ถ้าพูดว่า สภาพธรรมในตัวเรา อย่างนี้เข้าใจถูกไหม
โดย บ้านธัมมะ  19 ธ.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 6226

ถาม ความหมายของการได้ศึกษาธรรมตั้งแต่เกิดจนตายจริงๆ นี้ มันเหมือนกับไม่น่าจะเกี่ยวอะไร คัมภีร์ อักษร ภาษาเรื่องใดๆ อย่างที่อาจารย์อธิบาย แต่โดยความเข้าใจและโดยความสำคัญ หรือความสำนึกได้ หรือค่านิยมของสังคม และพลโลกนั้น เราคิดกันว่า การจะเรียนรู้ คือ การจะเข้าใจอะไรได้จริงๆ คือ ต้องเริ่มต้นมาจากการศึกษา การท่องบ่น ทรงจำ อ่านเขียน เรียนตำหรับตำรา เรากำลังจะมีความคิดว่า เหมือนกับคนละเรื่องกัน ที่มันอยู่ในเล่มเดียวกันหรือเปล่าถ้าพูดว่า ชีวิตแห่งธรรมะหรือสภาพธรรมในตัวเรา อย่างนี้เข้าใจถูกได้ไหม

ตอบ เรื่องการศึกษาเรื่องของทางโลก เป็นเรื่องของความจำ เป็นเรื่องราวของสิ่งที่มีปรากฏ แต่การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง สามารถที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นความจำ ขณะใดเป็นความเข้าใจ เช่น ถ้าได้ยินชื่อว่า “นามธรรม” กับ “รูปธรรม”แล้วก็มีคำนิยามว่า “รูปธรรม” มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปนี่ก็เป็นเพียงความเข้าใจในคำว่า “รูปธรรม”

สำหรับ “นามธรรม” ก็เป็นธรรมะที่มีจริง ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย ไม่มีสีสันวรรณะใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อเกิดต้องเป็นธาตุที่รู้ เกิดขึ้นเพื่อรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ดับไป เช่น ในขณะนี้นามธรรมเกิดขึ้นได้ยินเสียง รู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏว่า เสียงที่ปรากฏมีลักษณะอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นนามธรรม เป็นธาตุ

ธรรมกับธาตุ ใช้แทนกันได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจ ตัวจริงของธรรม คนนั้นก็จะทราบได้ว่า ไม่ใช่เป็นการจำชื่อ ที่ใครถามก็ตอบได้ แต่เป็นการรู้จริงๆ ว่าธรรมะอยู่ที่ไหน ลักษณะนั้นมีจริงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง เช่น ขณะนี้ เสียงมีจริงไม่ใช่นามธรรม เพราะว่ามีลักษณะที่ปรากฏเมื่อกระทบกับหู แต่ส่วนสภาพที่ได้ยินเสียงต้องมี ถ้าไม่มี เสียงก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของนามธรรม เพราะว่าขณะนี้มีนามธรรมที่กำลังเห็น มีนามธรรมที่กำลังได้ยิน ถ้ามีคนตายที่นี่ คนนั้นจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน เพราะว่าไม่มีนามธรรม ไม่มีจิตเจตสิก เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น นามธรรมก็ได้แก่ สภาพที่เราเคยใช้คำว่า จิตใจเป็นสภาพที่รู้เป็นสภาพที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเวลาที่รูปเกิด กับสัตว์บุคคลเกิดต่างกัน เพราะว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรมล้วนๆ เช่นต้นไม้ ใบหญ้า ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินอะไรเลย แต่ขณะใดที่มีการเห็น มีการได้ยินไม่ต้องคำนึงถึงรูปร่างเลย เพราะว่าอาจจะเป็นรูปร่างของนก อาจจะเป็นรูปร่างของช้าง อาจจะเป็นรูปร่างของมด แต่เห็นเป็นธาตุรู้ ซึ่งสามารถที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ว่าเป็นสีสันวรรณะอย่างไร หรือเสียง เวลาที่มีธาตุรู้ เกิดขึ้นได้ยินเสียง ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของเสียงซึ่งแม้แต่เสียงก็ต่างกัน เสียงกลอง เสียงปี่ เสียงคนเสียงนก เสียงต่างๆ ก็มีลักษณะต่างๆ แต่สภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นนามธรรมก็ยังสามารถที่จะได้ยินเสียงนั้นชัดเจน แจ่มแจ้ง ในเสียงที่ปรากฏ

นี่คือลักษณะของนามธาตุ ซึ่งถ้าแบ่งออกไป ก็ได้แก่ จิตและเจตสิก เพราะว่าจิตนั้นเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่ไม่ได้จำ ไม่ได้รู้สึก ไม่ได้รัก และไม่ได้ชังในอารมณ์นั้น ส่วนเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็ทำหน้าที่ของเจตสิกแต่ละประเภท เช่น โลภมูลจิตเป็นสภาพที่ติดข้องในสิ่งที่กำลังเป็นอารมณ์



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 10 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 3 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ