ไม่ใช่จิต แต่มีสิ่งที่ถูกจำ ไม่ใช่จำเปล่าๆ แล้วไม่รู้ จำอะไร? "จำอะไร?" นั่นแหละ คือ สิ่งที่ถูกจำ
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ มีความรู้สึก เป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง มีความจำ เป็นเจตสิกหนึ่ง ทั้งหมด เจตสิกมี ๕๒ อีก ๕๐ อาจจะเคยได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง ก็แล้วแต่ แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรมะ ซึ่งไม่ใช่เรา จนกว่าจะได้ฟังว่า ไม่ใช่เราเพราะเป็นอะไร เป็น "ธาตุรู้" ที่เกิดกับจิตแต่ละขณะ
เพราะฉะนั้น พอได้ยินคำว่า "สมาธิ" มีจริงไหม? ไปทำสมาธิมาหรือเปล่า? ทำแล้วยังไม่รู้ ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องไม่รู้ทั้งนั้นเลย!!
แต่ตอนนี้ เป็นเรื่องรู้ !!! สมาธิมี เป็นรูปธรรมหรือเปล่า? อันนี้ อาจจะไม่ได้กล่าวถึงข้อความโดยตรงที่ตรัสไว้ดีแล้ว แต่เป็นข้อความให้เริ่มไตร่ตรอง คือ เริ่มคิด เริ่มเข้าใจ เงาๆ ไม่ชัดเจน ว่าถ้ากล่าวถึงสมาธิ แล้วบอกว่าแน่วแน่ ตั้งมั่น ใช่ไหม? เป็นหนึ่งนี่ สภาพธรรมะนั้น ต้องมีจริง เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม?
ผู้ฟัง เป็นรูปธรรม ค่ะ
ท่านอาจารย์ รูป คือ อะไร? รูปมีจริง เกิดแล้ว ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น สภาพนั้นๆ ไม่สามารถจะรู้ ไม่สามารถจะเห็น ไม่สามารถจะสุข ทุกข์ ใดๆ เลย เป็น "รูปธรรม" แข็งมีจริงๆ ไหม? มีแข็งปรากฏบ้างไหม? หรือเกิดมาไม่มีเลย แข็งมีไหม? มีแน่นอน เมื่อไหร่? เสานี้แข็งไหม? รู้ได้อย่างไร?
ผู้ฟัง เมื่อสัมผัส
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่กระทบ แข็งจะปรากฏไหม?
ผู้ฟัง ไม่ปรากฏค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่จำไว้ เพราะเคยกระทบ รู้ว่า สิ่งนี้ แข็ง แต่ขณะที่จำไว้ คิดว่าแข็ง ไม่ใช่ขณะที่แข็งปรากฏ แข็งปรากฏ เมื่อกระทบ เท่านั้น!! ถ้าไม่ไปจับ ไม่กระทบสัมผัส แข็งจะปรากฏไม่ได้เลย แต่เคยกระทบ รู้ว่าแข็ง ก็เลยจำไว้ สิ่งนี้แหละแข็ง จำว่านั่นแหละ พระพุทธรูป นี่คือ "สภาพจำ" จำทุกขณะ จำทุกอย่าง และ ความรู้สึก ก็มีจริงๆ เกิดกับจิตทุกขณะ
และ "สมาธิ" คือ อะไร? พูดคำไหน ก็จะได้เข้าใจ มีจิต มีเจตสิก มีรูป ที่เกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย ปรากฏให้รู้ได้ เพราะฉะนั้น "สมาธิ" เป็นอะไร? มีจริงๆ หรือเปล่า? มีจริงๆ เพราะเคยไปทำมาแล้ว แล้วก็เรียกว่าสมาธิ แต่ไม่รู้ว่า สมาธิคืออะไร? เพราะฉะนั้น ต้องฟังใหม่เลย ศึกษาใหม่ แล้วถ้ายังไม่รู้ จะไปทำไหม? ทำสิ่งที่ไม่รู้ ทำไปทำไม? ประโยชน์อะไร? ฟัง-เข้าใจ มีประโยชน์กว่า!!!
ตอนนี้ ยังอยากรู้ไหม? สมาธิคืออะไร? เพราะไปทำมาแล้วก็ไม่รู้ จะได้รู้ ไปทำอะไรมา คะ? ขอถามหน่อยนะคะ ไปทำอะไรมา? ที่เรียกว่า ไปทำสมาธิ ไปทำอะไรมา?
ผู้ฟัง อันนี้ ลองถามผู้อื่น เขาก็มีคนไปสมาธิเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ไม่เอาค่ะ (หัวเราะ) ถามผู้ที่กำลังพูดด้วย ไปทำสมาธิมาแล้ว
ผู้ฟัง ก็..มันจะเป็น...
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนค่ะ ไปทำอะไร? ที่เรียกว่า "ทำสมาธิ" ไปทำอะไร?
ผู้ฟัง ไปนั่ง
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ก็นั่ง เดี๋ยวนี้ก็นั่งค่ะ ต่างกันอย่างไร?
ผู้ฟัง นั่งแล้วก็กำหนด
ท่านอาจารย์ กำหนด คือ อะไร?
ผู้ฟัง กำหนด คือ จะมีจุดในร่างกาย ให้เราเอาจิตไปอยู่ตรงนั้น
ท่านอาจารย์ เอาจิตไป ด้วย?
ผู้ฟัง ก็อาจจะไม่ใช่จิต แต่เอาความรู้สึก
ท่านอาจารย์ เอาความรู้สึกไปด้วย!
ผู้ฟัง ค่ะ
ท่านอาจารย์ เอา (ไป) เก่งนะคะ ใครเอา (ไป) ?
ผู้ฟัง คือ ความรู้สึกให้ไปกำหนด อันนี้ไม่ได้กำหนดที่ลมหายใจ นะคะ
ท่านอาจารย์ อัตตา หรือ อนัตตา?
ผู้ฟัง ถ้าทำได้?
ท่านอาจารย์ แล้วทำได้จริงๆ หรือเปล่า?
ผู้ฟัง ไม่แน่ใจค่ะอาจารย์ เพราะว่า เอ่อ.....
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ "กำลังคิด" ใช่ไหม?
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ เกิดแล้ว ใช่ไหม?
ผู้ฟัง ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไป "ทำ" ให้คิดเกิด หรือเปล่า?
ผู้ฟัง ไม่!! เกิดแล้ว
ท่านอาจารย์ "คิด" เกิดแล้ว เดี๋ยวนี้ ไป "ทำ" ให้คิดเกิดหรือเปล่า?
ผู้ฟัง เพราะว่ามันเกิดแล้วถึงคิด
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครไป "ทำคิด" ได้ ใช่ไหม?
ผู้ฟัง ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วจะไป "ทำสมาธิ" ได้ไหม?
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้!!! แน่นอน!!! เพราะรู้ว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ทั้งสิ้น!!! เหมือน "เห็น" เดี๋ยวนี้!! ใครก็ทำให้เกิด ไม่ได้!!! แต่เห็นแล้ว เกิดแล้ว โดยไม่มีใครทำ!!! ฉันใด ที่ชื่อว่า "สมาธิ" เป็น "เจตสิก" ลักษณะ ไม่ใช่จำ ต่างกับเจตสิก อื่นๆ เป็นเจตสิกหนึ่งในเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ประเภท "ลักษณะ" ของเจตสิกชนิดนี้ เกิดกับจิตทุกประเภท ไม่ต้องไปทำ!!! เกิดตามเหตุ ตามปัจจัย เพราะเป็น "สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์" จิตเกิดขึ้น หนึ่งขณะ จะรู้เพียงสิ่งเดียวที่ปรากฏให้จิตรู้ ขณะนั้น คือ จะรู้อารมณ์เดียว ถูกต้องไหม?
เพราะฉะนั้น จิตหนึ่ง ขณะเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่ง เพราะอะไร? ทำไมไม่รู้หลายๆ อารมณ์ เพราะเจตสิก ที่เกิดพร้อมจิต "ตั้งมั่น" แล้ว "หนึ่ง" จะเป็นอื่นไม่ได้!! เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดพร้อมเจตสิกนั้น ภาษาบาลีใช้คำว่า "เอกัคตาเจตสิก" เป็น "สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง" เกิดกับจิตทุกขณะ!!! ทำให้จิตรู้อารมณ์ได้ ทีละหนึ่ง เพราะเจตสิกนี้ ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น รู้อย่างอื่นไม่ได้ รู้ได้เฉพาะอารมณ์เดียว
เดี๋ยวนี้ มีเอกัคตาเจตสิกไหม? เกิดกับจิตทุกขณะ รู้อารมณ์เดียวกับจิต จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง โดย "ความรู้สึก" คือ "เวทนา" ขณะที่กำลังมีสิ่งนั้น รู้สึกอย่างไร? เฉยๆ หรือว่า สุข หรือว่า ทุกข์ หรือว่า โสมนัส หรือว่า โทมนัส? เกิดแล้ว ตามเหตุ ตามปัจจัย จึงเป็นธรรมะ ซึ่งเป็นอนัตตา ถ้าฟังเข้าใจ ก็จะรู้ว่า ธรรมะทั้งหลาย ไม่พ้นจากความเป็นอนัตตา ใครไปทำ ไม่ได้เลย!!!
เพราะฉะนั้น จะ "มีเรา" ไป "ทำสมาธิ" เมื่อไม่รู้!!! แต่ถ้าเข้าใจถูก สมาธิ คือ อะไร? ใครทำให้เกิดได้หรือเปล่า? ถ้าจะทำ ทำโดยวิธีไหน? เพราะ "เกิดแล้ว" ทั้งนั้น!!! และ จะไปทำให้เกิด ก็ไม่ได้!!
สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้! เกิดแล้ว ทั้งนั้น!!! และ จะไปทำให้เกิด ก็ไม่ได้ เพราะเกิดแล้ว!!! ตามเหตุ ตามปัจจัย
ถ้า "จะทำ" สิ่งนั้น เกิดหรือยัง? ยัง ไปทำให้เกิดสิ "ทำเห็น" ทำอย่างไร ถ้าเห็นยังไม่เกิด เริ่มคิดที่จะทำแล้ว ลองดูสิ ว่าจะทำได้ไหม? ทำเห็น ทำได้ยิน ทำคิด ทำชอบ ทำไม่ชอบ ทำความเจ็บให้เกิดขึ้น ทำได้ไหม?
คุณพรทิพย์ ท่านอาจารย์คะ ถ้าอย่างนั้นก็ ทำเป็นไม่เห็น ทำเป็นไม่ได้ยิน
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวค่ะ เดี๋ยวค่ะ ทุกคำ "ทำเป็น" หมายความว่าอย่างไร? ทุกคำ ต้องเข้าใจถูก "ทำเป็น" หมายความว่าอย่างไร? ทำเป็นไม่เห็น ทำอย่างไร? ทำเป็นไม่เห็น เห็นไหม? เราคิด เราพูด ตามความไม่รู้ ทั้งหมด!!! ทำเป็นไม่เห็น หมายความว่าอย่างไร?
คุณพรทิพย์ มีตัวตนที่จะไม่มอง อะไรอย่างนี้ค่ะ
ท่านอาจารย์ หมายความว่า เห็น แต่ทำเป็นไม่เห็น ใช่ไหม?
คุณพรทิพย์ ค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็นก็ไม่เห็น ถ้าเห็นก็เห็น จะต้องไปทำเป็นไม่เห็นได้อย่างไร?
คุณพรทิพย์ มีคำพูดค่ะ ท่านอาจารย์ ทำเป็นไม่เห็น ทำเป็นไม่ได้ยิน
ท่านอาจารย์ เราพูดคำที่ไม่รู้จัก ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งชาติ!! ทำเป็นไม่เห็น ทำได้อย่างไร? ไม่เห็น ก็คือ ไม่เห็น เห็น ก็คือ เห็น แล้วจะไปทำเป็นไม่เห็น ทำอย่างไร? ไม่เห็นก็ไม่เห็น ไม่ต้องไปทำ!!
แต่เคยทำไหม? เคย หมายความว่า เห็น ไม่ใช่ไม่มีเห็นเลย แล้วไปทำเป็นไม่เห็น แล้วจริงๆ ทำได้หรือเปล่า? ทั้งเห็นและไม่เห็น แต่เข้าใจว่า ทำเป็นไม่เห็น เข้าใจผิด!!!
ผู้ฟัง เท่ากับว่า สมาธิ เป็นเจตสิก ที่เรามีอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ จริงไหม? เดี๋ยวนี้ จิตเห็น ขณะเห็น จะมีอย่างอื่นปรากฏร่วมกับสิ่งที่กำลังถูกเห็นไม่ได้เลย ขณะที่เสียงกำลังปรากฏ เพราะ จิต ได้ยิน จิต ได้ยิน เฉพาะเสียงนั้น ไม่ใช่เสียงอื่นเลย ทั้งสิ้น เฉพาะเสียงนั้นเสียงเดียว ไม่ใช่เสียงอื่น!!
ผู้ฟัง อาจารย์คะ ที่ว่าจิตรับ เอ่อ..ได้เพียงหนึ่ง อย่างเดียว
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นรู้ เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ทันทีที่จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงเป็นจิต
ผู้ฟัง อย่างเช่น กรณี เราทานข้าวมือหนึ่ง แล้วอีกมือหนึ่งอ่านหนังสือพิมพ์ อย่างนั้น จิตจะไปรับได้แค่หนึ่งเดียว เท่านั้น
ท่านอาจารย์ จิต ไม่ใช่ไปรับอะไรเลย จิตเกิดขึ้นรู้ แล้วก็ดับ
ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ
ท่านอาจารย์ ต้องขออนุโมทนาขอบพระคุณ นะคะ ที่สงสัยแล้วก็ถาม เพื่อที่จะได้ไตร่ตรอง แล้วก็เป็นความเข้าใจถูก ถ้ายังสงสัยอีก ก็ถามอีกได้ เพราะเหตุว่า ประโยชน์ของการสนทนาธรรมจริงๆ คือ ความเข้าใจ แล้วก็สามารถที่จะไตร่ตรองได้ ว่าอะไรถูก อะไรผิด ถ้าสิ่งนั้นผิด จะยังคงยึดถือต่อไปไหม? แน่ใจนะคะ?
ผู้ฟัง ต้องมีความมั่นคง
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ แล้วมั่นคงหรือยัง?
ผู้ฟัง ยังค่ะ
ท่านอาจารย์ ยัง เพราะฉะนั้น อาจจะเห็นผิดไปอีกก็ได้ ถูกต้องไหม? เพราะฉะนั้น อันตรายมาก การที่ศึกษาธรรมะ ฟังเพียงผิวเผิน ได้ยิน แต่ไม่เข้าใจ แล้วก็ ทำอะไรโดยไม่รู้ เพราะฉะนั้น ทำเท่าไหร่ ก็ไม่รู้ เพราะไม่รู้ว่าอะไร?
ผู้ฟัง อาจารย์คะ เรื่องสมาธิ เข้าใจแล้ว แต่อีกเรื่องหนึ่ง คือ อันนี้จะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ ที่ว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ก็มีเดินจงกรม จำเป็นไหมที่เราควรจะเดินจงกรมด้วย อันนั้น สมาธิจบไปแล้วนะคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ตอนนี้จะเดินละ (หัวเราะกันครืน) ทีนี้จะเดินแล้วค่ะ เมื่อกี้ "จะทำสมาธิ" ตอนนี้ "จะเดินจงกรม" จงกรม เป็นภาษาไทย มาจากภาษาบาลีว่า จังกัมมะ ก้าวไปตามลำดับ ทุกวันนี้ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?
ผู้ฟัง คือ การก้าวไปตามลำดับ แต่ว่า เรากำหนด...
ท่านอาจารย์ "เรา" อีกแล้ว!!! แล้วก็ "กำหนด" อีกแล้ว!!! เริ่มผิดอีกแล้ว!!
ผู้ฟัง เอ่อ...ผิดค่ะ ผิดค่ะ..
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไรค่ะ ไม่เป็นไร จะได้รู้ ว่าผิดอย่างไร
ผู้ฟัง คือ อาการที่เดินไป ลักษณะที่ทำ จะต้องตรงกัน เช่นว่า เรายก สมมติว่า เรานึกว่าจะยกเท้า แล้วเราไม่ยก ยังอยู่ที่พื้น อย่างนี้คือผิดแล้ว คือ ไม่ตรงกับลักษณะที่จะทำ อย่างนี้ค่ะ
ท่านอาจารย์ แปลว่า ไปกันใหญ่ (หัวเราะ) ปกติแท้ๆ ธรรมดา สบายดี ไปทำอะไร ทำไม? ให้ยุ่งยาก ให้ลำบาก ให้ไม่รู้อะไร
ผู้ฟัง ก็คือ ค่อนประเทศ เขาทำกันแบบนี้ค่ะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ แล้วเราก็จะทำด้วย เพราะ ค่อนประเทศทำ!!
ผู้ฟัง ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ คือ....
ท่านอาจารย์ ตอนนี้ ลามไปเป็นโลกแล้ว ใช้คำว่า ลามไป เหมือนไฟไหม้!!
ผู้ฟัง คือ เขาไม่มีโอกาสที่จะรับทราบว่า อะไรที่ถูก ที่ควร อะไรอย่างนี้ค่ะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นเพื่อนที่ดี และเรามีความเข้าใจ เท่าที่เราสามารถจะให้คนอื่นเข้าใจได้ ถูกไหม? ดีไหม? เป็นเพื่อนที่ดีจริงๆ หรือเปล่า? หวังดีจริงๆ หรือเปล่า? ทำจริงๆ หรือเปล่า ไม่ต้องไปตามผิดๆ
ตาบอดคลำช้าง เป็นแถวของคนตาบอด!!! เขาทุจริต เราจะทุจริตด้วยไหม? เขาโกง เราโกงด้วยไหม? เขาพูดไม่จริง เราจะพูดไม่จริงด้วยไหม? ไม่ใช่ว่า ใครทำอะไร ก็ตามไป
ผู้ฟัง คิดว่า เขาไม่มีโอกาสที่จะทราบว่า อะไรถูก อะไรควร มากกว่าค่ะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ เพราะไม่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า จะบอกว่า มีการสนทนาธรรม มีการฟังธรรม ก็ไม่ฟัง ไม่เห็นประโยชน์!! แต่ผู้ที่สะสมมา รู้ว่า ต้องจากโลกนี้ไป แต่จะไป โดยที่ว่า ไม่รู้ความจริงอะไร ตั้งเกิดมาเลย ว่าเกิดมาทำไม? แค่ชั่วคราว สุขก็สุขชั่วคราว สนุกสนานก็ชั่วคราว เห็นก็ชั่วคราว ทุกอย่างก็ชั่วคราว แล้วอะไรเป็นเราและของเรา ตั้งแต่ศีรษะ จรดเท้า เข้าใจว่าเป็นของเรา แล้วเป็นของเราจริงๆ ขณะไหน? ไม่มีเลย!!! แต่ไม่รู้...เพราะว่าเกิดดับสืบต่อ เร็วมาก ต้องเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมา ที่จะตรัสรู้ความจริง ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เห็นว่า ใครก็ไม่รู้ ทุกโลก ไม่ใช่เฉพาะโลกนี้
แต่การตรัสรู้ของพระองค์ สามารถที่จะทรงพระมหากรุณาให้เขาเข้าใจได้ เราจึงมีโอกาสได้ฟังพระธรรม มิฉะนั้น จะไม่มีโอกาสเลย ที่จะได้ยินคำว่า "ธรรมะ" และ สามารถที่จะ เข้าใจถูก ว่า คือ อะไร? หมดสงสัยเรื่องจังกัมมะ หรือ จงกรม หรือยัง?
ผู้ฟัง หมดแล้วค่ะ
ท่านอาจารย์ จะทำไหม?
ผู้ฟัง ไม่ ไม่ทำค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะรู้ว่า ทำ ทำไม? อยู่ดีๆ ก็เดินแล้ว ใช่ไหม? จะต้องไป "ทำเดิน" พิเศษ ประหลาด แปลก ไม่มีที่พระวิหารเชตวัน และที่ไหนเลย ที่จะให้ ผิดปกติ!!! เพราะเหตุว่า ต้องเป็นผู้ที่มั่นใจจริงๆ ว่าสภาพที่เข้าใจถูก ไม่ผิด แล้วก็ต้องเป็นปกติด้วย คิดว่า ปัญญาไปรู้ขณะที่ผิดปกติ นั่นคือ ไม่ใช่ปัญญา!! แต่ไปหลงเข้าใจว่า นั่นเป็นปัญญา
ถ้าเป็น "ปัญญา" จริง ขณะนี้ มีสิ่งที่มีจริง ปัญญาจริงๆ ก็คือ เข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามปกติ ถ้าไม่ใช่อย่างนั้น ก็คือ ไม่ใช่ปัญญา!!!
"...เพราะไม่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า จะบอกว่า มีการสนทนาธรรม มีการฟังธรรม ก็ไม่ฟัง ไม่เห็นประโยชน์!! แต่ผู้ที่สะสมมา รู้ว่า ต้องจากโลกนี้ไป แต่จะไป โดยที่ว่า ไม่รู้ความจริงอะไร ตั้งเกิดมาเลยว่าเกิดมาทำไม แค่ชั่วคราว สุขก็สุขชั่วคราว สนุกสนานก็ชั่วคราว เห็นก็ชั่วคราว ทุกอย่างก็ชั่วคราว แล้วอะไรเป็นเราและของเรา? ตั้งแต่ศีรษะ จรดเท้า เข้าใจว่าเป็นของเรา แล้วเป็นของเราจริงๆ ขณะไหน? ไม่มีเลย!!! แต่ไม่รู้...เพราะว่าเกิดดับสืบต่อ เร็วมาก ต้องเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมา ที่จะตรัสรู้ความจริง ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เห็นว่า ใครก็ไม่รู้ ทุกโลก ไม่ใช่เฉพาะโลกนี้!! แต่การตรัสรู้ของพระองค์ สามารถที่จะทรงพระมหากรุณาให้เขาเข้าใจได้ เราจึงมีโอกาสได้ฟังพระธรรม มิฉะนั้น จะไม่มีโอกาสเลย ที่จะได้ยินคำว่า "ธรรมะ" และ สามารถที่จะ เข้าใจถูก ว่า คือ อะไร..."
.........ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ เรือนทองทิพย์ จังหวัดเชียงราย.........
สุจินต์ บริหารวนเขตต์.........๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘.........
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณอดิศร และ คุณอมรา พวงชมภู
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยครับ
กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลศรัทธาคุณอดิศร และ คุณอมรา พวงชมภู
ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ คุณวันชัย ภู่งาม และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ