อุปาสกสูตร ว่าด้วยผู้ไม่มีเครื่องกังวลเป็นสุขในโลก
โดย chomchean  6 ก.ย. 2556
หัวข้อหมายเลข 23532

[๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อุบาสก ชาวบ้านอิจฉานังคละคนหนึ่ง เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้นแล อุบาสกนั้นยังกรณียกิจนั้นให้สำเร็จในพระนครสาวัตถีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะอุบาสกนั้นว่า ดูก่อนอุบาสก ท่านกระทำปริยายนี้เพื่อมา ณ ที่นี้โดยกาลนานแล อุบาสกนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคเจ้าแต่กาลนาน แต่ว่าข้าพระองค์ขวนขวาย ด้วยกิจที่ต้องทำบางอย่าง จึงไม่สามารถจะเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้. ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ความสุขย่อมมีแก่ผู้นั้นหนอ ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว เป็นพหูสูต ท่านจงดูบุคคล ผู้มีกิเลสเครื่องกังวลเดือดร้อนอยู่ ชนผู้ปฏิพัทธ์ในชนย่อมเดือดร้อน.

จบอุปาสกสูตรที่๕

อรรถกถาอุปาสกสูตร

อุปาสกสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :

บทว่า อิจฺฉานงฺคลโก ความว่า บ้านพราหมณ์ตำบลหนึ่งในแคว้นโกศลอันได้นามว่า อิจฉานังคละ, ชื่อว่าอิจฉานังคละ เพราะอยู่อาศัยในบ้านพราหมณ์นั้นหรือเพราะเกิดคือมีในบ้านพราหมณ์นั้น.
บทว่า อุปาสโก ความว่า ชื่อว่า อุบาสก เป็นผู้ประกาศภาวะที่ตนเป็นอุบาสกในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยไตรสรณคมน์ เป็นผู้ถือสิกขาบท ๕ เป็นพุทธมามกะ ธัมมมามกะ สังฆมามกะ.
บทว่า เกนจิเทว กรณีเยน ความว่า ด้วยกรณียกิจอย่างใดอย่างหนึ่งมีการชำระให้หมดจดอย่างยิ่ง เป็นต้น ที่ผู้ทรงไว้จะพึงกระทำ.
บทว่า ตีเรตฺวา แปลว่า ให้สำเร็จ. เล่ากันว่า อุบาสกนี้ เคยเข้าเฝ้านั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าเนืองนิจ. เธอไม่ได้เฝ้าพระศาสดา เพราะมีกรณียกิจมากถึง ๒-๓ วัน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า จิรสฺสํ โข ตฺวํ อุปาสก อิมํ ปริยายมกาสิ ยทิทํ อิธาคมนาย อุบาสก เธอได้กระทำปริยายที่จะมาในที่นี้ ตลอดกาลนานแล. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิรสฺสํ แปลว่า โดยกาลนาน.
บทว่า ปริยายํ แปลว่า คราวหนึ่ง. ศัพท์ ยทิทํ เป็นนิบาต. ความว่า โย อยํ. ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า เธอกระทำวาระที่กระทำในวันนี้นี้โดยกาลนานคือทำให้เนิ่นช้าด้วยการมาในที่นี้คือในสำนักของเรานี้.
บทว่า จิรปฏิกาหํ แก้เป็น จิรปฏิโก อหํ. เชื่อมความว่าเรา ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าเฝ้าเป็นเวลานานแล้ว. บทว่า เกหิจิ เกหิจิ แปลว่า กิจน้อยใหญ่. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เกหิจิ ได้แก่ กิจอย่างใดอย่างหนึ่ง. ในข้อนั้น ทรงแสดงถึงความเอื้อเฟื้อ. จริงอยู่ เมื่อเธอเลื่อมใสยิ่งในพระศาสดา ไม่ได้มีความเอื้อเฟื้อในเรื่องอื่นเหมือนในการเฝ้าและการฟังธรรมของพระศาสดา.
บทว่า กิจฺจกรณีเยหิ ความว่า สิ่งต้องทำแน่แท้ในการเฝ้า เป็นต้นนี้จัดเป็นกิจ นอกนี้จัดเป็นกรณียะ. อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ต้องทำก่อนจัดเป็นกิจ ที่ต้องทำภายหลังจัดเป็นกรณียะ. อนึ่ง สิ่งเล็กน้อยจัดเป็นกิจ สิ่งใหญ่จัดเป็นกรณียะ.
บทว่า พฺยาวโฏ แปลว่า ขวนขวาย.
บทว่า เอราหํ ความว่า ข้าพระองค์ไม่สามารถจะเข้าเฝ้าด้วยอาการอย่างนี้ คือ ด้วยประการนี้ อธิบายว่า ไม่สามารถจะเข้าเฝ้าโดยไม่เคารพเป็นต้น.
บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวงถึงความนี้ว่า อันตรายแห่งกุศลย่อมมี เพราะความที่เหล่าสัตว์มีความขวนขวายในหน้าที่ โดยมีความกังวลในกาลพระพุทธเจ้าอุบัติและในกาลได้เป็นมนุษย์ที่หาได้ยาก หามีอันตรายแห่งกุศลต่อความไม่มีความกังวลไม่.
บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้อันแสดงถึงความนั้นนี้เอง. บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า สุขํ วต ตสฺส โน โหติ กิญฺจิ ความว่า ในวัตถุมีรูปเป็นต้น แม้วัตถุอะไรๆ สักอย่างหนึ่ง ย่อมไม่มีคือไม่มีอยู่ ได้แก่ ไม่ปรากฏแก่บุคคลใด โดยภาวะที่กำหนดด้วยตัณหาว่า นี้ของเรา บุคคลนั้นย่อมมีความสุขแท้ อธิบายว่า มีความสุขน่าอัศจรรย์ทีเดียว ปาฐะว่า น โหสิ ดังนี้ก็มี. พึงทราบเนื้อความข้อนั้นโดยความเป็นอดีตกาล. แต่อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาเนื้อความแห่งบทว่า น โหติ กิญฺจิ ไว้ดังนี้ว่า กิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด. คำนั้นไม่ดี เพราะมาในเทศนาโดยการกำหนดธรรม. ด้วยคำว่า ราคาทิกิญฺจนํ พึงเป็นอันท่านกล่าวแต่คำที่เหมาะสมเท่านั้น ในเมื่อมีการรวบรวมแม้ธรรมควรกำหนด. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า บุคคลใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล คือ เครื่องยึดหน่วงอะไรๆ แม้เล็กน้อย เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวล มีราคะ เป็นต้นนั่นแหละ ข้อนั้นของบุคคลนั้นที่ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ชื่อว่า เป็นความสุขแท้ คือเป็นความสุขน่าอัศจรรย์ เพราะเป็นปัจจัยแห่งความสุข.
หากจะถามว่า กิเลสเครื่องกังวลไม่มีแก่ใคร ดังนี้ พระองค์จึงตรัสว่า สงฺขาตธมฺมสฺส พหุสฺสุตสฺส ดังนี้. บุคคลใดมีธรรมที่ต้องบอกแล้ว คือมีกิจที่ต้องทำแล้ว เพราะสำเร็จกิจ ๑๖ อย่าง กล่าวคือ มรรคทั้ง ๔ ชื่อว่า เป็นพหูสูต เพราะรู้พาหุสัจจะแจ้งชัดจากธรรมนั้นนั่นเอง แห่งบุคคลนั้น. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงอานิสงส์ในความไม่มีกิเลสเครื่องกังวลอะไรๆ แล้วจึงแสดงโทษในความมีกิเลสเครื่องกังวลอะไรๆ จึงตรัสคำมีอาทิว่า สกิญฺจนํ ปสฺส ดังนี้. คำนั้นมีเนื้อความดังต่อไปนี้ พระศาสดาทรงถึงธรรมสังเวชแล้ว จึงตรัสกะจิตของพระองค์ว่า ท่านจงดูบุคคลผู้ชื่อว่ามีกิเลสเครื่องกังวล เพราะมีกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้น และกิเลสเครื่องกังวล คือ อามิสเดือดร้อนอยู่ คือถึงความคับแค้นด้วยกิจน้อยกิจใหญ่เพราะเหตุแห่งการแสวงหา และอารักขากามที่ได้แล้วและยังไม่ได้ เพราะความเป็นผู้มีกิเลสเครื่องกังวลนั่นเอง และด้วยอำนาจการยึดถือว่า เรา ว่า ของเราดังนี้.
บทว่า ชโน ชนสฺมึ ปฏิพทฺธรูโป ความว่า ตนเองเป็นชนอื่น เป็นผู้มีสภาวะเนื่องกับชนอื่น ด้วยอำนาจตัณหาว่า เราเป็นของผู้นี้ ผู้นี้เป็นของเรา จึงเดือดร้อน คือถึงความคับแค้น. ปาฐะว่า ปฏิพทฺธจิตฺโต ดังนี้ก็มี. ก็เนื้อความนี้พึงแสดงโดยสุตตบทมีอาทิว่า ปุตฺตา มตฺถิ ธนมตฺถิ อิติ พาโล วิหญฺญติ อตฺตา หิ อตฺตโน นตฺถิ กุโต ปุตฺตา กุโต ธนํ. คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า บุตรของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ตนแหละย่อมไม่มีแก่ตน บุตรจักมีแต่ที่ไหน ทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน.

จบอรรถกถาอุปาสกสูตรที่ ๕